พิกุล

พิกุล มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า มิมูซอพส์ อิเลนจี (Mimusops clengi, Linn.) อยู่ในตระกูล ซาโปตาชี่ (sapotaceae) ภาคเหนือเรียกว่า แก้ว ภาคใต้เรียก พิกุลป่า พิกุลเขา หรือพิกุลเถื่อน พิกุลเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มียางขาว ปลูกเป็นไม้ให้ความร่มเย็นดีมาก มักพบตามวัดวาอารามต่างๆ พบทั่วไปในประเทศที่มีอากาศร้อน ไม่นิยมปลูกไว้ในบริเวณบ้าน เนื่องจากต้นพิกุลอายุมากๆ เนื้อไม้จะผุหรือรากผุทำให้โค่นล้มง่าย ในต้นพิกุลแก่ๆ จะมีโรค เกิดขึ้นในเนื้อไม้ทำให้มีกลิ่นหอม โรคที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า ขอนดอก ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจและครรภ์รักษา

ใบพิกุลหนาแข็งคล้ายใบมะม่วงแต่เล็กกว่า แพทย์แผนโบราณเชื่อว่า ใบฆ่าเชื้อกามโรคได้ ดอกเล็กออกเป็นช่อสีขาวนวลสะอาดตา มีกลิ่นหอมเย็น ดอกพิกุลจะบานใกล้รุ่ง กลีบดอกร่วงง่าย กลิ่นหอมทนแม้กระทั่งแห้งแล้ว เมื่อดอกแห้งจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เป็นดอกไม้ที่นำเอามาใช้ในการปรุงเครื่องหอมและเข้าเครื่องยาไทย แก้ลม ขับเสมหะ

ผลพิกุลสุกลักษณะคล้ายผลละมุดไทยแต่เล็กกว่าเท่านิ้วมือ มีรสฝาดๆ หวานๆ

เปลือกพิกุลมีรสฝาด ทำเป็นยาต้มอมกลั้วคอ บ้วนปากแก้โรคเหงือกอักเสบ ฆ่าแมลงกินฟันทำให้ฟันแน่น และเชื่อว่ากะพี้แก้เกลื้อน แก่นบำรุงเลือด รากแก้ลม ขับเสมหะ

สรุปสรรพคุณ

ใบพิกุล เชื่อว่าฆ่าเชื้อกามโรคได้

ดอก ใช้เเต่งกลิ่น เข้าเครื่องยาไทย แก้ลม ขับเสมหะ

เปลือกพิกุล รสฝาด ต้มอมกลั้วคอ บ้วนปาก รักษาเหงือกและฟัน

กะพี้ แก้เกลื้อน

แก่น บำรุงเลือด

ราก แก้ลม ขับเสมหะ