มังคุด:ราชินีของผลไม้เมืองร้อน

ท่านผู้อ่านคงจะเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ทุเรียนเป็นราชาของผลไม้เมืองร้อนทั้งปวง” กันอยู่บ่อย ๆ จากปากของนักวิชาการไทย คำกล่าวนี้เป็นของพวกฝรั่งที่ใช้อ้างถึงความนิยมผลไม้ของชาวเอเซีย  โดยเฉพาะพวกเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่ถือว่าทุเรียนเป็นผลไม้ยอดนิยม หรือราชาแห่งผลไม้ (King of Fruits) มิได้หมายความว่าทุเรียนเป็นราชาของผลไม้ของพวกฝรั่งด้วย เพราะพวกฝรั่งเองนั้นเกลียดทุเรียนยังกะอะไรดี ถึงขนาดตั้งชื่อทุเรียนว่า “ลูกหนามที่เหม็นชะมัด” (โลกดุลยภาพปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ; ทุเรียน. ไพโรจน์  ผลประสิทธิ์) แต่สำหรับมังคุดแล้วไม่ว่าชาติไหนได้ลิ้มรสแล้วเป็นติดใจทุกคน โดยเฉพาะพวกฝรั่ง รสหวานเย็นเคล้าด้วยรสเปรี้ยวนิด ๆ ของกรดไวตามินซีในกลีบขาวน้อย ๆ ที่หุ้มห่อไว้ด้วยเปลือกนิ่มหนาสีม่วงตัดกับสีเนื้อที่ขาวสะอาด ทำให้เกิดมโนภาพของความเยือกเย็นและบริสุทธิ์ ยากที่จะหาไม้ผลเมืองร้อนอื่นที่เต็มไปด้วยความเร่าร้อนมาเทียมได้ ฝรั่งจึงยกให้มังคุดเป็นราชินีของผลไม้เมืองร้อนทั้งปวง  หากไม่เกรงใจเจ้าของถิ่นแล้วเขาคงยกให้เป็น “ราชา” มากกว่า

มังคุดในฐานะเป็นไม้ผลเศรษฐกิจ

ในอดีตมังคุดมิได้รับความสนใจจากคนในวงการสวนผลไม้มากนักมาระยะหลังสิบกว่าปีมานี้ ชาวต่างประเทศทั้งคนเอเซียและคนฝรั่งรู้จักมังคุดกันมากขึ้น เพราะโลกแคบลงประกอบกับธุรกิจการส่งออกผลไม้ขยายตัวขึ้น เพราะความสะดวกรวดเร็วในการติดต่อสื่อสาร  การขนส่ง และระบบการเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อได้มีการพัฒนาขึ้น “จึงมีการส่งมังคุดออกไปขายต่างประเทศกันทุกปี ยิ่งรู้ว่าต่างชาติยกให้มังคุดเป็นราชินีแห่งผลไม้ด้วยแล้ว ความเห่อปลูกมังคุดก็เพิ่มขึ้น  ในรอบบ้านเรานี้ไม่มีประเทศใดปลูกมังคุดมากเท่าเรา  จากสถิติการเพาะปลูกปี 2533/34 ของกรมส่งเสริมการเกษตร ประเทศไทยมีเนื้อที่ปลูกมังคุดรวมทั้งประเทศ 151,000 ไร่  แหล่งปลูกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จ.ชุมพร 46,000 ไร่ อันดับสอง จ.จันทบุรี 29,700 ไร่ อันดับสาม จ.นครศรีธรรมราช 25,000 ไร่ ได้ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 90,000 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2531/2532 ปรากฏว่าเนื้อที่ปลูกรวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้น 35,000 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 30.56  ส่วนในมาเลเซียเพื่อนบ้านเราเมื่อปี พ.ศ.2533 มีเนื้อที่ปลูกมังคุดเพียง 13,200 ไร่ และประมาณว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าคือปี พ.ศ.2548 จะมีมังคุด 27,000 ไร่  ส่วนเพื่อนบ้านอื่น ๆ ไม่มีตัวเลขแสดง เพราะเขายังไม่ให้ความสำคัญแก่มังคุดมากนัก ผู้เขียนมีความเห็นว่ามังคุดจะมีความสำคัญแก่ชาวสวนมากขึ้น ๆ ตามกาลเวลา หากการกำจัดโรคยางไหลและโรคเปลือกแข็งอย่างได้ผลในระดับเศรษฐกิจ

ญาติ ๆ และแหล่งกำเนิดของมังคุด

มังคุดเป็นไม้ในสกุล (genus) Garcinia (ชื่อไม้สกุลนี้ไม่มีคำแปล เพราะเป็นชื่อท้ายของดร.Laurent Garcin นักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส) มีชื่อชนิด (species) ว่า mangostana ซึ่งน่าจะมาจากคำว่า mangostan ชื่อที่ใช้เรียกมังคุดในศตวรรษที่ 17 โดยการเติม a ท้าย n ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของราชินีแห่งผลไม้เมืองร้อนนี้จึงเป็น Garcinia mangostana L. ญาติ ๆ ของมังคุดที่คนไทยรู้จัก เพราะใช้สอยกันอยู่บ่อย ๆ ก็ได้แก่พวกมะพูด (G. dulcis Kurz) ใช้กินผลสด ส้มแขกหรือที่ทางภาคใต้เรียกส้มควาน (G.atroviridis Griff) ชาวบ้านใช้รสเปรี้ยวของผลส้มแขกมาใช้ในแกงส้ม แกงเทโพ ต้มเนื้อ ต้มปลา ต้มส้ม ฯลฯ ชะมวงหรือที่คนใต้เรียกกะมวง มวงส้ม(G. cowa Roxb) ประโยชน์ของชะมวงที่คู่กับชีวิตประจำวัน  และเป้นที่เชิดหน้าชูตาของคนภาคตะวันออก (ระยอง จันทบุรี ตราด) ก็คือ “หมูต้มใบชะมวง” มันหมูที่ว่าร้ายและเลี่ยน เมื่อถูกใบชะมวงเข้าความเลี่ยนก็หายไปความร้ายก็น่าจะลด (น่าจะเอาแกงหมูใบชะมวงไปวิเคราะห์หาความร้ายของไขมันทั้งชาม) มะดัน (G. schomburgkiana Pierre) ที่คุณสาว ๆ ชอบนักก็คือ “มะดันดอง” ญาติมังคุดอีกชนิดหนึ่งที่น่ากล่าวถึง เพราะในอดีตกาลเวลาพูดถึงเรื่องสีเหลืองคนจันท์จะคิดถึงต้นรง (G.hanburyi Hook f.) แม้ไม้สกุลนี้หลายชนิดมีประโยชน์ดังกล่าวแล้ว แต่ก็เห็นมีเพียง “มังคุด” เท่านั้นที่ปลูกกันเป็นสวน  ส่วนส้มแขกและชะมวงจะปลูกเป็นไม้ใช้สอยในบริเวณบ้าน  การเรียกหาผักปลอดสารพิษเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา  ขณะที่จำนวนต้นชะมวง ส้มแขกในธรรมชาติลดลง เพร่าชีวิตป่าถูกคุกคาม ชะมวงและส้มแขกอาจกลายเป็น “ผักยืนต้น” ที่ชาวบ้านหันมาปลูกเป็นการค้าก็เป็นได้ใครจะไปรู้

บ้านเกิดของมังคุดนั้นว่ากันว่าอยู่ที่มาเลเซีย  เพราะมีการตั้งสมมุติฐานว่า มังคุดเป็นลูกผสมของต้นวา (G.hombroniana Pierre) กับไม้อีกชนิดหนึ่งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า G. malaccensis T. Anderson  ซึ่งไม้ทั้งสองชนิดนี้มีกำเนิดที่แหลมมลายู ผู้เขียนเองก็ไม่รู้จัก G. malaccensis เสียด้วย  หากรู้จักและพบว่ามีกำเนิดในป่าทางใต้ของไทยด้วย  ก็จะทึกทักเอาว่ามังคุดก็มีกำเนิดในประเทศไทยด้วยเช่นกันเพราะ “วา” เป็นไม้ป่าของไทยอยู่แล้ว  ที่จำได้เพราะเมื่อตอนเป็นเด็กเคยปีนต้นวา  เก็บลูกกินจนมวนท้องวิงเวียนศีรษะจนเกือบตกต้นวา

ทำไมคนไทยเรียกไม้นี้ว่า”มังคุด”

ผู้เขียนเคยบอกมาแล้วว่าตนเองไม่เคยศึกษานิรุกติศาสตร์  แต่ก็อดครุ่นคิดไม่ได้ว่าคำเรียกชื่อผลไม้ต่าง ๆ นั้นมีที่ไปที่มาอย่างไร คนไทยเป็นต้นตำรับหรือว่าไปเอามาจากภาษาอื่น  เมื่อคิดแล้วเห็นว่าสนุกดีก็เลยปล่อยให้คิดไปเรื่อย ๆ ฉะนั้นขอท่านผู้อ่านอย่าได้ถือว่าความเห็นของผู้เขียนเป็น “ความรู้” ที่จริงแล้วต้องการเชิญชวนให้ท่านมาช่วยคิดเพื่อหาข้อยุติ (นี่ผู้เขียนมากวนน้ำให้ขุ่นหรือเปล่า คนไทยเรียกชื่อผลไม้ไทยมานับร้อยปีแล้ว  นั่นคือข้อยุติแล้วมาคิดทำไมให้เปลืองสมอง)

หากรวบรวมภาษาต่าง ๆ ที่ใช้เรียกมังคุดจะได้ดังนี้

คนทมิฬ เรียกแมง (มัง) กัสไตหรือมังกูสไต (Mangustai), อินโดนีเซีย มาเลเซีย เรียกแมง (มัง) กีส (manggis), ฟิลิปปินส์ เรียกมังกูสตาน (Manggustan) บ้าง มังกีสบ้าง, พวกโปรตุเกสเรียกแมงกูสตา (manggusta) หรือแมงกีสตาน (manggistan) และเมื่อถึงศตวรรษที่ 17 เขียนเป็นแมงโกสตาน (mangostan) ซึ่งในที่สุดเพี้ยนเป็นภาษาอังกฤษว่า “แมง” (มัง) โกสตีน (Mangosteen) ภาษาฝรั่งเศสเขียนเป็น mangoustan ส่วนไทยเรียก “มังคุด” (ฝรั่งเขียน Mangkhut ใช้ตัวยูแทนเสียงสระอุ) เมื่อพิจารณาการออกเสียงตัวหน้าแล้ว ทุกภาษาดูจะเหมือนกันหมดคือ แมงหรือมัง (mang) ส่วนคำหลังภาษาไทยว่า “คุด” นั้นน่าจะใกล้เคียงกับคำว่า “กัส” หรือ กูส” (gus) ในภาษาทมิฬและโปรตุเกส (ที่เอามาจากทมิฬ) เพราะความที่ผู้เขียนเคยอ่านพบว่า  ได้มีการค้นพบแหล่งอารยธรรมและวัตถุโบราณมากมายทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกและสันนิษฐานกันว่าวัตถุเหล่านี้อาจนำมาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยชนเผ่าหนึ่งที่อยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย  ซึ่งปัจจุบันได้แก่พวกทมิฬเป็นส่วนใหญ่  ทำให้ผู้เขียนเข้าใจว่า คำว่า “มังคุด” นั้นรากเง่ามาจากภาษาทมิฬ “มังกูสไต” หรือท่านผู้อ่านจะพูดตรงกันข้ามว่ามังกูสไตมาจากภาษาไทยว่า “มังคุด” ก็ได้อีกเหมือนกัน

