การเตรียมเลี้ยงสัตว์น้ำ

การเตรียมบ่อ (ก่อนการเลี้ยง)

เหตุผลที่จะต้องทำการเตรียมบ่อ

1. เพื่อให้พื้นก้นบ่อปลามีโอกาสได้รับแสงแดดและออกซิเจน ทำให้อินทรียวัตถุที่หมักหมมอยู่ในบ่อมีการย่อยสลายตัว

2. เป็นการเพิ่มเนื้อที่ของน้ำในบ่อให้มากขึ้นจากการลอกก้นบ่อ และกำจัดวัชพืชต่างๆ ทำให้ปล่อยปลาได้มากขึ้น

3. ทำลายและลดปริมาณเชื้อโรคต่างๆ ในบ่อปลาให้น้อยลง

4. กำจัดพวกศัตรูปลาต่างๆ

5. ทำให้การปรับปรุงบ่อหรือคันบ่อที่ชำรุดได้ง่าย

ขั้นตอนการเตรียมบ่อ

ก่อนที่จะนำสัตว์น้ำมาปล่อยลงเลี้ยงในบ่อ ควรมีการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้

1. สำหรับบ่อเก่าควรระบายน้ำออกแล้วทำการปรับปรุงบ่อปลา โดยเฉพาะพื้นก้นปอ คันบ่อ และวัชพืชต่างๆ เช่น ลอกเลนที่มีสีดำคลํ้า และมีกลิ่นเหม็นออก

2. ใส่ปูนขาวโดยโรยให้ทั่วพื้นบ่อและขอบบ่อ (อัตราการใช้ดูจากวิธีการใช้ปูนขาว)

3. ตากบ่อทิ้งไว้ 2-3 วัน (พอให้ดินหมาด)

4. ชักน้ำเข้าบ่อให้มีระดับน้ำลึกประมาณ 30-50 ซม. เพื่อกระตุ้นให้เกิดอาหารธรรมชาติได้เร็วขึ้น

5. ใส่ปุ๋ยคอกโดยกองไว้ที่มุมบ่อบริเวณที่น้ำท่วมถึง (อัตราการใช้ดูจากเรื่องปุ๋ย) ทิ้งไว้ ประมาณ 5-7 วัน

6. เมื่อน้ำเริ่มมีสีเขียวเพิ่มมากขึ้น ก็ให้ชักน้ำเข้าบ่อมากขึ้นจนมีระดับลึกประมาณ 1-1.50 เมตร

7. หลังจากนั้นประมาณ 3-5 วัน นำพันธุ์ปลาที่ต้องการปล่อยลงเลี้ยง

การใส่ปูนขาว

เหตุผลที่ต้องใส่ปูนขาวในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ

1. ปูนขาวจะช่วยปรับสภาพความเป็นกรด-ด่าง (Buffer) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมแก่การเพาะเลยงสัตว์น้ำระหว่าง 6.5-8.5 เนื่องจากปูนขาวจะมีสภาพเป็นด่างเมื่อทำปฏิกิริยากับน้ำและดิน จึงสามารถลดความเป็นกรดของดินหรือสภาพดินเปรี้ยวได้ดี

2. ปูนขาวจะช่วยกำจัดเชื้อโรคและศัตรูปลา เมื่อใส่ในขณะที่น้ำในบ่อมีระดับต่ำที่สุด หรือจวนแห้ง

3. ช่วยลดความขุ่นของน้ำอันเกิดจากสารแขวนลอยโดยทำให้ตกตะกอน

4. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของปุ๋ยที่ใส่ในบ่อปลา (การใส่ปุ๋ยในบ่อเลี้ยงปลาควรใส่หลังจากมีการใส่ปูนขาวเรียบร้อยแล้ว) ทั้งนี้เพราะแพลงก์ตอนพืชจะเจริญเติบโต และแพร่พันธุ์ในนํ้าที่มีความเป็นด่างอ่อน

5. ช่วยเร่งปฎิกิริยาการย่อยสลายของอินทรียวัตถุในบ่อ ทำให้การใช้ออกซิเจนในบ่อลดน้อยลง

6. เมื่อคุณสมบัติของน้ำมีความเหมาะสมกับการดำรงชีวิตของปลาก็ช่วยเพิ่มอัตราการรอดตายของปลา อันเป็นการเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น

ประเภทของปูนขาว ปูนขาวที่มีขายในท้องตลาดทั่วไป โดยปกติจะมีอยู่หลายประเภท เช่น

-ปูนเผา (CaO) หรือเรียกว่าปูนขาว

-ปูนเปียก Ca (OH2) หรือเรียกว่าน้ำปูน

-หินปูน (Ca CO3)

-ปูนมาร์ล ( Marl)

