ลักษณะต้นผ่าเสี้ยน

(Pha Sian)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Vitex canescens Kurz
ชื่อวงศ์ LABIATAE (VERBENACEAE)
ชื่ออื่น จัง
ถิ่นกำเนิด ตอนใต้ของจีน
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-15 ม. ขนาดทรงพุ่ม 8-10 ม. ผลัดใบระยะสั้น ทรงพุ่มกลมค่อนข้างทึบ เปลือกต้นสีนํ้าตาลอ่อนหรือเทา แตกหลุดล่อนเป็นสะเก็ดขนาดเล็ก


ใบ ใบประกอบรูปนิ้วมือ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ก้านใบรวม ยาว 3-8 ซม. มีใบย่อย 5 ใบ รูปใบหอกกว้าง กว้าง 2-7 ซม. ยาว 5-15 ซม. ปลายใบแหลมเป็นติ่งโคนใบเบี้ยว ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียวและย่นเป็นลอน สีเขียวสด ผิวใบด้านล่างมีขนนุ่มละเอียด ใบอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีเทาอมเหลือง ใบแห้งมีสีดำคลํ้า


ดอก สีขาวนวล มีประสีชมพู ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงที่ปลายกิ่ง ช่อดอกตั้ง ยาว 10-15 ซม. ดอกย่อยรูปปากเปิด กลีบเลี้ยง เชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกเชื่อมติดกัน เป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก เกสรเพศผู้ 5 อัน เส้นผ่านศูนย์กลาง ดอก 0.5-0.8 ซม. ออกดอกเดือน ม.ค.-มี.ค.
ผล ผลสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดียว ทรงกลมหรือรูปลูกข่าง เส้นผ่าน ศูนย์กลาง 0.6-1 ซม. มีกลีบเลี้ยงรองรับที่ฐาน สีเขียว เมื่อสุกเหลืองถึงดำ เนื้อหุ้มเมล็ดบาง เมล็ดทรงกลมแข็ง สีน้ำตาล ติดผลเดือน เม.ย.-พ.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา พบตามชายป่าดิบและบริเวณที่ถูกรบกวน
การใช้ประโยชน์ ลำต้น เมื่อโตเต็มที่แล้ว นำมาใช้ทำโต๊ะขนาดเล็กได้
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ตำรายาไทยใช้ เปลือกต้น แก้ท้องเสีย แก้เด็กถ่ายเป็นฟอง แก้บิด แก้ไข้ แก้ตานขโมย (โรคพยาธิ ในเด็กมีอาการเบื่ออาหาร ผอมแห้ง อ่อนเพลีย ซูบซีด ท้องเดิน พุงโร ก้นป่อง) รากแก้ท้องเสีย เจริญอาหาร
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย