สาเหตุที่ทำให้ปลาเป็นโรค

โรคพยาธิและการป้องกันรักษา

โรคของปลาเกิดขึ้นได้ทั้งในแหล่งนํ้าธรรมชาติและปลาที่เลี้ยงในบ่อ การเกิดโรคและพยาธิย่อมมีสาเหตุมาจากปัจจัยหนึ่งหรือหลายปัจจัย เมื่อปลาที่เลี้ยงเป็นโรคและพยาธิแล้วถ้าคุณสมบัติของน้ำเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมโทรมมากขึ้น อาการของโรคก็เพิ่มทวียิ่งขึ้นและถึงตายในที่สุด

น้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิตของปลา ถ้าคุณสมบัติของน้ำเสื่อมโทรมลงอันเกิดจากการขาดออกซิเจน มีปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 20 ppm. แก๊สแอมโมเนีย ไนไตรท์ และไฮโดรเจนซัลไฟด์สูง เหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ปลาเกิดความเครียดและถึงตายในที่สุดได้ ดังนั้นการป้องกันโรคและพยาธิจึงทำได้ง่ายโดยรักษาคุณสมบัติของน้ำในบ่อที่เลี้ยงปลาให้มีสภาพดีอยู่เสมอ การใช้ยาและสารเคมีในการรักษาปลาในระดับความเข้มข้นที่สามารถทำลายโรคและพยาธิให้ตายได้ ย่อมมีผลกระทบต่อปลาไม่มากก็น้อย จึงควรนำมาใช้เป็นวิธีสุดท้าย

สาเหตุที่ทำให้ปลาเป็นโรค

การทราบสาเหตุแห่งการก่อให้เกิดโรคและพยาธิ ย่อมเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งสามารถจะได้รับการแก้ไข หรือทำลาย สาเหตุดังกล่าวก่อนที่จะสายเกินไป โดยสรุปแล้วปลาที่เป็นโรค และพยาธิมีสาเหตุต่างๆ ดังนี้

1. นำลูกปลาติดโรค-พยาธิ มาเลี้ยง โดยไม่ได้กำจัดโรค และพยาธิเสียก่อน

2. เลี้ยงปลาหนาแน่นเกินไป

3. ให้อาหารมากเกินไปจนปลากินไม่หมด และมีเศษเหลือตกค้างสะสมในบ่อและเกิดเน่าบูดเป็นพิษต่อปลา

4. ให้อาหารน้อยเกินไปจนไม่พอกิน ทำให้ปลาที่เลี้ยงอ่อนแอ และขาดความด้านทานต่อเชื้อโรค

5. น้ำมีคุณภาพเสื่อมโทรมลงและเมื่อถ่ายเทเปลี่ยนน้ำ บางครั้งเชื้อโรคก็อาจติดตามเข้ามาในบ่อเลี้ยงปลาด้วย

6. ใช้เครื่องมือจับปลา เช่น สวิง กระชอน และภาชนะลำเลียงปลาที่มีเชื้อโรคและพยาธิ จึงทำให้เกิดปนเปื้อนและแพร่เชื้อโรค โดยเฉพาะในถังหรือบ่ออนุบาลลูกปลา

7. คุณภาพของอาหารต่ำหรือไม่สด ในกรณีใช้ปลาเป็ดเลี้ยงปลาดุก

8. การใช้เครื่องมือ เช่น อวน แห สวิง กระชอน คัดจับปลาขาดความประณีต ซึ่งทำให้เกล็ดหลุดหรือถลอกหรือเกิดบาดแผลแก่ปลา เชื้อโรคก็เข้าทำการได้สะดวก

อาการของปลาที่เป็นโรค

อาการของปลาที่เลี้ยงเป็นโรคและพยาธิ สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าพร้อมๆ กับอาการต่อเนื่องได้ไม่ยากนัก คือ

1. ถ้าเป็นปลาจำพวกไม่มีเกล็ด สีของผิว ลำตัวจะซีดหรือคล้ำลงจากสีของปลาชนิดนั้น ตามธรรมชาติ

2. ปลาจะว่ายน้ำแตกฝูง แสดงอาการอ่อนเพลียหรือลอยหัว

3. ซี่เหงือกจะมีสีซีดหรือมีจุดขาว

4. มีราเกาะตามตัว หนวด และครีบ

5. กกหูจะบวมหรือมีบาดแผล (ปลาดุก)

6. ลำตัวมีบาดแผล ท้องบวม และมีน้ำเหลืองในช่องท้อง

7. ครีบเน่าและกร่อน

8. มีจุดสีแดงหรือขาวประทั่วลำตัว

9. เบื่ออาหาร ลำตัวซูบผอม

10. ตาโปน

เมื่อพบว่าปลาที่เลี้ยงในบ่อมีอาการของโรคดังกล่าว หรือลอยอืดขึ้นมาตายเพียง 1-2 ตัว จึงรีบตักน้ำขึ้นมา และคอยสังเกตว่ามีปลาตายหรือมีอาการของโรคดังกล่าวอีกหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ถ้าเป็นการตายเพียงสัปดาห์ละ 1-2 ตัว หรือเดือนละ 2-3 ตัว แต่ปลาส่วนใหญ่ยังกินอาหารดีและแข็งแรงก็ไม่ต้องวิตกกังวล เพราะถือว่าเป็นการตายตามธรรมดาของปลาที่ไม่แข็งแรงและเป็นโรคเฉพาะตัว ซึ่งไม่ติดต่อกับปลาตัวอื่นๆ

ชนิดของโรคและพยาธิ

โรคและพยาธิที่เกิดขึ้นแก่ปลาที่เลี้ยงมีหลายชนิด ส่วนมากมองไม่เห็นด้วยตาเปล่ายกเว้น รา (fungi) ซึ่งมีสีขาวอยูเป็นกลุ่มบริเวณบาดแผล โรคที่สำคัญและทำความเสียหายให้แก่ผู้เลี้ยงปลามีไม่มากนัก แต่ถ้าปลาเป็นโรคที่ไม่รุนแรงและมีพยาธิสมทบด้วยก็จะทำให้ปลาตายได้เช่นเดียวกัน โรคของปลาอาจจะสรุปเป็นกลุ่มได้ ดังนี้

1. โรคอันเกิดจากแบคทีเรีย (Bacterial diseases) ได้แก่ Aeromonas hydrophila, Fiavo- bacterium sp. และ Vibrio sp เป็นต้น

2. โรคเกิดจากรา (Fungal infection diseases) ได้แก่ Saprolegnia sp.

3. โรคอันเกิดจากวิสา (Viral diseases) เช่น โรคลิมโฟซิสตัส

สำหรับพยาธิ (Parasites) แบ่งออกได้ ดังนี้

1. พยาธิอันเกิดจากโปรโตซัว (Protozoan diseases) ที่สำคัญ ได้แก่ Trichodina sp.,Ichthyopthirius sp. (white spot diseases), Oodinium sp., Costia sp. และ Henneguya sp.

2. พยาธิอันเกิดจากเทรมาโทด (Monogenetic trematodes) ได้แก่ Gyrodactylus sp., Dactylogyrus sp. และ Ancyrocepha/us sp. เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีโรคซึ่งไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค แต่เนื่องจากคุณสมบัติของน้ำเช่น โรคฟองอากาศ (gas bubble disease) จะเกิดขึ้นแก่ลูกปลาวัยอ่อนอายุประมาณ 10 วัน เช่น ปลาสวาย โดยมีอากาศเกิดขึ้นในช่องท้อง ลูกปลาจะเสียการทรงตัวและตาย ที่ไม่ตายก็มีโอกาสติดเชื้อโรคได้

โดยปกติปลาที่เลี้ยงในบ่อดิน ถ้าอัตราส่วนที่ปล่อยลงเลี้ยงพอเหมาะและให้อาหารที่มีคุณภาพดีและคุณสมบัติของน้ำไม่เสื่อมโทรมก็จะไม่มีเชื้อโรคบังเกิดขึ้น ส่วนลูกปลาที่เลี้ยงในบ่ออนุบาลหรือในโรงเพาะฟักซึ่งมีอัตราความหนาแน่นสูง มักจะเป็นโรคหรือติดเชื้อโรคระบาดโดยรวดเร็ว ทำความเสียหายให้แก่ผู้เลี้ยงเป็นอันมาก ดังนั้น เมื่อปลาที่เลี้ยงเป็นโรคหรือมีพยาธิให้ดำเนินการโดยใช้สารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังต่อไปนี้

โรคติดเชื้อภายนอกและพยาธิภายนอก

กรดน้ำส้ม 1 : 500 แช่ปลานาน 1-2 นาที

ฟอร์มาลินเข้มข้น 35-40 ppm.  แช่ปลาตลอดไป ควรเช่ในน้ำในช่วงที่มีอุณหภูมิ และคุณสมบัติปกติ

ดิพเทอเร็กซ์เข้มข้น 0.25-0.30 ppm.  แช่ปลานาน 12 ชม. ควรแช่ในขณะที่มีอุณหภูมิและคุณสมบัติปกติ

ยาเหลืองเข้มข้น 1-2 ppm.  แช่ปลาตลอดไป ควรใช้ภายในโรงเรือน น้ำมี pH ประมาณ 7.6 โดยปรับด้วยสารกั้นกลาง

ด่างทับทิมเข้มข้น 2-4 ppm.  แช่ปลาตลอดไป ควรใช้ภายในโรงเรือนที่กันแดดได้

เกลืองแกง 1-1.5%  แช่ปลานาน 20 นาที

จุนสี 0.25 ppm.  แช่ปลาตลอดไป

สารเคมีที่ใช้ง่ายและได้ผลดีที่สุดคือ ฟอร์มาลิน เพราะสามารถกำจัดพยาธิจำพวกโปรโตซัวโดยทั่วไป เช่น Trichodina, Costia ซึ่งพบมากในบ่ออนุบาล ควรปฏิบัติทุกวันติดต่อกันประมาณ 3 วัน ถ้าปลายังไม่หายจากโรคควรเปลี่ยนมาใช้ดิพเทอเร็กซ์ซึ่งสามารถจำกัดพยาธิจำพวกหนอนเทรมาโทด หลังจากการใช้ยาดังกล่าวแล้วควรใช้เตตราไซคลิน (Tetracycline) หรือยาเหลืองผสมเมททีลินบลู เจือจาง จะป้องกันแบคทีเรียและเชื้อรา ทำให้ปลาฟื้นตัวเร็วขึ้น

ส่วนโรค Ich. หรือโรคจุดขาว มักจะเกิดแก่ลูกปลาในช่วงอนุบาลเช่นเดียวกัน โดยลูกปลาจะมีจุดขาวเกิดขึ้นตามตัว ครีบ และเหงือกมีเมือกหลุดออกมา ปลามีอาการเฉื่อยชาและตายในที่สุด สำหรับตัวพยาธิซึ่งเป็นโปรโตซัวเต็มวัยจะฝังตัวอยู่ในผิวหนังและดูดเลือดปลาเป็นอาหาร การกำจัดทำได้โดยใช้ฟอร์มาลิน 35 มิลลิลิตรต่อน้ำที่ใช้เลี้ยงปลา 1 ลูกบาศก์เมตร ร่วมกับมาลาไคท์กรีน (malachite green 0.1 กรัม/ลูกบาศก์เมตร แช่ตลอดไป

สำหรับโรคของปลาที่เลี้ยงในบ่อดินที่เป็นโรคระบาด และทำความเสียหายให้แก่ปลามาก โดยเฉพาะปลาดุกอาการของปลาที่เป็นโรคจะสังเกตได้จากส่วนท้องของปลามีลักษณะบวมอย่างชัดเจน นอกจากนี้อาจมีบาดแผลตามข้างตัว โรคนี้เกิดจากแบคทีเรีย Aeromonas hydrophila การรักษาทำได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะผสมกับอาหารในอัตราประมาณ 500 มก. ต่ออาหารที่ใช้เลี้ยงปลา 1 กก. และใช้เกลือแกงในบ่อปลาอัตรา 1% คุณภาพ

โรคติดเชื้อภายในและพยาธิภายใน

ใช้ยาปฏิชีวนะในน้ำหรือแช่อาหารให้ปลากิน การใช้ยาปฏิชีวนะละลายในน้ำ ใช้ยาหนัก 10 มก. ในน้ำ 1,000-2,000 ลบ.ซม. ถ้าผสมในอาหารใช้ยาน้ำหนัก 2-3 กรัม/อาหาร 1 กก. (ใช้ เฉพาะการเลี้ยงปลาดุก) ซึ่งเลี้ยงด้วยอัตราความหนาแน่นมาก อาหารที่เลี้ยงมีโปรตีนสูง น้ำเน่าเสียง่าย จึงมีเชื้อโรคมากกว่าการเลี้ยงปลาชนิดอื่นๆ

ยาปฏิชีวนะเป็นสารที่สกัดได้จากเชื้อจุลินทรีย์ (micro-organism) หลายชนิดทั้งแบคทีเรียและเชื้อรา สามารถไปยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคหรือทำให้เชื้อโรคนั้นๆ ตายได้ ส่วนใหญ่

ใช้ได้กับแบคทีเรียและราที่เกิดโรคในปลา ส่วนเชื้อวิสายังใช้ไม่ได้ผลนัก

ยาปฏิชีวนะที่ใช้กันอยู่ได้จากการสังเคราะห์เป็นส่วนใหญ่ การใช้ยาไม่ถูกต้องเช่น น้อยเกินไปอาจทำให้โรคนั้นไม่หายและเชื้ออาจจะดื้อยา ทำให้เกิดปัญหาตกทอดเนื่องจากเชื้ออาจถ่ายทอดภาวะการดื้อยาต่อไป ทำให้การรักษายุ่งยากขึ้นแต่ถ้าใช้ยามากเกินไปและต่อเนื่อง จะทำให้เกิดอันตรายกับปลาถึงตายจำนวนมากได้

ยาปฏิชีวนะสามารถกำจัดเชื้อโรคได้ แต่ยาตัวเดียวไม่สามารถกำจัดโรคได้หลายชนิด ยาตัวหนึ่งสามารถฆ่าเชื้อโรคได้บางชนิดเท่านั้น ทั้งนี้เพราะกลไกการออกฤทธิ์ไม่เหมือนกันกล่าวคือ มีทั้งออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค และออกฤทธิ์ไปยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย

ยาที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคเมื่อเชื้อโรคสัมผัสยาก็ตาย เช่น ยาเพนนิซิลิน (Penicillin) ยั้งการสร้างผนังของแบคทีเรีย เมื่อแบคทีเรียไม่มีผนังหุ้มก็ตาย

ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียโดยการไปยับยั้งการสร้างโปรตีน หรือสารจำเป็นบางชนิดในตัวแบคทีเรีย เมื่อจำนวนแบคทีเรียไม่เพิ่มมากขึ้น ปลาก็ค่อยๆ ใช้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายกำจัดออกไปได้ เช่น คลอแรมฟินิคอล (Chloramphenical) เตตราไซคลิน (Tetracycline) และซัลฟา (Sulfa) เป็นต้น

ยาปฏิชีวนะที่ผู้เลี้ยงปลาใช้กันแพร่หลาย แต่ไม่ทราบวิธีใช้ที่ถูกต้อง ได้แก่

กลุ่มที่ 1

เพนิซิลลิน (Penicillin) ใช้สำหรับโรคติดเชื้อเกิดจากแบคทีเรียแกรมบวก (Gram + bacteria) ห้ามใช้ร่วมกับเตตราไซคลิน คลอแรม อีริโธรมัยซิน พาโมมัยซิน กานามัยซิน นิโอมัยซิน และสเตรปโตมัยซิน เพราะยาพวกนี้จะไปหยุดการเติบโตของเชื้อ แต่เพนิซิลลินจะฆ่าได้เฉพาะเชื้อที่กำลังเติบโตเท่านั้น

