พญาสัตบรรณ

(Devil Tree)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Alstonia scholaris (L.) R.Br.
ชื่อวงศ์ APOCYMACEAE
ชื่ออื่น ตีนเป็ดขาว ตีนเป็ดเจ็ดใบ สัตบรรณ
ถิ่นกำเนิด ออสเตรเลีย แอฟริกา อินเดีย และมาเลเซีย
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 15-35 ม. ขนาดทรงพุ่ม 5-8 ม. ไม่ผลัดใบ ต้นอ่อนมีทรงพุ่มรูปเจดีย์ ต่อมาแตกกิ่งรอบ ข้อตั้งฉากกับลำต้นเป็นชั้นคล้ายฉัตรและเมื่อโตเต็มที่ทรงพุ่มรูปไข่ โคนต้นมีพูพอน เปลือกต้นสีนํ้าตาลอ่อน แตกสะเก็ดบางๆ ไม่เป็นระเบียบ


ใบ ใบเดี่ยว เรียงวงรอบข้อ 4-7 ใบ รูปใบหอกกลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง 2-8 ซม. ยาว 5-32 ซม. ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อยและห่อขึ้น แผ่นใบหนาและเหนียว สีเขียวเข้มเป็นมันเส้นแขนงใบตรงและขนานกันถี่


ดอก สีนวลหรือขาวอมเขียว ออกเป็นช่อแบบช่อซี่ร่มเชิงประกอบ ขนาดใหญ่ที่ปลายกิ่ง ยาว 7-12 ซม. ดอกรวมกันเป็นกระจุกที่ปลายแขนง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก เกสรเพศผู้ 4-5 อัน เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 1-1.2 ซม. ออกดอกเดือน ต.ค.-พ.ย.
ผล ผลแห้งแตก เป็นฝักทรงกระบอก กว้าง 0.2-0.3 ซม. ยาว 20-50 ซม. สีเขียวสดเกลี้ยง ออกเป็นคู่ เมื่อสุกสีน้ำตาลอมดำ เมล็ด มีขนเป็นปุย เมล็ดรูปขอบขนานขนาดเล็กจำนวนมาก ติดผลเดือน ธ.ค.- ก.พ. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดปักชำกิ่งหรือราก
นิเวศวิทยา พบตามป่าดิบชื้นทางภาคใต้ ภาคตะวันออก และริมห้วย ในป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
การใช้ประโยชน์ ไม้ใช้เป็นไม้ใช้สอย และเป็นไม้ประดับให้ร่มเงา ใช้ทำดินสอและเฟอร์นิเจอร์
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร เปลือก เป็นยาขมช่วยเจริญอาหาร รักษาโรคบิด ท้องร่วง โรคลำไส้ รักษาอาการไข้ และหลอดลมอักเสบ ใบ ใช้พอกดับพิษต่างๆ ราก แก้มะเร็ง ขับลมในลำไส้ ยางจากต้น อุดฟันแก้ปวดฟัน แผลอักเสบ
หมายเหตุ ต้นไม้ประจำจังหวัดสมุทรสาคร
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย