สภาพที่เหมาะสมต่อโรคเกิดจากเชื้อรา

เชื้อราต้องการออกซิเยน และอินทรีย์วัตถุเพื่อการเจริญเติบโต การขยายพันธุ์ และการทำให้พืชเกิดโรค เชื้อราไม่สามารถใช้แสงสว่าง เพื่อการสังเคราะห์ หรือปรุงอาหารเหมือนพืชสีเขียวทั่วไป เชื้อราจึง เจริญเติบโตได้ดีในที่มืดและชื้น มีอากาศถ่ายเทน้อย เพื่อไม่ให้สูญเสียความชื้นมากไป บางชนิดอาจชอบเจริญในสภาพอากาศเย็น แต่เชื้อราส่วนมากเจริญได้ดีที่สุดระหว่างอุณหภูมิ 20-30 °ซ. ซึ่งมักอยู่ในช่วงฤดูที่เพาะปลูก ในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วไป
สภาพที่เหมาะสมต่อการเจริญ และการขยายพันธุ์ของเชื้อรา มักเป็นสภาพที่เหมาะสมต่อการเจริญของโรคด้วย การปลูกพืชในที่ร่ม หรือปลูกใกล้ชิดกันมากเกินไป มีอากาศถ่ายเทน้อย อากาศชื้น ทำให้ เชื้อราเข้าทำลายพืชได้ง่ายกว่าการปลูกพืชที่มีระยะห่าง มีอากาศถ่ายเทสะดวก และพืชได้รับแสงแดดพอเพียง เพราะพืชที่อยู่ในที่ร่มนั้น หลังจากฝนตกแล้ว ใบพืชเปียกอยู่นาน ทำให้เชื้อเจริญเร็ว เข้าทำลายพืชได้ง่ายตลอดจนพืชเองอาจปรุงอาหารไม่พอเพียงต่อการเจริญเติบโตเพราะขาดแสงแดด
การควบคุมโรค
ลักษณะเฉพาะของชีพจักรของเชื้อ สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดและระบาดของโรค เป็นสิ่งสำคัญมากต่อการช่วยพิจารณาในการควบคุมโรคที่เกิดจากเชื้อรา โรคส่วนมากต้องใช้วิธีการควบคุม หลายวิธีร่วมกัน จึงจะได้ผล บางโรคอาจใช้เพียงวิธีเดียวก็ได้ผลอย่างสมบูรณ์
1. การใช้พันธุ์ต้านทานโรค (resistant varieties) โรคบางโรค เช่น โรคเหี่ยว ที่เกิดจากเชื้อ Fusarium โรคราสนิมของข้าวสาลี เป็นโรคที่ทำความเสียหายแก่พืชมาก การใช้พันธุ์ต้านทานโรคนับว่าได้ผลดีอย่างน่าพอใจ วิธีนี้เป็นการควบคุมโรคที่เสียค่าใช้จ่ายตํ่า โดยจะได้ผลมากหรือน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับพืช และเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรค
2. ใช้เมล็ดและกิ่งพันธุ์ที่ปราศจากโรคปลูก
3. ทำลายส่วนของพืชที่เป็นโรค แหล่งเพาะเชื้อ วัชพืช และพืชที่เชื้ออาศัยอยู่ชั่วคราว
4. ทำความสะอาดภาชนะ เครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตรต่างๆ
5. ไร่มีการระบายนํ้าและการถ่ายเทอากาศที่เหมาะสม
6. การปลูกพืชหมุนเวียน (crop rotation) จะช่วยในการควบคุมโรคได้ดีอีกทางหนึ่ง แต่อาจใช้ไม่ได้ผลกับโรคที่เกิดจากเชื้อรา มีพืชอาศัยมากมายหลายชนิด เชื้อสามารถมีชีวิตอยู่แบบ saprophyte ได้เป็น