ซึ่งประสิทธิภาพของปูนประเภทต่างๆ นี้ เรียงลำดับจากมากมาหาน้อย โดยปูนขาว (CaO) จะมีประสิทธิภาพสูงสุด

อัตราและวิธีการใช้ปูนขาว ขึ้นอยู่กับประเภทของปูนขาวที่ใช้ แต่ถ้าคิดเป็นปูนขาวหรือหินปูนที่มีขายกันทั่วไปมีข้อแนะนำดังนี้

1. ปริมาณของปูนขาวที่ใช้ในการแก้ความเป็นกรด-ด่าง ของบ่อเลี้ยงปลาจะขึ้นอยู่กับชนิดของดินและปริมาณความเป็นกรด-ด่างของบ่อซึ่งมีระดับต่างๆ กัน ดังตารางต่อไปนี้ คือ

ตารางที่ 27 แสดงความต้องการปูนขาวใส่ลงในบ่อดินเพื่อปรับสภาพความเป็นกรด-ด่างให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในการเลี้ยงสัตว์น้ำ

ความเป็นกรด-ด่างของดิน ความต้องการปูนขาวของดิน (กก./ไร่)
ดินเหนียว ดินเหนียวปนทราย ดินทราย
น้อยกว่า 4.0 640 300 200
4.0-4.5 480 200 200
4.5-5.0 400 200 200
5.0-5.5 240 160 160
5.5-6.0 160 80 40
6.0-6.5 80

 

2. การใช้ปูนขาวเมื่อปรับปรุงสภาพน้ำเพื่อเลี้ยงปลาแล้ว และสภาพน้ำไม่เหมาะสม เช่น กรณีเกิดโรคปลาใช้ในอัตราประมาณ 50 กก./ไร่

3. เมื่อต้องการปรับปรุงคุณภาพน้ำในบ่อหลังจากจับปลาเก่าแล้ว แต่ไม่ได้ระบายน้ำเก่าทิ้งไป เพราะไม่สามารถหาน้ำใหม่มาเติมเปลี่ยนได้ ควรใช้ในอัตราประมาณ 250-300 กก./ไร่

4. การใช้ปูนขาวในขณะที่มีปลาอยู่ในบ่อ ควรใช้วิธีละลายปูนขาวในถังน้ำทีละน้อยแล้วสาดให้ทั่ว ไม่ควรใช้เป็นผงเทลงในนํ้า

การใส่ปุ๋ย

เหตุผลที่ต้องใส่ปุ๋ยในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ

1. การใส่ปุ๋ยในบ่อเลี้ยงปลามีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับการใส่ปุ๋ยให้พืชบนบก เพื่อเป็นการเพิ่มธาตุอาหารให้แก่พืชในการเจริญเติบโต โดยการใส่ปุ๋ยในปอปลาจะเป็นการเพิ่มอาหารธรรมชาติ เช่น แพลงก์ตอนพืชให้เกิดขึ้นซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มผลผลิตปลาให้สูงขึ้น นอกจากนี้ปุ๋ยบางประเภทยังใช้เป็นอาหารปลาได้โดยตรงอีกด้วย

2. การใส่ปุ๋ยจะช่วยปรับสภาพของน้ำ เช่น ความขุ่นใสและความเป็นกรด-ด่าง เป็นต้น

ประเภทของปุ๋ยที่ใช้ โดยทั่วไปมี 4 ประเภท คือ

1. ปุ๋ยคอก ได้แก่ มูลสัตว์ต่างๆ เช่น มูลวัว ควาย หมู ไก่ เป็ด เป็นต้น

2. ปุ๋ยพืชสด ได้แก่ ส่วนของพืช ผัก และวัชพืชต่างๆ ที่มีเยื่อใยน้อยสามารถย่อยสลายได้ง่าย

3. ปุ๋ยหมัก ได้แก่ ปุ๋ยที่เกิดจากการหมักหมมของเศษพืชผสมกับมูลสัตว์และแบคทีเรียตามกรรมวิธีของการทำปุ๋ยหมัก

4. ปุ๋ยเคมี ได้แก่ ปุ๋ยวิทยาศาสตร์สูตรต่างๆ ที่มีขายในท้องตลาด โดยประกอบด้วยอาหารหลัก คือ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโปแตสเซียม (K)

อัตราและวิธีการใช้ปุ๋ยในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ

สำหรับปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด และปุ๋ยหมัก โดยทั่วไปจะมีการสลายตัวช้า และบางส่วนสามารถเป็นอาหารปลาได้โดยตรง สามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น แต่การใช้ต้องระมัดระวัง หากใส่มาก เกินไปจะทำให้น้ำเน่าเสียได้

