การจัดการฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

การจัดการฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้า หมายถึงการดำเนินงานเพื่อให้กิจการของฟาร์มดังกล่าวบังเกิดผลสำเร็จ และพัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีขั้นตอน ได้แก่ การวางแผน การสั่งการ การควบคุม และการประเมินผลเพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ การจัดการที่ดีนั้น นอกจากจะต้องเริ่มต้นด้วยการวางแผนที่ดีแล้ว จำเป็นจะต้องใช้ดุลพินิจในการใช้ทรัพยากรทุกอย่างรวมทั้งบุคลากร ตลอดจนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อทำกำไรหรือหารายได้ให้ได้สูงสุด นอกจากนี้จะต้องหาทางลดต้นทุนการผลิตเพื่อสามารถแข่งขันในเชิงการค้ากับผู้อื่นในด้านตลาดได้

การจัดการฟาร์มที่ดีนั้น ควรเริ่มต้นจากการตลาดเพื่อจะได้ทราบว่าจะลงทุนเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดไหนที่ตลาดยังมีความต้องการ เมื่อเลือกชนิดของสัตว์น้ำได้แล้วขั้นต่อไปก็คือการวางแผนในการผลิตให้เหมาะสม เงินลงทุนทั้งหมดที่จำเป็นต้องใช้ ตลอดจนการบริหารงานฟาร์มโดยทั่วๆ ไป

การตลาด

ผลผลิตทางเกษตรรวมทั้งสินค้าสัตว์น้ำเมื่อผลิตออกมามากจึงหาตลาดจำหน่ายได้ยาก ดังนั้นการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้เกี่ยวกับด้านจัดการก่อนที่ผลิตสัตว์น้ำชนิดไหนควรจะได้ทำการศึกษาในด้านความต้องการ (Demand) ของตลาดว่ามีปริมาณมากน้อยเท่าไรจึงจะเหมาะสม ไม่มีปัญหาเรื่องผลิตมากจนล้นตลาด (Over production) หรือในกรณีที่ผลผลิตออกมามากกว่าความต้องการของตลาดแล้ว โอกาสที่จะนำผลผลิตนั้นไปแปรรูปหรือแปรสภาพ เพื่อให้สามารถเก็บไว้จำหน่ายได้ในระยะเวลานานขึ้นได้หรือไม่ นอกจากนี้ควรศึกษาในด้านกำลังการซื้อ (Purchasing power) ของประชาชนที่สามารถจะจับจ่ายใช้สอยได้ในทุกระดับของชนชั้น อาทิ สัตว์น้ำตัวใหญ่ คุณภาพดี อาจจะส่งเป็นสินค้าออกหรือจำหน่ายได้ในตลาดในเมือง ตามภัตตาคาร ส่วนสัตว์น้ำขนาดเล็กคุณภาพตํ่าจัดจำหน่ายในตลาดท้องถิ่น เป็นต้น

การคัดขนาดและรักษาคุณภาพของสัตว์น้ำเป็นเรื่องสำคัญที่จะดำเนินการด้วยโดยทำการแยกชนิด คัดขนาดบรรจุลงภาชนะแล้วใส่น้ำแข็งเกล็ดหรือทุบให้มีขนาดเล็กแช่ให้ทั่วถึงเพื่อรักษาคุณภาพของสัตว์น้ำ ทำให้สามารถจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำได้ราคาสูงขึ้น และไม่มีปัญหาข้อต่อรองจากพ่อค้าคนกลาง

การแปรรูปสัตว์น้ำเป็นอีกวิธีหนึ่ง ที่จะเพิ่มพูนราคาสินค้าสัตว์น้ำที่ผลิตได้จากฟาร์ม ทั้งนี้ เพราะสัตว์น้ำบางชนิด เช่น ปลาตะเพียนขาว ปลานวลจันทร์เทศเหมาะสมที่จะทำการแปรรูปทำเป็นปลาร้า หรือปลาเจ่า ปลานิลเหมาะสมที่จะทำปลาเค็มตากแห้ง ปลาชนิดต่างๆ ขนาดเล็ก ถ้าจำหน่ายสดก็ไม่ได้ราคา แต่เมื่อแปรรูปเป็นปลาแดกหรือน้ำปลา ก็จะทำให้มูลค่าสูงขึ้น ดังนั้น การดำเนินการในเรื่องนี้นอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าดังกล่าวแล้ว ยังเป็นการสนองความต้องการของตลาดที่ประชาชนส่วนใหญ่นิยมบริโภคสินค้าในรูปแบบของการแปรรูปดังกล่าว และอีกประการหนึ่งในกรณีบางช่วงฤดูกาล สิ์นค้าสัตว์น้ำสดมีราคาต่ำ อันเนื่องมาจากผลผลิตสัตว์น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่สูงขึ้น หรือเนื่องจากผลิตผลจากฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำผลิตได้มากจนล้นตลาด ซึ่งแนวทางที่ดีในการแก้ไขก็คือ การแปรรูปสัตว์นํ้าดังกล่าวที่สามารถจะรักษาคุณภาพของสัตว์น้ำไว้ได้นาน และสามารถขนส่งแพร่กระจายไปจำหน่ายยังตลาดแห่งอื่นๆ ได้สะดวก หรือเป็นการแปรรูปเพื่อเก็บรักษาสัตว์น้ำไว้บริโภคในครัวเรือนได้ตลอดปี