เวลานาน หรือเชื้อสามารถสร้างสปอร์ที่อยู่ในระยะพักตัวทำให้มีชีวิตอยู่ได้นาน


ภาพแสดงโรคเกิดจากราเมือก (A) อาการโรค และ (B) ลักษณะของราเมือก สาเหตุโรค (ที่มา: Agrios, 1978)
7. การใช้ความร้อนฆ่าเชื้อที่อาศัยอยู่ในดินที่ปลูกพืช เช่น ใช้ไอน้ำ เผา
8. การใช้สารเคมีที่อยู่ในรูปของเหลวระเหยได้ ฉีดอบดิน เช่น ฟอร์มาลิน choloropicrin methyl bromide เป็นต้น
9. การแช่เมล็ดท่อนพันธุ์ด้วยนํ้าร้อน ก่อนปลูก เพื่อทำลายเชื้อที่ติดมากับเมล็ดและท่อนพันธุ์ดังกล่าว เช่น ป้องกันโรคเขม่าดำ
10. การใช้สารเคมีคลุกเมล็ดก่อนปลูก (seed treatment) เช่น ใช้ carboxin, chloroneb, dichlone, chloranil, captan, thiram เป็นต้น
11. การใช้สารเคมี ฉีดพ่นเป็นนํ้าหรือพ่นผง บนพืช เพื่อป้องกันโรค ซึ่งสารเคมีส่วนมากจะคลุมพืช (protectant) ได้แก่สารเคมีที่อยู่ในรูปของสารประกอบอนินทรีย์ และอินทรีย์ต่างๆ เช่น กำมะถันผง สารประกอบของทองแดง thiocarbamates เช่น maneb, thiram, zineb ฯลฯ สารประกอบของปรอท และสารประกอบอื่นๆ เช่น captan, dichlone, polyram, glyodin, dodine เป็นต้น บางชนิดสามารถแทรกซึม กระจายทั่วต้น เช่น benomyl ฯลฯ
โรคเกิดจากราชั้นต่ำ (The Lower Fungi)
Myxomycetes
Myxomycetes เป็นราที่มีโครงสร้างระยะเจริญเติบโต เป็น plasmodium เพราะไม่มีผนังเซลแน่ชัด เป็นก้อน protoplasm ที่มีรูปร่างคล้ายอมีบา มี nucleus มากมาย เรียกราเหล่านี้ว่า ราเมือก (slin mold) ราเมือกสร้าง zoospores ซึ่งมี flagella 2 เส้น ราเมือกที่เป็นสาเหตุโรคพืชมีอยู่ 2 กลุ่ม
1. Physarales ราเมือกที่แท้จริง (true slime molds) Plasmodium ไม่เข้าไปในเซลพืชอาศัย แต่สร้าง fruiting bodies ซึ่งมี resting spores อยู่ภายใน เจริญบนผิวพืช (superficial fructifications) ได้แก่ genera Fuligo, Mucilago และ Physarum เป็นต้น ซึ่งพบขึ้นคลุมส่วนของพืชที่อยู่ติดดินและชื้น ทำให้พืชเป็นโรค แต่ไม่เป็นปรสิตของพืช พบบนใบ ลำต้น และผล
2. Plasmodiophorales ราเมือกที่ plasmodium เกิดในเซลพืชอาศัย และสร้าง resting spores ภายใน plasmodium นั้น เชื้อเข้าไปเป็นปรสิตในราก และส่วนใต้ดินอื่นๆ ของพืชในแบบของปรสิตถาวร ได้แก่ genera Plasmodiophora สาเหตุโรครากบวมของพืชตระกูลกระหล่ำ Poly myxa สาเหตุโรคที่รากของธัญพืช และหญ้าต่างๆ และ Spongospora สาเหตุโรค powdery scab ของมันฝรั่ง
Physarales
ราเมือกเจริญบนส่วนของพืชที่เจริญอยู่ติดหรือบนผิวดิน พบบนหญ้า พืชผัก ไม้ประดับต่างๆ ในถิ่นที่มีอากาศร้อน ชื้น หรือมีฝนตกหนัก และอาจพบบนดินระหว่างแถวพืช โดยเจริญเป็นเมือกสีขาว คล้ายครีม หรือเป็นสีอื่นๆ ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นสีเทา ราเมือกพวกนี้เป็น saprophyte กินอินทรีย์วัตถุที่เน่าเปื่อย และจุลินทรีย์ต่างๆ เจริญลุกลามคล้ายอมีบา Plasmodium ที่อยู่บนผิวดินที่สูงกว่า จะเคลื่อนไหลสู่ผิวดินที่ต่ำกว่า เมื่ออากาศร้อนและชื้น ส่วนพวกที่เจริญบนผิวพืช Plasmodium จะสร้าง fruiting bodies ที่มีขนาด ลักษณะ และสีต่างๆ กัน แล้วแต่ชนิดของเชื้อ Fruiting bodies มีสปอร์บรรจุอยู่เต็ม สปอร์หลุดออกปลิวไปตามลม และสามารถทนต่อสภาพที่ไม่เหมาะสมได้ เมื่ออากาศเย็นและมีความชื้นสูง สปอร์ดูดซับน้ำ ทำให้ผนังเซลแตก ปล่อย zoospores ที่เคลื่อนไหวได้ด้วย flagella สปอร์นี้กินอาหารและแบ่งตัวคล้าย plasmodium ทำให้ได้ plasmodium ขนาดต่างๆ กัน ขณะที่บาง zoospores อาจจับคู่รวมกันได้ zygote แล้วขยายใหญ่ขึ้น กลายเป็น plasmodium ที่มี nuclei มากมาย

ภาพแสดงชีพจักรของราเมือก Fuligo, Mucilago และ Physarum (ที่มา:Agrios,1978)
การควบคุมโรค
1. เคลื่อนย้ายใบ หรือส่วนของพืชที่เป็นโรคไปทำลายเสีย
2. การเพาะปลูก ต้องระบายน้ำดี ดินไม่ชื้นแฉะ เพราะให้นํ้ามากเกินไป
3. เมื่อราเมือกมีปริมาณมากเกินไป ควรใช้ยาฆ่าเชื้อราฉีดพ่น ซึ่งให้ผลดีทุกชนิด เช่น แคปแตน (captan) ไทแรม (thiram) เป็นต้น
Plasmodiophorales
ราเมือกในอันดับนี้ เป็นปรสิตถาวรที่ทำให้พืชส่วนที่อยู่ใต้ดินเป็นโรค หลังจากพืชตายแล้ว เชื้อจะอยู่ในดินในลักษณะของ resting spores ได้หลายปี เชื้อมีพืชอาศัยน้อย Plasmodium เจริญอยู่ในเซลพืชโดยไม่ฆ่าเซล แต่เชื้อไปกระตุ้นให้เซลข้างเคียงขยายใหญ่และแบ่งเซลมากขึ้น ทำให้เชื้อได้รับอาหารจากพืชมาก เชื้อจะแพร่กระจายไปยังต้นพืชอื่นๆ ทาง zoospores และการเคลื่อนย้ายดิน น้ำ ที่มีเชื้ออยู่ตลอดจนการย้ายกล้าต้นที่เป็นโรคไปปลูก การควบคุมโรคนั้นยากมา วิธีที่เหมาะสมที่สุดก็ในหลักเลี่ยงการใช้ดินที่เชื้อนี้ปะปน ใช้เฉพาะกล้าหรือหัวพืชปกติปลูกและการปฏิบัติทางการเพาะปลูกอื่นๆ เช่น ปลูกพืชหมุนเวียนด้วยพืชที่ไม่ใช่พืชอาศัยสลับ และปรับดินให้มีฤทธิ์เป็นด่าง ประมาณ 7.2 จะช่วยลดความเสียหายของโรคได้
สำหรับโรคพืชที่เกิดจากราเมือกนี้ ยังไม่พบในประเทศไทยแต่ก็ควรได้ศึกษาเพื่อป้องกันไม่ให้มีโรคเกิดขึ้น
ที่มา:ไพโรจน์  จ๋วงพานิช