อัตราการใช้ปุ๋ยประเภทต่างๆ

1. ปุ๋ยคอก ควรใช้ในอัตราไม่เกิน 200-250 กก./ไร่/เดือน

2. ปุ๋ยพืชสด ควรใช้ในอัตราไม่เกิน 1,200-1,500 กก./ไร่

3. ปุ๋ยหมัก ควรใช้ในอัตราไม่เกิน 600-700 กก./ไร่

สำหรับปุ๋ยเคมีมีปฎกิริยาค่อนข้างรวดเร็ว ดังนั้น การใช้ต้องทำด้วยความระมัดระวังและในปริมาณน้อย โดยอัตราการใช้ไม่ควรเกิน 3-5 กก./ไร่/เดือน และควรจะใส่หลังจากได้ใส่ปูนขาวแล้ว

ข้อสังเกตในการใส่ปุ๋ย

เนื่องจากสภาพพื้นที่แตกต่างกัน อัตราการใช้ปุ๋ยจะต้องแตกต่างกันไป ซึ่งถ้าต้องการอัตราส่วนที่แน่ชัดจะต้องทำการวิเคราะห์คุณภาพน้ำและดินก่อน อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตในการใส่ปุ๋ย โดยสังเกตจากสีของน้ำในบ่อ เช่น

-น้ำมีสีน้ำตาลเข้ม แสดงว่าใส่ปุ๋ยคอกมากเกินไปจนเกิดการเน่าสลายตัวอย่างรุนแรง ควรเติมน้ำเพิ่มลงไป

-น้ำมีสีเขียวเข้มมากเกินไป โดยใช้มือจุ่มลงไปในน้ำประมาณถึงข้อศอก ถ้ามองไม่เห็นฝ่ามือแสดงว่าน้ำเข้มเกินไป ควรเจือจางโดยการเติมน้ำ แต่ถ้ามองเห็นฝ่ามือในระดับดังกล่าว แสดงว่าน้ำมีระดับหรือปริมาณปุ๋ยที่เหมาะสม

-หากปรากฏว่าในตอนเช้ามืดมีปลาลอยหัวขึ้นมา แสดงว่าน้ำมีออกซิเจนไม่พอ ซึ่งเกิดจากการที่มีแพลงก์ตอนพืชมากเกินไปจะต้องลดหรือเจือจางน้ำ หรือช่วยเพิ่มอากาศ

การแก้ไขน้ำขุ่น-น้ำเค็ม

โดยทั่วไปบ่อปลาที่ขุดใหม่มักจะประสบปัญหาน้ำขุ่น เนื่องจากตะกอนดินที่ถูกพัดพามา หรือภายในบ่อปลาเอง น้ำที่มีความขุ่นจะทำให้ปลาเจริญเติบโตช้า เพราะอาหารธรรมชาติมีไม่เพียงพอ และในระดับที่ขุ่นมากอาจทำอันตรายต่อปลาโดยตรงได้ โดยตะกอนดินจะไปทำให้ช่องเหงือกอุดตัน การหายใจจึงติดขัด นอกจากนี้น้ำที่ขุ่นมากจะมีอุณหภูมิที่ผิวน้ำสูงกว่าระดับปกติ การแก้ไขความขุ่นของน้ำอาจทำได้ ดังต่อไปนี้

1. ใช้สารเคมี เช่น สารส้มหรือสารอื่นๆ แต่วิธีการนั้นส่วนใหญ่จะเป็นการแก้ไขชั่วคราวเท่านั้น และมักจะมีปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำติดตามมา เช่น น้ำมีสภาพเป็นกรดเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

2. การใช้ปุ๋ยเคมี เช่น ปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟตในอัตราประมาณ 3-5 กก./ไร่/เดือน โดยให้ติดต่อกันประมาณ 3-4 ครั้ง จะช่วยกระตุ้นให้เกิดแพลงก์ตอนพืชซึ่งจะช่วยทำให้สารแขวนลอยจับตัว และตกตะกอนในที่สุด

3. ใช้ปุ๋ยพืชสดในอัตราประมาณ 1,200-1,500 กก./ไร่/เดือน โดยกองไว้ในบ่อที่ระดับน้ำท่วมถึง การสลายตัวของปุ๋ยพืชสดจะช่วยทำให้เกิดการตกตะกอนขึ้น

สำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มนั้น หลักการคงจะแก้ไขและปรับปรุงที่ดินโดยป้องกันไม่ให้อนุภาคของเกลือลอยตัวขึ้นมา ซึ่งทำได้โดยการใช้วัสดุ เช่น ปุ๋ยอินทรีย์หรือแกลบและขี้เลื่อยปกคลุมผิวหน้าดินให้ทั่ว โดยมีความหนาแน่นประมาณ 5-10 ซม.