แผนภูมิแสดงผู้ประกอบธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ


การวางแผนในการผลิต

หลักการโดยทั่วไปของการประกอบธุรกิจทุกประเภท อาจจะกล่าวได้ว่าการวางแผนที่ดี จะสามารถทำให้ธุรกิจดังกล่าวบรรลุความสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง ซึ่งในเรื่องของการเพาะเลี้ยงนี้ก็เช่นเดียวกัน มีองค์ประกอบหลายประการที่จะต้องพิจารณาเพื่อใช้ในการวางแผนในการผลิต คือ

1. การเลือกที่ตั้งฟาร์ม มีความสำคัญอันดับแรกในด้านการจัดการ เพราะถ้าเลือกที่ได้ในทำเลดีก็สามารถที่จะกำหนดการผลิตได้ตามเป้าหมาย โดยไม่มีปัญหาและอุปสรรคใดๆ กับทั้งอาจ จะมีแผนพัฒนาขยายงานได้ในอนาคตอีกด้วย อีกทั้งการใช้ต้นทุนผลิตที่ต่ำ ซึ่งปัจจัยหลักที่สำคัญที่จะต้องวินิจฉัย คือ

-แหล่งน้ำหรือพื้นที่ในเขตชลประทาน

-ลักษณะคุณสมบัติของดินเหมาะสมที่จะขุดบ่อเลี้ยงปลา

-คุณสมบัติและปริมาณของน้ำที่จะใช้เลี้ยงปลา

-สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปไม่มีมลพิษ การคมนาคมสะดวก ไฟฟ้า และด้านสาธารณสุขอื่นๆ เอื้ออำนวย

2. ปัจจัยการผลิต วัสดุที่ใช้เป็นอาหารปลาในท้องถิ่นมากน้อยเพียงใด จะต้องซื้อหาจากแหล่งอื่นมาเพิ่มเสียค่าใช้จ่ายเท่าไร และเมื่อนำมาประกอบเป็นอาหารปลาแล้วใช้เลี้ยงสัตว์น้ำแต่ละ ชนิดจะมีอัตราส่วนการแลกเนื้อ (F/C Ratio) เท่าไร เพื่อทำการเปรียบเทียบราคาต้นทุนในการผลิตกับราคาสัตว์น้ำที่จำหน่ายได้ที่ปากบ่อ หรือขนส่งไปจำหน่ายที่อื่น หรือทำการแปรรูปแล้วจำหน่าย เหล่านี้เป็นข้อมูลที่ต้องศึกษาและประเมินผลออกมา เพื่อจะได้พิจารณาในด้านการจัดการให้รัดกุม และได้ผลตอบ แทนคุ้มค่าหรือมีกำไรมากที่สุด

3. รูปแบบของฟาร์มที่ใช้ในการผลิต ขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศ หรือชนิดของสัตว์น้ำที่ตลาดต้องการ ในกรณีของภาคตะวันออกเฉียงเหนือควรพิจารณาเลือกรูปแบบของฟาร์ม ดังนี้

แบบผสมผสาน คือทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำร่วมกับการเลี้ยงปศุสัตว์ (สุกร เป็ด ไก่ โค กระบือ) และการปลูกพืช (ไร่นาสวนผสม) ทั้งนี้เนื่องจากระบบการผลิตของฟาร์มดังกล่าวนี้ สามารถจะใช้เศษของเหลือในทางเกษตรหรือสิ่งขับถ่ายจากสัตว์ (มูล) หมุนเวียนนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการผลิตสัตว์น้ำได้โดยมิต้องทิ้งไป ทำให้ลดต้นทุนในการผลิตได้เป็นอันมาก การประกอบธุรกิจดังกล่าวนี้ จะมีปริมาณงานมากพอที่จ้างคนงานคุ้มค่าแรง ไม่มีเวลาว่างมาก เพราะดำเนินงานหลายด้านในฟาร์ม สามารถจัดการนำเอาวิธีการบริหาร (Job Mangement) มาใช้ดำเนินการได้ และเจ้าของฟาร์มก็จะมีรายได้หลักเป็นประจำจากการจำหน่ายผลิตผลสัตว์น้ำและการเลี้ยงปศุสัตว์ รวมทั้งพืชผลต่างๆ เป็นรายได้ ประกอบทุกวัน อันเป็นการลดภาระต้นทุนจากการจ่ายค่าดอกเบี้ย และอัตราเสี่ยงต่อการที่จะประกอบธุรกิจเพียงด้านเดียว

