การปลูกและการดูแลรักษาไม้ดอกหัวโดยทั่วไป

สามารถแบ่งเป็น 3 ชนิดคือ ฮาร์ดดี้ตี้บัลบ์ (hardy bulb) เทนเดอร์ บัลบ์ (tender bulb) และ เซมิฮาร์ดดี้ บัลบ์ (semihardy bulb)ซึ่งแต่ละชนิดสามารถอธิบายได้ดังนี้

1.  ฮาร์ดดี้ บัลบ์ (hardy bulb) คือ ไม้หัวที่สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมที่อากาศค่อนข้างเย็นจัด เช่น ทิวลิป ลิลลี่

2.  เทนเดอร์ บัลบ์ (tender bulb) คือ ไม้หัวที่ต้องการอุณหภูมิค่อนข้างสูงในการเจริญเติบโต เช่น รักแรก ถ้าปลูกในพื้นที่ที่มีอากาศเย็นจัดจะทำให้ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้

3.  เซมิฮาร์ดดี้ บัลบ์ (semihardy bulb) คือ ไม้หัวที่ทนอากาศเย็นได้พอสมควร เช่น แกลดิโอลัส

ประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพเพียงพอในการปลูกไม้หัวส่งออกทั้งในรูปของไม้ตัดดอก หรือส่งหัวจำหน่ายยังต่างประเทศ แต่การจำหน่ายไม้หัวส่งออกในลักษณะดังกล่าวยังมีจำนวนน้อยชนิดและมีมูลค่าการส่งออกน้อย ทั้งๆที่ไทยมีพันธุ์ไม้หัวเขตร้อนที่น่าสนใจเป็นจำนวนไม่น้อย ไม้หัวของไทยที่มีการส่งออกอยู่หลักๆ มีเพียงไม่กี่ชนิด เช่น ธรรมรักษา ซ่อนกลิ่น ขิงแดง และปักษาสวรรค์ จะส่งออกในรูปของไม้ตัดดอก ส่วนไม้หัวที่ส่งออกในรูปของหัว หน่อ หรือต้นได้แก่ ปทุมมา ว่านสี่ทิศ ดาหลา นางกวักนางพญาใหญ่ ว่านแสงอาทิตย์ เป็นต้น ซึ่งแนวทางการพัฒนาไม้ดอกหัวต่อไปในอนาคตคงต้องมุ่งในเรื่องการใช้เทคโนโลยีการผลิตชั้นสูง เพื่อแก้ไขปัญหาการผลิต เช่น เรื่องโรคที่เกิดกับหัวพันธุ์ รวมทั้งการผลิต เพื่อให้ได้ขนาดและคุณภาพตรงตามความต้องการของลูกค้าต่างประเทศ ตลอดจนการปรับปรุงพันธุ์ไม้หัวจากพันธุ์พื้นเมืองให้เป็นพันธุ์ลูกผสมใหม่ๆ เพื่อให้มีไม้ใหม่ๆ มาเสนอตลาดต่างประเทศต่อไปเรื่อยๆ เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดไม้ไทยไว้ให้มากยิ่งขึ้นและอยู่ได้นานขึ้น

การปลูกและการดูแลรักษาไม้หัวในแต่ละชนิดจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันแต่ไม่เหมือนกันทั้งหมด ถ้าจะปลูกไม้หัวชนิดใดชนิดหนึ่งควรจะศึกษาการปลูกพืชชนิดนั้นให้เข้าใจถ่องแท้เสียก่อน แต่ที่จะพูดถึงในที่นี่เป็นเพียงความรู้พื้นฐานในเรื่องของการปลูกและการดูแลรักษาไม้หัวทั่วๆไปเท่านั้น

ดิน สภาพดินปลูกที่ไม้หัวชอบคือ เป็นดินร่วน โปร่ง ที่สำคัญต้องระบายน้ำดี น้ำไม่ขัง ชอบดินด่างมากกว่าดินกรด คือดินที่มีความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ประมาณ 7.0 หรือสูงกว่านี้

