การปลูกถั่วเหลือง


GLYCINE MAX
ถั่วเหลืองเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศชนิดหนึ่ง สามารถขึ้นได้ดีในสภาพดินฟ้าอากาศของประเทศไทย รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญในการที่จะเร่งรัด และส่งเสริมให้มีการปลูกถั่วเหลือง เพื่อให้มีปริมาณมากพอที่จะใช้บริโภค และป้อนโรงงานอุตสาหกรรมภายในประเทศ และส่งเป็นสินค้าออก เพื่อนำรายได้เข้ามาพัฒนาประเทศอีกทางหนึ่ง ในปี 2517 ประเทศไทยมีเกษตรกรปลูกถั่วเหลือง เป็นเนื้อที่ประมาณ 1,170,000 ไร่ และได้ผลิตผล
ประมาณ 186,000 ตัน เนื่องจากเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3 ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2515 ได้กำหนดจะผลิตถั่วเหลืองให้มีปริมาณมากขึ้นยังมีอีกมาก
แหล่งปลูกใหม่ๆ ของประเทศไทยในขณะนี้ ได้แก่ จังหวัดภาคเหนือ และภาคกลางตอนเหนือ เช่น จังหวัดสุโขทัย เชียงใหม่ เพชร่บูรณ์ ลำปาง ตาก นครสวรรค์ กำแพงเพชร ลพบุรี สระบุรี เป็นต้น นอกจากนี้ในท้องที่จังหวัดอื่นๆ ในภาคกลาง เช่น จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อุทัยธานี อ่างทอง กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ก็เป็นแหล่งที่มีสภาพดินฟ้าอากาศเหมาะสม สามารถขยายการปลูกให้กว้างขวางออกไปได้ในอนาคต ส่วนแถบจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางจังหวัด เช่น จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อุบลราชธานี มหาสารคาม อุดรธานี ก็สมควรปลูกถั่วเหลือง เพื่อใช้บริโภคและใช้เป็นพืชบำรุงต้นให้แพร่หลายยิ่งขึ้น เพราะว่าจังหวัดแถบนี้มีแหล่งน้ำสำหรับปลูกถั่วเหลืองในฤดูแล้งหลังเก็บเกี่ยว หรือจะปลูกในฤดูฝนโดยใช้เป็นพืชหมุนเวียนกับพืชชนิดอื่น เช่น ปอ และข้าวโพดก็ได้ สำหรับภาคใต้ซึ่งมีฝนตกชุก การปลูกถั่วเหลืองเพื่อเก็บฝักแห้ง อาจจะมีปัญหาในระหว่างการเก็บเกี่ยวและการนวดบ้าง อย่างไรก็ตามโดยเหตุที่ถั่วเหลืองเป็นพืชที่มีราคาสูง และตลาดมีความมั่นคงกว่าพืชไร่อื่นๆ ประกอบกับสามารถใช้เป็นพืชบำรุงต้นได้ดี ฉะนั้น เกษตรกรควรจะให้ความสนใจปลูกให้กว้างขวางและแพร่หลายยิ่งขึ้น
ประโยชน์ของถั่วเหลือง
ถั่วเหลืองเป็นพืชที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์มาก เมล็ดถั่วเหลืองเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์มาก เมล็ดถั่วเหลืองมีโปรตีนสูงเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์ นำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น ฝักสดใช้ต้มรับประทานเป็นถั่วแระซึ่งมีขายกันทั่วไป ส่วนเมล็ดที่แก่แล้วใช้ทำถั่วงอก เต้าหู้ เต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว และทำนมถั่วเหลือง นอกจากนั้นยังสามารถนำมาสกัดเอาน้ำมัน สำหรับประกอบอาหารแทนน้ำมันสัตว์ได้ น้ำมัน ถั่วเหลืองใช้ในอุตสาหกรรมทำสบู่ ผ้าน้ำมัน หมึกพิมพ์ และอุตสาหกรรมยาประเภทปฏิชีวนะต่างๆ ส่วนเมล็ดที่อัดหรือสกัดเอาน้ำมันออกแล้ว ยังใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ดี ประ¬โยชน์ที่ได้จากการปลูกถั่วเหลือง นอกจากทำรายได้อย่างงามให้กับผู้ปลูกแล้ว ยังสามารถทำให้ดินมีความสมบูรณ์ดีขึ้น จากผลการศึกษาค้นคว้าพบว่าเมื่อปลูกถั่วเหลือง 1 ไร่ จะมีปุ๋ยไนโตรเจนตกค้างในดินในรูปของสารประกอบ ซึ่งรากพืชสามารถดูดเอาไปใช้ได้ประมาณ 50 ก.ก. ต่อไร่ ถ้าปลูกพืชชนิดอื่นหลังการปลูกถั่วเหลืองแล้ว จะทำให้พืชที่ปลูกตามมาเจริญงอกงามดี และให้ผลิตผลสูง กสิกรจึงนิยมปลูกถั่วเหลืองเป็นพืชสลับ หรือหมุนเวียนกับการปลูกข้าว ข้าวโพด ข้าว ฟ่าง ฝ้ายและปอ เป็นต้น
พันธุ์ของถั่วเหลือง
ถั่วเหลืองที่ใช้ปลูกกันในจังหวัดต่างๆ มีอยู่หลายพันธุ์ ซึ่งส่วนมากจะเป็นพันธุ์พื้นเมืองเรียกชื่อตามสถานที่ปลูกทางแถบนั้นๆ พันธุ์เหล่านี้ส่วนใหญ่ให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำมีเปอร์เซ็นต์และโปรตีนน้ำมันต่ำ ด้วยเหตุนี้ทางกรมวิชาการเกษตรจึงได้ทำการศึกษาและคัดเลือกพันธุ์ขึ้นมาใหม่ จนได้ พันธุ์ถั่วเหลืองที่ดีได้ผลผลิตสูง เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในด้านการบริโภคและอุตสาหกรรมน้ำมัน ซึ่งทางราชการกำลังส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปลูกอยู่ในขณะนี้ 2 พันธุ์ได้แก่ พันธุ์ สจ. 1 และพันธุ์ สจ. 2 พันธุ์ สจ. 1 สามารถเจริญเติบโตได้ดีและให้ผลผลิตสูงในฤดูฝน ถ้าปลูกในฤดูแล้งหลัง การเก็บเกี่ยวข้าว ฝักมักจะแตกง่ายเกินไป ทำให้ผลผลิตที่ได้ต่ำลง ส่วนพันธุ์ สจ. 2 ขึ้นได้ดีและให้ผลผลิตสูงในปลายฤดูฝนหรือฤดูแล้งหลังการเก็บเกี่ยวข้าว ทั้งสองพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ที่มีอายุสั้น ประมาณ 95-110 วัน ฉะนั้น เกษตรกรควรจะใช้พันธุ์เหล่านี้ปลูก โดยสั่งซื้อเมล็ดพันธุ์ได้จากกรมส่งเสริมการเกษฅร หรือสั่งจองผ่านทางเกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัดก็ได้
ฤดูปลูก
การปลูกถั่วเหลืองในประเทศไทยแบ่งออกได้เป็น 2 ฤดู
ก. ปลูกในฤดูแล้งหลังฤดูการทำนา
การปลูกถั่วเหลืองหลังฤดูการทำนา เป็นการปลูกในนาหลังจากได้ทำการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ส่วนใหญ่จะเริ่มปลูกเดือน ธ.ค. ถึงเดือน ม.ค. ถั่วจะเจริญงอกงามดีและให้ผลผลิตสูง ส่วนมากปลูกกันแถบ จ.ว. ภาคเหนือ เพราะสามารถใช้น้ำจากการชลประทานได้ดีกว่า จังหวัดอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ในที่ๆ มีน้ำเพียงพอก็สามารถปลูกถั่วเหลืองในฤดูแล้งได้ทุกแห่ง
ข. ปลูกในฤดูฝน
การปลูกถั่วเหลืองในฤดูฝน เป็นการปลูกบนที่ดอน ส่วนใหญ่จะเริ่มปลูกระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ค. ข้อสำคัญจะต้องกะให้ถั่วแก่เก็บเกี่ยวได้ในระยะฝนหมดพอดี จึงจะได้เมล็ดที่สวยงามเป็นที่ต้องการของตลาด ในบางท้องที่ เช่น จังหวัดสุโขทัย นิยมปลูกถั่วเหลืองในเดือน พ.ค. และในบางท้องที่นิยมปลูกถั่วเหลืองภายหลังการเก็บเกี่ยวข้าวโพดเสร็จแล้ว คือประมาณเดือนสิงหาคม แล้วไปเก็บเกี่ยวในเดือน พ.ย. หรือต้นเดือน ธ.ค.