ส่วนการจัดการวางผังเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่นั้น ควรพิจารณาตามลักษณะภูมิประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นที่ราบสูง มีพื้นที่เอียงลาด ที่ราบลุ่มมีน้อย ดังนั้น ควรใช้พื้นที่ราบระดับสูงปลูกพืชไร่ สร้างคอกสัตว์ติดกับบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พื้นที่ต่ำลงมาทำสวนไม้,ผล หรือแปลงปลูกพืชผักต่างๆ พื้นที่ราบต่ำสุดควรเป็นนาข้าว ซึ่งอาจจะดัดแปลงเป็นที่นาที่ใช้เลี้ยงปลาด้วย การจัดวางผังระบบการผลิตดังกล่าว ก็เพื่อสะดวกในการหมุนเวียนการใช้เศษเหลือทางการเกษตรและมูลสัตว์เป็นประโยชน์ในด้านการผลิต และน้ำจากบ่อเลี้ยงปลาซึ่งอุดมไปด้วยธาตุอาหารของพืช ก็สามารถใช้ประโยชน์ต่อพืชผล ไม้ผล และนาข้าวได้

พืชผักสวนครัวควรปลูกบนคันบ่อ ส่วนพืชตระกูลถั่ว เช่น แคหรือกระกิน ซึ่งดอกหรือยอดอ่อนสามารถเก็บจำหน่ายได้ทุกวัน ควรปลูกในที่ว่างหรือปลูกเป็นรั้วในที่ว่างทั่วไป ทั้งนี้เพื่อรักษาคุณสมบัติของดิน และเป็นการเพิ่มผลผลิต ตลอดจนรายได้แก่ฟาร์มด้วย

สำหรับในด้านการจัดการเกี่ยวกับปศุสัตว์หรือสัตว์เลี้ยงนั้น มีความสำคัญมากจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะจากประสบการณ์มักมีปัญหาการขาดทุนอยู่เสมอเนื่องจากราคาจำหน่ายของผลิตผลมีแนวโน้มลดต่ำลงหรือขึ้นลงไม่แน่นอนตลอดจนค่าอาหารสัตว์แพงขึ้นตามลำดับ ดังนั้นเมื่อจะพิจารณาเลี้ยงสัตว์ชนิดใดก็ควรจะได้ศึกษาปัญหาต่างๆ ในการเลี้ยง การตลาด ตลอดจนการควบคุมป้องกันโรคจากหน่วยงานของรัฐ หรือมีสัญญาผูกพันกับบริษัทที่จำหน่ายพันธุ์และอาหารสัตว์ เพื่อรับซื้อผลผลิตในราคาที่ประกันตามวันเวลาที่ได้กำหนด ก็จะเป็นการลดอัตราการเสี่ยงลงได้มาก

แบบธุรกิจด้านเดียว คือประกอบธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นอาชีพหลักอย่างเดียวไม่มีกิจกรรมอื่นร่วมด้วย แบ่งออกได้ตามรูปแบบและลักษณะของการผลิตดังนี้

-ฟาร์มที่เลี้ยงสัตว์น้ำประเภทเดียว เช่น ฟาร์มเลี้ยงปลาดุก สวาย กุ้งก้ามกราม บ่อส่วนใหญ่จะเป็นบ่อเลี้ยงขนาดใหญ่ (growing pond) ไม่มีบ่อเพาะ ส่วนพันธุ์สัตว์น้ำที่ซื้อจากที่อื่น วิธี การเลี้ยงใช้เลี้ยงแบบพัฒนา โดยใช้อาหารผสมหรืออาหารสำเร็จรูป หรือเศษเหลือจากโรงงานและภัตตาคาร ในด้านการจัดการไม่ยุ่งยาก เพราะฟาร์มดังกล่าวนี้จะต้องเลือกที่ตั้งในทำเลที่ดี ซึ่งสามารถจะบริหารและควบคุมในด้านคุณสมบัติของน้ำที่ใช้เลี้ยงสัตว์น้ำ อาหารที่ใช้ ตลอดจนการผลิตและการตลาดได้ตามเป้าหมาย

