ปลูกมะลิ

มะลิ

(Jasmine)

Common name : Jasmine

Scientific name : Jasminum sambac Ait.

Family: Oleaceae

มะลิเป็นชื่อรวมของพืชในสกุล Jasminum แต่บางชนิดก็มีชื่ออื่นนอกเหนือไปจากมะลิ มีอยู่ในเมืองไทย 45 ชนิด ที่เป็นพื้นเมืองมีอยู่ 15 ชนิด ส่วนมากดอกมีสีขาว มีกลิ่นหอม อาจเป็นดอกเดียว หรือเป็นช่อ 2 หรือ 3 ดอก แต่ก็มีบางชนิดออกดอกเป็นพวง กลีบดอกชั้นนอกติดกันเป็นรูปต่าง ๆ กัน กลีบดอกชั้นในติดกันเป็นหลอดตอนโคนแล้วขยายออกเล็กน้อย และแยกเป็นกลีบ 4-10 กลีบ ลักษณะของต้นเป็นไม้พุ่มไม้รอเลื้อยหรือเลี้ยงใบเกิดตรงกันข้าม

Jasmine เป็นชื่อสามัญของพืชในสกุล Jas­minum แต่ก็มีพืชหลายชนิดที่มีคำว่า Jasmine แต่ไม่ใช่พืชในสกุล Jasminum เช่น Night Indian jasmine (กรรณิการ์ -Nyctanthes arbortritis Linn.) Crape jasmine (พุดฝรั่ง-Ervan- tamia coranaria Linn.) West Indian jasmine (เข็มเศรษฐี-Ixora macrothyrsa Teysm & Bin) Night blooming jasmine, Eight o’ clock jasmine (ราตรี-Cestrum nocturnum Linn.) Orange jessamine (แก้ว-Murraya paniculata Jack.) Tree jasmine (ปีบ-Millingtonia hortensis Linn.) Cape jasmine (พุดซ้อน- Garhenia jasminoides Ellis), West Indian red jasmine (ลั่นทมแดง-Plumeria rubra Linn.)

ชนิดและพันธุ์ที่มีชื่อพื้นเมืองที่รู้จักกันดี

1. Jasminum sambac Ait. มีอยู่ด้วยกัน 5 พันธุ์

พันธุ์ที่ 1 : มะลิลา-Arabian jasmine มี 2 สายพันธุ์ คือ ดอกเล็ก และดอกใหญ่

พันธุ์ที่ 2 : มะลิซ้อน-Grand Duke of Tuscany

พันธุ์ที่ 3: มะลิถอด

พันธุ์ที่ 4 : มะลิพิกุล, มะลิฉัตร

พันธุ์ที่ 5 : มะลิลาซ้อน

(พันธุ์ที่ 1 เป็น triploid (2n = 39) นอกนั้นเป็น (2n = 26)

2. Jasminum adenophyllum Wall. มะลิวัลย์, มะลิวัน Scented star jasmine, Climbing jasmine (2n = 26)

3. Jasminum sex Dunn. ปันหยี (2n = 52) มี 2 สายพันธุ์-พันธุ์ปลูก-ดอกใหญ่ ใบเขียวแก่, พันธุ์ป่า ดอกเล็ก, กลีบแหลม, ใบเขียวอ่อน

4. Jasminum pubescens Willd. มะลิพวง, มะลิซ่อม, มลุลี (2m = 39)

5. Jasminum auriculatum Vahl พุทธชาติ พุทธชาติหนู (2n = 26)

6. Jasminum scandens Vahl. เครือไส้ไก่ (2n = 26)

7. Jasminum sempervirens Kerr. อ้อยแสนสวน (2n = 26)

8. Jasminum flexile Vahe var. hookerianum พุทธชาติหลวง

9. Jasminum amplexicoule Hamilton ex G. Don มะลิฝรั่ง

10. Jasminum sootepense Craib แส้วน้อย

11. Jasminum syringifolium Wall ex G. Don

G. Don เขี้ยวงู

12. Jasminum decussatum Wall ex G. Don เขี้ยวงู

13. Jasminum nervosum Lour เขี้ยวงู, ลิย่าน

14. Jasminum coarctatum Roxb. เสี้ยวแก้ว

15. Jasminum evansii Ridl. มะลิย่าน, มะลิเถื่อน

16. Jasminum siamense Craib ดอกแส้ว

17. Jasminum grandiflorum Linn. จัสมิน, พุทธชาดก้านแดง

มะลิก้านขาว มะลิเขี้ยวงู (Jasminum gran­diflorum) เป็นไม้เลื้อยแตกกิ่งก้านมาก เกิดเป็นต้นก็ง่าย ไม่ต้องตอนก็ได้ เพียงแต่โน้มกิ่งลงไปแตะที่พื้นดินชุ่มชื่น (การทับกิ่ง) ก็แตกรากและกลายเป็นต้นใหม่ได้

มะลิพันธุ์นี้ลำเถากลมเกลี้ยงไม่ใหญ่อะไร ใบออกเป็นใบช่อคล้ายใบแก้ว แต่บางกว่าดอก ก็ออกเป็นช่อสาม ก้านดอก หลอดดอกสีแดง กลีบขาว กลิ่นหอมแรงมาก เป็นพันธุ์ไม้ที่ใช้กลั่นทำหัวน้ำหอม

มะลิลา มะลิซ้อน (Jasminum sambac) เป็นไม้พุ่ม เล็กใหญ่สุดแต่อายุ บางทีกิ่งก็อาจขดตัวพันไปกับสิ่งพักพิงได้เหมือนกัน ออกดอกเป็นช่อเล็ก ๆ เกือบตลอดปี แต่หน้าร้อนดกกว่าฤดูอื่น ๆ ดอกไม่เล็กนัก กลีบสีขาวบริสุทธิ์ หรือบางทีจะเห็นมีสีม่วงปนบ้างเล็กน้อย ส่วนที่เป็นหลอดโคนกลีบนั้นสีเขียวอมเหลืองอ่อน ๆ มีกลิ่นหอมเย็นระริ่น มักจะเริ่มขยายกลีบและส่งกลิ่นหอมในเวลาเย็น ๆ ในเมืองไทยเราใช้มาก ทั้งกลิ่นและความงามอันบริสุทธิ์สะอาด พูดถึงการปลูกหรือขยายพันธุ์ก็ง่าย ใช้หักกิ่งสั้น ๆ ปักก็เป็นและเจริญงอกงามอย่างรวดเร็วทีเดียว มะลิซ้อน ก็เป็นพวกชนิดนี้เหมือนกัน แต่ทว่ามีกลีบซ้อน หนาและดอกโตกว่า แต่มีกลิ่นหอมน้อยกว่า มะลิลา

มะลิวัลย์ (Jasminum adenophyllum) มะลิวัลย์หมายถึงต้นมะลิที่เป็นเถาเป็นไม้เลื้อย มีหลายชนิดด้วยกัน แต่ที่เอามาปลูกกันมาก คือ ต้นที่กล่าวนี้ นอกนั้นก็มีขึ้นอยู่ทั่ว ๆ ไปตามป่า ตามเขา แม้กระทั่งชายทะเล เป็นไม้เลื้อยพวกหนึ่ง ที่เวลามีดอกบานส่งกลิ่นหอมอบอวลไปทั่วบริเวณที่ปลูกเสมอ บางชนิดก็หอมแรง บางชนิดก็หอมอ่อนกว่า เวลานำไปปลูกตามซุ้มก็เจริญงอกงามน่าชมชื่น หรือเวลาเดินอยู่ตามป่าดงก็มักจะได้กลิ่นอันหอมระรื่นชื่นใจเป็นที่ยิ่ง ดอกนั้นขนาดดอกมะลิลาเล็กกว่าบ้าง ใหญ่กว่าบ้างก็ไม่เท่าใดนัก แต่ตัวกลีบขาว ๆ นั้น เล็กเรียวกว่า การปลูกมักใช้ตอนกิ่ง ชื่อที่เรียกในประเทศ ไทย : มะลิวัลย์ (ไทย) มะลิไส้ไก่ (พายัพ) มะลิย่าน, เขี้ยวงู (สุราษฎร์, ระนอง)

มะลุลี (Jasminum pubesens) เป็นไม้พุ่ม หรือไม้รอเลื้อยขนาดเล็กดอกมีกลิ่นหอมแรงมาก และหอมอยู่ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นพันธุ์ไม้ประเภทเดียวกับมะลิ แต่ต่างจากมะลิอื่นที่ดอกออกเป็นช่อแบนตามปลายกิ่ง โคนช่อมีขนนุ่ม ๆ สีเทาอยู่เต็ม ดอกมีสีขาวสะอาดตา บานเกือบพร้อมกันทั้งช่อและบานทน ไม่ใคร่จะร่วงง่ายเหมือนมะลิอื่น มะลุลีนี้ขยายพันธุ์ โดยใช้กิ่งตอนหรือปักชำก็ได้

มะลิที่ปลูกเป็นไม้ตัดดอก และมีราคา ได้แก่ มะลิลา หน้าแล้งราคาแพงตกลิตรละ 100 บาท มีที่ว่างข้างบ้านเหลืออยู่น่าจะปลูกมะลิขายดอก ส่วนมากนิยมใช้ร้อยมาลัย

การปลูก

ปลูกลงแปลงระยะปลูก 1X1 เมตร ชอบดินร่วนปนทราย ระยะเริ่มตัดดอกต้องการน้ำมาก เหมาะที่จะปลูกเป็นไม้ดอกประดับสองข้างทางเดินในบริเวณบ้าน

เตรียมหลุมกว้าง 50×50 เซ็นติเมตร ลึก 30 เซ็นติเมตร ใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุม ๆ ละ 1 ลิตร

การขยายพันธุ

ส่วนมากนิยมตอนกิ่งและตัดกิ่งปักชำ อาจใช้ใบ (ติดก้านใบ) ปักชำในกระบะทรายก็ได้เหมือนกัน แต่ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากเจริญเติบโตช้า

ศัตรูที่รบกวน

แมลงที่พบทำความเสียหายมาก ได้แก่ เพลี้ยหอย (scale bags) หนอนกัดกินใบยอด ใช้ยาประเภทดูดซึมพวกโฟลิคอน อี.605

ไรแดง (red mites) ใช้เฟซซัลเฟอร์ หรือ กำมะถันผง

โรคที่พบ ได้แก่ โรคใบจุดเหลือง ซึ่งอาจเป็นเพราะมีแมลงดูดกินน้ำเลี้ยงตรงบริเวณนั้น หรือขาดธาตุอาหารบางชนิด ต้องวินิจฉัยรักษาตามอาการ อีกโรคหนึ่งใบเป็นเสก็ดสีน้ำตาล (Canker) โรคนี้ใช้สะเตรปโตมัยซินละลายน้ำพ่น

การบังคับมะลิให้ออกดอกในฤดูแล้ง

ปัญหาที่พบอยู่ในขณะนี้แก่ชาวสวนมะลิ และตามบ้านที่ปลูกมะลิโดยทั่วไปก็คือ มะลิไม่ค่อยออกดอก งามแต่ใบที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะว่า

1. ปลูกในร่มเกินไป ใบได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ ควรได้รับแสงแดดวันละไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง

2. ให้น้ำให้ปุ๋ยมากไป เลยงามแต่ใบ ไม่ออกดอกให้ระยะที่ต้องการให้ออกดอกควรลดการให้น้ำ เพื่อลดจำนวนใบให้เหลือน้อย (ชาวบ้านใช้วิธีปลิดใบแก่ทิ้ง) ตาดอกจะแตกออกมาจึงค่อย ๆ เพิ่มน้ำเข้าโคนต้น ระยะนี้ควรให้ปุ๋ย ที่มีปอแตสเซี่ยมสูง หรือใช้ขี้เถ้าแกลบ ขี้เถ้าไม้