ประดู่

Common name :

Scientific name : Pterocarpus spp.

Family : Leguminosae

ประดู่ เป็นไม้สกุลหนึ่งที่มีลำต้นใหญ่โตเหมือนไม้ใหญ่ และเป็นพืชตระกูลถั่วเหมือนกัน วงศ์ Leguminosae ประดู่ที่มีในเมืองไทยนั้นมีประมาณ 4-5 ชนิด ลักษณะแต่ละชนิดคล้ายคลึงกันมาก ทุกชนิดเป็นไม้ใหญ่ ดอกสีเหลือง มีกลิ่นหอม นับว่าเป็นต้นไม้ที่มีดอกงดงามและมีกลิ่นหอมต้นหนึ่ง เนื่องจากประดู่เป็นต้นไม้ใหญ่ จึงเหมาะแก่การที่จะนำมาปลูกไว้ไนสถานที่ที่มีบริเวณกว้างขวางเพียงพอ เช่น ปลูกตามริมถนน ปลูกในสวนสาธารณะ ปลูกประดับอาคารโรงเรียน หรือปลูกในลานวัด เวลาออกดอกใบจะร่วงหมดต้นในระหว่างฤดูแล้ง ในราวเดือนกุมภาพันธุ์ถึงเมษายน เมื่อใบร่วงหมดแล้ว ได้รับฝนตกลงมาทำให้แตกใบใหม่ พร้อมทั้งออกดอกเหลืองเต็มต้นส่งกลิ่นหอมไปไกลดอกจะบานอยู่กับต้น 4-5 วัน ก็จะร่วงโรยหมด ประดู่เป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตประเทศร้อนทั่ว ๆ ไป สำหรับปลูกเป็นไม้ประดับทั่ว ๆ ไปนั้นมีถิ่นกำเนิดจากประเทศฟิลิปปินส์

ในเมืองไทยมีประดู่ป่า (P. macrocar­pus) ขึ้นอยู่ตามป่าแห้งแล้งทั่วไป เป็นประดู่ที่ใช้เนื้อไม้ในการก่อสร้างพุ่มใบไม่ใหญ่กว้าง เปลือกดำเรียบ ดอกเป็นช่อยาวสีเหลืองหอมไปไกล ส่วนประดู่ที่ปลูกกันเป็นไม้ประดับตามริมถนน และตามสถานที่บางแห่งในกรุงเทพฯ นั้น ส่วนมากเป็นประดู่ที่นำมาจากต่างประเทศ คือ P. indicus มีทรงพุ่มใบหนากว้าง กิ่งใบย้อยห้อยลงดิน เปลือกต้นสีเทาแตกเป็นร่อง ๆ ช่อดอกยาวแตกแขนง และช่อใหญ่สีเหลือง กลิ่นหอมพอประมาณ ไม่หอมเท่าประดู่ป่าของเรา

การขยายพันธุ์

ใช้กิ่งตอนก็ได้ แต่ที่สะดวกและได้ผลดีคือ ใช้เมล็ดขยายพันธุ์ โดยเพาะเมล็ดในแปลงเพาะ หรือเพาะในกระบอกไม้ไผ่หรือในถุงพลาสติคก็ได้ เมื่องอกจนโตขนาด 8-10 นิ้ว แล้วจะนำมาปลูกในดินที่ที่ต้องการก็ได้เลย ประดู่ทนทานต่อความแห้งแล้งและโรคแมลง เจริญเติบโตเร็ว พอใช้ ไม่ค่อยเลือกดินและสถานที่เท่าใดนัก อายุ 5 ปีขึ้นไปจึงออกดอก ถึงแม้จะออกดอกปีละครั้งก็ตาม แต่ก็เป็นต้นไม้ที่บังร่มและมีรูปทรงพอใช้ได้ต้นหนึ่ง จึงยิ่งมีผู้นิยมปลูกกันเป็นไม้ประดับทั่ว ๆ ไป