-ฟาร์มที่ผลิตพันธุ์ปลา (Hatchery) ฟาร์มดังกล่าวนี้ประกอบด้วยบ่อพ่อแม่พันธุ์ บ่อเพาะและอนุบาลทั้งบ่อปูนซีเมนต์และบ่อดิน อัตราส่วนของบ่ออนุบาลควรมีพื้นที่ประมาณ 50-80%

ของพื้นที่บ่อทั้งหมด ทั้งนี้แล้วแต่ว่าจะต้องการผลิตพันธุ์ปลาชนิดใดและขนาดใด สำหรับการจัดการจะเน้นหนักเกี่ยวกับวิธีเลี้ยงพ่อแม่ชนิดต่างๆ ที่ใช้ทำพันธุ์ เช่น ปลาไน นิล ตะเพียนขาว ยี่สกเทศ ดุกอุย ฯลฯ เพื่อให้พ่อแม่ปลาสมบูรณ์ มีไข่ และน้ำเชื้อแก่ พร้อมที่จะเพาะด้วยวิธีธรรมชาติหรือผสมเทียมตามชนิดปลา ผู้ที่ประกอบธุรกิจประเภทนี้จะต้องมีความรู้พื้นฐานและประสบการณ์ในด้านการเพาะเลี้ยงปลา ตลอดจนเทคโนโลยีในการเพาะและอนุบาลลูกปลา โดยเฉพาะวิธีเพาะปลาด้วยการผสมเทียม จะสามารถ เพาะลูกปลาได้ครั้งละจำนวนมากด้วยต้นทุนที่ต้ำและจำหน่ายลูกปลาได้ราคาสูงภายหลังที่ใช้เวลาเลี้ยงลูกปลาเพยง 2-3 เดือนเท่านั้น ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าเป็นการหมุนเวียน หรือหารายได้ในช่วงระยะเวลาอันสั้น ซึ่งจะทุ่นค่าดอกเบี้ยในด้านการลงทุน ผู้ที่ประกอบธุรกิจการเพาะพันธุ์ปลาในภูมิภาคนี้ในปัจจุบันจึงมีฐานะรุ่งเรือง เพราะยังขาดแคลนพันธุ์ปลาที่เลี้ยงเป็นอันมาก

-ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสมบูรณ์แบบ การประกอบกิจการฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาประเภทนี้เป็นลักษณะการประกอบอาชีพที่สมบูรณ์แบบถึงขั้นอุตสาหกรรมมีการวางแผนงานโครงการ และเป้าหมายที่แน่นอนและซับซ้อน ลงทุนสูง ใช้แรงงานและการบริหารแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น วัสดุและอุปกรณ์ที่จำเป็นตลอดจนการจัดเตรียมเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการฟาร์มจะต้องให้ครบถ้วน และพร้อมที่จะนำออกใช้ได้ทันที วัสดุและอุปกรณ์ที่จำเป็นพอจะแยกกล่าวได้ ดังนี้

1. บ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งจำแนกได้หลายประเภทคือ บ่อพักน้ำ บ่อเพาะฟัก บ่ออนุบาลลูกปลา บ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ บ่อเลี้ยงเพื่อผลผลิต มีทั้งบ่อซีเมนต์และบ่อดิน และมีขนาดแตกต่าง กันออกไปตามวัตถุประสงค์

2. พ่อแม่พันธุ์ ในฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีพื้นที่กว้าง มีความจำเป็นจะต้องใช้พันธุ์ปลาชนิดต่างๆ เป็นจำนวนมาก จึงสมควรทำการเพาะพันธุ์ภายในฟาร์มเอง เพื่อเป็นการประหยัด และแน่นอนสม่ำเสมอ ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องจัดเตรียมพ่อแม่พันธุ์ปลาให้ครบชนิด และมากพอเพียงกับความต้องการ

3. พันธุ์ปลา หมายถึงพันธุ์ปลาเพื่อนำมาใช้เลี้ยงภายในฟาร์มเป็นปลาขนาดใหญ่ขายสู่ตลาด หรือเพื่อการจำหน่ายแก่เกษตรกรรายอื่น จะต้องวางแผนการผลิตให้พอเพียงกับความต้องการ ในบางครั้งอาจจำเป็นจะต้องสั่งซื้อจากฟาร์มอื่นๆ เพื่อเป็นการไม่ให้เสียโอกาสบ่อเลี้ยง

4. อาหารปลา คือ อาหารที่ใช้เลี้ยงทั้งพ่อแม่พันธุ์ปลา ลูกปลาวัยอ่อน และใช้เลี้ยงปลาเพื่อผลผลิตสู่ตลาด ประกอบด้วยอาหารธรรมชาติ และอาหารสมทบทั้งที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน และเพียงบางอย่าง วัสดุที่ใช้สำหรับประกอบเป็นอาหารปลา ได้แก่ ปุ๋ยคอก รำ ปลายข้าว กากถั่ว ข้าวโพด เศษอาหาร ผักสดต่างๆ ฯลฯ

5. เครื่องสูบน้ำ ได้แก่ อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับจับปลา ซึ่งต้องให้มีความอ่อนนุ่มและขนาดเหมาะสมกับความกว้างของบ่อ และพันธุ์ปลาที่จะจับ เช่น ใช้จับลูกปลา พ่อแม่ปลา หรือปลาขนาดโตเพื่อส่งตลาด อุปกรณ์เหล่านี้ได้แก่ สวิง แห อวน กระชัง ถังลำเลียงปลา ฯลฯ

การลงทุน

หลังจากที่ทราบว่าจะทำการผลิตสัตว์น้ำชนิดใดที่ตลาดต้องการในรูปแบบหรือแปรรูป ตลอดจนได้จัดวางแผนการผลิตที่เหมาะสมดังกล่าวแล้ว ขั้นต่อไปคือการลงทุนซึ่งจะต้องทราบจำนวนเงินลงทุนว่าต้องการมากน้อยเพียงใด และเมื่อลงทุนแล้วจะได้ผลตอบแทนการลงทุนที่คุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่เพียงใด ซึ่งในที่นี้จะใช้กรณีตัวอย่างของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นเกณฑ์การพิจารณา

เกษตรกรส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองมาก พอที่จะประกอบธุรกิจฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แต่มีปัญหาเรื่องทุนที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่ง ปัญหานี้ในปัจจุบันก็สามารถจะแก้ไขได้ด้วยการยืมเงินจากธนาคารในรูปของสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยนำที่ดินมาค้ำประกันเงินกู้ หรือจะกู้โดยการรวมกลุ่ม มีการคํ้าประกันซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในเขตปฏิรูปที่ดิน สหกรณ์นิคมการเกษตร นอกจากนี้รัฐบาลได้กำหนดนโยบายให้มีการประสานงานระหว่าง 4 หน่วยงาน คือ ภาคของรัฐ (กรมประมง) เอกชนผู้ประกอบธุรกิจ ธนาคาร (ปล่อยสินเชื่อ) และตัวเกษตรกรเอง ซึ่งในการนี้จะได้ยกตัวอย่างที่ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้มีโครงการปล่อยสินเชื่อให้แก่เกษตรกรในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงปลาน้ำจืดที่จังหวัดยโสธร ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2530 ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้อาจจะนำไปประยุกต์ใช้ได้ทุกจังหวัดที่เป็นสาขาของธกส. สาระสำคัญของโครงการดังกล่าวนี้ มีดังนี้

เป้าหมายของโครงการ

-จำนวนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 150 ราย ภายในระยะเวลา 2 ปี แบ่งเป็นปีที่ 1 จำนวน 60 ราย และปีที่ 2 จำนวน 90 ราย

-เนื้อที่เลี้ยงปลาตามโครงการ 300 ไร่ ภายในระยะเวลา 2 ปี แบ่งเป็นปีที่ 1 จำนวน 120 ไร่ และปีที่ 2 จำนวน 180 ไร่

รูปแบบการผลิต

ตามโครงการนี้กำหนดให้เกษตรกรนำที่ดินที่เหมาะสมขุดบ่อเลี้ยงปลารายละ 2 บ่อๆ ละ 1ไร่ รวม 2 ไร่ แต่ละบ่อมีขนาดกว้าง X ยาว ประมาณ 40 X 40 เมตร มีความลึกจากระดับดินเดิมไม่น้อยกว่า 1 เมตร ปลาที่จะเลี้ยงได้แก่ ปลานิล ปลาไน และปลาตะเพียนขาว ปล่อยปลาขนาด 3-5 ซม. ลงเลี้ยงไร่ละ 3,000 ตัว แบ่งเป็นปลานิล ปลาไน ปลาตะเพียนขาว อย่างละ 1,000 ตัว สำหรับรูปแบบของบ่อที่ใช้เลี้ยงปลา อัตราของปลา พันธุ์ปลาชนิดต่างๆ ที่จะปล่อยลงเลี้ยง สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความ เหมาะสม โดยให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการบริหาร

ลงทุนในการดำเนินงานตามโครงการ

เกษตรกรตามโครงการแต่ละราย จะต้องใช้เงินค่าลงทุนในปีแรกที่ดำเนินงานตามโครงการ รายละประมาณ 40,000 บาท และในปีแรกจะมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานประมาณ 9,500 บาท ส่วนในปีต่อไปมีค่าใช้จ่ายปีละประมาณ 11,000 บาท รวมค่าใช้จ่ายในระยะเวลา 7 ปี เป็นเงินประมาณ 75,500 บาท ตามรายละเอียดดังนี้

เงินลงทุนของเกษตรกรแต่ละรายประกอบด้วย

1. ค่าขุดบ่อขนาดเนื้อที่ 1 ไร่ จำนวน 2 บ่อ               30,000 บาท

2. ค่าเครื่องยนต์สูบน้ำขนาด 7 แรงม้า 1 เครื่อง                 6,500 บาท

3. สำรองเงินลงทุน                                                     3,500 บาท

รวม 40.000 บาท

ค่าใช้จ่ายดำเนินงานของเกษตรกรแต่ละรายประกอบด้วย

รายการ ปีที่ 1 ปีที่ 2-7 ปีละ
1.ค่าพันธุ์ปลา 6,000 ตัว ตัวละ 0.25 บาท 1500 1500 บาท
2.ค่าอาหารปลา 3710 5200 บาท
3.ค่าปูนขาว 960 960 บาท
4.ค่าปุ๋ยคอก 2000 2000 บาท
5.ค่าใช้น้ำ และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่น 750 750 บาท
6.สำรองค่าใช้จ่าย 580 590 บาท
รวม 9500 11000 บาท

ในปีที่ 1 ของการเลี้ยงปลาตามโครงการ อัตราการรอดตายของปลาและผลผลิตที่จะได้น้อยกว่าปีต่อๆ ไป ทั้งนี้เนื่องจากบ่อที่ใช้ เลี้ยงเป็นบ่อขุดใหม่ ความสมบูรณ์ และสภาพแวดล้อมต่างๆ ยังไม่ดีพอ ประกอบกับความชำนาญของเกษตรกรผู้เลี้ยงมีไม่มมากนัก ดั้งนั้น ปริมาณอาทารที่ใช้จึงลดลงไป ทำให้ประมาณการค่าใช้จ่ายอาหารปีแรกต่ำกว่าปีต่อๆ ไป

เงินลงทุนและค่าใช้จ่ายทั้งโครงการ

ในการดำเนินงานตามโครงการประมาณการว่าจะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 150 ราย ในระยะเวลา 2 ปี จะมีเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายดำเนินงานตามโครงการ ทั้งสิ้นเป็นเงินประมาณ 6 ล้านบาท และ 11.325 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีรายละเอียดเป็นรายปี ดังนี้

ผลผลิต ราคา และรายได้

-ผลผลิต ในการเลี้ยงปลาตามโครงการคาดว่าจะได้ผลผลิตปลานํ้าจืดในอัตราไร่ละ 700 กก./ปี แต่ในปีที่ 1 ของการเลี้ยง คาดว่าจะได้ผลผลิตประมาณ 70% ของอัตราปกติ คือประมาณ 500 กก./ไร่ เนื่องจากเป็นบ่อใหม่ความอุดมสมบูรณ์และสภาพแวดล้อมต่างๆ ยังมี่พอ ประกอบกับความชำนาญของ เกษตรกรผู้เลี้ยงยังไม่มีมากนัก ดังนั้น การเลี้ยงปลาของเกษตรกรแต่ละรายจึงคาดว่าจะได้รับผลผลิตในปีที่ 1 ประมาณ 1,000 กก. และปีที่ 2-7 ปีละประมาณ 1,400 กก. ซึ่งการเลี้ยงปลาตามโครงการของเกษตรกร แต่ละรายในระยะเวลา 7 ปี จะได้ผลผลิตรวมทั้งสิ้นประมาณ 9,400 กก. รวมเกษตรกรตามโครงการจำนวน 150 ราย จะได้ผลผลิตปลาทั้งสิ้นประมาณ 1,410 ตัน

ในปีที่ 7 เกษตรกรจำนวน 60 ราย กำหนดชำระหนี้เงินกู้ระยะยาวตามโครงการเสร็จสิ้น และไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายอีก ปีที่ 8 จึงคำนวณเฉพาะค่าใช้จ่ายของเกษตรกร จำนวน 90 ราย ที่เหลือเท่านั้น

-ราคา ราคาซื้อขายปลานิล ปลาไน และปลาตะเพียนขาว ในตลาดเทศบาลเมืองยโสธร อยู่ในระดับกิโลกรัมละประมาณ 25-35 บาท จึงคาดว่าเกษตรกรจะสามารถจำหน่ายปลาทั้ง 3 ชนิด ที่ผลิตได้ในโครงการได้ในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 18 บาท ณ ปอเลี้ยงปลา

-รายได้ เกษตรกรแต่ละรายจะมีรายได้จากการขายปลาที่ผลิตได้ตามโครงการในปีที่ 1 ประมาณ 18,000 บาท และในปีต่อๆ ไป ประมาณปีละ 25,200 บาท รวมระยะเวลา 7 ปี คิดเป็นรายได้ทั้งสิ้นประมาณ 169,200 บาท รวมเกษตรกรทั้งโครงการ 150 ราย จะมีรายได้ตามโครงการทั้งสิ้นประมาณ 25.38 ล้านบาท (รายละเอียดตามตารางที่ 59)

ผลตอบแทนโครงการ

กำไรเบื้องต้นจากการดำเนินงานตามโครงการ (Trading Account)

จากการประมาณการค่าลงทุน ค่าใช้จ่าย และประมาณการรายได้ในการดำเนินงานเลี้ยง ปลาน้ำจืดตามโครงการ เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการเลี้ยงปลาน้ำจืดในเนื้อที่ 2 ไร่ จะมีกำไรเบื้องต้นจากการขายปลาในปีที่ 1 เป็นเงินประมาณ 8,500 บาท และปีที่ 2-7 ปีละประมาณ 14,200 บาท (รายละเอียด กำไรเบื้องต้น ปรากฎตามตารางที่ 58)

กระแสเงินสดหมุนเวียน (Cash Flow)

จากการประมาณการกระแสเงินสดหมุนเวียน เมื่อเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละราย กู้เงินระยะยาวเพื่อการลงทุน และเงินกู้ระยะสั้นเพื่อการผลิตปลาน้ำจืดในเนื้อที่ 2 ไร่ หลังจากหักชำระดอกเบี้ย และต้นเงินกู้ในแต่ละปีแล้ว จะมีเงินสดคงเหลือหมุนเวียนเมื่อสิ้นปีที่ 1 ของโครงการ เป็นเงินประมาณ 2,393 บาท และเพิ่มเป็นประมาณ 26,525 บาท เมื่อสิ้นปีที่ 7 ของโครงการ (รายละเอียดกระแสเงินสด หมุนเวียน ปรากฎตามตารางที่ 59)

การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางการเงินของโครงการ (Financial Analysis)

การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางการเงินของเกษตรกรในการเลี้ยงปลาขนาดเนื้อที่ 2 ไร่ ซึ่งมีค่าลงทุน ค่าใช้จ่าย และรายได้ ตามที่กล่าวมาแล้วนั้น ผลการวิเคราะห์ทางการเงินที่อัตราดอกเบี้ย 12.50% ในระยะเวลา 7 ปี นับตั้งแต่เริ่มโครงการมีดังนี้

-ระยะเวลาคืนทุน (Payback Period) 2 ปี 3 เดือน

-มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value หรือ NPV)   = 23,168 บาท

-อัตราส่วนรายได้ : เงินลงทุน (Benefit Cost Ratio) = 1.65 : 1

-อัตราผลตอบแทนในการลงทุน (Internal Rate of Return หรือ IRR) = 38.77 % (รายละเอียดการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางการเงินปรากฏตามตารางที่ 60)

จากตัวอย่างที่ยกมาเป็นรูปแบบของโครงการ ที่ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้สำหรับการส่งเสริมการเลี้ยงปลาน้ำจืดที่จังหวัดยโสธร โดยทำการปล่อยสินเชื่อแก่เกษตรกรรายย่อยจำนวน 150 ราย ซึ่งสามารถจะใช้เป็นตัวอย่าง หรือแผนนำได้ดีในด้านการจัดหาเงินทุน มาดำเนินงานในธุรกิจของฟาร์มการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำขนาดใหญ่ หรือจากเกษตรกรรายย่อยเหล่านั้นบางราย ภายหลังที่ได้มีประสบการณ์แล้วก็อาจจะขยายกิจการเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ได้ในอนาคต

การบริหารกิจการของฟาร์มโดยทั่วไป

1. การมอบหมายงานในหน้าที่ซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติและรับผิดชอบ

-เจ้าของกิจการหรือเจ้าของฟาร์มผู้ประกอบธุรกิจ จะต้องเป็นผู้กำหนดนโยบายและโครงการพร้อมเป้าหมาย ทั้งในด้านการลงทุน การผลิต และการตลาด ธุรกิจดังกล่าวนี้อาจจะเป็นในรูป ของเอกชนหรือบริษัทก็ได้

-ผู้บริหารงาน เป็นผู้ซึ่งรับนโยบายและบริหารงานโดยดำเนินการให้เป็นไปตามโครงการและเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ ผู้บริหารงานนอกจากจะต้องมีความรู้ความสามารถในด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแล้ว จะต้องสามารถควบคุมและบริหารในด้านบุคคล บริหารเวลาให้ทุกคนปฎิบัติงานอย่างเต็มที่ โดยใช้ระบบตรวจสอบวัดผลงาน หรือระบบ QCC (Quality Control Circuit). ในการปรับปรุงงาน นอกจากนี้ จะต้องมีความเข้าใจในการจัดการระบบการใช้วัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ ภายในฟาร์มอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการบำรุงรักษาให้คงสภาพถาวรใช้งานได้อยู่เสมอ สำหรับฟาร์มขนาดเล็กผู้บริหารและเจ้าของกิจการอาจจะเป็นบุคคลเดียวกันก็ได้

