ประเภทของดิน

ปัจจัยการผลิตทางเกษตรที่สำคัญ ๆ มีอยู่ 4 ประการ คือที่ดิน ทุน แรงงานและการจัดการ ดินเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญอย่างยิ่ง ประเทศใดตั้งอยู่ในทำเลที่มีดินดี มีอาหารพืชและน้ำอุดมสมบูรณ์ สามารถทำการเพาะปลูกได้มากและได้ผลดี ประเทศนั้นก็เป็นประเทศที่มั่งคั่ง มีความเจริญ และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ดินมีความสัมพันธ์ต่อสิ่ง ที่มีชีวิตดังนี้

ดิน หมายถึง วัตถุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากแร่ธาตุต่าง ๆ และอินทรีย์วัตถุที่สร้างตัว หรือเน่าเปื่อยผุพังเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยผสมกัน ถ้าจะพิจารณาโดยละเอียคดินก็คือส่วนผสมของแร่ธาตุ (อนินทรียวัตถุ) อินทรียวัตถุ อากาศ และน้ำ ดินที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโต ของพืชควรประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้

1. อนินทรียวัตถุ    45      เปอร์เซ็นต์

2. อินทรียวัตถุ         5      เปอร์เซ็นต์

3. น้ำ                    25      เปอร์เซ็นต์

4. อากาศ               25      เปอร์เซ็นต์

ดินแบ่งเป็นชั้น ๆ คือ ดินชั้นบน ดินชั้นล่าง ชั้นวัตถุที่ให้กำเนิดดิน และชั้นหินดาน ดินบน (surface Soil) คือดินที่มีความลึกประมาณ 10 นิ้ว เป็นดินที่มีอินทรียวัตถุ และธาตุอาหารมาก มีสีคล้ำ ดำ หรือสีน้ำตาล เหมาะแก่การเพาะปลูกมาก ดินล่าง (Sub Soil) คือ ดินที่อยู่ถัดจากดินบนลงไป มีสีจาง เม็ดดินจับเกาะกันแน่น มีความเหนียวมากกว่าดินบน ขาดอินทรีย์วัตถุ แต่มีประโยชน์ต่อการทรงตัวของพืช เพราะรากพืชบางชนิดสามารถหยั่งลงไปถึงได้ ข้อแตกต่างระหว่างดินบนและดินล่าง พอจะสรุปเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้

ดินบน

ดินล่าง

1. ดินมีสีคล้ำ เพราะมีอินทรีย์วัตถุที่เน่าผุพังผสมอยู่ 1. ดินมีสีจาง เนื่องจากมีอินทรีย์วัตถุอยู่น้อย
2. เนื้อดินจะเบาและหลวมกว่า เมื่อเทียบปริมาตรเท่าๆ กัน 2. มีเนื้อดินแน่น และดินมีน้ำหนักมากกว่าดินบน เมื่อมีปริมาตรเท่ากัน
3. น้ำและอากาศระบายถ่ายเทได้สะดวกเพราะมีช่องว่างระหว่างเม็ดดินมาก 3. น้ำและอากาศถ่ายเทได้น้อยและช้า เนื่องจากมีช่องว่างอากาศน้อย
4. มีสิ่งที่มีชีวิตเล็ก ๆ เจริญอยู่มาก เช่น แบคทีเรีย รา ไส้เดือน มด และสัตว์อื่น ๆ ซึ่งทรากและส่วนของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ต่อพืชด้วย 4. มีแบคทีเรียบางชนิดเท่านั้น ที่เจริญอยู่ในดินส่วนนี้ จึงให้ประโยชน์แก่พืชได้น้อยมาก
5. มีอุณหภูมิและความชื้นเหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืช และการเจริญของจุลินทรีย์ที่จะไปย่อยทำลายทรากพืช-สัตว์ ต่าง ๆ 5. อุณหภูมิและความชุ่มชื้นต่ำกว่าชั้นดินบนรากของพืชเจริญช้า

ประเภทของดิน

1. ดินเหนียว คือ ดินที่มีดินเหนียวอยู่มากกว่า 50% เม็ดดินจับตัวกันอย่าง เหนียวแน่น มีช่องว่างระหว่างเม็ดดินน้อย สามารถอุ้มน้ำได้ดี

2. ดินทรายร่วน มีดินเหนียวปนอยู่ 10-20% นอกนั้นเป็นทราย

3. ดินร่วนทราย มีดินเหนียวปนอยู่ 20-30% นอกนั้นเป็นทราย

4. ดินร่วน หมายถึง ดินที่มีดินเหนียวปนอยู่ 30-50% ที่เหลืออาจจะเป็นดินทราย และดินตะกอนปนอยู่ ดินร่วนมีช่องว่างระหว่างเม็ดดินมาก น้ำจึงซึมผ่านได้ดี อุ้มน้ำได้น้อยกว่าดินเหนียว แต่เหมาะกับพืชมากชนิด

5. ดินทราย คือดินที่มีทรายปนอยู่มากกว่า 70% ทำให้ดินหยาบ เม็ดดินไม่เกาะกัน ระบายน้ำได้ดีมาก แต่ไม่สามารถจะเก็บน้ำและปุ๋ยไว้ได้นาน ๆ เหมาะที่จะปลูกพืชที่จะเก็บน้ำไว้ในรากและต้นได้มากเช่นกระบองเพ็ชร

6. ดินปูน คือดินที่มีปูน (แคลเซียม Calcium) อยู่ประมาณ 20% หรือมากกว่า ดินชนิดนี้จะเป็นดินร่วน ดินเหนียว หรือดินทรายก็ได้

7. ดินอินทรีย์วัตถุ คือ ดินที่มีซากพืช/สัตว์ปนอยู่ประมาณ 5% หรือมากกว่า เป็นดินที่พบในป่าทึบ ตามก้นหนอง คลอง บึง แม่น้ำ หรือตามสันดอนที่น้ำพัดพาพืชวัตถุมาทับถมกันเป็นแรมปี

8. ดินกรด คือ ดินที่มีความเป็นกรดมาก (pH ต่ำกว่า 7) ดินและน้ำ ณ ที่ นี้อาจมีลักษณะเปรี้ยว บางทีก็เรียกว่าดินเปรี้ยว พบมากในแถบที่มีฝนตกชุกหรือแอ่งน้ำไหล

9. ดินด่างดินเกลือ เป็นดินที่มีความเป็นด่างมาก (pH สูงกว่า 7 ) พบมากเช่น ดินตามบริเวณชายทะเล และดินที่เกิดเกี่ยวข้องกับหินปูน หรือดินที่มีความแห้งแล้งจัด เช่น ดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นต้น

หมายเหตุ

1. ค่าความเป็นกรดหรือด่างของน้ำและดินโดยใช้ค่า pH ซึ่งอยู่ระหว่าง 1-14 ถ้า pH เท่ากับ 7 จะเป็นกลาง pH ต่ำกว่า 7 จะเป็นกรด pH สูงกว่า 7 จะเป็นด่าง

2. น้ำที่มีปริมาณเกลืออยู่ตั้งแต่ 2 กรัม/ลิตร ขึ้นไป จะเริ่มเป็นอันตรายต่อพืช และสวนผลไม้