พิกุลมีประโยชน์อย่างไร


ชื่อวิทยาศาสตร์ Mimusops elengi Linn.
ชื่ออื่นๆ กุน (ใต้) แก้ว (เหนือ) ซางดง (ลำปาง) พิกุลป่า (สตูล)
ชื่ออังกฤษ Bullet Wood, Malsari.
ลักษณะ ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สูง 7-20 เมตร ใบเดี่ยวเรียงสลับกัน รูปไข่หรือรูปวงรี ใบกว้าง 4-6 ซ.ม. ยาว 7-12 ซ.ม. ใบค่อนข้างเหนียวหนาเล็กน้อย ผิวใบมัน ขอบใบเป็นคลื่น ใบดกหนาทึบ เส้นใบไม่เด่นชัด ดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุก 2-3 ดอกที่ด้านข้างของใบ ดอกสีนวล มีกลิ่นหอมเย็น ร่วงง่าย ผลกลมรีเมื่อยังอ่อนมีสีเขียวและรสฝาดมากมียาง ถ้าสุกจะมีสีแดงส้ม รสหวานปนฝาด ภายในมีเมล็ดแข็งๆ 1 เมล็ด
ส่วนที่ใช้ ดอก แก่นที่ราลง เปลือกลำต้น เมล็ด
สารสำคัญ ดอกมีนํ้ามันหอมระเหย p-mannitol, -sitosterol เมล็ดมีสาร saponin เปลือกต้น มีสารแทนนิน
ประโยชน์ทางยา ดอกใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ ยาแผนโบราณใช้เข้ายาหอมบำรุงหัวใจ เป็น 1 ในเกสรทั้ง 5 ทั้ง 7 และทั้ง 9
เปลือกมีรสฝาด สับต้มใช้นํ้าอมบ้วนปากแก้โรคเหงือกอักเสบ และทำให้ฟันทน เมล็ดตำแล้วทำเป็นยาเหน็บทวารหนักเด็ก แก้อาการท้องผูก แก่นที่ราลงมีสีนํ้าตาลเข้ม ประขาว เรียกชื่อใหม่ว่า “ขอนดอก” จะมีกลิ่นหอม ใช้ทำเป็นยาบำรุงหัวใจ แก้ไข้ และครรภ์รักษา
อื่นๆ ในการทำของชำร่วยแบบไทยๆ ที่เรียกว่า “บุหงา” นิยมใช้ดอกไม้หลายๆ ชนิดที่มีดอกขนาดเล็ก และมีกลิ่นหอมใส่รวมกัน พิกุลเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่นิยมใช้
ที่มา:ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงญาติ