ประโยชน์จากต้นพิกุล

(Bullet Wood, Tanjong Tree)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mimusops elengi L.
ชื่อวงศ์ SAPOTACEAE
ชื่ออื่น กุน ซางดง พิกุลป่า ตันหยง พิกุลเขา
ถิ่นกำเนิด อินเดีย พม่า มาเลเซีย
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-15 ม. ขนาดทรงพุ่ม 4-8 ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มรูปเจดีย์เมื่อต้นยังเล็ก โตขึ้นทรงพุ่มกลม แผ่กว้าง เปลือกต้นสีนํ้าตาลอมเทา แตกเป็นร่องตามแนวยาว


ใบ ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปรี หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 2-6.5 ซม. ยาว 7.5-15 ซม. ปลายใบแหลมเป็นติ่งสั้นๆ โคนใบมน ขอบใบเป็นคลื่นและห่อขึ้น แผ่นใบค่อนข้างหนาและเหนียว สีเขียวสด เรียบเป็นมัน ก้านใบยาว 2-4 ซม.
ดอก สีขาว มีกลิ่นหอม ดอกเดี่ยว ออกอยู่รวมกันเป็นกระจุก ที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง 2-7 ดอก กลีบเลี้ยง 8 กลีบ เรียงซ้อนกันสองชั้น ชั้นละ 4 กลีบ กลีบดอกมีประมาณ 24 กลีบ เรียงซ้อนเป็นสองชั้น โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเล็กน้อย เมื่อใกล้โรยเป็นสีเหลืองอมนํ้าตาล ดอกบานวันเดียวแล้วร่วง เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 0.8-1.5 ซม.


ผล ผลสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดียวรูปไข่ กว้าง 1.5 ซม. ยาว 2.5-3 ซม. ปลายแหลม สีเขียว เมื่อสุกเป็นสีแดงหรือแดงอมส้มเนื้อในสีเหลือง เมล็ดแบนรี เปลือกแข็ง สีนํ้าตาลเข้มหรือดำเป็นมัน ออกดอกติดผลตลอดปี ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา พบตามป่าดิบทางภาคใต้และภาคตะวันออกของไทย
การใช้ประโยชน์ ผลสุกรับประทานได้ ดอกทำบุหงา มีกลิ่นหอม ดอกมีนํ้ามันหอมระเหย เปลือกต้นมีสารเทนนิน เนื้อไม้ ใช้ในการก่อสร้าง ขุดเรือ ทำเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องดนตรี
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ดอก เข้ายาหอม บำรุงหัวใจ แก้เจ็บคอ แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แก้ไข้ ผล แก้ท้องเสีย เมล็ด บดละเอียด เป็นยาขับปัสสาวะ รักษาท้องผูก ใบ ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อกามโรค ทำบุหรี่ รักษาโรคหืด
หมายเหตุ ต้นไม้ประจำจังหวัดลพบุรี
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย