มะขามมีประโยชน์อย่างไร


ชื่อวิทยาศาสตร์ Tamarindus indica Linn.
ชื่ออื่นๆ ตะลูบ (นครราชสีมา) ม่องโคล้ง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) มอดเล ส่ามอเกล(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) อำเปียล (สุรินทร์)
ชื่ออังกฤษ Tamarind, Sampalok.
ลักษณะ ไม้ต้นขนาดใหญ่ โตช้าอายุยืนเป็นร้อยปี แตกกิ่งก้าน กิ่งเหนียว ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยมี 8-12 คู่ มีขนาดเล็ก รูปขอบขนาน ใบกว้าง 4-7 ม.ม. ยาว 1.2-1.8 ซ.ม. ดอกออกเป็นช่อเล็กๆ บานจากล่างไปบนกลีบดอก สีเหลืองมีประแดง ทั้งใบอ่อน ดอก ฝัก มีรสเปรี้ยว ผลเป็นฝัก ไม่แตก ฝักอ่อนมีสีเขียวปกคลุมด้วยขน ที่เป็นขุยๆ สีน้ำตาล เปลือกผลติดกับเนื้อ แต่เมื่อแก่จัดเปลือกเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาล เปลือกจะแยกออกจากเนื้อ เปลือกเปราะแตกง่าย เนื้อในเมื่อยังอ่อนจนกระทั่งโตเต็มที่จะมีสีเขียวอมขาวๆ แข็ง เมล็ดในสีเขียว เมื่อผลแก่จัดเนื้อในเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาล นิ่ม เมล็ดในเป็นสีนํ้าตาล แข็ง
ส่วนที่ใช้ ใบอ่อน ใบแก่ ดอก ฝักอ่อนและแก่ เมล็ดมะขามแก่ และเนื้อไม้
สารสำคัญ เนื้อฝักมีกรดอินทรีย์ได้แก่ tartaric acid 3-5%, citric acid 4% และ malic acid ในรูปเกลือ เช่น potassium bitartrate 8% นํ้าตาล 30-40% นอกนั้นมี gum และ pectin เมื่อเอามะขามเปียกขยำนํ้าจะเป็นเมือกเล็กน้อยเพราะมี pectin ในใบ ดอกมีรสเปรี้ยวเช่นกัน
ประโยชน์ทางยา ใบสดใช้ต้มนํ้าอาบหลังคลอด ใช้ผสมกับสมุนไพรอื่นต้มอาบอบสมุนไพร เนื่องจากในใบสดมีรสเปรี้ยวมีกรดหลายชนิดช่วยทำให้ผิวหนังสะอาดยิ่งขึ้น เนื้อในที่แก่ (มะขามเปียก) ใช้เป็นยาระบายทั้งในคนและสัตว์ เมื่อดื่มนํ้ามะขาม จะช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย จึงเหมาะกับคนที่มีอาการไข้ หรือผู้ที่อยู่ในประเทศ แถบตะวันออกกลาง ซึ่งมีอากาศร้อนอบอ้าว การดื่มนํ้ามะขาม นอกจากจะช่วยผ่อนคลายความร้อนแล้ว ยังช่วยลดอาการกระหายนํ้าลงได้ เนื้อในของเมล็ด ขับพยาธิไส้เดือนในเด็ก โดยคั่วเมล็ดให้เกรียม แช่น้ำเกลือ กระเทาะเปลือกออก ใช้เนื้อรับประทานประมาณ 20-30 เมล็ด
อื่นๆ
1. มะขามเปียกใช้แต่งรสเปรี้ยวในอาหาร หรือปรุงแต่งเป็นอาหารอื่นๆเช่น มะขามแก้ว มะขามคลุก เมล็ดในใช้คั่วเป็นอาหาร
2. เมล็ดเพาะให้ขึ้น เช่น ถั่วงอกหรือลูกเหรียง นำส่วนที่งอกแกงส้ม ดอกใบอ่อน ใช้เป็นอาหาร
3. ฝักอ่อนใช้ปรุงอาหาร เนื้อไม้ใช้ทำเขียงเป็นเขียงที่มีคุณภาพดีมาก เพราะเหนียวทน
ที่มา:ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