สาบเสือ

สาบเสือ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ยูพาทอเรี่ยม โอดอราทุ๊ม (liupatoriumodoratum, Linn ) อยู่ในตระกูล คอมโพซิตี้ (compositae) สาบเสือบางท้องถิ่นเรียกชื่อต่างๆ กัน ภาคเหนือเรียกว่า หญ้าเมืองวาย, สุโขทัยเรียก หญ้าดอกขาว, หนองคายเรียก หญ้าลืมเมือง, อิสานเรียก หญ้าเมืองอ้าง หรือหญ้าเหม็น, ตราดเรียก หญ้าฝรั่งเศส และจีน เรียกว่า ปวยกีเช่า หรือเฮียงเจกลั้ง ที่เรียกชื่อไปต่างๆ กันต่างก็มีเหตุผลและความหมายในชื่อ ต่างๆ ที่เรียกตามลักษณะต่างๆ ของตน เนื่องจากสาบเสือเป็นพืชล้มลุกสูงประมาณ ๓- ๕ ฟุต เป็นพืชขึ้นง่ายทุกฤดู ขยายพันธุ์ได้เร็วมากด้วยเมล็ดที่ตกลงบนพื้นดิน ใบออกตรงข้าม ทั้งใบ และก้านใบมีขนปกคลุม ขอบใบหยัก ปลายใบแหลม ทั้งก้านใบและใบจะมีกลิ่นหอมแรง ใช้ฆ่าแมลง ขยี้ปิดแผลห้ามเลือด หรือตำผสมกับปูนพอกแผลห้ามเลือดได้ดีเนื่องจากภายในใบมีสารฝาดสมาน (tannin), กรดอะนิซิค (Anisic acid) และอัลกอฮอล (Trihvdric alcohol), น้ำตาล และฟลาโวนอยด์ไกลโคซายด์ (Flavonoid glycosides) และพบว่า น้ำต้มจากใบและต้นสาบเสือกระตุ้นการทำงานและควบคุมการหดตัวของลำไส้ของ สัตว์ทดลอง หนูตะเภาและกระต่าย และมีผลต่อมดลูกของกระต่าย แต่มีพิษ ดอกเป็นช่อกระจุกสีขาวม่วง กลีบดอกเป็นหลอดปลายกลีบแยกออก ๕ กลีบ ผลเล็กมีห้าเหลี่ยม ออกดอกตลอดปี ออกมากในฤดูหนาว เก็บใบและต้นทำยาในฤดูร้อน ต้นสาบเสือขึ้นได้ทั่วไปตามที่รกร้างทั่วไป เจริญงอกงามรวดเร็ว ดังชื่อที่เรียกว่าหญ้าเมืองวาย หมายความว่าถ้าต้นสาบเสือไปขึ้นที่ไหนจะงอกงามเร็วมาก ชาวจีนเรียกว่าหญ้าเครื่องบิน เนื่องจากเมล็ดมีขนช่วยพยุงให้ลอยไปตกได้ไกลมาก

สรุปสรรพคุณ

ต้น ใบ และ ก้านใบ มีกลิ่นหอมแรง ใช้เป็นยาฆ่าแมลงได้ แต่ถ้านำมาทำให้เจือจางอาจเป็นหัวน้ำหอมได้ดี

ภายในต้นและใบมีสารที่ช่วยห้ามเลือด

นํ้าต้มจากต้นและใบสาบเสือ ช่วยกระตุ้นการทำงานและควบคุมการหดตัวของลำไส้ ของสัตว์ทดลอง และมีผลต่อมดลูกของสัตว์ทดลอง