ลิเภา

(String Ferns)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lygodium circinatum (Burm. F.) Sw.
ชื่อวงศ์ SCHIZAEACEAE
ชื่ออื่น ลิเภาใต้ ลิเภาหางไก่ รีบู (มาเลย์)
ลักษณะทั่วไป เป็นเฟิร์นที่มีลักษณะเป็นเถาปีนเลื้อยเกี่ยวพันตามกิ่งไม้ ต้นไม้ เหง้าเลื้อยสั้น มีขนสีดำปกคลุม ใบ ขนาดใหญ่ ปีนเลื้อยไปได้ไกลหลายเมตร ก้านใบ ส่วนที่งอกออกจากเหง้า ก้านกลม ยาว 25-40 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.4 ซม. ผิวก้านสีฟางแกมน้ำตาล โคนก้านมีขนปกคลุม ก้านส่วนบนมีครีบสันคม


ใบ แกนกลางใบ ส่วนที่เป็นเถาเลื้อย ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.2-0.5 ซม. ผิวเกลี้ยง มีครีบสั้น ก้านใบย่อย แตกเป็นกิ่งสั้นมาก 0.2-0.3 ซม. ปกคลุมแน่นด้วยขนสีนํ้าตาลซีด แกนกลางใบย่อย เป็นกิ่งยาว 2-8 ซม. หรือแตกเป็นกิ่งแยกเป็นคู่ๆ ใบสปอร์แตกเป็นแฉก รูปมือ โคนใบเป็นรูปลิ่ม ปลายใบสอบแคบและปลายแหลม ขอบใบ เรียบใบยาว 20 ซม. กว้างมากกว่า 2 ซม. บางใบส่วนปลายก้านเป็นใบปกติไม่มีสปอร์ ขนาดแคบกว่าใบที่มีสปอร์ กว้าง 1 ซม. แผ่นใบบางเหมือนแผ่นกระดาษ อ่อนนุ่ม ผิวเกลี้ยง ยกเว้นบริเวณเส้นใบหลัก มีขนประปราย บางใบอาจเป็นปุ่มปม อับสปอร์เกิดบริเวณขอบของใบย่อยชั้นที่ 3 ขนาดอับสปอร์ 0.2-0.5 ซม. กว้าง 0.1 ซม.
นิเวศวิทยา พบตามดินทราย ที่ชุ่มชื้น มีฤทธิ์เป็นกรด ต้องการ แสงมากพอสมควร
การใช้ประโยชน์ เถาของลิเภาชนิดนี้มีความเหนียวคงทน สามารถนำมาใช้ประดิษฐ์เป็นงานหัตถกรรมประเภทจักสานได้ดี
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ใบอ่อน นำมาแช่น้ำแล้วห่อด้วยผ้าสะอาด บีบเอานํ้าออกมาใช้หยอดแก้ตาเจ็บหรือนัยน์ตาเป็นแผล
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย