มะเขือเทศ:โรคราบนใบ

(leaf mold)

โรคราบนใบจัดเป็นโรคที่แพร่หลายและพบบ่อยอีกโรคหนึ่งของมะเขือเทศ

อาการโรค

อาการเริ่มแรกของโรคมักจะเกิดขึ้นบนใบแก่ที่อยู่ตอนล่างๆ ของต้นก่อนโดยหลังจากที่เชื้อราเข้าทำลายจะเกิดอาการแผลจุดเซลล์ตายสีซีดจางขึ้นที่ผิวด้านบนของใบดังกล่าว โรคจะเกิดและกระจายออกไปอย่างรวดเร็วสูงขึ้นยังใบอื่นๆ ที่อยู่ด้านบน และต้นข้างเคียงหากอากาศชื้นและเย็น โดยเฉพาะในช่วงที่ฝนตกติดต่อกันนานๆ ต่อมาด้านใต้ใบตรงกันกับที่เกิดอาการจุดเซลล์ตายจะมีการสร้างสปอร์ขึ้นเป็นจำนวนมากเป็นผงสีเทาเมื่อเริ่มแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมเขียว (olive-green) และน้ำตาลในที่สุดแผลจะมืลักษณะเป็นปื้น รูปร่างไม่คงที่ขนาดตั้งแต่ 2-3 มม.ไปจนถึง 1ซม.หรือโตกว่าต้นที่แสดงอาการโรคมากๆ ในที่สุดใบจะเหี่ยวเหลืองแล้วแห้งตายทั้งต้น

อาการอย่างเดียวกันนี้อาจเกิดขึ้นได้บนกิ่งอ่อน ดอก ขั้วของผลและผล ซึ่งจะมีผลทำให้ส่วนนั้นตายหลุดล่วงออกจากต้นในที่สุด อย่างไรก็ดีอาการบนส่วนเหล่านี้จะไม่พบบ่อยนัก

สาเหตุโรค: Fulvia fulva

เป็นเชื้อรา imperfecti ขยายพันธุ์โดยการสร้าง โคนีเดีย ลักษณะกลมหรือรูปไข่เซลล์เดียวหรือหลายเซลล์ สีเหลืองปนเขียวหรือนํ้าตาลบนปลายก้านโคนิติโอฟอร์ที่ค่อนข้างยาวและมีผนังแบ่งกั้นเป็นตอนๆ เป็นราที่ต้องการความชื้นค่อนข้างสูง ทั้งในการสร้างสปอร์การงอกของสปอร์ และการเจริญ อากาศจะต้องมีความชื้น (water-holding capacity) ไม่ต่ำกว่า 95% ถ้าไม่ถึง 90% สปอร์หรือโคนีเดียพวกนี้จะไม่งอกไม่เข้าทำลายพืช สำหรับอุณหภูมิที่โคนีเดียจะงอกได้อยู่ระหว่าง 4-32° ซ. แต่จะเข้าทำลายพืชได้ดีระหว่าง 22-24° ซ.

การแพร่ระบาดและอยู่ข้ามฤดู

การระบาดของโรคเกิดจากโคนีเดียปลิวแพร่กระจาย โดยลม การสาดกระเซ็นของน้ำฝนหรือ sprinkler แมลง มนุษย์ สัตว์ เครื่องมือกสิกรรมและสิ่งที่เคลื่อนไหวทุกชนิดที่ไปถูกต้องสัมผัสโคนีเดียเข้า นอกจากนั้นอาจติดไปกับเมล็ดในลักษณะของ seed-borne ทำให้แพร่กระจายออกไปได้ไกล และกว้างยิ่งขึ้น

การอยู่ข้ามฤดูอาจอยู่ได้ในลักษณะของเส้นใยและเม็ดสเครอโรเทีย อาศัยเกาะติดอยู่กับเมล็ดหรือเศษทรากพืชที่ปล่อยทิ้งไว้ตามแปลงปลูก

การป้องกันกำจัด

1. หลังจากเก็บเกี่ยวผลให้เก็บทำลายเศษซากพืช โดยเฉพาะที่เป็นโรคให้หมดโดยการเผาไฟหรือฝังดินลึกๆ

2. เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเชื่อหากไม่แน่ใจให้นำไปจุ่มแช่เพื่อฆ่าเชื้อเสียก่อนในนํ้าอุ่น 50-51∘ซ นาน 20-25 นาที

3. หากเกิดโรคขึ้นในแปลงปลูกให้เลือกใช้สารเคมี เช่น มาเน็บ แมนโคเซ็บ เมทาแลคซิล แคปแตน ไธแรม และซีเน็บ ในอัตราส่วน 40-50 กรัมต่อน้ำ 1 ปี๊บ ทำการฉีดทุกๆ 7-10 วัน หรือ 3-5 วัน ในกรณีที่สิ่งแวดล้อมเหมาะสม