สวนผลไม้:การปรับปรุงดินที่ไม่เหมาะสมเพื่อทำสวนไม้ผล

จะขอกล่าวถึงดินที่มีปัญหาอีก 4 ชนิดคือ ดินเหมืองแร่ ดินทรายจัด ดินทรายมีชั้นดาน และดินเปรี้ยว ดังนี้

ดินเหมืองแร่

ดินเหมืองแร่คือดินหลังการทำเหมืองแร่แล้วละทิ้งไว้ ดินเหมืองแร่ประกอบด้วย กองกรวดหิน กองทราย ดินตะกอน ดินถูกขบวนการทำเหมืองแร่ชะล้าง จนเกือบไม่มีแร่ธาตุอาหารพืชคงเหลืออยู่ เป็นดินที่ไม่มีโครงสร้างลักษณะทางกายภาพและขาดอินทรีย์วัตถุชั้นดินอัดตัวแน่น การอุ้มน้ำต่ำ

แนวทางการแก้ปัญหา

–         ปรับแต่งพื้นที่ให้สามารถจัดรูปแบบให้ทำการอนุรักษ์ดินและน้ำได้

–         ปลูกพืชที่ขึ้นได้ดีในดินเสื่อมโทรมนี้เช่น ยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซิส ไม้โตเร็ว ปลูกระยะ 2×2 เมตร ปุ๋ยเคมี 15-15-15 อัตรา 2 กิโลกรัม/ต้น/3ปี หรือกระถินเทพาไม้โตเร็วตระกูลถั่ว เพื่อปรับปรุงดินให้ดีขึ้น โดยใช้ระยะปลูก 2×2 เมตร ปุ๋ยเคมี 15-15-15 อัตรา 300 กรัม/ต้น/ปี

ดินทรายจัด

ต้นกำเนิดของดินทรายจัดคือ หินทราย พบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอยู่ประมาณ 6 ล้านไร่เป็นดินที่ง่ายต่อการถูกชะล้าง มีปริมาณอินทรียวัตถุความเป็นกรด ความสามารถในการแลกเปลี่ยนประจุบวก การอุ้มน้ำปริมาณจุลินทรีย์ความอุดมสมบูรณ์ต่ำมาก อุณหภูมิของดินเปลี่ยนแปลงเร็ว ช่วงแตกต่างระหว่างอุณหภูมิต่ำสุดกับสูงสุดแต่ละวันกว้าง มีพืชพรรณปกคลุมน้อย การกระจายของฝนเลวบางแห่งอับฝน ช่วงแล้งนานเกินกว่า 6 เดือน

แนวทางการแก้ปัญหา

–         เน้นการจัดการดิน น้ำ และพืชควบคู่กัน จำเป็นต้องใช้สารปรับปรุงดิน ต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีร่วมกันเสมอ

–         ปุ๋ยเคมีที่ประกอบด้วยธาตุอาหารหลัก ควรแบ่งใส่ทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง และควรมีการเสริมธาตุอาหารรองตามความต้องการของพืชนั้นร่วมด้วย

–         ควรใช้วัสดุคลุมโคนหลุมปลูกกล้าไม้ เพื่อเพิ่มเปอร์เซ็นต์การอยู่รอดของกล้าไม้

–         เน้นทำการเกษตรผสมผสาน เช่น วนเกษตร ปศุสัตว์เกษตร ประมงเกษตร เป็นต้น

ดินทรายมีชั้นดาน

เป็นดินทรายจัดที่มีชั้นดานอินทรีย์เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติบริเวณจังหวัดที่อยู่ติดฝั่งทะเลทางภาคใต้และภาคตะวันออก พบมากที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และสงขลามีอยู่ประมาณ 5 แสนไร่ ดินมีความเป็นกรด และมีหญ้าเจ้าชู้ยักษ์ขึ้นปกคลุมโดยทั่วไป

แนวทางการแก้ปัญหา

–         ปรับปรุงดินหลุมปลูก การทำสวนมะพร้าวด้วยปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตรสมบูรณ์ที่มีอัตราส่วนของปุ๋ยโปรแตสเซียมสูงจะได้ผลผลิตเทียบเท่ากับดินอื่นๆ ที่ไม่มีปัญหา

