ประเภทการเลี้ยงสัตว์น้ำ

ประเภทการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่นี้แบ่งตามรูปแบบการเลี้ยงได้เป็นการเลี้ยงปลาในบ่อดินหรือซีเมนต์ การเลี้ยงปลาในกระชัง เลี้ยงปลาในคอก การเลี้ยงปลาในคูร่องสวน ซึ่งแต่ละประเภทมีรายละเอียดควรศึกษาดังต่อไปนี้

การเลี้ยงปลาในบ่อ หมายถึง การใช้บ่อที่ขุดหรือสร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการเลี้ยงปลา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบ่อดิน มีขนาดและรูปร่างตลอดจนความลึกตามวัตถุประสงค์ของการเลี้ยง บ่อที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ บ่อดินและบ่อซีเมนต์ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1. บ่อดิน-บ่อซีเมนต์ เป็นบ่อที่ใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงสัตว์น้ำได้โดยทั่วไป เช่น บ่อเพาะฟัก บ่ออนุบาล บ่อขุน (growing pond) บ่อเลี้ยงพ่อแม่ปลา และบ่อเก็บกักนํ้าไว้ใช้ในการเลี้ยงสัตว์นํ้า นอกจากนี้การสร้างบ่อดังกล่าวยังใช้ต้นทุนต่ำด้วย

-บ่อดินที่สร้างขึ้นในบริเวณดินเหนียวหรือดินร่วนปนดินเหนียวสามารถจะอุ้มน้ำได้โดยไม่รั่วซึม จัดว่าเป็นบ่อเลี้ยงปลาที่มีคุณสมบัติที่ดีในภูมิภาคนี้

-บ่อดินที่สร้างขึ้นในบริเวณดินลูกรัง ซึ่งมีพื้นที่บางแห่งอยู่เป็นจำนวนมาก บ่อดินลูกรังสามารถบดอัดให้แน่นเก็บกักน้ำไว้เลี้ยงปลาได้ แต่คุณสมบัติของน้ำอาจจะต้องแก้ไขโดยใช้ปูนขาวหรือปุ๋ยอินทรีย์เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติของน้ำให้เหมาะสมสำหรับใช้ในการเลี้ยงปลา

-ปอดินที่สร้างขึ้นในบริเวณดินร่วนปนทราย ซึ่งมีพื้นที่จำนวนมากอยู่ใกล้แหล่งน้ำ สามารถจะขุดบ่อเลี้ยงปลาได้ การป้องกันน้ำรั่วซึมโดยการฉาบด้วยซีเมนต์ที่พื้นผิวดินภายในบ่อ หรือโดยการนำดินเหนียวจากที่อื่นมาใส่ที่พื้นก้นปอหนาประมาณ 20 ซม. และใช้ดินเหนียวบางส่วนไล้ตบอัดบริเวณที่ดินด้านในบ่อ แล้วใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพาะขยายแพลงก์ตอนพืชและตะไคร่นํ้าเพื่ออุดรูรั่วซึม บ่อดังกล่าวนี้ใช้ชั่วระยะเวลาประมาณ 5 เดือน ถึง 1 ปี สามารถจะใช้เป็นบ่อที่เลี้ยงปลาได้ดี

-บ่อซีเมนต์ เป็นบ่อที่สร้างขึ้นด้วยคอนกรีต อิฐมอญ อิฐบล๊อค ส่วนใหญ่ใช้เป็นบ่อเพาะฟักและอนุบาลลูกปลา หรือเป็นบ่อเพาะอาหารธรรมชาติ เช่น ไรแดง บ่อซีเมนต์ขนาด 50- 100 ตารางเมตร ใช้เป็นบ่อเลี้ยงปลาดุกไว้บริโภคในครัวเรือนได้ และถ้าเป็นบ่อที่สร้างขึ้นใช้เลี้ยงปลาโดยระบบน้ำไหล ขนาดกว้าง 2-4 เมตร ลึก 1.00-2.00 เมตร ยาวประมาณ 15 เมตร ก็สามารถใช้เลี้ยงปลาไนและปลาดุกในเชิงการค้าได้

2. อาหารปลา

เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการเลี้ยงปลาในบ่อ ซึ่งจะต้องเข้าใจและมีขั้นตอนในการเตรียม หรือจัดหาให้ตามความเหมาะสมของวัยหรึอขนาดของปลาที่โตขึ้นตามลำดับ ดังนี้

-ลูกปลาวัยอ่อน หลังจากถุงอาหารยุบแล้วจะบริโภคอาหารที่มีขนาดเล็กกว่าปาก เช่น ไข่แดงต้มสุกบดให้ละเอียดละลายน้ำ รำละเอียด ปลาป่นบดละเอียด แป้งมัน แป้งข้าวสาลี และปลาอาหารธรรมชาติจำพวกแพลงก์ตอนพืชและสัตว์ที่เพาะขึ้นโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลสัตว์ของเหลือจากโรงงานน้ำตาล แป้งและผงชูรส หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ภายในบ่ออนุบาลหรือเพาะขึ้นจากบ่ออื่นนำมาให้

-ลูกปลาขนาดเล็กและลูกปลาขนาดนิ้วมือ จะสามารถกินอาหารสมทบ เช่น รำละเอียดหรืออาหารสำเร็จรูป (Completed feed) ที่มีส่วนของรำ ปลายข้าว กากถั่ว และปลาป่น ปลาในวัยนี้ต้องการอัตราส่วนของโปรตีนค่อนข้างสูงประมาณ 30% เพราะต้องนำไปใช้พัฒนาระบบอวัยวะต่างๆ ภายในให้เจริญขึ้น อาหารผสมดังกล่าวใช้เฉพาะปลาที่มีอุปนิสัยในการกินพืช กินแพลงก์ตอน หรือกินอาหารไม่เลือกเท่านั้น ซึ่งได้แก่ ปลาจีน ตะเพียนขาว ยี่สกเทศ นวลจันทร์เทศ นิล ไน และสวาย ส่วนปลา หรือสัตว์น้ำที่กินเนื้อเป็นอาหาร เช่น ปลาดุกด้าน ปลาดุกอุย และกุ้งก้ามกราม จะต้องใช้อาหารผสมหรืออาหารสำเร็จรูปที่มีส่วนของอาหารโปรตีนประมาณ 40% หรืออาหารปลาสดบดผสมรำ 10% เครื่องในจากโรงฆ่าสัตว์ เป็นต้น

-ลูกปลาขนาดวัยรุ่นขึ้นไปแต่ละชนิด จะมีระบบการย่อยอาหารดีขึ้น ซึ่งสามารถจะกินอาหารหยาบตรงตามอุปนิสัยของแต่ละชนิดได้ดังนี้

ปลาเฉาขนาด 15 ซม. กินหญ้า วัชพืช เช่น สาหร่าย จอก แหน ผักตบชวา ผักบุ้ง และเศษผัก

ปลาตะเพียนขาว กินแหน สาหร่าย จอก และผักบุ้ง ผักตบชวาหั่นพอเหมาะ ใบแค เศษพืชผัก

-ปลาจีนซ่ง กินแพลงก์ตอนพืชและสัตว์

-ปลายี่สกเทศ นวลจันทร์เทศ กินแพลงก์ตอน และซากพืช

-ปลาสวาย นิล ไน กินอาหารไม่เลือก เช่น อาหารผสมจำพวกรำ ปลายข้าว ปลาป่น กากถั่ว แหนเป็ด สาหร่าย ผักบุ้ง และผักตบชวาหั่น เศษเหลือจากโรงงาน เช่น กากถั่วและเศษอาหารจากภัตตาคาร มูลสัตว์เลี้ยงทุกชนิด นอกจากนี้ปลาไนยังชอบกินอาหารประเภทตัวอ่อนของแมลง หนอนตามก้นบ่ออีกด้วย

ปลาดุกด้าน ปลาดุกอุย และกุ้งก้ามกราม กินอาหารประเภทเนื้อ เช่น เศษเหลือจากโรงฆ่าสัตว์ ปลาสดบดผสมรำ หรืออาหารสำเร็จรูปที่มีส่วนของโปรตีนประมาณ 30% ขึ้นไป

อนึ่งจากประสบการณ์ในการเลี้ยงสัตว์น้ำดังกล่าวข้างต้น ถึงแม้ว่าสัตว์น้ำต่างๆ จะมีอุปนิสัยในการบริโภคอาหารที่แตกต่างกันตามธรรมชาติ แต่ก็สามารถจะฝึกให้กินอาหารผสมหรืออาหารสมทบได้เกือบทุกชนิดเมื่อนำมาเลี้ยงในบ่อ

สำหรับแหล่งอาหารที่สำคัญในภูมภาคนี้ ที่ควรพิจารณานำมาใช้เลี้ยงปลา แบ่งตามประเภทของอาหาร ดังนี้

-อาหารจำพวกแป้งสำหรับปลากินพืช ได้แก่ มันสำปะหลัง ซึ่งมีจำนวนมาก และราคาถูก ยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงปลา นอกจากนี้ก็มีรำข้าว ปลายข้าว ส่าเหล้า เศษอาหารเหลือจากโรงงาน ของเหลือจากตลาดสด เช่น เครื่องในสัตว์ ไส้ปลา เศษผักต่างๆ เป็นต้น

-มูลสัตว์ เช่น สุกร โค กระบือ เป็ด ไก่ และฟางข้าว พืชตระกูลถั่ว หญ้าต่างๆ ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นอาหารโดยตรง หรือหมักแช่ในบ่อปลา เพื่อเพาะอาหารจำพวกแพลงก์ตอนสำหรับ ปลาที่กินอาหารประเภทนี้ หรือลูกปลาวัยอ่อนทุกชนิด

-อาหารประเภทเนื้อที่มีราคาถูกนับว่ามีน้อยมากในภูมิภาคนี้ ดังนั้น ถ้าจะเลี้ยงปลาหรือสัตว์น้ำประเภทเนื้อ จึงจำเป็นต้องใช้อาหารสำเร็จรูปที่จะต้องซื้อจากตลาด หรืออาจจะผสมขึ้นใช้เองได้ โดยซื้อปลาป่นหรือเศษเนื้อมาผสมกับอาหารจำพวกแป้งมันสำปะหลัง กากถั่ว รำข้าว โดยเติมด้วยหัวอาหาร (วิตามินพรีมิก) ลงไปด้วย

3. ระยะเวลาการเลี้ยงและผลผลิต

-ระยะเวลาการเลี้ยงปลาในบ่อนั้น จะสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับชนิดของปลาและ ขนาดของปลาที่ปล่อยเลี้ยงในครั้งแรก แต่ส่วนใหญ่จะใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 8-12 เดือน หรือในรอบ 1 ปี ถ้าเป็นสัตว์น้ำที่กินเนื้อและใช้อาหารที่ถูกต้องเหมาะสม จะใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 4-6 เดือน ก็สามารถจับจำหน่ายได้ สำหรับผลผลิตสัตว์น้ำเฉลี่ยโดยทั่วๆ ไป ดังนี้

-ปลาจีน (เฉา ลิ่น ซ่ง ไน) 300-400 กก./ไร่/12 เดือน (เลี้ยงแบบรวมให้หญ้าและปุ๋ยเป็นหลัก และถ้าให้อาหารผสมจำพวก รำ ปลายข้าว พืชผักต่างๆ จะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอัตราประมาณ 1 เท่า)

-ปลานิล   600-1,000 กก./ไร่/6-8 เดือน

-ตะเพียนขาว  600-1,000 กก./ไร่/ 8 เดือน

-สวาย  4,000-5,000 กก./ไร่/ 12 เดือน

-ยี่สกเทศ  300-500 กก./ไร่/ 12 เดือน

-นวลจันทร์เทศ 300-500 กก./ไร่/ 12 เดือน

-ดุกด้าน-อุย  4,000-7,000 กก./ไร่/ 6 เดือน

-กุ้งก้ามกราม 150-200 กก./ไร่/ 8 เดือน

การเลี้ยงปลาในนาข้าว เป็นวิธีการที่ดีอย่างหนึ่งในการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำที่มีอยู่เพื่อผลิตอาหารโปรตีนเพิ่มขึ้น ตามปกตินาข้าวจะมีระดับน้ำลึก 5-25 ซม. และดินพื้นท้องนาค่อนข้างอุดมสมบูรณ์อันเนื่องมาจากการใส่ปุ๋ยบำรุงต้นข้าว ทำให้มีแพลงก์ตอนพืชและสัตว์ปริมาณสูง และยังมีตัวอ่อนของแมลง ลูกหอยต่างๆ ตลอดจนหนอนหรือไส้เดือนจำนวนมาก ซึ่งทรัพยากรดังกล่าวเป็นอาหารที่ดีของปลา

ส่วนประโยชน์ของการเลี้ยงปลาในนาข้าวนั้นพอจะสรุปได้ ดังนี้

-การเลี้ยงปลาในนาข้าวนอกจากจะได้ผลผลิตจากปลาไว้บริโภคในครัวเรือนจำนวนหนึ่งแล้ว ผลผลิตที่เหลือจากการจับก็อาจแปรรูปเป็นอาหารพื้นเมือง เช่น ปลาร้า ปลาเจ่า ปลาเค็ม ฯลฯ ล้วน เก็บไว้บริโภคได้อีกด้วย

-ผลผลิตของข้าวในนาที่เลี้ยงปลารวมไปด้วย จะได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นจากเดิมไร่ละประมาณ 5-15 ถัง และอาจสูงถึง 24 ถัง

-ปลาช่วยกำจัดแมลงในน้ำและแมลงบางชนิดที่เป็นศัตรูข้าว และปลาที่เลี้ยงจะขับถ่ายออกมากลายเป็นปุ๋ยอันเป็นประโยชน์ต่อต้นข้าว ช่วยกำจัดวัชพืชในน้ำที่แย่งธาตุอาหารของต้นข้าวนอกจากนั้นปลายังช่วยขุดคุ้ยพรวนดินให้แก่ต้นข้าวอีกด้วย

(1) ผลผลิตปลา

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การเลี้ยงปลาในน้ำพร้อมกับการปลูกข้าวนั้นจะได้ทั้งผลผลิตจากปลาที่เลี้ยง และผลผลิตเพิ่มขึ้นของข้าว ช่วงระยะของการเลี้ยงปลาในนาดังกล่าวจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ผลผลิตของปลาจะได้ประมาณ 10-100 กก./ไร่ และถ้าแปลงนาที่ปล่อยปลา 2-3 ชนิดรวมกันจะได้ผลผลิตสูงขึ้น ส่วนแปลงนาที่เลี้ยงปลาโดยไม่ได้ปลูกข้าวจะได้ผลผลิตสูงถึง 100-150 กก./ไร่ นอกจากนั้นอาจมีปลาชนิดอื่นๆ เช่น ปลาช่อน ปลาดุก ปลาหมอ ในอัตราประมาณ 5-10 กก./ไร่ เป็นผลพลอยได้ร่วมไปด้วย

(2) ผลผลิตจากข้าว โดยปกตินาข้าวที่ไม่ได้เลี้ยงปลาในภูมิภาคนี้จะได้ผลผลิตประมาณ 30-35 ถัง/ไร่ ถ้ามีการเลี้ยงปลาร่วมด้วยจะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 35-50 ถัง/ไร่ ก็ได้

การที่ผลผลิตของปลาที่เลี้ยงในนาร่วมกับการปลูกข้าวแตกต่างกันมากดังกล่าวมาแล้ว พอจะจำแนกถึงปัจจัยซึ่งเป็นตัวแปรซึ่งก่อให้เกิดข้อแตกต่างของผลผลิตดังต่อไปนี้

1. ชนิดของปลา ในการเลี้ยงปลาในนาข้าวนั้นจะต้องเลือกชนิดของปลาที่เหมาะสม มีความอดทนต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศได้ดี กินอาหารไม่เลือก เช่น แพลงก์ตอน วัชพืชน้ำแมลงและตัวอ่อนของแมลงในนา และไม่ทำลายต้นข้าว เป็นต้น พันธุปลาคัดเลือกและเป็นที่นิยมเลี้ยงในนาของชาวนาในภาคนี้ คือ

-ปลาไน

-ปลานิล

-ปลาตะเพียนขาว

-ปลาซ่ง หัวโต

-ปลานวลจันทร์เทศ

2. ขนาดของปลาและอัตราการปล่อย ปัจจุบันได้มีการปล่อยลูกปลาขนาดต่างๆ ลงเลี้ยงร่วมกับการปลูกข้าว แต่ขนาดลูกปลาที่เลี้ยงได้ผลดีที่สุดคือ

2.1 ลูกปลาไน นิล หรือตะเพียนขาว และปลาซ่งหัวโต ขนาด 5-10 ซม. ปล่อยในอัตรา 400-600 ตัว/ไร่ ส่วนลูกปลานวลจันทร์เทศ ขนาด 10-15 ชม. ในอัตรา 100 ตัว/ไร่ ขนาดของลูกปลาและอัตราการปล่อยดังกล่าวจะได้ผลผลิตสูงและเป็นผลดีกว่าขนาดอื่นๆ คือ ได้ผลผลิตประมาณ 50-100 กก./ไร่ ปลาที่เลี้ยงครบ 4 เดือน จะได้ขนาดหนัก 3-4 ตัว/กก. มีอัตรารอด 50-75%

2.2 ลูกปลาชนิดเดียวกับที่ได้กล่าวมาแล้ว ในข้อ 2.1 แต่ปล่อยปลาขนาด 2-3 ซม. ซึ่งเป็นลูกปลาขนาดเล็กที่มีอายุประมาณ 1-1.5 เดือน ที่มีขายอยู่ทั่วไปตามสถานประมงน้ำจืดเป็นส่วนใหญ่ ส่วนอัตราการปล่อยนั้นแม้จะได้มีการแนะนำให้ปล่อย 800-1,000 ตัว/ไร่ แต่ชาวนาเองก็มักปล่อยในอัตราสูงกว่า คือ 1,500-2,000 ตัว/ไร่ เพราะปลามีอัตรารอดค่อนข้างต่ำ คือ ประมาณ 25% เท่านั้น ผลผลิตของปลาเมื่อเลี้ยงได้ครบระยะเวลาเดียวกันจะได้ประมาณ 20 กก./ไร่ เป็นปลาขนาด 10- 20 ตัว/กก.

สาเหตุที่ปลามีอัตรารอดต่ำนั้นเป็นเพราะในนาข้าวนั้นมีศัตรูตามธรรมชาติ ได้แก่ ปลาช่อน ปลาหมอไทย ปลาดุก งู ปู กบ เขียด และนก และโดยที่ลูกปลาดังกล่าวเป็นขนาดเล็กเกินไป จึงมีโอกาสหลบหลีกหนีศัตรูพวกนี้ได้น้อยมาก และนี่ก็คือปัญหาหนึ่งซึ่งควรหาทางแก้ไขให้ชาวนาได้มีโอกาสได้พันธุ์ปลาขนาดโตกว่า คือ ขนาด 5-10 ซม. ลงปล่อยในนา จึงจะได้ผลผลิตสูงกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้

3. คันนาที่เลี้ยงปลาในนา ควรมีขนาดสูงใหญ่และแข็งแรงพอที่จะขังน้ำเลี้ยงปลาในนาตลอดจนมีการรั่วซึมน้อยที่สุด ปกตินาข้าวธรรมดามักจะมีคันนาขนาดเล็ก เวลาฝนตกหนักน้ำมักจะท่วมคันนา ปลาที่เลี้ยงก็จะหนีไปตามนา จะพบบ่อยครั้งสำหรับผู้เลี้ยงปลาในนาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น การเสริมคันนาให้สูงพ้นระดับน้ำท่วมและแข็งแรงจึงมีความจำเป็น

4. ปริมาณของน้ำในนา เป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งของการเลี้ยงปลาในนา การมีน้ำคุณภาพดีและมีปริมาณเพียงพอก็จะเป็นผลดีในการเจริญเติบโตของปลาไปด้วย หากน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาอยู่ในเขตชลประทาน หาน้ำได้สะดวก ปัญหาก็น้อยลง แต่ถ้าเป็นนาที่ต้องอาศัยน้ำฝนแต่อย่างเดียวแล้ว ก็ควรพิจารณาให้รอบคอบว่าควรจะเลี้ยงปลาได้ในระยะกี่เดือน หลังจากนั้นจะจับเมื่อใด เอาปลาไปเลี้ยงในบ่อต่อหรือจำหน่ายที่ใดโดยมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า

5. การใส่ปุ๋ยและการให้อาหารสมทบ ในการเลี้ยงปลาในนานั้น ปุยเป็นปัจจัยสำคัญที่มีแร่ธาตุที่ทำให้เกิดอาหารธรรมชาติ ซึ่งได้แก่พืชหลายชนิดซึ่งมีลูกโซ่เกี่ยวโยงที่จะก่อให้เกิดอาหารของปลา แมลง ตัวอ่อนของแมลง หนอน ไส้เดือน ฯลฯ ซึ่งเป็นอาหารของปลาที่เลี้ยงในนาโดยตรง นอกจากนั้นปุ๋ยยังมีแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของต้นขาวไปด้วย ดังนั้น แปลงนาที่มีการเลี้ยงปลาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใส่ปุ๋ย อัตราการใส่ปุ๋ยควรเป็น 160-200 กก./ไร่/เดือน อนึ่ง ปุ๋ยคอกมีธาตุไนโตรเจนสูง อาจจะทำให้ต้นข้าวเฝือใบไม่ออกรวง จึงควรเสริมด้วยปุ๋ยเคมีจำพวกฟอสเฟต 3-5 กก./ไร่/เดือน เพื่อทำให้เกิดสมดุลต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ในกรณที่ปุ๋ยคอกมีไม่เพียงพออาจใช้ปุ๋ยพืชสดจำพวกตระกูลถั่ว ต้นสาบเสือหรือปุ๋ยหมักจากหญ้าฟาง ผักตบชวา กองสุมไว้ในบ่อรวมปลา

ส่วนอาหารสมทบนั้นนับว่ามีความจำเป็นมากในระยะที่เริ่มปล่อยลูกปลา การให้รำข้าว เศษอาหารจากครัวเรือน กากถั่ว มันสำปะหลัง แหนเป็ด ใบมันสำปะหลัง ใบผักที่เหลือและไม่ใช้จากสวนผัก ล้วนเป็นอาหารสมทบที่ให้คุณประโยชน์ในทางเจริญเติบโตของปลาได้ทั้งสิ้น

6. ปลาบางชนิดเช่นปลาตะเพียนขาวเป็นปลาที่กินพืช ถ้าในกรณีที่ระดับน้ำในแปลงนาสูงไม่ท่วมต้นข้าวหรือใบข้าว ก็จะไม่มีผลกระทบกระเทือนที่เสียหายใดๆ ต่อต้นข้าว แต่ถ้าหากในกรณีมีฝนตกหนักมีระดับน้ำขึ้นสูงจนท่วมต้นข้าวหรือใบข้าวปลาตะเพียนขาวจะกินใบข้าวและทำให้ต้นข้าวเสียหายทันที ดังนั้น การเลี้ยงปลาตะเพียนขาวในนาข้าวจึงควรระมัดระวังเรื่องระดับน้ำในนาให้มาก

7. ขโมยเป็นปัญหาที่มีอยู่ทั่วไป อาจป้องกันและแก้ไขได้โดย

-นำเอากิ่งไม้และหนามลงไปในคูในนาเพื่อป้องกันการใช้เครื่องมือพวก แห ข่าย เบ็ด สุ่ม ฯลฯ

-หมั่นตรวจและดูแลโดยเฉพาะเวลาค่ำคืน

8. การดูแลรักษา นอกจากจะมีปัจจัยต่างๆ ที่เป็นตัวแปรอันสำคัญที่ให้การเลี้ยงปลาในนามีผลผลิตแตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้างนั้น ยังขึ้นอยู่กับการเอาใจใส่ดูแลรักษา ซึ่งจะต้องปฎิบัติเป็นประจำ คือ

-หมั่นตรวจซ่อมคันนา เพื่อป้องกันน้ำรั่วซึมหรือดินพังทลายเมื่อเวลาน้ำท่วม หรือฝนตก

-รักษาระดับน้ำให้มีระดับ 15-30 ซม. ในช่วงระยะเวลา 3-4 เดือนที่มีการเลี้ยง

-ใส่ปุ๋ยอย่างสมํ่าเสมอเดือนละ 1 ครั้ง พร้อมด้วยมีปุ๋ยพืชสดหรือปุ๋ยหมักไว้เป็นประจำ

-ให้อาหารสมทบเท่าที่จะหามาให้ได้

-กำจัดวัชพืชในนาที่ปลาไม่สามารถใช้เป็นอาหาร

-คอยระมัดระวังศัตรูของปลา เช่น นก กบ เขียด งู และปลาอื่น ๆ นอกเหนือจากที่เลี้ยง

-การใช้ยาฆ่าแมลงหรือปราบศัตรูข้าว จะต้องพิจารณาชนิดที่ไม่เป็นอันตรายต่อปลาที่เลี้ยง

การเลี้ยงปลาในกระชัง

การเลี้ยงปลาในกระชังหมายถึงการเลี้ยงปลาในภาชนะกักขัง ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปกระชัง มีขนาดช่องตาให้น้ำไหลผ่านเข้าออกได้ แต่ปลาออกไม่ได้ ปริมาณปลาที่เลี้ยงในกระชังนี้สามารถจะปล่อยลงเลี้ยงให้มีความหนาแน่นสูง เพราะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำเสีย เพราะตัวกระชังจะถูกนำไปผูกแขวนลอยไว้ในแหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง และอ่างเก็บน้ำ ซึ่งคุณสมบัติของน้ำในกระชังจะยังคงสภาพดีอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกับคุณภาพของน้ำในแหล่งนั้น ทั้งนี้เพราะสิ่งปฏิกูลต่างๆ และเศษอาหารที่บูดเน่าตกค้างจะถูกกระแสน้ำพัดพาออกนอกกระชังทางหนึ่ง และอีกทางหนึ่งโดยปลาที่เลี้ยงในกระชัง ทำให้น้ำหมุนเวียนช่วยผลักดัน

(1) พันธุ์ปลาที่เหมาะสมเลี้ยงในกระชัง จะต้องเป็นปลาที่สามารถฝึกให้กินอาหาร ได้โดยรวดเร็วก่อนที่อาหารจะละลายหรือสูญหายไปในน้ำ ซึ่งได้แก่ชนิดของปลาและอัตราส่วนการปล่อย ดังนี้

ชนิด ขนาด(ซม.) อัตราส่วนการปล่อย 

จำนวน/ม.²

สวาย 10-15 150-200
นิล 5-6 200-250
ไน 7-10 100-150
ตะเพียนขาว 5-6 150-200
ดุกอุย 5-6 200-350

 

สำหรับช่องตาของกระชังนั้น ต้องพิจารณาให้สัมพันธ์กับขนาดของปลาที่ใช้เลี้ยง คือ ถ้าปลาที่เลี้ยงมีขนาดโตยิ่งขึ้นก็เปลี่ยนใช้กระชังใหญ่ขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้เพื่อให้น้ำไหลถ่ายเทได้สะดวก และไม่มีเศษอาหารตกค้าง ส่วนการอนุบาลลูกปลาในกระชังขนาด 1-1.5 ซม. ให้เป็นปลาขนาด 3-5 ซม. สามารถเพิ่มอัตราส่วนจำนวนตัวต่อตารางเมตรขึ้นไปได้อีกประมาณ 5-10 เท่า

(2) อาหาร

อาหารของปลาที่เลี้ยงในกระชัง มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดสูตรอาหารให้เหมาะสมกับชนิดของปลาที่ใช้เลี้ยง เพราะปลาที่เลี้ยงในกระชังต้องถูกกักขังไม่สามารถจะไปหาอาหารที่อื่นได้ สำหรับอาหารของปลาสวาย นิล ไน ซึ่งเป็นปลาที่กินอาหารไม่เลือก ก็ควรให้อาหารผสมซึ่งมีโปรตีนจากปลาป่นหรือเนื้อสัตว์รวมอยู่ด้วยประมาณ 18-25% (มีหัวอาหารหรือวิตามินพรีมิก ในอัตราส่วนที่เหมาะสม) ผสมกับมันเส้น หรือปลายข้าว รำข้าว และพืชผักต่างๆ ที่หั่นหรือสับโดยต้มมันเส้นให้สุกและเหนียวก่อน เมื่อเย็นแล้วจงคลุกรำและพืชผักสดเข้าด้วยกัน ปั้นเป็นก้อนโยนให้ปลากิน ส่วนปลาดุกซึ่งเป็นปลาที่กินเนื้อ ควรใช้อาหารเม็ด ซึ่งเป็นอาหารสำเร็จรูปมีส่วนของโปรตีนประมาณ 40% เศษเหลือจากโรงฆ่าสัตว์ เช่น เครื่องใน อาจใช้เป็นอาหารเสริมได้

การให้อาหารแก่ปลาที่เลี้ยงในกระชัง ควรแบ่งให้แต่น้อยและบ่อยครั้ง อาจเป็นวันละ 5-6 ครั้ง หรือ 2 ชั่วโมงต่อครั้ง ทั้งนี้เพื่อฝึกหัดให้ปลาปราดเปรียวแข็งแรง ซึ่งเป็นวิธีที่ดีกว่าการให้

อาหารเพียงมื้อหรือสองมื้อใน 1 วัน

ส่วนการให้อาหารแก่ลูกปลาขนาดเล็กในขั้นอนุบาล อาจจะต้องทำแป้นอาหารและแขวนให้จมอยู่ใต้ระดับน้ำประมาณ 20-30 ซม. ทั้งนี้เพื่อให้โอกาสแก่ลูกปลากินอาหารโดยทั่วถึง

อนึ่ง ก่อนที่จะตัดสินใจเลี้ยงปลาในกระชัง จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ โดยเฉพาะในด้านอาหารที่จะใช้เลี้ยงปลา ชนิดและปริมาณอาหารที่ให้ต่ออัตราการแลกเนื้อ และผลผลิตจากปลา

ที่เลี้ยงกับราคาปลาที่จะจำหน่ายได้ นอกจากนี้จากประสบการณ์ความล้มเหลวมักจะเกิดขึ้นจากการที่ไม่เอาใจใส่ต่อการเลี้ยง เช่น ไม่ให้อาหารตามกำหนดเวลา และปลาถูกขโมยได้ง่าย เนื่องจากบ้านพักอาศัยอยู่ห่างจากสถานที่วางกระชังเลี้ยงปลา เป็นต้น

(3) ผลผลิตของปลาที่เลี้ยงในกระชัง (เมฆ บุญพราหมณ์ 2522)

ชนิด กก./1ม.³/ปี
สวาย 62.1
นิล 150-200
ไน 169
ตะเพียนขาว 45.5

 

มีข้อสังเกตว่า การเลี้ยงปลาในกระชังจะได้ผลผลิตสูงกว่าการเลี้ยงปลาในบ่อ 10-20 เท่า

การเลี้ยงปลาในคอก

สามารถทำได้บริเวณอ่างเก็บน้ำที่ตื้นชายฝั่ง ซึ่งมีระดับน้ำลึกประมาณ 1-3 เมตร ซึ่งอาจจะใช้เฝือก ลวด ตาข่าย เนื้ออวนไนลอนหรือพลาสติก กั้นเป็นคอกสำหรับเลี้ยงปลา คอกเลี้ยงปลาอาจจะมีขนาดตั้งแต่ 1-10 ไร่ ตามพื้นคอกเป็นที่เกิดของสัตว์น้ำหน้าดินชนิดต่างๆ การถ่ายเทน้ำได้สะดวกผ่านช่องตาของเฝือกหรือช่องตาอวนที่ล้อมขัง จึงถ่ายเทแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และช่วยเพิ่มออกซิเจนอทำให้สามารถปล่อยปลาได้จำนวนมาก ผลผลิตของปลาในคอกจะสูง หากเลี้ยงปลากินแพลงก์ตอนและปลาที่กินอาหารตามหน้าดิน หรือเลี้ยงโดยให้อาหารสมทบด้วยในแหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ของอาหารธรรมชาติ

คอกปลาที่สร้างตามบริเวณชายฝั่งแม่น้ำใช้เนื้อที่ประมาณ 30-50 ตารางเมตร ก็เป็นการเพียงพอ เพราะถ้าสร้างใหญ่โตเกินไปก็จะเสี่ยงต่อกระแสน้ำที่พัดพาเอาต้นไม้และกิ่งไม้มาปะทะทำให้คอกพังได้ง่าย นอกจากนั้นยังสามารถเลี้ยงปลาได้หนาแน่นกว่าคอกที่สร้างในอ่างเก็บน้ำและหนองบึง เพราะกระแสน้ำจะช่วยให้มีการถ่ายเทของเสียออกจากคอก และเพิ่มปริมาณออกซิเจนได้ดีกว่า

(1) ชนิดสัตว์น้ำที่เลี้ยง

คอกเลี้ยงปลาสามารถใช้เลี้ยงสัตว์น้ำชนิดใดก็ได้ ชนิดของปลาที่ควรเลี้ยง ได้แก่ ปลาจีน (เฉา ลิ่น ซ่ง ไน) ปลาสวาย ปลานิล ปลายี่สกเทศ ปลานวลจันทร์ทะเล ปลาตะเพียนขาว และ กุ้งกราม ชนิดสัตว์น้ำดังกล่าวต่างก็มีความเหมาะสมกับการเลี้ยงในคอกทั้งสิ้น แต่อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรูปแบบคอก เพื่อให้เหมาะสมกับอุปนิสัยของสัตว์น้ำชนิดที่ต้องการเลี้ยง

(2) อัตราการปล่อยลูกปลาลงเลี้ยงในคอก

ต้องเป็นปลาขนาดโตพอสมควร อัตราการปล่อยแตกต่างกันไปตามชนิดปลาที่เลี้ยง ดังนี้

-ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาสวาย ปล่อยลูกปลาประมาณ 6,000-10,000 ตัว/ไร่

-ปลาจีน ปลายี่สกเทศ ปลานวลจันทร์ทะเล ปล่อยประมาณ 1,000-2,000 ตัว/ไร่

-กุ้งก้ามกราม ปล่อยขนาด 4-7 ซม. จำนวน 8,000-10,000 ตัว/ไร่

(3) ระยะเวลาการเลี้ยง ผู้เลี้ยงปลาอาจปล่อยลูกปลาเพียงครั้งเดียว และเลี้ยงไว้จนได้ขนาดที่ตลาดต้องการแล้วจับขึ้นมาขายพร้อมกัน หรืออาจจะคัดเลือกจับปลาที่ได้ขนาดขึ้นมาขายทุกๆ 2 เดือน พร้อมกับปล่อยลูกปลาลงไปทดแทนส่วนที่ถูกจับเป็นชุดๆ ไป แต่โดยทั่วไปถ้าเป็นปลากินพืชจะใช้เวลาการเลี้ยงในคอก ประมาณ 4-6 เดือนต่อหนึ่งรุ่น ในปีหนึ่งๆ จะสามารถเลี้ยงปลาได้ถึงสองรุ่น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์น้ำที่เลี้ยงด้วย

(4) อาหาร แบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ

-อาหารธรรมชาติ เป็นอาหารธรรมชาติจากแหล่งน้ำ เช่น แพลงก์ตอนพืชและสัตว์ ตัวอ่อนของแมลง ฯลฯ ส่วนปรมาณความมากน้อยขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำแต่ละแห่ง

-อาหารเสริม เป็นอาหารที่ใช้เลี้ยงปลา ควรเป็นของที่หาง่ายในบริเวณแหล่งน้ำนั้น เช่น สาหร่าย ผักบุ้ง ผักตบชวา (ถ้าเป็นปลาขนาดเล็กต้องหั่นหรือสับก่อน) แหน และอาหารที่มีราคาถูก เช่นกากถั่ว หรือกากมะพร้าว เป็นต้น

(5) การเก็บเกี่ยวผลผลิต การจับปลาที่เลี้ยงไว้ในคอกมีอยู่หลายแบบ ในกรณที่ต้องการจับปลาทั้งหมดขึ้นมาในคราวเดียวกัน ก็อาจจะใช้อวนล้อมจับ แต่ถ้าต้องการคัดเลือกจับเฉพาะปลาที่ได้ขนาดแล้วเท่านั้น ก็อาจจับโดยใช้ข่ายที่มีขนาดช่องตาตามขนาดของปลา นอกจากนี้เครื่องมือชนิดอื่นๆ ที่นิยมในท้องถิ่น เช่น แห และลอบ เป็นต้น

การเลี้ยงปลาในคูร่องสวน

คูหรือร่องสวนที่ยาวติดต่อกันและมีขนาดกว้าง 2-3 เมตร น้ำลึก 1-1.50 เมตร อาจใช้เฝือก หรืออวนกั้นเป็นตอนๆ เพื่อใช้เลี้ยงปลาได้ หรืออาจจะปล่อยปลาหลายชนิดรวมกันก็ได้ ชนิดของปลาที่ เหมาะจะเลี้ยงในคูร่องสวน คือ ปลานิล ตะเพียนขาว แรด หมอตาล ฯลฯ

อาหารที่ให้ได้แก่ เศษอาหารเหลือจากโรงครัว หรืออาหารสมทบจำพวกรำข้าว มันสำปะหลังต้มผสมรำ ผักบุ้ง ผักตบชวา หรือเศษผัก หั่นให้ละเอียด โดยทำที่ให้อาหารกระจายให้ทั่วถึง

ผลผลิตแม้ว่าจะไม่มากนัก แต่ก็อาจจะมีปริมาณมากพอที่จะไม่ต้องซื้อปลาบริโภค และให้ความสุขความเพลิดเพลินแก่สมาชิกในครอบครัวได้เป็นอย่างดี