สิ่งที่ควรทราบในการเพาะเห็ดฟางแบบอุตสาหกรรม

1.  ความสามารถในการกินอาหาร เห็ดฟางตามธรรมชาติเป็นเห็ดที่ขึ้น ตามกองปุ๋ยหมักที่ถูกย่อยสลายแล้ว ที่เป็นดังนี้เพราะเห็ดพวกนี้ไม่สามารถย่อยเซลลูโลส รวมทั้งธาตุอาหารบางอย่าง เช่น โปรตีนที่อยู่ในวัสดุต่าง ๆ ซึ่งส่วนมากอยู่ในรูปที่เห็ดฟางนำไปใช้ไม่ได้ จึงจำเป็นต้องอาศัยจุลินทรีย์ช่วยย่อยให้กลายเป็นอาหารของเห็ดเสียก่อน และเชื้อจุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยอาหารหากตายลง เชื้อเห็ดที่สามารถกินเชื้อเหล่านั้นเป็นอาหารได้อีก

2. การเจริญเติบโตของเส้นใยเห็ด แบ่งออกเป็น 3 ระยะคือ

ระยะที่ 1 คือระยะการเจริญเติบโตของเส้นใยไปทางด้านความยาว ระยะนี้เส้นใยของเห็ดจะมีการแบ่งตัว และกินอาหารในปุ๋ยหมัก เส้นใยจะกินอาหาร ที่จุลินทรีย์ย่อยพร้อมทั้งซากของจุลินทรีย์ด้วย ระยะนี้คือ ระยะที่เส้นใยเห็ดกำลังเดินในอาหารต่าง ๆ หรือถ้าเป็นการเพาะเห็ดก็คือ ระยะวันที่ 1-3 นับตั้งแต่เริ่มโรยเชื้อเห็ด ลักษณะเชื้อเห็ดจะมีเส้นใยเป็นสีขาว ฟู คล้ายปุยฝ้าย

ระยะที่ 2 คือระยะที่เส้นใยเดินเต็มอาหารแล้ว หรือถ้าเป็นการเพาะก็คือ วันที่ 4-6 นับแต่โรยเชื้อเห็ด ระยะนี้เส้นใยจะชงักการเจริญเติบโตทางด้านความยาว โดยเปลี่ยนเป็นการสะสมอาหารเพื่อเตรียมที่จะรวมตัวกันเป็นดอก ดังนั้นจึงทำให้ผนังเส้นใยเห็ดหนาขึ้น มองดูจะเป็นสีทึบ หรือสีน้ำตาลอ่อน และเส้นใยจะยุบตัวลง

ระยะที่ 3 คือระยะที่เส้นใยมารวมตัวกันเป็นดอกเห็ด หลังจากที่เส้นใย ยุบตัวและเปลี่ยนสีประมาณ 2-3 วัน เส้นใยเหล่านี้จะรวมตัวกันเป็นดอกเห็ดและก็เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

3. การต้องการอุณหภูมิ มีความสำคัญมากต่อระยะต่าง ๆ ของการเจริญ เติบโต กล่าวคือ

ระยะที่ 1 เป็นระยะที่ต้องการอุณหภูมิสูงอยู่ระหว่าง 34-38 องศาเซลเซียส เพราะความร้อนจะกระตุ้นให้เส้นใยของเห็ดแบ่งตัวและเจริญทางด้านความยาวอย่างรวดเร็ว หากเป็นฤดูหนาว อุณหภูมิประมาณ 30-34 องศาเซลเซียสก็ใช้ได้ ระยะนี้จำเป็นต้องทำการควบคุมอุณหภูมิอย่าให้สูงหรือตํ่ากว่านี้ ถ้าอุณหภูมิสูงเกินไป ให้ระบายอากาศ แต่ถ้าต่ำเกินไปให้ทำการอบไอน้ำเข้าไป

โดยปกติอุณหภูมิขนาดนี้ มักได้จากความร้อนระอุที่มีอยู่ในปุ๋ยอยู่แล้ว และได้จากการคายพลังงานออกมาในรูปความร้อน ขณะที่เส้นใยเจริญเติบโต และย่อยอาหาร

ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ต้องการอุณหภูมิต่ำกว่าระยะแรก 4-6 องศา เซลเซียส หรือประมาณ 28- 32 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิสูงกว่านี้เส้นใยจะ ไม่ยอมหยุดการเจริญเติบโตทางความยาว มักจะฟูขึ้นมาบนปุ๋ยหมัก แล้วจะไม่เกิดดอก หรือแม้จะเกิดดอกก็จะไม่สมบูรณ์

4. การต้องการอากาศ (ออกซิเจน) ตลอดการเจริญเติบโตของเส้นใย เห็ดจนกระทั่งถึงเกิดดอก เส้นใยเห็ดต้องการอากาศตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระยะการเจริญเติบโตของเส้นใย และระยะมีดอกเห็ด