การปลูก ไม้หัวที่มีขนาดใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 2 นิ้วขึ้นไป ควรปลูกให้มีความลึกเป็น 2-3 เท่าของขนาดหัว ถ้าเป็นไม้หัวขนาดเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 2 นิ้วลงมา ควรปลูกให้มีความลึก 3-4 เท่าของความกว้างของหัว การที่ฝังหัวค่อนข้างลึกเพื่อให้หัวได้รับความชื้น ให้ลำต้นสามารถพยุงตัวเองได้ อย่างไรก็ตามไม่ควรปลูกลึกจนเกินไป เพราะจะทำให้งอกยาก(แต่ก็มีไม้หัวบางชนิด เช่น ว่านศี่ทิศ ควรปลูกตื้นเสมอระดับหัว) และการปลูกในตอนแรกให้ใช้ดินกลบพอมิดหัว เมื่อต้นเจริญขึ้นมาแล้วจึงค่อยนำดินกลบอีกครั้ง

การให้ปุ๋ย ควรให้ปุ๋ยคอกตั้งแต่ก่อนเตรียมพื้นที่ นอกจากนี้ไม้หัวยังต้องการปุ๋ยเคมีที่มีฟอสฟอรัสและโปรแตสเซียมสูงหรือไนโตรเจนต่ำ ทั้งนี้เพราะว่าปกติเมื่อใบสร้างอาหาร จะส่งอาหารกลับมาเก็บยังหัว ถ้าให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูงจะทำให้การเจริญเติบโตทางใบสูงเกิดการพักตัวเร็ว ทำให้เวลาในการสร้างอาหารมาสะสมไว้น้อยลง หัวที่ได้จะมีขนาดเล็กลง ปุ๋ยเคมีที่ใช้สำหรับไม้หัวคือ 5-10-15 (ให้โปแตสเซียมสูงกว่าไนโตรเจน 3 เท่า) เพื่อให้ได้หัวที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับในการปลูกครั้งต่อไป

การให้น้ำ การให้น้ำในครั้งแรก หลังจากปลูกกลบหัวลงหลุมควรรดน้ำให้ชุ่ม หลังจาก 1-2 สัปดาห์เมื่อต้นโผล่พ้นดินแล้วจึงให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ และควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอในช่วงที่ให้ดอกและช่วงที่เจริญเติบโตของหัวใหม่ ประมาณ 30-45 วัน หลังจากนั้นต้นจะพักตัว ถ้าให้น้ำมากจะเกิดอาการผิดปกติต่อหัว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องงดการให้น้ำ โดยสังเกตจากใบแรกเริ่มเหี่ยว ให้งดน้ำจนใบเหี่ยวหมด เมื่อต้นโทรมจึงขุดหัวขึ้น เพื่อให้อาหารสะสมได้เต็มที่

การคลุมโคนต้น  เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับไม้หัวเพราะจะช่วยทำให้ความชื้นในดินสม่ำเสมอ ลดปริมาณวัชพืชและประหยัดการให้น้ำ

วิธีการเก็บหัว  แบ่งเป็น 5 ขั้นตอนคือ

การขุดหัว ควรระวังไม่ให้ขุดชิดโคนต้นมากเกินไป จะทำให้เกิดความเสียหายกับหัวได้ และควรใช้อุปกรณ์เช่น เสียมขุด ไม่ควรถอดดึงต้นขึ้นมา

การนำหัวที่ขุดแล้วมาผึ่งไว้ในที่ร่ม โดยไม่ต้องล้างน้ำให้ดินเก่าและรากเก่าติดไว้ ทิ้งไว้ 7-15 วันในโรงเรือนที่มีหลังคาบังแสงโปร่ง และมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก เมื่อดินแห้งควรตัดใบทิ้งด้วย

ทำความสะอาดหัว โดยเคาะเอาดินออก แต่งรากเก่าทิ้ง ถ้ามีหัวย่อยแยกหัวย่อยออก เอาหัวเก่าที่หมดสภาพทิ้งไป

คัดขนาดหัวและคลุกสารเคมีกันราและแมลง โดยเลือกหัวที่เป็นโรคเป็นแผลทิ้ง ส่วนหัวที่ได้ขนาดนำมาคลุกสารกันราและแมลง

การเก็บรักษา ควรเก็บไว้ในภาชนะที่โปร่ง อากาสถ่ายเท หรือเก็บไว้ในห้องเย็นที่มีอุณหภูมิ 40-50°Fหรือ 9-10 °C เพื่อช่วยลดช่วงระยะการพักตัว และทำให้ปริมาณการออกดอกสม่ำเสมอกว่าหัวที่เก็บไว้ในอุณหภูมิสูงด้วย

เอกสารอ้างอิง  แสงธรรม  คมกฤส  เอกสารประกอบการเรียนวิชาไม้ดอกประเภทหัว (Ornamental Bulbs Production) ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์