การเตรียมดินปลูก
ตามปกติถั่วเหลืองชอบขึ้นในดินเกือบทุกชนิดที่มีการระบายน้ำได้ดี ตั้งแต่ดินร่วนทรายจนกระทั่งดินเหนียวที่มีความอุดมพอสมควร มีความเป็นกรดเป็นด่างพอประมาณ แต่ถั่วเหลืองจะไมเจริญเติบโตในดินที่เป็นเกลือ หรือดินเปรี้ยว (ดินที่เป็นกรดจัด) เช่น ในบางท้องที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในภาคกลางบางจังหวัด การเตรียมดิน
สำหรับปลูกถั่วเหลือง ก่อนอื่นควรถางหญ้าให้หมดเสียก่อน แล้วจึงลงมือขุดหรือไถดินให้ร่วน การไถควรจะไถให้ลึกประมาณ 15-20 ซม. ทำการพรวนและปรับระดับหน้าดินให้สม่ำเสมอ การปลูกถั่วเหลืองฤดูแล้งในเขตที่มีการชลประทานควรทำร่องระบายน้ำ เพื่อให้สามารถที่จะระบายน้ำเข้า ออกได้สะดวก
การปลูกถั่วเหลืองหลังฤดูการทำนา เมื่อเก็บข้าวเสร็จเรียบร้อย ตัดตอซังข้าวออกให้หมดโดยตัดให้ชิดกับดิน จากนั้นจึงเผาฟางที่ตัดออก แล้วหยอดเมล็ดถั่วเหลืองลงในตอซังกอละ 3-4 เมล็ด จากนั้นก็ใช้ขี้เถ้าจากการเผาตอซังหรือปุ๋ยคอกกลบกอข้าวกอละ 1 กำมือ เพื่อป้องกันมิให้นกหรือหนูมาทำลายเมล็ดที่หยอดไว้ แล้วระบายน้ำเข้าพอให้ดินเปียกชุ่มทิ้งไว้ประมาณ 5 วัน-1 อาทิตย์ ถั่วก็จะเริ่มงอกและหยั่งรากลงดิน ในกรณีที่ดินนาเป็นดินที่ค่อนข้างแข็งและเหนียว เกษตรกรควรจะไถดินให้ร่วยซุยก่อน แล้วทำแปลง กว้างประมาณแปลงละ 2-3 ม. เพื่อเป็นการสะดวกต่อการ ระบายน้ำเข้าออกตามที่กล่าวมาแล้ว จึงเริ่มหยอดเมล็ดตามหลุมที่เตรียมไว้ลึกประมาณ 2-3 ซม. ระยะระหว่างต้นประมาณ 20-25 ซม. และระหว่างแถวประมาณ 40-50 ซม.
ในการปลูกถั่วเหลืองในฤดูฝน พอฝนเริ่มตกควรจะเตรียมที่โดยการไถดะและไถแปรให้ลึกประมาณ 15-20 ซม. พรวนดิน 2-3 ครั้ง ถ้าดินเป็นกรดเกินไปควรใส่ปูนขาวลงไปด้วย ก่อนนำเมล็ดถั่วเหลืองไปปลูกควรตากดินไว้ประมาณ 3-4 อาทิตย์ เมล็ดถั่วเหลืองที่ใช้ปลูกควรใช้เมล็ดที่ใหม่ มี เปอร์เซ็นต์ความงอกสูง การปลูกมีหลายวิธี เช่น หว่าน โรยเมล็ดเป็นแถว แต่การปลูกถั่วเหลืองให้ได้ผลดี ควรปลูกแบบหยอกเมล็ดในหลุมที่เตรียมไว้ โดยมีระยะระหว่างแถว และระหว่างต้นพอเหมาะกับการเจริญเติบโตคือ 50×20 ซม. ปลูกหลุมละ 3-4 เมล็ด การปลูกถั่วเหลืองโดยทั่วไป จะใช้เมล็ดประมาณ 5 กก. ต่อพื้นที่ปลูก 1 ไร่
ในพื้นดินที่ยังไม่เคยปลูกถั่วเหลืองมาก่อน ควรจะคลุกเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองด้วยเชื้อแบคทีเรียก่อน แล้วจึงหยอดเมล็ดเพื่อให้ถั่วเหลืองเจริญเติบโตและให้ผลผลิตสูง
การบำรุงรักษา
1. การให้น้ำ ถั่วเหลืองที่ปลูกในฤดูแล้งต้องรดน้ำเข้าช่วย โดยจะให้น้ำประมาณ 7-10 วันต่อครั้ง และการให้น้ำควรให้น้ำ ไม่ควรให้น้ำขังแปลงนานเกินกว่า 1 วัน จะทำให้ถั่วเหลืองชงักการเจริญเติบโต