การเตรียมพันธุ์สัตว์น้ำ

ในการเลี้ยงปลาที่มีประสิทธิภาพ ควรจะต้องมีการเตรียมและจัดหาพันธุ์ปลาตามชนิด จำนวน และขนาดที่เหมาะสมต่อสภาพของบ่อเลี้ยงที่ได้เตรียมการไว้ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนี้

1. ควรเป็นปลาที่มีขนาดความยาวตั้งแต่ 3-5 ซม.ขึ้นไป และมีขนาดไล่เลี่ยกัน หรือขนาดโตเท่ากัน

2. ลูกปลาที่นำมาเลี้ยงควรมีลักษณะแข็งแรง ลำตัวมีรูปร่างปกติ และสีสันสดใส ไม่มีบาดแผลหรือโรคปะปนมา

3. ควรจัดหาจากแหล่งที่มีความเชื่อถือได้ในด้านคุณภาพของพันธุ์ปลา เช่น จากสถานีประมงหรือเอกชนที่ได้รับความไว้วางใจ

การเปลี่ยนถ่ายเทน้ำ

1. บ่อที่ใช้เลี้ยงสัตว์น้ำประเภทกินเนื้อ เช่น ปลาดุก กุ้งก้ามกราม มีความจำเป็นจะถ่ายเทเปลี่ยนนั้าบ่อยๆ เพราะอาหารที่ให้มส่วนผสมของโปรตีนสูง เศษเหลือของอาหารที่ตกหล่นหรือจาก การขับถ่ายมีแก๊สแอมโมเนียและไนไตรท์สูง ส่วนที่บูดเน่าจากเศษอาหารมีแก๊สไข่เน่า (H2S) เป็นพิษต่อปลา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องถ่ายและเปลี่ยนน้ำประมาณ 1/2 บ่อทุก 3 วัน

2. บ่อที่เลี้ยงปลาประเภทกินอาหารไม่เลือก กินพืชและกินแพลงก์ตอนก็ควรเติมน้ำให้ได้ระดับ 1-2.50 เมตรอยู่เสมอ และหากสังเกตว่าปลาลอยหัวหรือกินอาหารได้น้อยลงกว่าปกติ ก็ควรถ่ายเทน้ำเปลี่ยนน้ำ หรือปฎิบัติเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละ 1-2 ครั้ง

-การสังเกตว่าเมื่อใดควรทำการเปลี่ยนน้ำ ให้สังเกตจากสีของน้ำ และการลอยหัวของปลาดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

-การระบายน้ำออกจากบ่อ ควรระบายน้ำส่วนล่างของก้นบ่อซึ่งจะเป็นส่วนที่มีความเน่าเสียมากกว่าน้ำผิวบน

3. ในกรณีที่บ่อปลาไม่สามารถระบายน้ำาได้เลย จะต้องให้ความระมัดระวังในการเลี้ยงปลา เช่น ปล่อยปลาจำนวนน้อย และให้อาหารในปริมาณที่พอเหมาะ น้ำจะได้ไม่เน่าเสียเร็ว และในบาง

ครั้งควรจะใส่เกลือลงไปเพื่อช่วยปรับสภาพของน้ำในอัตราประมาณ 200-300 กก./ไร่ รวมทั้งการใส่ปูนขาวดังที่กล่าวมาแล้ว จะช่วยยืดอายุและระยะเวลาในการถ่ายเทน้ำออกไป

-โดยสรุปแล้วการหมุนเวียนหรือระบายน้ำบ่อยครั้งหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนปลาที่ปล่อยลงเลี้ยง ปริมาณอาหารที่ให้ และของเสียที่ปลาขับถ่ายออกมา

-ระดับน้ำที่เหมาะสมกับการเลี้ยงปลา ไม่ควรต่ำกว่า 50 ซม. เพราะอุณหภูมิของน้ำจะสูงมากในตอนกลางวัน โดยปกติบ่อปลาควรจะลึกประมาณ 1-1.50 เมตร

การเตรียมอุปกรณ์สำหรับจับสัตว์น้ำ-ปรับปรุงบ่อเลี้ยง

อุปกรณ์ที่ควรมีไว้ในการเลี้ยงปลา คือ

1. เครื่องมือระบายน้ำ เช่น เครื่องสูบน้ำ

2. อุปกรณ์การจับปลา เช่น อวน ยอ ข่าย แห สวิง เป็นต้น

3. เครื่องมือวิเคราะห์คุณภาพน้ำบางประการ (ถ้ามี) เช่น เครื่องมือวัดความเป็นกรด-ด่าง เป็นต้น

4. พลั่วสาดเลน พลั่วหางเหยี่ยว เสียม บุ้งกี๋ มีด ฯลฯ