อาหารสัตว์น้ำ

สัตว์น้ำก็เช่นเดียวกับสิ่งที่มีชีวิตอื่นที่ต้องการอาหารเพื่อนำไปใช้ในการดำรงชีพการเจริญเติบโต การสืบเผ่าพันธุ์ และแพร่ขยายพันธุ์ เมื่อใดสัตว์น้ำมีอาหารกินอย่างเพียงพอและเป็นอาหารที่มีคุณภาพดี ก็เจริญเติบโตรวดเร็ว มีสุขภาพดี แข็งแรง และมีลูกดก อันเป็นสิ่งที่ต้องประสงค์ของผู้เพาะเลี้ยงอย่างยิ่ง

ในธรรมชาติ สัตว์น้ำอาจเสาะแสวงหาอาหารตามที่ต้องการได้โดยไม่ยากนักหากมีสภาพแหล่งที่อยู่อาศัยไม่ถูกรบกวนจากการกระทำของมนุษย์มากเกินไป ภาวะดังกล่าวนี้จะหาได้ยากยิ่งในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ด้วยปัจจัยเกี่ยวกับอาหารของสัตว์น้ำในบ่อมีอยู่อย่างจำกัด การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ก็โดยมนุษย์เป็นผู้ทำขึ้น เช่น มีการใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มอาหารธรรมชาติ และมีการให้อาหารสมทบแก่สัตว์น้ำที่เลี้ยง เป็นต้น

“อาหารสัตว์น้ำ” เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการเลี้ยงเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง และยังเป็นปัจจัยพื้นฐานของการผลิตและควบคุมต้นทุนการผลิต จนอาจกล่าวได้ว่าการเลี้ยงปลาจะประสบผลสำเร็จหรือไม่เพียงใดนั้น จะขึ้นอยู่กับคุณภาพ ปริมาณ และราคาของอาหารเป็นสำคัญ ถ้าได้อาหารที่มีคุณภาพดี มีปริมาณที่เพียงพอ และมีราคาต่ำมาใช้ในการผลิต ก็จะได้รับผลดี และมีกำไรตรงกันข้ามถ้าได้อาหารที่มีคุณภาพต่ำ มีปริมาณขาดแคลน และมีราคาแพง ก็จึงส่งผลให้การเลี้ยงบังเกิดภาวะการขาดทุน และไม่ประสบผลสำเร็จ

ความสำคัญของอาหารต่อสัตว์น้ำ

โดยหลักการทั่วๆ ไป สัตว์น้ำต้องการอาหารด้วยเหตุผล 3 ประการ ซึ่งความต้องการของอาหารของสัตว์น้ำก็เช่นเดียวกับสัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดอื่น คือ

1. เพื่อการเจริญเติบโต

2. เพื่อการเคลื่อนไหวและยังชีพประจำวัน

3. เพื่อการเจริญสืบพันธุ์-แพร่ขยายพันธุ์

แหล่งอาหารของสัตว์น้ำ

โดยทั่วไปสัตว์น้ำที่เลี้ยงในบ่อจะได้อาหารมาจาก 2 แหล่งด้วยกัน คือ อาหารธรรมชาติ และอาหารสมทบ

1. อาหารธรรมชาติ (Natural food) หมายถึงอาหารที่เกิดขึ้นในบ่อธรรมชาติ ปริมาณของอาหารเหล่านี้จะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของบ่อนั้นๆ โดยพิจารณาจากแผ่นภาพดังต่อไปนี้

สัตว์น้ำขนาดใหญ่กว่าจะใช้พืชและสัตว์น้ำเล็กๆ เหล่านี้เป็นอาหาร และแปรสภาพเป็นเนื้อ กระดูก เกล็ด เปลือกนอก และส่วนอื่นๆ ของสัตว์น้ำที่เลี้ยงต่อไป การเจริญเติบโตของสัตว์น้ำในบ่อจะขึ้นอยู่กับอาหารธรรมชาติเหล่านี้

พืชและสัตว์ที่เป็นอาหารของสัตว์น้ำตามธรรมชาติ ได้แก่

1. แพลงก์ตอนพืช สิ่งที่มีชีวิตเหล่านี้จะกระจายอยู่ทั่วไปในบ่อ ส่วนใหญ่จะเจริญและขยายพันธุ์ได้ดีในบ่อที่มีแสงอาทิตย์ส่งผ่านถึง เช่น Chlorella sp. น้ำจืด Phormidium sp., Costerim sp., Nitzchia sp., Diatoms sp., Volvox sp.

2. แพลงก์ตอนสัตว์ เป็นพวกที่ว่ายหรือเลื่อนลอยอยู่ในน้ำ ไม่เกาะยึดหรืออยู่โดยตรงกับดินหรือพืชน้ำ เช่น Euglena sp., Brachionus sp., Cyclop sp., Moina sp., Daphnia sp. ฯลฯ

3. ชีวอินทรีย์ที่เป็นสัตว์ เป็นพวกที่เกาะอยู่ตามพืชน้ำและสิ่งยึดเกาะได้ที่อยู่กลางน้ำ เช่น ลูกน้ำ ลูกหอย ลูกแมลงปอ และลูกแมลงในน้ำอื่นๆ บางชนิด ฯลฯ

4. สัตว์น้ำก้นบ่อ เป็นพวกที่ฝังตัวอยู่ที่พื้นก้นบ่อ หรือตามใต้ใบไม้ที่หล่นอยู่ตามก้นบ่อ เช่น พวกไส้เดือน หนอนแดง (Chironomus sp.) ลูกหอยขม ลูกหอยโข่ง ฯลฯ

5. พืชนํ้า เป็นพวกพืชที่เกิดขึ้นในบ่อทั้งที่อยู่ในสภาพที่ติดดินและรากที่ลอยอยู่ในน้ำ เช่น สาหร่ายชนิดต่างๆ แหนเป็ด ไข่น้ำ สันตะวา หญ้า ฯลฯ

2. อาหารสมทบ (feed) หมายถึง อาหารที่ให้แก่กุ้งและปลาที่เลี้ยงนอกเหนือจากอาหารธรรมชาติที่สัตว์น้ำสามารถกินได้ และเป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ ซึ่งโดยทั่วไปแบ่งอาหารปลาได้เป็น 2 ประเภท คือ

-อาหารแบบไม่สมบูรณ์หรืออาหารสมทบ (supplemental feed) เป็นอาหารประกอบด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายไม่ครบถ้วนตามที่สัตว์น้ำชนิดนั้นๆ ต้องการ อาหารประเภทนี้

อาจเป็นเพียงวัสดุอาหารชนิดเดียว หรือประกอบด้วยวัสดุอาหารตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป เช่น รำ ปลายข้าว กากถั่ว กากเบียร์ ส่าเหล้า เศษอาหารจากครัวเรือน หรืออาหารเม็ดสำเร็จรูปจากโรงงาน จึงเหมาะแก่การเลี้ยงกุ้งและปลาแบบกึ่งธรรมชาติหรือกึ่งพัฒนา ถ้ากุ้งหรือปลาไม่หนาแน่นและมีอาหารธรรมชาติอยู่บ้าง การให้อาหารชนิดนี้ผลผลิตจะไม่สูง

-อาหารสมบูรณ์ (Complete feed) เป็นอาหารที่ประกอบด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ อาหารประเภทนี้ประกอบด้วยสารอาหารหลายชนิด และมีหลาย

รูปแบบ เช่น ผง แผ่น เม็ดจมและเม็ดลอย เป็นต้น จึงเหมาะแก่การใช้เลี้ยงกุ้งและปลาในระบบพัฒนาที่ปล่อยกุ้งและปลาอย่างหนาแน่น การเลี้ยงโดยอาหารสมบูรณ์นี้จะให้ผลผลิตสูงมาก เช่น การเลี้ยงปลาดุก ปลาช่อน ปลาบู่ และกุ้งกุลาดำ เป็นต้น