ชิวิตพิศวงของมังคุด

ชีวิตมังคุดราชินีแห่งผลไม้เมืองร้อนที่แสนสวยนี้  ถูกกล่าวขวัญโดยอดีตนักพฤกษศาสตร์ว่า ซับซ้อนซ่อนเงื่อนราวกับชีวิตรักในบักกิ้งแฮมก็ไม่ปาน  เชื่อกันว่ามังคุดทั้งโลกนี้มีอยู่พันธุ์เดียว  เพราะมังคุดที่ปลูกเป็นสวนหรือรอบบริเวณบ้านมีแต่ต้นที่ออกแต่ดอกตัวเมียทั้งนั้น  อีกทั้งละอองเกสรตัวผู้ในดอกตัวเมียก็ไม่เคยเกิดขึ้นเลย  เพราะอับละอองเกสรตัวผู้แห้งตายไปเมื่อดอกบาน ต้นมังคุดที่ออกดอกตัวผู้ก็ไม่เคยมีใครพบเห็นในอดีตกาลไม่ว่าในเมืองไทย มาเลเซีย หรืออินโดนีเซียแดนมังคุด เมื่อมีแต่เพศเมียไม่มีเพศผู้ คนและสัตว์ให้กำเนิดลูกไม่ได้  แล้วมังคุดล่ะเกิดเป็นลูกมังคุดได้อย่างไร คำตอบก็คือมังคุดให้ลูกพรมจรรย์เช่นเดียวกับผลมะเดื่อ คือไม่ต้องรับเชื้อตัวผู้จากเกสรตัวผู้ก็ติดลูกได้ ตรงกับที่ฝรั่งเรียกว่า “Parthenocarpic fruits” ที่ผู้เขียนแปลเป็นไทยว่า “ลูกพรมจรรย์” ก็เพราะเคยไปชมมหาวิหารพาร์เธนอน (Parthenon) วิหารแห่งเทพเจ้าหญิง (goddess) อธีนี (Athene) ผู้พรมจรรย์ที่อโคโปลิส กรุงเอเธนนครหลวงของกรีก) กรุงเอเธนเห็นรูปสลักหินอ่อนของเทพเจ้าหญิงพรมจรรย์แสนสวยที่มีชื่อว่าอธีนียืนคุ้มครองมหาวิหารอยู่ จึงทำให้นึกถึงคำนี้ (parthenos ภาษากรีกแปลว่า “บริสุทธิ์”) ในมนุษย์ก็น่าจะให้กำเนิดลูกพรมจรรย์ได้เหมือนกัน อย่างน้อยเท่าที่ทราบก็มีพระแม่มารี (MARY) ที่ให้กำเนิดพระเยซูนั่นเอง  ในอนาคตจะมีหญิงตั้งท้องโดยไม่เสียพรมจรรย์กันเพิ่มขึ้น ด้วยการเกิดอาชีพรับฝากท้อง (ฝากไข่ที่ผสมเชื้อแล้วจากพ่อแม่อื่น) ราวกับในเรื่องรามเกียรติ์

ที่ว่ามังคุดทั้งโลกมีอยู่พันธุ์เดียวนั้น ผู้เขียนไม่เคยเชื่ออย่างสนิทใจเลย เพราะเคยเห็นมังคุดก้นแหลมทั้งต้น ทั้งสวนที่เมืองดาเวาของฟิลิปปินส์นานมาแล้ว  เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมานี้นักวิชาการของศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรีได้ส่งสำเนาเรื่องการค้นพบมังคุดต้นตัวผู้บนคาบสมุทรมาเลเซียมาให้อ่านในรายงานกล่าวว่าได้พบมังคุดต้นตัวผู้ขึ้นอยู่ริมถนนในหมู่บ้าน Ulu Kundor อำเภอ Linggi ใน Negen Sembilan ไม่ติดลูกเพราะดอกทำหน้าที่ตัวผู้ มีการปล่อยละอองเกสรตัวผู้จากอับละอองเกสรเช่นกัน

ส่วนที่ว่าเกสรตัวผู้ในดอกตัวเมียไม่ทำงานเพราะแห้งตายเสียก่อนดอกบานนั้น เมื่อประมาณ 30 ปีเศษ ผู้เขียนเคยเปิดกลีบดอกมังคุดออกเมื่อดอกใกล้บาน พบก้านเกสรตัวผู้หลายอันแนบสนิทกับรังไข่ ก้านเกสรตัวผู้สั้นบ้างยาวบ้าง บางก้านยาวส่งอับเรณูไปสัมผัสกับยอดเกสรตัวเมีย แต่ส่วนมากจะสั้นส่งไปไม่ถึง  ปัญหาที่ยังคั่งค้างอยู่ในใจผู้เขียนก็คือ แม้ในอับเรณูจะไม่มีเกสรตัวผู้ก็ตาม  การที่อับเรณูไปสัมผัสกับยอดเกสรตัวเมียใดจะเป็นเหตุให้กลีบเนื้อที่อยู่ตรงกับยอดเกสรตัวเมียนั้นเกิดเป็นกลีบที่มีเมล็ดสมบูรณ์จริงหรือไม่

การใช้ชีวิตความเป็นเด็กอยู่นานของมังคุด (ไม่ยอมออกลูก) ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ลี้ลับสำหรับนักวิทยาศาสตร์การเกษตรของฝรั่ง จนกระทั่งต้องมอบให้นักวิจัยรักเรียนของศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี  ค้นคว้าหาทางให้มังคุดออกผลเร็วขึ้น  ฝรั่งดูจะห่วงเรื่องนี้มากเกินไป  คงจะเป็นเพราะอยู่กับข้อมูลเก่า ๆ ที่ทางคนพื้นเมืองของประเทศลูกน้องป้อนให้ คนมาเลเซียมีคำพังเพยเกี่ยวกับมังคุดที่น่าจะแปลเป็นไทยได้ว่า “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน รอนานเหมือนปลูกมังคุด” ความหมายก็คือ สิ่งที่ยากเข็ญหากอดทนทำก็จะสำเร็จได้  นักเขียนฝรั่งทุกคนเมื่อกล่าวถึงมังคุดจะบอกว่าต้องใช้เวลาถึง 15 ปี จากวันปลูกถึงวันออกผล คงจะเป็นจริงในมังคุดที่เติบโตในสภาพป่า มังคุดที่ปลูกเป็นสวนในบ้านเราออกลูกภายใน 8 ปีแน่นอน สำหรับคนใจร้อนและเงินหนาจะร่นเวลาให้เหลือ 4 ปี ก็ทำได้โดยซื้อมังคุดอายุ 2-3 ปีมาปลูก อย่างไรก็ตามเป็นที่น่ายินดีที่เริ่มมีการวิจัยหาทางให้มังคุดออกลูกเร็วขึ้น ผู้เขียนเชื่อแน่ว่าด้วยความรู้ทางวิทยาการด้านพันธุกรรม และความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมศาสตร์ที่พิสูจน์ได้แล้วว่ามนุษย์สามารถเพาะเลี้ยงโคลน(clone) หรือยีนส์ (genes)ขึ้นมาใหม่ได้จากดีเอ็นเอ ไม่ว่าดีเอ็นเอนั้นจะมาจากชีวิตใด และไม่ว่าสารเคมีแห่งชีวิตนั้นจะติดอยู่กับซากพืช กระดูกสัตว์มานานเพียงใด ยีนส์ที่ควบคุมความอ่อนวัยต้องค้นพบและนำมาใช้กับมังคุดและไม้อื่นได้แน่นอน เรื่องแบบนี้คิดแล้วขนลุก

