อายุขัยของกุหลาบ

หลายเล่มมาแล้วผมเคยเขียนเรื่อง “ข้อควรพิจารณาในการเริ่มทำสวนกุหลาบตัดดอก” ส่งมาในนามของกลุ่มผู้ปลูกกุหลาบเชียงใหม่  ด้วยเจตนาจะเตือนคนที่คิดจะกระโดยลงมาทำสวนกุหลาบตัดดอก ให้พิจารณาทุกแง่มุมโดยถี่ด้วนเสียก่อน เพื่อจะได้ไม่เอาเงินมากทิ้งลงดินเสียเปล่า ๆ แต่หลังจากเรื่องนั้นได้แจกจ่ายออกไปให้บรรดาผู้สนใจและตีพิมพ์ในเคหการเกษตรแล้วก็ยังมีผู้ที่ใจถึงที่ไม่เคยปลูกกุหลาบจริงจังมาก่อน ลงมือปลูกกันเป็นหมื่นหลายหมื่น หรือวางเป้าไว้เป็นแสนต้นก็มี  โดยไม่ทราบว่าได้อ่านเรื่องที่ผมเขียนหรือไม่

วารสารไม้ดอกของต่างประเทศฉบับหนึ่งไม่นานมานี้ มีบทความน่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่าบรรดาผู้ที่เป็นเจ้าของเนอร์สเซอรี่ที่ประสบความสำเร็จทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นงานของเขาตั้งแต่ทำเป็นงานอดิเรกในสวนหลังบ้าน เมื่อเรียนรู้อะไร ๆ และมีประสบการณ์พอแล้วจึงขยายกิจการ ลาออกจากงานประจำมาทำเต็มเวลา และคนทำเนอร์สเซอรี่จะไม่กู้เงินเขามาทำ หรือถ้ากู้มาก็กู้ระยะสั้นแล้วรีบใช้คืนโดยเร็วที่สุด เขาไม่ให้อรรถาธิบายในรายละเอียดมากกว่านั้น  แต่ก็คงพอจะจับเค้าได้ว่า การปลูกต้นไม้เป็นอาชีพนั้นไม่ใช่ของง่าย ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์นานพอสมควร  ดังนั้นจึงเริ่มใหญ่ไม่ได้  เหตุผลที่เขาไม่ได้บอกไว้ซึ่งผมมาทบทวนดูแล้ว คิดว่าคงเป็นเพราะการปลูกต้นไม้โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้ดอกเราต้องอาศัยธรรมชาติอย่างมาก ในขณะที่ธรรมชาติเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงรวนเรอยู่ตลอดเวลา ทำให้ไม่อาจคาดหมายอะไรได้  นอกจากนั้นการควบคุมธรรมชาติหรือการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับต้นไม้แต่ละชนิดก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก หรือถ้าทำได้ก็ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูง การทำเนอร์สเซอรี่หรือการทำสวนจึงมีความเสี่ยงมากในด้านการผลิต ไม่เหมือนการผลิตทางอุตสาหกรรม

ที่ว่าประสบความสำเร็จนั้นจะดูกันเมื่อไหร่จึงจะถือว่าสำเร็จ อาจารย์ทางด้านไม้ดอกระดับหัวหน้าภาควิชาท่านหนึ่งบอกผมว่า ในความเห็นของท่าน คนที่ทำสวนไม้ดอกที่จะถือว่าประสบความสำเร็จนั้นควรจะตลอดรอดฝั่งมาได้ตลอด 10 ปีเสียก่อน ฟังดูแล้วทำให้รู้สึกว่าคนที่อยู่ในวงการนี้ “ขู่” คนที่อยากจะเข้ามาร่วมเสียจริง ๆ อย่างไรก็ตาม คงจะพอมองเห็นได้แล้วว่าก่อนที่จะตัดสินใจเข้ามาร่วมวงปลูกกุหลาบตัดดอกเป็นอาชีพ ควรจะหาเคหการเกษตรฉบับที่มีเรื่องที่ผมกล่าวข้างต้นมาอ่านหรือไม่