2. การพรวนดินและดายหญ้า ควรจะทำให้เพียงพอ เพื่อมิให้มีหญ้าขึ้นแย่งอาหารของต้นถั่วเหลือง และเป็นที่อาศัยของโรคและแมลงที่จะคอยทำลายต้นถั่วเหลือง นอกจากนี้ยังทำให้ดินร่วนซุย รากถั่วสามารถหาอาหารได้สะดวก ในการปลูกถั่วเหลืองครั้งหนึ่งๆ จะต้องทำการดายหญ้าพรวนดิน ประมาณ 2-3 ครั้ง จนกว่าถั่วเหลืองจะเริ่มออกดอกจึงค่อยหยุด เพราะในระยะที่ถั่วออกดอก ต้นถั่วจะแผ่กิ่งก้านสาขามากพอที่จะปกคลุม ดินป้องกันวัชพืชเจริญเติบโตไปในตัวแต่ต้องระวังอย่าทำการพรวนดินในขณะที่ฝนตก จะทำให้ต้นหักง่าย ปัจจุบันเกษตรกรเริ่มใช้ยาปราบวัชพืชสำหรับกำจัดหญ้าในแปลงถั่วเหลืองแล้ว เนื่องจากค่าแรงงานในการพรวน ดินดายหญ้า มีราคาแพงขึ้น
3. การป้องกันกำจัดโรคและแมลง การปลูกถั่วเหลืองให้ได้ผลผลิตสูง เกษตรกรจะต้องดูแลเอาใจใส่มิให้มีโรค และแมลงรบกวน โรคและแมลงที่เป็นศัตรูของถั่วเหลืองมีหลายชนิด
การใช้ปุ๋ยสำหรับถั่วเหลือง
ในที่ดินอุดมสมบูรณ์แล้ว เมื่อใส่ปุ๋ยลงไปอาจทำให้ถั่วเหลืองเฝือไปได้ และเป็นการเพิ่มต้นทุนผลิตโดยไม่จำเป็น แต่ในที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำจะต้องใช้ปุ๋ยช่วย สมควรให้ปุ๋ยถูกต้องกับความต้องการของถั่วเหลืองด้วย สำหรับดินในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นดินที่ได้ทำการเกษตรกรรมมา นาน ปริมาณอาหารธาตุในดินนั้นย่อมลดน้อยลง โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสฟอรัสนั้นมักจะขาด ส่วนโปแตสเซียม จะมีเพียงพอ แต่ถ้าดินขาดธาตุโปแตสเซียมแล้ว ถั่วเหลืองจะมีอาการตอบสนองต่อปุ๋ยได้ง่าย โดยเฉพาะในดินทราย หรือร่วนปนทราย พบว่าในดินที่ขาด
ธาตุโปรแตสเซียม ผลิตผลของถั่วเหลืองจะลดลงมาก ถ้ามีโปแตสเซี่ยมช่วยแล้ว ผลิตผลของถั่วเหลืองจะดีขึ้น และน้ำมันในเมล็ดจะเพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากความอุดมสมบูรณ์ของต้นแล้ว ปฏิกิริยาความเป็นกรดหรือเป็นด่างของดินก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อความเจริญเติบโตของถั่วเหลือง และประสิทธิภาพของการใช้ปุ๋ย ถั่วเหลืองเจริญเติบโตได้ดี ในดินที่มีความเป็นกรดและความเป็นด่างประมาณ 5.5-7.0 (pH 5.5-7.0)
สูตรปุ๋ยที่ใช้สำหรับถั่วเหลือง
ดินทรายร่วน หรือดินร่วนปนทราย ควรใช้ปุ๋ยสูตร 15 15 15 หรอ 14 14 14 หรือ 13 13 13 ที่มีขายอยูในท้องตลาด ในปริมาณ 25 กก. ผสมโปแตสเซี่ยมคลอไรด์ 5-10 กิโลกรัม ต่อไร่
ดินร่วนหรือดินเหนียว ควรใช้ปุ๋ยสูตร 12-24-12 จำนวน 25 กิโลกรัมต่อไร่ หรืออาจใช้ปุ๋ยผสมสูตร 16-20-0 จำนวน 25 กิโลกรัม ต่อไร่ก็ได้ ถ้าเป็นดินเหนียว
วิธีการใส่ปุ๋ย
ควรใส่ทั้งหมดก่อนปลูก โดยวิธีหว่านลงไปในเนื้อที่ให้ทั่วและสม่ำเสมอ แล้วพรวนหรือคลาดกลบก่อนปลูก 1 วัน หรือจะใส่หลังจากที่ถั่วเหลืองมีอายุประมาณ 3-4 อาทิตย์ ครั้งเดียวก็ได้ โดยหว่านปุ๋ยลงระหว่างแถวถั่วเหลือง แล้วใช้จอบพรวนดินรอบๆ ต้นถั่วเหลือง เพื่อให้ปุ๋ยกลบลงอยู่ใต้ดิน เป็นโอกาสที่รากถั่วเหลืองสามารถจะดูดเอาไปใช้ได้