ประโยชน์ของมังคุด

มีมากหลาย ข้อแรกที่เห็นชัด ๆ ก็คือใช้กินผล และกินได้ทั้งดิบและสุก ผลดิบกินหวานกรอบดี แต่ไม่ให้บรรยากาศความสวยงาม มีเร่ขายอยู่ตามสถานีรถไฟทางภาคใต้ ผลสุกเมื่อบีบด้วยมือหรือฝานด้วยมีดตามด้านขวางแยกเปลือกออกจากกัน  จะเห็นปุยขาวของเนื้อตัดสีม่วงของเปลือกมังคุดดูเย็นตายิ่งนัก ยิ่งได้ลิ้มรสหวานอมเปรี้ยวของกลีบที่นิ่มละมุนด้วยแล้ว วิเศษจนต้องให้เป็นราชินีแห่งผลไม้เมืองร้อนเลยทีเดียว มังคุดกวนก็แสนจะวิเศษ ยิ่งเมื่อเคี้ยวเนื้อกับเมล็ดร่วมกันอะไรกวนก็สู้ไม่ได้ เมล็ดมังคุดก็คือนัท (nut) เมืองร้อนชั้นดีนั่นเอง  คนเขาว่ามะคาเดเมียนัทแพงที่สุดในโลก  แต่ผู้เขียนว่ามังคุดนัทถ้ามีขายจะแพงยิ่งกว่า (เพราะหายาก)

โบราณบอกว่าเมื่อกินทุเรียนแล้วต้องกินมังคุดตาม  เพื่อไปล้างหรือไปลดความร้อนที่เกิดจากเนื้อทุเรียนคนแต่ก่อนจึงมักปลูกมังคุดในที่ว่างของทุเรียน  ต้นมังคุดเองถ้าปลูกในที่แจ้งทรงต้นจะสวยงาม  หากถึงน้ำถึงปุ๋ยใบจะเขียวเป็นมันระยับ เป็นไม้ประดับบ้านให้ร่มเงาได้อย่างดี แถมกิ่งที่แตกออกอย่างเป็นระเบียบยังเหนียวมากเสียอีก ลูกเล็กเด็กแดงปีนได้อย่างสบายใจ

คุณสมบัติของมังคุดในแง่เป็นสมุนไพรก็คงสำคัญไม่น้อย เพราะทราบมาว่าทางมาเลเซียส่งเปลือกมังคุดตากแห้งไปขายเมืองจีน คงเอาไปใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนัง ในมาเลเซียเองก็ใช้ทั้งเปลือกผลและเปลือกต้นเข้ายาพื้นบ้านเช่นกัน สำหรับเมืองไทยในหนังสือ “สมุนไพรใกล้ตัว” กล่าวว่า ส่วนที่ใช้เป็นยาคือเปลือกผลแห้งรสฝาด ใช้แก้ท้องเสีย บิด มูกเลือด ใช้น้ำต้มเปลือกมังคุดล้างแผลช่วยให้แผลหายเร็ว เปลือกผลแห้งมีสารแทนนินช่วยรักษาอาการท้องเสียโดย ใช้เปลือกผลตากแห้งต้มกับน้ำปูนใสหรือฝนกับน้ำ รับประทานแก้อาการท้องเดิน หรือใช้เปลือกผลแห้งประมาณ ½ – 1 ผล (4 กรัม) ย่างไฟให้เกรียม ฝนกับน้ำปูนใสประมาณครึ่งแก้ว หรือบดเป็นผงละลายน้ำข้าว (น้ำข้าวเช็ด) หรือน้ำสุก รับประทานทุก 2 ชั่วโมง รักษาโรคบิด

การเลือกซื้อผลมังคุด

แต่ละคนก็มีวิธีเลือกซื้อมังคุดต่าง ๆ กัน  บางคนก็ใช้นิ้วกดเปลือกจนแม่ค้ามองค้อน  บางคนชอบผิวดำมันเรียบ แต่ผู้เขียนชอบมังคุดผิวตกกระหยาบ เวลาเลือกก็ใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้กางออกเป็นคีม หยิบผลมังคุดให้อยู่ระหว่างคีมให้ทุกส่วนของนิ้วทั้งสองสัมผัสเปลือกมังคุดให้มากเท่าที่จะมากได้ แล้วบีบเบา ๆ หากสะดุดกับความแข็งก็ปล่อยไป เลือกลูกอื่นใหม่ ที่ทำเช่นนี้เพราะไม่อยากใช้นิ้วกดให้แม่ค้าค้อน

ที่ก้นของมังคุดจะเห็นเป็นแฉก ๆ แฉกเหล่านี้คือยอดเกสรตัวเมียที่เหลือร่องรอยให้เห็น จำนวนแฉกบอกจำนวนกลีบในผล จำนวนกลีบบอกจำนวนเมล็ด กล่าวคือ จำนวนกลีบยิ่งมากจำนวนเมล็ดโตยิ่งมีน้อย  โดยปกติมังคุดจะมี 6-7 กลีบ  โอกาสที่มี 8 กลีบและ 5 กลีบมีน้อย มังคุดที่ต่ำกว่า 6 กลีบมักจะมีจำนวนเมล็ดโตมาก การยืนนับแฉกที่ก้นเพื่อให้ได้มังคุดปลอดเมล็ดคงไม่คุ้มกับที่ถูกแม่ค้าค้อนกระมัง

อนาคตของมังคุด

เมื่อกล่าวโดยรวมในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ชาวสวนรอบบ้านเราคร้ามที่จะปลูกเพราะไม่อยากรอคอยเวลาอันยาวนานกว่าจะให้ผล  อีกทั้งการเก็บเกี่ยวก็ยุ่งยากเปลืองแรงงาน  เมื่อเขามีทัศนะต่อมังคุดเช่นนี้ก็น่าคิดต่อไปว่า เนื้อที่การปลูกมังคุดของประเทศรอบบ้านเราก็ไม่น่าเพิ่มในอัตราสูงนัก

ส่วนชาวสวนไทยดูเหมือนจะไม่กังวลในเรื่องข้างต้นนี้  เนื้อที่เพาะปลูกจึงเพิ่มขึ้นทุกปี ๆ ละเกือบสองหมื่นไร่ที่ชาวสวนไทยเห็นเป็นปัญหาใหญ่ก็คือเรื่อง “อาการยางไหล” ในผลมังคุด

ก่อนจะจบอยากจะเล่าเรื่องที่ประสบมาเมื่อปี พ.ศ. 2514 วันหนึ่งของปีนั้นผู้เขียนไปทานอาหารที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ (เดี๋ยวนี้เปลี่ยนชื่อแล้ว) หลังอาหารก็สั่งมังคุด เพราะเคยสั่งได้ คราวนี้บริกรบอกว่าโรงแรมไม่เสิรฟมังคุดให้ลูกค้าแล้ว เมื่อถามเหตุผลก็ได้รับคำตอบว่า “ยางมังคุดทำให้ผ้าปูโต๊ะเปื้อนแล้วซักไม่ออก” คำตอบนี้ทำให้เห็นว่า  โอกาสมังคุดจะขึ้นโต๊ะหรู ๆ คงหมดไป แต่ยังดีที่ยังยอมให้นำเข้าไปกินในห้องโรงแรมได้ไม่เหมือนทุเรียนต่อไปมังคุดมีมากเข้ายางมังคุดเกิดไปเปื้อนผ้าปูที่นอน มังคุดอาจอดเข้าโรงแรมเช่นทุเรียนก็เป็นได้

เรื่อง: ไพโรจน์  ผลประสิทธิ์