มะขามแขกมีสรรพคุณดังนี้


ชื่อวิทยาศาสตร์ 1. Cassia acutifolia Delile
2. C. angustifolia Vahl
ชื่ออังกฤษ 1. Alexandrian Senna or Alexandria Senna.
2. Tinnevelly or Indian Senna.
ลักษณะ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 1-1.5 เมตร ต้นกิ่งก้านค่อนข้างขาว ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยใหญ่และยาวกว่าใบมะขามเล็กน้อย รูปใบ ยาวปลายใบแหลมสีเขียวอ่อนกว้างประมาณ 0.7-1 ซ.ม. ยาว 2.5-3.5 ซ.ม. จัดแบบ evenpinnately compound ดอกใหญ่สีเหลืองสวยเป็นช่อ บานจากล่างไปบน รูปของดอกเป็น papilionaceous ผลเป็นฝัก แบน บาง โค้ง เล็กน้อย ฝักอ่อนสีเขียว แก่จัดสีนํ้าตาล เมล็ดแบน ฝักมี 6-12 เมล็ด
ส่วนที่ใช้ ใบ ฝักที่โตเต็มที่
สารสำคัญ เป็น Anthraquinone glycosides หลายตัวที่อยู่ในรูปอิสระ บางชนิดจะรวมตัวกับนํ้าตาลบางอย่าง ตัวที่สำคัญที่สุดคือ sennoside 4 ชนิด คือ A, B,C , D sennosides A และ B พบปริมาณสูง นอกจากนี้พบ rhein และ aloeemodin
ประโยชน์ทางยา sennoside ออกฤทธิ์ไปกระตุ้นกล้ามเนื้อลำไส้ใหญ่ให้บีบตัว ทำให้การขับถ่ายดีขึ้น มะขามแขกจึงเหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกแบบพรรดึก (habitual constipation) หรือเหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกเนื่องจากรับประทานยาบางพวก เช่น ยาเสพติดหรือผู้ป่วยที่นอนนานๆ ไม่ได้เดินและออกกำลังกายทำให้ระบบขับถ่ายไม่ทำงาน ถ้าให้ยาถ่ายมะขามแขกผู้ป่วยแล้ว ควรถ่ายหลังรับประทานยา 6-12 ชั่วโมง
อาการข้างเคียง จะมีอาการปวดมวน ถ้าฝักจะมีอาการน้อยกว่าใบ จะช่วยให้อาการนี้ลดลงถ้ารับประทานกับยาขับลม หรือถ้าเป็นยาโบราณให้เติมเปลือกอบเชยลงไป จะช่วยลดอาการปวดมวนท้อง
หมายเหตุ สำหรับมะขามแขกไม่ควรใช้กับ
1. หญิงมีครรภ์ หรือหญิงที่ให้นมลูก เพราะสาร Anthraquinone จะออกฤทธิ์มากับนํ้านมด้วย
2. ผู้ป่วยที่เป็นโรคลำไส้ใหญ่ส่วนล่างอักเสบ และโรคอุดตันในทางเดินอาหาร
3. เด็กอายุตํ่ากว่า 6 ขวบ
ที่มา:ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