เชื้อแบคทีเรียสำหรับคลุกเมล็ดพันธุ์
เป็นปัญหาสำคัญของถั่วเหลืองในแถบที่ไม่เคยปลูกถั่วเหลืองมาก่อน คือ ที่ๆ บุกเบิกทำการปลูกใหม่ๆ ก็คือ แบคทีเรียในดิน ซึ่งจะทำให้เกิดปมในรากถั่วเหลือง และถั่วเหลืองจะได้รับไนโตรเจนในรูปของไนเตรทที่ แบคทีเรียตรึงได้จากอากาศ ซึ่งจะทำให้ถั่วเหลืองเจริญงอกงามและออกดอกผลได้ดี ซึ่งแบคทีเรียที่อาศัยในรากของถั่วเหลืองนี้ จะไม่ไปอาศัยในรากของถั่วอื่นๆ และในทำนองเดียวกันแบคทีเรียที่อาศัยในรากอื่นๆ ก็ไม่สามารถจะเข้ามาเจริญในรากของถั่วเหลืองได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นถ้าเกษตรกรปลูกถั่วเหลืองเป็นครั้งแรก ในแปลงหนึ่งก็ควรมีการคลุกเชื้อแบคทีเรียโดยการใช้เชื้อแบคทีเรียบริสุทธิ์ ซึ่งมีบริการจ่ายและจำหน่ายที่กรมวิชาการเกษตรและสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ บางเขน จากนั้น จึงนำเมล็ดที่คลุกเชื้อแล้วไปปลูก
การป้องกันและกำจัดศัตรูของถั่วเหลือง
ก. โรคต่างๆ ที่สำคัญของถั่วเหลืองได้แก่
1. โรคลำต้นเน่า
สาเหตุของโรค เกิดจากเชื้อราซึ่งอาศัยอยู่ในดินและอยู่ตามเศษพืชในไร่ เกิดในระยะอากาศเย็นๆ ทำให้ถั่วเหลือง ล้มเสียหายตายก่อนที่จะออกดอก
ลักษณะอาการ ต้นถั่วเหลืองที่เป็นโรคเมื่อผ่าดูจะพบว่าไส้กลวงเป็นสีน้ำตาล เริ่มเป็นจากส่วนล่างของลำต้น หรือส่วนลำต้นที่อยู่ต่ำกว่าผิวดินก่อน และจะลุกลามช้าๆ ไปยังส่วนบน อาการภายนอกเห็นได้น้อยมากในระยะแรก บางครั้ง ใบล่างจะไหม้ ติดตามด้วยรอยด่างระหว่างใบแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ภายหลังจะกลายเป็นแผลแห้งตาย ต่อไปจะเหี่ยว หมดทั้งใบ มองดูในไร่จะเห็นเป็นสีน้ำตาล ระยะที่เป็นโรครุนแรง ลำต้นจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ทำให้ต้นอ่อนแอและล้มตายไปในที่สุด
2. โรครากและโคนเน่า
สาเหตุของโรค เกิดจากเชื้อรา
ลักษณะอาการ ผิวนอกของรากและโคนต้นอ่อนของถั่วเหลืองจะเน่าเป็นสีน้ำตาลแดง ครั้งแรกต้นถั่วเหลืองจะเหี่ยวแล้วตาย มองเห็นไกลหลายๆ ฟุต และจะกระจายสม่ำเสมอในไร่ โรคนี้มักทำลายระยะเริ่มปลูก ขณะที่มีอากาศเย็นและชื้
การป้องกันและกำจัด ปลูกหมุนเวียนกับข้าวโพดหรือข้าวฟ่าง เพื่อป้องกันเชื้อราอาศัยอยู่ในเศษพืชในดิน
3. โรคไบลท์ของลำต้นและฝักและโรคแคงเกอร์ลำต้น
สาเหตุของโรค เกิดจากเชื้อรา
ลักษณะอาการ ปรากฏรอยแผลลึกสีน้ำตาลตามลำต้น และมักเกิดที่โคนของกิ่งหรือก้านใบใกล้กับผิวดิน โรคนี้เกิดกับผักได้ และอาจอยู่ข้ามฤดูบนลำต้นที่เป็นโรคหรือติดกับเมล็ด
โรคไบลท์มักทำลายพืชระยะจวนแก่ จึงไม่เสียหายมากนัก ส่วนโรคแคงเคอร์ของลำต้นทำลายพืชในระยะฝนตกชุก บางครั้งอาจทำความเสียหายถึง 30%
การป้องกันกำจัด โดยการปลูกพืชหมุนเวียน และ ไถพรวน กลบเศษพืชลงไปในดินให้ลึกหลังจากเก็บเกี่ยว
4. โรคบัดไบลท์
สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งติดมาในเมล็ด มีแมลง เป็นพาหะ
ลักษณะอาการ ครังแรกพบกับพืชที่ยังอ่อนอยู่ ส่วนยอดสุดของลำต้นจะมีสีเหลืองและม้วนลง ส่วนยอดจะแห้งและเปราะ ในที่อยู่ใต้ยอดจะมีจุดด่างสีน้ำตาลแดง พืชที่เป็นโรค จะแคระแกรนไม่มีเมล็ด ถ้าเป็นระยะหลังอาจจะไม่มีฝักหรือมีฝักก็ไม่สมบูรณ์ฝักลีบและร่วงก่อนแก่ หรือมีจุดสีม่วงและยังคงติดอยู่กับลำต้น จะพบว่าจะเป็นตามขอบไร่ก่อนแล้วขยาย เข้าไปในไร่ โรคนี้ติดต่อโดยเมล็ดและโดยการสัมผัส พืชตระกูลถั่วเป็นพืชอาศัยของไวรัส ถั่วเหลืองที่ปลูกอยู่ใกล้ๆจะเสียหายหนัก
การป้องกันกำจัด ถอนเผาทำลายต้นที่เป็นโรคทันทีที่พบ ไม่ควรปลูกถั่วเหลืองใกล้พืชตระกูลถั่วอื่น ใช้เมล็ดจากแหล่งที่ไม่มีโรคระบาด
5. โรคโมเสดของถั่วเหลือง
สาเหตุของโรค เกิดจากเชื้อไวรัส
ลักษณะอาการ ต้นแคระแกรน ระยะแรกใบจะหด ลักษณะย่นเป็นสัน ขอบในม้วนลงและเล็กแคบผิดปกติลักษณะอาการเหมือนกับผล จากการใช้ยาปราบวัชพืช ทู โพ-ดี ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้นใบจะแสดงอาการน้อยลง
การป้องกันกำจัดเชื้อไวรัสติดมาในเมล็ดจึงควรทำลายพืชที่เป็นโรคให้หมด และควรใช้เมล็ดจากแหล่งที่ไม่มีโรคทำพันธุ์
6. โรคราสนิมเหล็ก
สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อรา ลักษณะอาการ จากการสังเกตุจะเห็นจุดสีน้ำตาลแดง เล็กๆ จำนวนมากอยู่ตามใบล่าง และระบาดขึ้นมาส่วนบนของใบขนาดจะโตขึ้นเมื่อเป็นโรคมากๆ ใบจะร่วงก่อนแก่ ฝักติดเมล็ดมีขนาดเล็กผิดปกติหรืออาจลีบไม่มีเมล็ด
การป้องกันกำจัด ใช้พันธุ์ที่มีความต้านทานโรค และปลูกถั่วเหลืองในระยะปลายฤดูฝน หรือในฤดูแล้งที่มีการชลประทาน ป้องกันกำจัดด้วยยาไดเธน เอ็ม 22 (Dithane M-22) หรือไซเนบ (Zineb) อัตรา 30 กรัม ต่อมา 10 ลิตร และทำลายเศษพืชหลังเก็บเกี่ยวให้หมด โดยการเผา
7. โรคตากบ
สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา
ลักษณะอาการ ส่วนมากเกิดกับใบแก่เป็นกับต้นและเมล็ดได้ เกิดบนใบเป็นจุดสีเทา น้ำตาลหรือค่อนข้างขาวอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยขอบแคบๆ สีน้ำตาลแดง ใบที่เป็น โรคมากจะร่วงก่อนแก่ ทำให้ผลผลิตของเมล็ดและใบลดลง เชื้อราติดมาในเมล็ด ลำต้นและฝักจะเป็นโรคตอนหลัง เมื่อพืชแก่เปลือกรอบเมล็ดมีสีเทาน้ำตาล ใบและต้นถั่วเหลืองที่เป็นโรคเมื่อทิ้งไว้ในไร่หลังจากเก็บเกี่ยว จะเป็นแหล่งเพาะ โรคในฤดูต่อไป
การป้องกันกำจัด ใช้พันธุ์ ที่มีอายุสั้นและเน่าเร็ว เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นโรค การคลุกเมล็ดด้วยสารเคมีก่อนปลูก ไม่สามารถป้องกันกำจัดโรคนี้ได้ และควรใช้พันธุ์ที่ต้านทานโรค และไม่ปลูกในแหล่งที่มีโรคระบาดมาก่อน และควรจะปลูกพืชหมุนเวียน
8. โรคราน้ำค้าง
สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา เกิดได้ทั่วๆ ไปในแหล่งที่ปลูกมีอากาศค่อนข้างเย็น ผลเสียหายเกิดขึ้นได้ทั้งใบและเมล็ด
ลักษณะอาการ ขั้นแรกจะเห็นเป็นจุดขนาดเล็กสีเขียวอ่อนทางด้านบนของใบ ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเทาน้ำตาลหรือเป็นแผลน้ำตาลดำ ล้อมรอบด้วยขอบสีค่อนข้างเหลืองปนเขียว ใต้ใบมีกลุ่มของเส้นใยสีเทาอ่อนและสีเทา-ม่วง โรคนี้เกิดกับฝักได้ ภายในฝักและเมล็ดจะห่อหุ้มอย่างแน่นหนาด้วยเชื้อรา สีเทาอ่อน เมล็ดถั่วเหลืองเหล่านี้เมื่อนำไปปลูกจะเป็นโรคได้อีก
การป้องกันกำจัด ควรใช้พันธุ์ ที่ต้านทานโรคและคลุกเมล็ดด้วยสารเคมีก่อนปลูก
ข. แมลงที่เป็นศัตรูสำคัญของถั่วเหลือง ได้แก่
1. หนอนม้วนใบ หนอนชนิดนี้ทำให้ในถั่วเหลือง ม้วนเข้าหากันและกัดกินอยู่ภายใน จะเริ่มระบาดตั้งแต่ต้นถั่วอ่อนจนแก่เป็นฝักแล้ว ตัวหนอนมีสีเขียว หัวสีดำหรือน้ำตาล ตัวยาวประมาณ 1 นิ้ว ป้องกันโดยหมั่นตรวจดูไร่เสมอๆ หากพบก็กำจัดด้วยฟอสดริน เซริน หรือมาลาไธออนจำนวน 1 ½  ช้อน ถึง 2 ช้อนสังกะสีผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก ๆ 10 วัน จนกว่าหนอนจะหมด
2. หนอนผีเสื้อกัดกินใบถั่วเหลือง หนอนชนิดนี้ จะกัดกินใบยอดอ่อน ดอกและฝักอ่อนด้วย มักจะทำลายในเวลาเช้า-เย็นและเวลากลางคืน เวลากลางวันจะหลบอยู่โคนต้นหรือดินชื้นๆ เท่าที่พบมี 2 ชนิด คือชนิดลำตัวสีเขียวอ่อน มีลวดลายเป็นแถบสีน้ำตาล อีกชนิดหนึ่งมีขนาดโตกว่าชนิด แรก ตัวแก่วางไข่ไว้เป็นกลุ่มๆ บนใบถั่ว มีขนละเอียดสีน้ำตาลคลุมไว้ ฟักออกเป็นตัวแล้วจะแยกย้ายกันกัดส่วนต่างๆ ของต้นถั่วต่อไป
การป้องกันกำจัด ใช้เซริน 28% ประมาณ 3 ช้อนแกง ผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นตอนเช้าหรือตอนเย็น 16-15 วัน ต่อครึ่งจนกว่าหนอนจะหมด
3. ตั๊กแตน ทำลายโดยกัดกินต้นอ่อน ใบ และ ยอดทำให้เสียหาย ป้องกันโดยใช้ยาดีลดริน 2 ช้อนแกงผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 10 วัน
4. เพลี้ยอ่อน มักดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อน กิ่งอ่อนของถั่ว ป้องกันโดยใช้มาลาไธออน เซริน หรือฟอสริน ประมาณ 2 ช้อน ผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ถูกตัวเพลี้ยเว้นระยะ 10 วันต่อครั้ง
5. มวนถั่วเหลือง ทำลายโดยเจาะดูดกินน้ำเลี้ยง จากใบ ลำต้นและฝักอ่อน ฝักอ่อนเมื่อถูกมวนดูดกินจะลีบ ที่พบมากมี 2 ชนิดคือ ชนิดตัวยาวแถบสีน้ำตาลและชนิดตัวป้อมปีกสีเขียว ทั้งสองชนิดนี้จะระบาดพร้อมกัน การป้องกัน โดยเซรินดีลดริน 50% ชนิดผงผสมน้ำโดยใช้ยา 1 ช้อนแกง ผสมน้ำ 20 ลิตรหรือเซริน 85% ชนิดผง ผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่ว เว้นระยะ 10 วันต่อครั้งจนกว่ามวนจะหมดไป