แอมพิซิลลิน (Ampicillin) ใช้ได้ผลกับเชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella) ที่ติดมากับอาหาร

เซฟาโลสปอริน (Cephalosporin) ได้จากเชื้อรา ฤทธิ์สูงกว่าเพนิซิลลิน

กลุ่มที่ 2

เตตราไซคลิน (Tetracycline) เป็นยาไปยับยั้งการสร้างโปรตีนของเชื้อแบคทีเรีย ถ้าใช้อัตราสูงอาจฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ ยาชนิดนี้มีการดูดซึมทางระบบทางเดินอาหารได้ดี แล้วกระจายไปทั่วร่างกาย ขับถ่ายออกทางยูรีน (urine) เป็นพิษต่อตับและไต แม่พันธุ์ปลาไม่ควรให้ยาชนิดนี้ เพราะจะมีผลต่อไข่และลูกปลาให้อ่อนแอลงและพิการ การใช้ยาชนิดนี้นานๆ ทำให้แบคทีเรียทำหน้าที่ผลิตเอนไซม์ และวิตามินในระบบย่อยถูกทำลาย เชื้อราอาจเข้าแทรกได้ อาหารปลาที่มีธาตุแคลเซียม (Ca) และธาตุเหล็ก(Fe) สูง ยานี้จะไปจับธาตุทั้งสองก่อให้เกิดสารประกอบเชิงซ้อนมีผลให้การดูดซึมของยาลดลง การใช้ยาชนิดนี้ควรผสมในอาหาร

กลุ่มที่ 3

คลอแรมฟินิคอล (Chloramphenicol) เป็นยาที่มิขอบเขตการฆ่าเชื้อกว้าง ไม่ยับยั้งการสร้างโปรตีนของเชื้อ และไปยับยั้งการสร้างโปรตีนของไขกระดูกที่สร้างเม็ดเลือด การหย่อนสมรรถภาพของไขกระดูก การสร้างเม็ดเลือดแดงจะน้อยลง ทำให้ปลาเป็นโรคโลหิตจาง เซลล์เม็ดเลือดแดงเหลือจำนวนน้อย การนำออกซิเจนไปเลี้ยงในเนื้อเยื่อก็น้อยลงตามกัน ทำให้ปลาอ่อนแอ กินอาหารได้น้อย และทำให้ปลาเจริญเติบโตช้าหรือแคระแกรน ไม่ควรใช้กับลูกปลา ถ้าจำเป็นต้องใช้ควรผสมวิตามินบี1 และบี 12 ในอาหารให้ปลากิน

ไนโตรฟูราโซน (Nitrofurazone) เป็นยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างโปรตีนของเชื้อได้สูงกว่าคลอแรมฟินิคอล หากใช้บ่อยๆ และในอัตราสูงอาจทำให้ฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงแตกได้ แล้วไหลออกสู่ภายนอกทางทวาร (anal vent)

กลุ่มที่ 4

อะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycosides) ได้แก่ สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) กานามัยซิน (Kanamycin) และนีโอมัยซิน (Neomycin) การใช้ยาพวกนี้นานๆ จะทำให้ปลาเสียการทรงตัว ห้ามใช้นีโอมัยซิน กานามัยซิน และสเตรปโตมัยซินรวมกัน และห้ามใช้นิโอมัยซินร่วมกับเพนิซิลลิน

กลุ่มที่ 5

อีริโธรมัยซิน (Erythromycin) เป็นยาใช้แทนเพนิซิลลิน แต่ห้ามใช้ร่วมกับเพนิซิลลิน เพราะจะทำให้ไม่ได้ผลในการรักษา

ยาปฏิชีวนะทั้งหลายเหล่านี้ บางชนิดถ้าใส่อาหารในอัตราที่เหมาะจะส่งเสริมการเจริญเติบโตของปลา แต่ถ้าใช้ในข่ายของการป้องกันและรักษา ก่อให้เกิดอันตรายแก่ปลาอย่างยิ่ง ควรได้ ปรึกษาหมอปลาอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ในขณะที่ใช้ยาหรือใช้สารเคมี ผู้ใช้ควรกระทำด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายกับผู้ใช้ไม่มากก็น้อยด้วย ดังเช่นการใช้ฟอร์มาลิน และดิพเทอเร็กซ์ เป็นต้น