ระยะที่ 1 เส้นใยเห็ดต้องการอากาศสูงมาก ระยะนี้ควรจะให้อากาศมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอากาศหมุนเวียน (ใช้พัดลมที่ทำสำหรับการเพาะเห็ดฟางโดยเฉพาะ) ให้อากาศภายนอกเข้าไปทุกชั่วโมง ประมาณชั่วโมงละ 2 นาที ในเวลากลางวัน แต่ควรระวังเรื่องอุณหภูมิ เพราะระยะแรกถ้าเบาอากาศเข้ามากเกินไป อุณหภูมิภายในห้องจะลดลง

ระยะที่ 2-3 คือระยะที่เส้นใยเห็ดรวมตัวกันเพื่อเกิดดอก ระยะนี้ต้องการ อากาศน้อย จากการทดลองพบว่า ภายในวันที่ 5 – 6 หลังจากโรยเชื้อเห็ดลงไป แล้วหากไม่ทำให้อากาศภายในเคลื่อนไหวแล้ว เส้นใยเห็ดจะรวมตัวกัน เพื่อจะเกิดดอกเห็ดเร็วยิ่งขึ้น เพราะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งได้จากการหายใจของเส้นใยเห็ดอยู่ภายในปุ๋ยสูงกว่าปกติ จะช่วยกระตุ้นให้เส้นใยรวมตัวกันเป็นดอกบริเวณผิวมากและเร็วยิ่งขึ้น ถ้าเส้นใยรวมกันเป็นดอกมากพอสมควรแล้ว ควรให้อากาศเข้าไปมาก ๆ และบ่อย ๆ จะเป็นการทำให้อุณหภูมิภายในโรงเรือนไม่สูงมากจนเกินไป

5. การต้องการความชื้น เช่นเดียวกับความต้องการอากาศ กล่าวคือ ทุกขั้นตอนของการเจริญเติบโตของเส้นใยจนกระทั่งออกดอก ความชื้นสัมพัทธ์ภายในห้องไม่ควรต่ำกว่าร้อยละ 85 หรือระหว่างร้อยละ 90-95 ค่าของความชื้นดูจากเครื่องวัดความชื้นที่เรียกว่าตุ้มแห้งตุ้มเปียก (ตุ้มเปียกอุณหภูมิจะต้องต่ำกว่าเสมอ) โดยอ่านค่าจากผลต่างที่ได้จากค่าของตุ้มแห้งลบด้วยค่าของตุ้มเปียก แล้วนำไปเทียบกับตารางในเครื่องวัด โดยถืออุณหภูมิของตุ้มเปียกเป็นเกณฑ์ ให้อ่านค่าตรงจุดตัดกันของอุณหภูมิตุ้มเปียกกับผลต่างซึ่งลากมาตามแนวตั้ง เช่น ตุ้มแห้งอ่านได้ 32 องศาเซลเซียส ตุ้มเปียกอ่านได้ 30 องศาเซลเซียส ผลต่างคือ 32 – 30 มีค่าเท่ากับ 2 เอาไปเทียบตามตารางเลขที่ 30 ในช่วงของผลต่างเลข 2 (อยู่ตามแนวตั้ง) ผลที่ได้ คือค่าของความชื้นสัมพัทธ์ภายในห้อง

6. การต้องการแสงสว่าง

ระยะที่ 1 แสงจะไม่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเส้นใย ถ้าอยู่ในห้องมืดยิ่งดี เพราะแสงสว่างจะทำให้เส้นใยเห็ดเดินช้าลง หรือชะงัก

ระยะที่ 2 จะต้องมีแสงสว่างบ้าง เพราะแสงสว่างจะช่วยให้เส้นใย รวมตัวกันเป็นดอกเห็ด ดังนั้นในระยะที่มีการสะสมอาหารควรให้มีแสงสว่างเข้าไปบ้าง ความเข้มของแสงขนาดดูหนังสือเห็น หรือใช้แสงจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ 2 หลอด เปิดไว้ที่หัวท่ายของโรงเรือนก็พอ

ระยะที่ 3 เมื่อเกิดดอกเห็ดแล้ว ควรปิดแสงสว่างเสีย เพราะแสงจะทำให้ดอกเห็ดเป็นสีดำ

7. ความเป็นกรดด่าง เชื้อเห็ดจะเจริญได้ดี ในปุ๋ยหมักที่มีฤทธิ์เป็นกรด เล็กน้อย และจะออกดอกได้ดีเมื่อมีฤทธิ์เป็นด่างเล็กน้อย ค่าของกรดด่างที่พอเหมาะ คือระหว่าง 6.5-7.8

8. การอัดตัวของปุ๋ยหมัก เนื่องจากเส้นใยเห็ดเจริญเติบโตเร็วมาก ดังนั้น เส้นใยจะชอนไชไปทุกส่วนที่มีอาหารและสภาพความเป็นกรด-ด่าง ตลอดจนอากาศ และอุณหภูมิเหมาะสม ด้วยเหตุนี้ปุ๋ยหมักที่วางบนชั้นควรตีให้ละเอียด และวางไว้แบบหลวม ๆ