6. หนอนเจาะฝัก ซึ่งเป็นหนอนชนิดเดียวกันกับหนอนที่เจาะข้าวโพด หรือหนอนเจาะสมอฝ้าย วิธีป้องกัน และกำจัดก็คือ จะต้องหมั่นตรวจไร่อยู่เสมอ เมื่อพบตัวอ่อนของหนอนชนิดนี้จะต้องรีบพ่นยาทันที อย่าปล่อยทิ้งไว้ให้หนอนโต เพราะมีความต้านทานต่อยาสูง ยาที่ใช้กำจัดหนอนชนิดนี้ได้ผลดีคือ ยาสปาโนน (คลอดิมิฟอม) 50% อี.ซี. อัตรา 150 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ไร่ละ 300 ซี.ซี. และยาท๊อกซาพิน ดี.ดี.ที. ผสมกับยาเมทธิลพาราไธออน ไร่ละ 250 ซี.ซี. ผสมน้ำ 1 ปี๊บฉีดพ่น และยาอโซดรินสูตร 15/20 ไร่ละ 250 ซี.ซี. ผสมน้ำ 1 ปี๊บฉีดพ่น
การเก็บเกี่ยวถั่วเหลือง
ต้องเก็บเกี่ยวในระยะที่เมล็ดในฝักแก่เต็มที่แล้ว การเก็บเกี่ยวแตกต่างกันไปตามฤดูกาล คือ ฤดูเก็บเกี่ยวได้เมื่อถั่วเหลืองอายุได้ 95-110 วัน ถ้าปลูกในฤดูแล้งหรือปลายฤดูฝน เก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 90-25 วัน การเก็บเกี่ยวใบฤดูฝนและฤดูแล้งแตกต่างกันมาก เพราะฤดูแล้งนวดถั่วได้ง่าย ส่วนฤดูฝน ในเดือนสิงหาคม ซึ่งยิ่งมีฝนตกหนักอยู่จึงมักประสบกับปัญหา การตากและการนวดยาก ทำให้เมล็ดถั่วเหลืองขึ้นราและเสียหายได้ง่าย แต่ถ้าปลูกถั่วเหลืองปลายฤดูและสามารถเก็บเกี่ยวได้ในราวเดือนพฤศจิกายน หรือธันวาคม ควรเก็บเกี่ยวเมื่อใบเหลืองเริ่มร่วงประมาณ 2 ใน 3 ของต้นและมักเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลถ้าเก็บเกี่ยวในระยะที่ฝนตกชุกการนำไปผึ่งแดดให้ฝักและเมล็ดแห้งนั้นทำได้ยาก จึงควรเก็บเกี่ยวต้นถั่วเมื่อแก่เต็มที่แล้ว โดยสังเกตได้จากใบจะเหลืองหมดทั้งต้นและร่วงหมด สีของฝักจะเปลี่ยนจากเขียวเป็นเหลืองและสีน้ำตาล นำเอาถั่วที่เกี่ยวแล้วมาแขวนบนราวเชือก หรือลวดเส้นโตๆ ไว้ในร่ม เอาโกนขึ้นด้านบน โดยใช้แขนล่างสุดเกี่ยวกับเชือกหรือลวดเพื่อผึ่งลมไว้
การนวด ควรนวดหลังจากเก็บฝักมาผึ่งแดดไว้ประมาณ 3-4 แดด เพื่อให้ฝักแห้งและสะดวกในการนวด โดย วิธีดังนี้
1. การนวดด้วยเครื่องจักร เป็นการนวดที่มีประสิทธิภาพสูง ทำได้รวดเร็ว และสิ้นเปลืองเวลาน้อย
2. นวดโดยการใช้ไม้ฟาดให้เมล็ดร่วงออกจากฝักเสียก่อน จากนั้นก็กวาดเอาลำต้นและเปลือกฝักออกเสียก่อน จากนั้นก็นำเมล็ดไปทำความสะอาดเสร็จแล้วนำเมล็ดไปผึ่งแดดเอาไว้จนแห้งสนิท แล้วจึงไปจำหน่ายและทำพันธุ์ต่อไป
3. นวดโดยใช้รถแทรกเตอร์ วิธีนวดเช่นเดียวกับการนวดข้าว แต่ไม่นิยมใช้วัวหรือควายนวด เพราะต้นถั่วแข็งและแหลมคม กีบของวัว-ควายจะได้รับอันตรายได้ง่าย และการนวดด้วยรถแทรกเตอร์จะทำให้เมล็ดแตกเสียหายได้ง่าย ไม่เหมาะจะนำไปใช้ทำพันธุ์
รายได้จากการปลูกถั่วเหลือง
การปลูกถั่วเหลือง จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ไม่แพ้พืชชนิดอื่นๆ เนื่องจากถั่วเหลืองเป็นพืชอายุสั้น และให้ประโยชน์ในการบำรุงดิน ได้ดี เมล็ดถั่วเหลืองสามารถนำมาทำอาหารเลี้ยงครอบครัวได้หลายชนิด เช่น ใช้ทำถั่วเน่า ซีอิ๊ว เต้าหู้ เต้าเจี้ยว และนมถั่วเหลือง เป็นต้น จึงควรที่เกษตรกรทุกคนหันมาปลูกถั่วเหลืองกันมากขึ้น