ในบทความนั้นมีอยู่หัวข้อหนึ่งที่ผมอยากจะเอามาพูดให้ละเอียดในคราวนี้ ผมเขียนไว้ว่าอายุของกุหลาบตัดดอกในบ้านเราจะอยู่ได้ประมาณ 5-6 ปี ซึ่งก็เป็นความเชื่อของบรรดาผู้ที่ทำอาชีพกุหลาบตัดดอกที่เชียงใหม่ ในขณะนั้นซึ่งเพิ่งจะเริ่มทำกันจริงจัง อันที่จริงก็เป็นความประมาทอย่างหนึ่งที่พยากรณ์ชีวิตกุหลาบ  โดยไม่มีข้อมูลอะไรสนับสนุน เพียงแต่รู้ว่าของต่างประเทศเขาให้ 7 ปี ของเราตัดดอกกันตลอดปี โดยไม่มีเวลาพักต้น ก็เลยคิดว่าสัก 5 ปีน่าจะไปได้

แต่แล้วพอ 3 ปีผ่านไป กุหลาบก็เริ่มทรุดโทรมให้เห็นไล่กันเป็นสวน ๆ ไป สวนที่เคยเป็นแชมป์ก็ลงจากแท่น สวนใหม่ขึ้นไปแทน สวนของผมก็หนีไม่พ้น ที่เคหการเกษตรเคยเอาไปลงว่าเป็นสวนกุหลาบ “เต็งหนึ่ง” เมื่อไม่นานนี้เอง เดี๋ยวนี้ก็ต้องจัดอยู่ในสวนประเภท “ทรุดโทรม” กุหลาบบางแปลงอายุยังไม่ครบ 3 ปีด้วยซ้ำ เดี๋ยวนี้ก็ไม่ผลิตดอกมาตั้งแต่ปลายฤดูหนาวที่แล้วบางพันธุ์เพิ่งจะมาฟื้นเอาตอนจวนจะหมดหนาวอยู่แล้ว ที่ขุดออกทิ้งไปแล้วก็มี ที่ให้โอกาสจนถึงวาเลนไทน์ที่จะถึงก็อีกหลายแปลง กุหลาบที่ทำอะไรให้ก็เฉยลูกเดียว ไม่ยินดียินร้าย มีทางเดียวคือขู่มันว่าจะขุดทิ้ง  ถ้ามันไม่ดีขึ้นก็ขุดเผาไฟได้เลย  อย่าขุดขึ้นมาเอาไปขายใครเขาต่อไปให้เป็นบาปเป็นกรรม

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นให้เห็นชัดเจนในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาก็คือกุหลาบตัดดอกปีแรกและปีที่สองจะงามมาก งามจนเจ้าของใจพองโตคิดว่าเรามีฝีมือในเรื่องกุหบาบแน่นอนแล้วทำให้เกิดอาการที่ทางเมืองเหนือเขาเรียกว่า “ย่ามใจ” ถ้าทุกอย่างเป็นไปด้วยดีพอสมควร กุหลาบปีที่ 3 ก็จะยังดีอยู่ แต่ก็ไม่เสมอไปกับทุกคนหรือกับกุหลาบทุกพันธุ์ ย่างอายุเข้าปีที่ 4 ความชราก็เริ่มแสดงอาการให้เห็นจะทำอะไรให้มัน มันก็ไม่สนองตอบดอกที่เคยตัดได้วันละ 500 ดอกจะหาสัก 200 ดอกก็ทั้งยาก รายได้ที่เคยทำให้ใจพองก็หดลง กุหลาบที่เคยส่งดอกเข้าประกวดได้เหรียญได้รางวัลก้หาที่คุณภาพได้ระดับอย่างนั้นไม่ได้สักดอก คนปลูกก็ใจแฟบลง ๆ

เมื่อเป็น่เช่นนี้จะทำอย่างไร ขุดทิ้งนั้นง่ายกว่าตอนปลูก แต่ถึงเสียดายก็เอาไว้ไม่ได้  ทีนี้เมื่อขุดทิ้งแล้วจะทำอย่างไรต่อไป เพราะเป็นที่เชื่อกันว่ากุหลาบปลูกซ้ำที่เดิมแล้วจะไม่งาม การจะย้ายสวนไปทำที่ใหม่ไม่ใช่เรื่องสนุก ที่ดินในเชียงใหม่ทุกวันนี้ไม่ว่าที่ไหน ไม่ใช่ที่ดินสำหรับทำการเกษตร แต่สำหรับสร้างรีสอร์ททั้งนั้น  ดังนั้นจึงเหลืออยู่ทางเดียวคือปักหลักอยู่ที่เดิมนั่นแหละ ทางออกเวลานี้ก็มีอยู่ 2 วิธี วิธีแรกคือเอาช่องทางเดินเก่ามาทำเป็นแปลงปลูกใหม่ โดยเชื่อกันกันว่าดินตรงทางเดินนั้นคงจะยังมีธาตุอาหารต่าง ๆ อยู่ครบถ้วนพอสมควร แม้ว่ากุหลาบอาจจะส่งรากออกไปหาอาหารในบริเวณนั้นอยู่บ้าง แต่ก็คงไม่มากนัก อีกวิธีหนึ่งก็คือ เมื่อขุดต้นเก่าออกแล้วก็ทิ้งแปลงให้ว่างเสียระยะหนึ่งเป็นการพักดิน  ซึ่งถ้าจะให้ดีก็ควรพักสัก 1 ปี  ระหว่างนั้นก็ปลูกพืชที่บำรุงดิน เช่นถั่วเขียว แล้วสับกลบลงไปตอนที่กำลังออกดอก ซึ่งของผมก็ใช้วิธีนี้ ทิ้งไว้จนต้นถั่วเขียวผุ (ประมาณ 2 เดือน) ก็ผสมดินในแปลงใหม่ทิ้งไว้ระยะหนึ่งแล้วจึงปลูกต้นใหม่ ช่วงเวลาสำหรับขั้นตอนต่าง ๆ ที่กล่าว ควรดูให้เหมาะกับฤดูกาล เตรียมต้นพันธุ์และการนำต้นใหม่ลงปลูก ผมลงมือทำไปได้สองสามแปลงแล้ว ขณะนี้อายุได้ประมาณ 4 เดือนก็ดูงามดี แต่จะด่วนสรุปผลว่าวิธีนี้แก้ปัญหาได้เพียงไรคงจะต้องรออีกอย่างน้อย 2 ปี ก็คงเข้าไปมกราคม 2541 โน่นจึงจะพูดได้

ถ้าวิธีนี้สำเร็จการทำสวนกุหลาบตัดดอกที่จะให้มีแปลงกุหลาบที่กำลังผลิตดอกตัดขายได้ 2 แปลงก็จะต้องมีพื้นที่ไว้สำหรับ 4 แปลงโดยจัดดังนี้

แปลงที่ 1  ต้นใหม่เพิ่งปลูก ยังไม่ได้ตัดดอกจนกว่าอายุไม่ต่ำกว่า 8 เดือน

แปลงที่ 2  ต้นกำลังตัดดอก

แปลงที่ 3  ต้นกำลังตัดดอก

แปลงที่ 4  ขุดต้นเก่าออก พักดิน ปลูกถั่ว ปรุงดินใหม่

การทำดังนี้ก็เท่ากับมีพื้นที่ซึ่งไม่ได้ทำรายได้เสียครึ่งสวน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น ตราบใดที่ยังหาวิธียืดอายุกุหลาบตัดดอกออกไปให้ยาวกว่า 3 ปีไม่ได้

ผมต้องการจะเน้นเรื่องอายุของกุหลาบ  เพราะมันเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่จะต้องพิจารณาในการทำสวนกุหลาบตัดดอก ซึ่งมีความหมายไปถึงความคุ้มในการลง และการวางแผนเตรียมการปลูกใหม่ทดแทน  เพื่อไม่ให้มีช่วงที่สวนต้องขาดรายได้

เคยทราบว่ากุหลาบในยุโรปบางต้นมีอายุเป็นร้อนปี กุหลาบที่สวนผมขณะนี้บางต้นก็อายุกว่า 10 ปี และยังไม่มีทีท่าว่าจะตาย แต่กุหลาบอายุยืนพวกนีเป็นกุหลาบที่เรียกว่ากุหลาบประดับสวน (garden variety)ซึ่งโดยธรรมชาติของมันแข็งแรง ทนทานต่อโรค และประการสำคัญไม่ออกดอกดกมากเหมือนกับกุหลาบตัดดอกต้นจึงไม่โทรมง่าย คำถามที่ควรจะต้องหาคำตอบให้ได้สำหรับคนทำกุหลาบตัดดอกเป็นอาชีพก็คือ ทำไมกุหลาบตัดดอกปลูกในบ้านเราอายุจึงสั้นเหลือเกิน  จากประสบการณ์ของผมคิดว่าน่าจะมาจากเหตุหลายประการประกอบกันคือ

1.  เราควบคุมโรคและแมลงไม่อยู่ สำหรับแมลงนั้นไรแดงดูเหมือนจะน่ากลัวที่สุด  แต่ก่อนเกาะอยู่ใต้ใบกลัวน้ำ กลัวฝน เดี๋ยวนี้ไม่กลัวอะไรทั้งสิ้น หน้าฝนยังขึ้นไปเดินตากฝนอยู่บนดอกด้วยซ้ำ  ไรแดงทำให้ใบเสีย ต้นขาดอาหารและอ่อนแอ การปราบก็ยากเพราะดื้อยาเร็วที่สุด พ่นยาก็ต้องถี่ถ้วนให้ยาเข้าถึงใต้ใบให้ได้สำหรับเพลี้ยไฟก็ทำลายใบเหมือนกันแต่ความเสียหายหนักไปลงที่ดอก ส่วนหนอนและแมลงปีกแข็งจะทำความเสียหายเฉพาะจุด

ในบรรดาโรคของกุหลาบคงไม่มีอะไรร้ายแรงเท่าโรคราน้ำค้างซึ่งเกิดในฤดูหนาว เมื่อก่อนเจอเฉพาะกุหลาบบนดอย แต่เดี๋ยวนี้ทุกแห่งในเชียงใหม่จะมีโอกาสเป็นราน้ำค้างเหมือนกันหมด สำหรับโรคใบจุดสีดำนั้นนอกจากในฤดูฝนแล้ว ยังแพร่ได้เกือบทุกฤดู

สรุปแล้ว จากความรุนแรงของโรคบวกกับการดื้อสารของแมลงและโรค ทำให้ต้นกุหลาบมีใบแข็งแรงและสมบูรณ์ได้ปีละไม่กี่เดือน ชาวสวนไม่สามารถรักษาใบกุหลาบให้ติดอยู่กับต้นได้ กุหลาบจึง “แก้ผ้า” กันปีละ 8-9 เดือน จึงอ่อนแอเป็นธรรมดา

2.  กุหลาบขาดอาหาร  หรือได้อาหารไม่ถูกสัดส่วน ข้อพิสูจน์ในเรื่องนี้จะดูได้จากกุหลาบที่ปลูกใหม่ แม้จะปลูกในทุ่งนาก็มักจะเจริญงอกงามดีแต่พอ 1 ปีผ่านไป ตัดดอกไปได้พักเดียว ความทรุดโทรมก็เริ่ม ถามว่ากุหลาบเป็นอะไรไป คำตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คืออาหารไม่พอหรือไม่ถูกส่วน แต่จะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อเราก็ให้ปุ๋ยเหมือนเดิม หรือบางทีจะให้มากกว่าเก่าด้วยซ้ำ คำตอบชุดต่อไปก็คือ ดินอาจเป็นกรดหรือเป็นด่างเกินไป ธาตุบางอย่างจึงไม่ออกมาให้กุหลาบได้กิน ดินอาจมีเกลือตกค้างจากการให้ปุ๋ยเคมีมานาน หรือปุ๋ยที่ให้อยู่ขณะนี้สัดส่วนของธาตุอาหารไม่ตรงกับที่กุหลาบต้องการเสียแล้ว  ต้องเปลี่ยนเรโชปุ๋ยเสียใหม่ให้ตัวหน้าสูง ตัวกลางต่ำ ตัวหลังสูง หรืออะไรก็ว่าไป สรุปแล้วชาวสวนก็ไม่รู้ว่าจะให้ปุ๋ยอย่างไรอยู่ดี  ใครว่าอะไรดีก็ลองดู การวัดพ.เอช. หรือความเป็นกรดเป็นด่างก็พอมีเครื่องมือพอจะซื้อหรือหยิบยืมได้ แต่ก็ไม่สู้จะละเอียดเที่ยงตรงนัก ส่วนการวัดปริมาณเกลือตกค้างในดินนั้น ไม่มีทางเลย เพราะเครื่องมือแพงมากและถึงมีก็ใช้ไม่เป็น เพราะต้องการความรู้ทางวิชาการพอสมควร การวิเคราห์ดินก่อนที่จะใส่ปุ๋ย ว่าดินในแปลงขณะนั้นมีธาตุอาหารอะไรอยู่บ้างแล้วก็ไม่ได้ทำกัน  ดังนั้นที่ไปขวนขวายจนรู้มาว่ากุหลายชอบปุ๋ยสูตรอะไรเรโชอย่างไรก็หาได้เป็นประโยชน์จริงจังอย่างใดไม่  เพราะเมื่อใส่ปุ๋ยนั้นลงไปทั้ง ๆ ที่ของเดิมมีอะไรอยู่บ้างก็ไม่รู้ จะรู้ได้อย่างไรว่ากุหลาบจะได้อาหารตามที่ต้องการ เป็นอันว่าเราใช้ปุ๋ยเคมีซึ่งเป็นปุ๋ยวิทยาศาสตร์  แต่เราขาดความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับดินของเรา จึงทำท่าว่าจะเป็นผลร้ายมากกว่าดี  เรื่องดินและปุ๋ยจึงเป็นสิ่งที่ชาวสวนกุหลาบขาดข้อมูลและความรู้อย่างมาก

กุหลาบขาดอาหารย่อมอ่อนแอต่อโรค และเมื่อกุหลาบเป็นโรค ใบจะร่วงหมดไป ต้นก็ย่อมจะขาดอาหารอันนี้แหละคือ “วงจรร้าย” ที่ทำให้กุหลาบอายุสั้นลงกว่าที่ควร และเป็นปัญหาที่ชาวสวนกุหลาบจะต้องขบให้แตก ถ้าจะให้การลงทุนทำสวนกุหลาบตัดดอกเป็นกิจการที่คุ้มกับการลงทุน

3.  กุหลาบตัดดอกสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่ปลูกกันอยู่ในปัจจุบัน รู้สึกว่าจะอ่อนแอต่อโรคเสียเป็นส่วนใหญ่ กุหลาบบางพันธุ์เป็นโรคราน้ำค้างเพียงครั้งเดียวก็อ่อนแอไปเลยจนต้องขุดทิ้ง บางพันธุ์ต้องปลูกในโรงเรือนจึงจะได้ผล  โดยเฉพาะกุหลาบสีแดงเกือบทุกพันธุ์ ถ้าปลูกกลางแจ้งกลีบจะสั้นและหยิกจนขายไม่ได้ โดยทั่วไปกุหลาบตัดดอกที่เรานำพันธุ์เข้ามารุ่นหลัง ๆ เป็นกุหลาบที่เรียกว่า “กุหลาบโรงเรือน” (greenhouse variety)เกือบทั้งหมดเป็นลูกผสมที่เน้นในเรื่องให้ดอกดกและมีความทนในแจกันมาก ดอกไม่ใหญ่โดยเฉพาะเมื่อปลูกในบ้านเรา แม้ว่าบริษัทเจ้าของพันธุ์มักจะอวดสรรพคุณว่าทนทานโรค  แต่ก็ไม่จริงเสมอไป สายพันธุ์ที่เราใช้ปลูกจึงเป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องไปถึงเรื่องความมีอายุสั้น  แต่เราก็ไม่มีทางหนีไปไหน