-คนงาน หมายถึงผู้ปฎิบัติงานตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายเป็นกิจวัตรทุกวันเป็นประจำ โดยแบ่งออกเป็นหัวหน้าคนงานและคนงาน ซึ่งทุกคนจะต้องมีความชำนาญ หรือประสบการณ์ใน ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การให้อาหารปลา การจับปลา การใช้เครื่องยนต์สูบน้ำ การซ่อมแซมปรับปรุง เครื่องมือจับสัตว์น้ำ ฯลฯ คนงานชั่วคราวอาจจะต้องจ้างในกรณีมีงานเร่งด่วนหรือจำเป็น

2. จัดตารางและรายการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยกำหนดเวลาเริ่มต้นระยะเวลาการเลี้ยง เวลา วันจับจำหน่าย รวมทั้งกำหนดชนิดและปริมาณอาหารสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์น้ำในกลุ่มของบ่อที่ใช้เลี้ยงพ่อแม่ปลา บ่ออนุบาล บ่อเลี้ยงขุนจำหน่าย เป็นต้น

3. การลงบัญชีและการบันทึกกิจการของฟาร์ม

การทำฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ควรจะต้องมีการลงบัญชีบันทึกกิจการของฟาร์ม เหตุที่ต้องมีการลงบัญชีและบันทึกกิจการของฟาร์มก็เพราะ

-เพอเป็นเครื่องเตือนความทรงจำเกี่ยวกับการเงินด้านรายรับและรายจ่ายเป็นรายวัน หรือรายเดือน ข้อมูลดังกล่าวอาจนำมาใช้ในการพิจารณาปรับปรุงกิจการของฟาร์มได้ตามความเหมาะสม หรือสถานการณ์ด้วย

-เพื่อเป็นหลักฐานในการคำนวณในด้านกำไรหรือขาดทุน ในเวลาสิ้นปีหรือรอบปี

-เพื่อทราบความเคลื่อนไหวของธุรกิจฟาร์มว่า ช่วงไหนเกิดออกดอกผล และช่วงไหนซบเซา

-เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณว่า ควรจะแบ่งสรรผลประโยชน์ที่ได้ให้แก่ผู้ร่วมงานหรือผู้ถือหุ้นส่วนอย่างไร เท่าไร

-เพื่อใช้เป็นข้อมูลว่าในรอบปีหนึ่งนั้น ควรจะเสียภาษีให้แก่รัฐบาลเป็นเงินเท่าไร

ในปัจจุบันนี้ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยทั่วไป มักจะดำเนินการธุรกิจในรูปแบบของเอกชน หรือหุ้นส่วนแบบเพื่อนฝูงหรือภายในครอบครัว ซึ่งหลีกเลี่ยงการจดทะเบียนต่อทางราชการ ทั้งนี้เพราะต้องเพิ่มภาระในด้านค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานบัญชี และเกรงกลัวสรรพากรในเรื่องภาษีด้วย

4. แบบฟอร์มบันทึกข้อมูลการจัดการฟาร์ม เพื่อความสะดวกในการจัดการฟาร์มเลี้ยงปลานั้นควรมีการบันทึกข้อมูลไว้เป็นหลักฐาน ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการพิจารณาปรับปรุงการเลี้ยงในคราวต่อๆ ไป ข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นนั้นเริ่มจากการปล่อยปลาลงบ่อ การให้อาหาร การตรวจน้ำหนักเพื่อดูความเจริญเติบโตเป็นครั้งคราว การให้ปุ๋ย การจับครั้งสุดท้าย ตลอดจนข้อมูลอื่นๆ ซึ่งปรากฏเป็นครั้งคราว เช่น โรคปลา ปลาตาย ปลาขาดออกชิเจน ฯลฯ

ประโยชน์ที่จะได้รับจากข้อมูลดังกล่าว เช่น ทำให้รู้ถึงสภาวะของบ่อที่จะให้ผลผลิต ในการเลี้ยงปลาชนิดใดชนิดหนึ่งหรือหลายชนิดในบ่อเดียวกัน ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ปริมาณการให้อาหาร ในช่วงระยะเวลาการเลี้ยง อัตราการแลกเนื้อ (Feed Conversion Ratio) อัตราการรอด ผลกำไร ฯลฯ