ละหุ่ง

ละหุ่ง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ไรซินุ๊ส คอมมิวนิส (Ricinus communis, LinnJ อยู่ในตระกูล ยูฟอร์บิเอซี่ ( Euphorbiaceae ) บางทีเรียก ละหุ่งแดง, ละหุ่งขาว จีนเรียก ปีมั้ว ชื่อภาษาอังกฤษว่า Castor – Oil Plant

ภายในเมล็ดละหุ่งประกอบด้วยน้ำมัน (fixed oil) ประมาณ ๔๕-๕๕% โปรตีน ชนิดกลอบูลิน ( globulin ), อัลบูมิน (albumin), นิวคลีโออัลบูมิน ( nucleoalbumin ), และโปรตีนชนิดที่เป็นพิษ คือ ไรชิน ( ricin ) ทั้งโปรตีนที่มีพิษและไม่มีพิษรวมกันมีประมาณ ๒๐% มีสารพวกอัลคลอลอยด์ไรซิซีน ( ricicine ) และน้ำย่อยอีกหลายชนิด

เมื่อนำเมล็ดละหุ่งมาบีบนํ้ามัน สารโปรตีน ที่เป็นพิษไรซินจะเหลืออยู่ในกาก ไม่เหมาะสมที่จะนำไปเลี้ยงสัตว์เลี้ยงพวก วัว ควาย และเป็นพิษต่อคน แต่ไม่เป็นพิษต่อ เป็ด ไก่ ดังนั้น กากที่ได้จากการบีบน้ำมันละหุ่งจึงนิยมนำไปใช้เป็นปุ๋ยมากกว่านำไปเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากภายในกากละหุ่งมีพวกไนโตรเจนประมาณ ๑.๕๐% ฟอสฟอรัสแอซิด ประมาณ ๒.๕๕% และโปแตสเซี่ยม ประมาณ ๑.๐% ซึ่งเป็นองค์ประกอบภายในปุ๋ยที่พืชต้องการ

สารที่อยู่ในกากละหุ่งอาจทำให้เกิดอาการแพ้กับบุคคลบางคน ทำให้เกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ใกล้โรงงานบีบน้ำมันละหุ่ง ฉะนั้น จึงขอฝากกับทางราชการผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติการสร้างโรงงานบีบน้ำมันละหุ่ง ควรตั้งอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านมากๆ เพื่อสุขภาพของร่างกายประชาชนเป็นที่ตั้ง มิฉะนั้นจะเกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกายของประชาชน ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาหลายอย่าง

น้ำมันละหุ่ง (castor oil) ที่ได้จากการบีบนำมาใช้เป็นยาระบาย แต่การบีบจะต้องได้จากการบีบเย็น (cold pressed ) ซึ่งมีลักษณะสีนวลขาว ส่วนชนิดรองลงไปโดยการนำชนิดแรกมาสกัดด้วยตัวทำละลายซึ่งมีสีเข้มข้นกว่าชนิดแรก ซึ่งนำมาทำเป็นน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ และอุตสาหกรรมทำสี อุตสาหกรรมสิ่งทอ ทำหมึกพิมพ์ เครื่องสำอางค์ สบู่ ฯลฯ

ฉะนั้น ตามตำหรับแพทย์แผนโบราณก่อนที่จะนำเมล็ดละหุ่งมาปรุงเป็นยา เขาจะมีวิธีการทำลายสารพิษในเมล็ดละหุ่ง โดยนำมาหุง หรือสะตุเสียก่อน ถ้าไม่นำมาทำลายพิษก่อน จะเกิดการระคายเคืองต่อผนังกระเพาะลำไส้ได้ ขอได้โปรดระวังในการใช้ละหุ่งมาทำยาให้ดีๆ

ละหุ่งเป็นพืชที่ปลูกได้ในบ้านเมืองเรา มีทั้งละหุ่งแดง ละหุ่งขาว(เขียว) ละหุ่งแดง มีลำต้น ก้านใบ เป็นสีแดง ส่วนละหุ่งเขียวมีลำต้นและก้านใบสีเขียว ใบละหุ่งเป็นหยักเหมือนนิ้ว ดอกออกเป็นช่อสีแดง เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ต่างดอกกัน แต่อยู่บนต้นเดียวกัน ฉะนั้นปลูกต้นเดียวก็สามารถขยายพันธุ์ได้ ผลมี ๓ พู และมีหนาม เมล็ดมีเปลือกเป็นจุด สีน้ำตาลปนเทาคล้ายตัวเห็บ เนื้อในเมล็ดมีสีเกือบขาว

ละหุ่งเป็นพืชพื้นเมืองของอินเดีย แต่ปลูกได้ทั่วไปในเขตร้อน เช่น อเมริกาใต้ อัฟริกา หมู่เกาะอินเดียตะวันตก และอินโดนีเซียอาคเนย์ ยุโรปตอนใต้

ละหุ่งเป็นพืชที่มีขนาดใหญ่และอายุอยู่ได้หลายปี ถ้าปลูกในที่อากาศเย็นต้นไม่สูง และเป็นพืชล้มลุก ขึ้นได้ตามป่าราบและป่ารกร้างทั่วไป

สรุปสรรพคุณ

เมล็ดละหุ่งประกอบด้วยน้ำมัน นำมาทำเป็นยาระบาย น้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ อุตสาหกรรมทำสี ทำหมึกพิมพ์ เครื่องสำอางค์ สบู่

ส่วนโปรตีนที่อยู่ในกากประกอบด้วยไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแตสเซี่ยม เหมาะสม นำมาทำปุ๋ยเศรษฐกิจได้ดีมาก