การป้องกันและกำจัด

ก่อนอื่นใคร่ขอให้ข้อเสนอแนะในทางปฎิบัติ เมื่อนำลูกปลาจากแหล่งผลิตอื่นเข้ามาเลี้ยงในฟาร์ม โดยเฉพาะพันธุ์ปลาดุก ควรดำเนินการเป็นขั้นตอน ดังนี้

1. พักปลาที่นำเข้ามาถึงฟาร์มนั้นไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง โดยนำปลาที่บรรจุในถุงพลาสติก อัดออกซิเจนแช่ในบ่อที่ต้องการปล่อยปลา ให้อุณหภูมิเปลี่ยนกลับเข้าหากันไม่สูงกว่า 1 องศาเซลเซียส 10 นาที

2. ล้างตัวปลา (อาบ) ด้วยน้ำในบ่อที่จะปล่อยปลาโดยใช้ภาชนะและกระชอนในเวลาเดียวกัน ถ้าน้ำภายในถุงพลาสติกกับน้ำในบ่อที่จะปล่อยปลามี pH ต่างกัน ควรดำเนินการปรับ pH มีการเปลี่ยนแปลงสูง 1 หน่วย/ชั่วโมง

3. แช่ลูกปลาในน้ำยาฟอร์มาลินเข้มข้น 20-50 ppm. (ฟอร์มาลิน) ประกอบด้วยแก๊ส ฟอร์มอลดีไฮด์ 37% ในน้ำ/น้ำยาเททานอล ถ้าใช้ฟอร์มาลินแล้วเกิดตะกอนสีขาว (พาราฟอร์มอลดีไฮด์)ไม่ควรใช้ เพราะพาราฟอร์มอลดีไฮด์เป็นพิษกับปลา หรือในน้ำยาดิพเทอเร็กซ์เข้มข้น 0.25 ppm. เป็นเวลานาน 1 ชั่วโมง หรือ 3 ชั่วโมง ตามลำดับ

4. นำลูกปลาผ่านหรือจุ่มยาเหลืองที่มีความเข้มข้น 3 ppm. เป็นเวลานาน 1 นาที

(5) ปล่อยลูกปลาลงในบ่อที่กำหนดนั้น

ภายหลังปล่อยปลาไปแล้วเป็นเวลา 6 ชั่วโมง เริ่มให้อาหารปลาที่มีคุณภาพละเอียดอ่อน ย่อยง่าย โดยเริ่มให้แต่น้อยๆ ก่อนค่อยเพิ่มปริมาณอาหารให้มากขึ้นในมื้อที่ 2 และ 3 ตามลำดับ

ข้อควรจำที่ใคร่จะให้ไว้เพื่อเตือนใจก็คือ ก่อนโยกย้ายปลาไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง หลังปล่อยปลาแล้วไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง ให้งดการให้อาหาร ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าวทำให้ปลาเกิดความเครียด จะมีการปล่อยสเตอรอยช์ (แอดรีนาลิน) ออกจากเส้นเลือด ทำให้มีปฏิกิริยาเกิดขึ้น ในช่วงแรกของปฏิกิริยานี้จะทำให้กระเพาะและลำไส้ปิดตัน ถ้าในกระเพาะและลำไส้มีอาหารตกค้างจะทำให้เกิดไฮเปอโมทิลิตี้แล้วจะทำให้มีอาการท้องร่วงตามมา หลังจากท้องร่วงจะมีเมือกที่คุ้มกันกระเพาะ-ลำไส้ไหลออกมาด้วย การสูญเสียเมือกคุ้มกันมิผลให้แบคทีเรียเข้าเกาะทำอันตรายระบบทางเดินอาหาร และระหว่างที่ปลาผ่อนคลายความเครียดอยู่นั้น ปลาจะไม่กินอาหาร หรือถ้ากินจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ปลาถึงตายได้