–         ปลูกไม้ยืนต้นโตเร็วที่เจริญได้ดีพอใช้ เช่น ยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซิส กระถินณรงค์

ดินเปรี้ยว

ดินเปรี้ยวเป็นดินที่มีสารประกอบของเหล็กหรืออลูมินัมซัลเฟตและกำมะถันสะสมอยู่ในปริมาณมากจนเป็นอันตรายต่อพืช ดินระบายน้ำเลว มักพบในที่ลุ่มชายฝั่ทะเลและที่ราบลุ่มภาคกลางเป็นดินเหนียวจุดประสีเหลืองคล้ายสีฟางข้าว(สารประกอบจาโรโซท์) ดินชั้นล่างมีความเป็นกรดมาก ทำให้เหล็กและอลูมินัมละลายออกมากจนเป็นพิษต่อพืชและจุลินทรีย์ในดิน นอกจากนี้ยังตรึงปุ๋ยฟอสฟอรัสไว้จนพืชไม่สามารถนำไปใช้ได้

แนวทางการแก้ปัญหา

เตรียมจัดการดินและน้ำเพื่อปลูกไม้ผลโดย

–         การสร้างคันดินกั้นน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบแปลง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำออกป้องกันน้ำท่วมขังในฤดูฝน ยกร่องคูระบายน้ำในช่วงแรกจะเป็นน้ำเปรี้ยว ต้องระบายออกในระยะแรกๆ ประมาณ 3-4 ครั้ง/เดือน และต้องควบคุมไม่ให้ระดับน้ำต่ำกว่าชั้นดินเดิม

–         บนร่องใส่ปูนขาว ปูนมาร์ลหรือฝุ่นหินปูน หว่านทั่วทั้งร่องปลูกอัตรา 1-2 ตันต่อไร่

–         กำหนดขนาดหลุมปลูก กว้างยาวและลึก 50-100 ซม. ตากดิน 1 เดือน ดินที่จะกลบหลุมให้ผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 1 กก. คลุกเคล้าปูนอัตรา 10-15 กก./หลุม แบ่งตามชนิดของไม้ผลดังนี้

ส้มเขียวหวาน(ปลูกระยะ 3×3 เมตร), มะม่วง (ปลูกระยะ 8×9 เมตร), ปาล์มน้ำมัน (ปลูกระยะ 8×9.5 เมตร) ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 แบ่งใส่ 2-4 ครั้ง อัตราครึ่งหนึ่งของอายุกล้า (แล้วแต่อายุกล้าอ่อนแก่) ถ้าเป็นพืชตระกูลปาล์มใช้สูตรปุ๋ยที่มีธาตุโปตัสเซียมสูง

ส้มโอ และมะพร้าวน้ำหอมปลูกระยะ 8×9 เมตร ใส่ปุ๋ยเคมีอัตราเท่าอายุคือ 1 กก. ต่อปี จนกว่าจะอายุ 5 ปีขึ้นไป แบ่งใส่ 5 กก. 2 ครั้งต่อปีและทุกๆ 2 ปี ควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักด้วยก็จะดี

นอกจากนี้คำแนะนำที่อยากเพิ่มเติมให้อีกคือ ควรแบ่งพื้นที่ทั้งหมดเป็นส่วนๆ คือ เป็นที่ดินเพื่อเก็บผลิตผล 60-80℅ที่ดินที่ใช้ปลูกไม้กันลมหรือปลูกพืชป้องกันดินพังอีก 20-30℅ และอีก 5-15℅ ใช้กันไว้เพื่อเสริมระบบนิเวศน์ให้กับพืชและสัตว์ หรือไว้ปลูกไม้ดอกไม้ประดับสมุนไพร การทำสวนเบื้องต้นนั้นควรปลูกกล้วยเป็นพืชแซม หรือจะปลูกต้นกระดุมทองไว้เพื่อป้องกันไฟลามไหม้สวนไม้ผล ก็ใช่ว่าจะเสียหายแต่ประการใด เป็นการกันไว้ดีกว่าแก้