สรรพคุณของสับปะรด


ชื่อวิทยาศาสตร์ Ananas comosus Merr.
ชื่ออื่นๆ ขนุนทอง ยานัด ย่านนัด มะลิ (ใต้) เนะซะ แนะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) บ่อนัด (เชียงใหม่) มะขะนัด มะนัด (เหนือ) ลิงทอง (เพชรบูรณ์) หมากเก็ง (ฉาน-แม่ฮ่องสอน)
ชื่ออังกฤษ Pineapple.


ลักษณะ เป็นไม้ล้มลุก แตกหน่อ เมื่อออกผลแล้วต้นเดิมจะตาย การสืบพันธุ์ใช้หน่อนำไปปลูกใหม่ ส่วนยอดของผลก็ใช้ปลูกเป็นต้นใหม่ได้ แต่ไม่ดีเท่า จึงไม่นิยมใช้
ลำต้นอยู่ใต้ดิน เป็นเหง้ายาวสีนํ้าตาลแข็ง ใบเดี่ยว ยาว แข็ง กรอบ รูปร่างเรียวแหลมเป็นรูปหอก เรียงสลับซ้อนกันถี่มากรอบต้น ใบกว้าง 5-6 ซ.ม. ยาว 80-100 ซ.ม. ธรรมดาใบสีเขียวมีนวลสีขาวเคลือบ แต่ถ้าเป็นสับปะรดพันธุ์ที่ปลูกเป็นไม้ประดับใบจะมีสีสันสวยงามมาก เช่น ชมพู ชมพูมีทางขาว หรือปลายใบแดง ขอบใบสับปะรดพันธุ์ที่ให้ผลจะเป็นฟันเลื่อย แต่บางพันธุ์ขอบใบเรียบ ใบเรียงซ้อนกันหนา ตรงกลางจะเป็นช่อง ดอกช่อ มีดอกย่อยขนาดเล็กรวมกัน กลีบดอกเป็นสีม่วง ผลชนิดผลรวมอัดกันแน่นอยู่บนแกนกลาง และต่อเลยเป็นก้านของผลซึ่งกลมและใหญ่ เนื้อของผลรวมเมื่อสุกมีรสหวาน หรือหวานอมเปรี้ยว มีนํ้ามาก ผลส่วนมากมักมีสีเขียวเมื่อยังไม่สุก หรือสีนํ้าตาลแดง เมื่อสุกสีจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมเขียว บางพันธุ์เหลืองอมส้ม ใช้เป็นอาหารหวานคาว
ส่วนที่ใช้ ผลแก่จัด เหง้าใต้ดิน ใบ
สารสำคัญ ผลมีวิตามินซีสูง มีนํ้าตาลและกรด 1-glutamic acid และ flavonoids มีเอนไซม์ที่ย่อยโปรตีน มีชื่อว่า “Bromelin”  มีรายงานว่าในส่วนลำต้นที่มีอายุ 3 ปี จะมีเอนไซม์นี้มากที่สุด
ประโยชน์ทางยา นํ้าจากผลสับปะรดมีเอนไซม์ช่วยย่อยเนื้อ ปัจจุบันใช้เอนไซม์นี้เตรียมเป็นยาแผนปัจจุบันเป็นยาเม็ดชื่อ “Ananase Forte Tablet” เป็นยาลดการอักเสบ และนิยมใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะ ในรายที่แผลเป็นหนองเอนไซม์จะเป็นตัวที่จะไปย่อยหรือกัดเนื้อเยื่อที่เสียให้หลุดออก และยาปฏิชีวนะจะเข้าทำหน้าที่อย่างเต็มที่ นอกจากนั้นเอนไซม์นี้ยังไปช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อด้วย การรับประทานสับปะรดหลังอาหารจะช่วยย่อยอาหารที่เป็นพวกโปรตีน ทำให้ไม่แน่นท้อง ใช้รักษาโรคลักปิดลักเปิดเนื่องจากมีวิตามินซีสูง เหง้า ยาไทยใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
อื่นๆ ใบมีเส้นใยที่เหนียวทนทาน นำมาทอเรียกว่า “ผ้าไหมสับปะรด” หรือ “ผ้าไหม ฟิลิปปินส์” สวยงามมาก ถ้าต้องการปลูกเพื่อให้ได้เส้นใย ต้องปลูกให้ชิดๆ กัน จะได้ใบและเส้นใยยาว
ผล เป็นผลไม้ ใช้เตรียมอาหารหวานคาว เตรียมนํ้าสับปะรด ทำพั๊นและทำไวน์
ที่มา:ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