4.  กุหลาบตัดดอกที่เราปลูกกัน เพื่อตัดดอกขายนี้  ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าถูกกระทำทารุณมาก เราจะปล่อยกิ่งก้านให้เจริญเติบโตตามใจของมันก็เฉพาะในตอนแรกที่อยู่ในระยะ “สร้างต้น” เท่านั้น พอถึงระยะที่ตัดดอกได้ เราก็จะเริ่มหั่นมันอย่างทารุณ การตัดดอกที่ถูกต้อง แม้จะให้เหลือใบสมบูรณ์ (ใบชุดที่มีใบย่อยครบ 5 ใบ) ไว้ 2 ใบ ก็ตาม กุหลาบก็ถูกตัดใบออกไปมากมายพร้อมกับก้านดอกในเมื่อกุหลาบเกือบทุกยอดที่แตกออกมาจะเป็นดอกทั้งนั้น ทุกยอดในต้นก็จะถูกตัดออกอยู่ตลอดเวลา  ถ้ากุหลาบไม่เป็นโรคมากนัก ต้นก็จะยังมีใบเหลือไว้สร้างอาหารเพียงพอที่จะแตกยอดเป็นดอกให้ตัดอีกได้ แต่ถ้าเมื่อใดต้นมีใบไม่พอ ยอดที่แตกรุ่นต่อมาก็จะเล็กและสั้นลง และถ้าถูกตัดดอกออกไปอีกกุหลาบก็จะทรุดลงไปเรื่อย ๆ เพราะอาหารไม่พอ ดังนั้นผู้ปลูกจะต้องรู้ว่ากุหลาบมีใบมากน้อยขนาดไหนควรจะตัดดอกได้อย่างไร เพราะการทารุณกับกุหลาบด้วยการตัดดอกนี้ทำให้กุหลาบอายุสั้น กุหลาบชนิดที่ปลูกประดับสวนออกดอกไม่ดกและไม่ถูกทารุณโดยการตัดดอกเช่นนี้อายุจึงยืนยาวกว่า

5.  ความแข็งแรงและอายุขัยของต้นกุหลาบ  ถ้าจะพิจารณาให้ลึกลงไปน่าจะขึ้นกับเรื่องพื้นฐานตอนที่เริ่มปลูกด้วยการเตรียมดินเตรียมแปลงเป็นเรื่องสำคัญมากอย่างหนึ่ง  ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทุกคนรู้ดีอยู่แล้ว เพียงแต่จะทำหรือไม่ทำ ทำได้หรือทำไม่ได้มากกว่า มีเรื่องพื้นฐานอีกเรื่องหนึ่งที่เราละเลยกันอยู่มากคือ คุณภาพของต้นพันธุ์ที่เราเอามาปลูก คุณภาพของต้นพันธุ์เริ่มจากต้นตอซึ่งเป็นกุหลาบป่า  นอกจากการเลือกสายพันธุ์ของกุหลาบป่าที่เหมาะสมกับบ้านเราแล้ว ชนิดของต้นตอก็มีความสำคัญไม่น้อย จากการพัฒนาของผู้ทำต้นพันธุ์ขายในต่างประเทศที่เมื่อก่อนใช้กิ่งกุหลาบป่าปักชำให้ออกรากแล้วนำไปติดตาเดี๋ยวนี้ใช้ต้นตอที่มาจากการเพาะเมล็ด จะเห็นได้ว่าระบบรากของต้นตอจากการเพาะเมล็ดแข็งแรงกว่ามาก ตัวรากประธานซึ่งควรจะเรียกได้ว่ารากแก้วนั้นใหญ่เท่ากับท่อนบนซึ่งเป็นลำต้นตรงที่ติดตาด้วยซ้ำ ต้นที่ติดตากับตอประเภทนี้ พอเอาลงดิน ตาก็พุ่งเป็นกระโดงใหญ่เลยทำให้ตัดดอกได้เร็วขึ้นอีก เปรียบเทียบกับของเราที่ทำกันอยู่มาจนถึงวันนี้ รู้สึกว่าเราพัฒนาไปในทางเลวลง เมื่อก่อนเราจะปักชำกุหลาบป่าลงไปในแปลง รอให้ออกรากและมีใบพอสมควรแล้วจึงจะติดตา เรียกกันว่าติดตาในแปลง แม้ว่าวิธีนี้จะเป็นวิธีที่จะได้ต้นกุหลาบที่แข็งแรงที่สุดในบรรดาวิธีที่เราทำกันอยู่ แต่ก็มีความยุ่งยากล่าช้า บางครั้งตาเสียต้องติดใหม่ทำให้กุหลาบโตไม่ทันกัน เราจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีติดตากับกุหลาบป่าที่ชำในถุง  ซึ่งสะดวกในการติดตา ฝนตกก็ทำงานได้ หรือแม้ทำกลางคืนก็ยังทำได้ นอกจากนั้นทำให้ผู้จะทำสวนกุหลาบใหม่ไม่ต้องเที่ยวหาคนไปติดตาที่สวน  เพราะสามารถสั่งต้นพันธุ์ที่ติดตาไว้ในถุงเอาไปปลูกได้เลย กุหลาบติดตาในถุงประเภทนี้จะมีคุณภาพดีมากน้อยเพียงใดขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างโดยสรุปก็คือต้นตอป่าต้องแข็งแรง และตาที่เอามาติดต้องสมบูรณ์เมื่อแตกตาออกมาจึงจะเป็นยอดที่สมบูรณ์ได้ แต่ที่ทำกันอยู่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีการคัดเลือกต้นตอในถุง และตาที่นำไปติดก็อาจไม่ได้คัดเลือกโดยถี่ถ้วนเช่นกัน เพราะทำกันเป็นจำนวนมาก ยอดที่แตกตาออกมาจึงใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ตายเสียบ้าง หรือดื้อไม่ยอมแตกตาอยู่เป็นเดือน ๆ ถุงที่ชำต้นตอกุหลาบป่าโดยทั่วไปก็บรรจุด้วยถ่านแกลบแทนดิน  เพราะโปร่งเบากับปลอดโรค  แต่ไม่มีอาหาร ถ้ากุหลาบอยู่ในถุงนานจะขาดอาหาร นอกจากนั้นต้นตอป่าที่ชำใส่ถุงก็ซื้อขายกันในราคาต่ำมาก เพราะแย่งกันขายหรือถูกกดราคาก็ไม่ทราบ เมื่อ 8 ปีที่แล้วที่ผมเริ่มทำกุหลาบตัดดอกซื้อกันในราคา 2 บาท เดี๋ยวนี้ก็ยังซื้อขายกันในราคาระหว่าง 2-3 บาท จะคาดหวังให้ได้ของคุณภาพดีคงจะยาก  ดังนั้นถ้าเรายังเริ่มต้นกันด้วยกุหลาบติดตาในถุงที่ใช้ต้นตอป่าที่ไม่สมบูรณ์อย่างนี้ โอกาสที่กุหลาบจะอายุยืนก็คงจะยาก  เพราะเริ่มต้นไม่ดีเสียแล้ว  การพัฒนาจึงควรจะไปในแนวทางที่จะปรับปรุงคุณภาพของต้นตอป่า  โดยคัดหาพันธุ์ที่ทดสอบให้ได้ความแน่นอนว่าเหมาะสมกับภูมิอากาศบ้านเราและปรับปรุงการทำต้นตอป่าให้มีคุณภาพดีขึ้น ซึ่งจุดหมายปลายทางน่าจะไปถึงวันที่แบ่งอาชีพกันทำ คือคนทำต้นพันธุ์ขายก็ติดตาเอาลงแปลงแล้วขุดขึ้นมาขาย (กุหลาบล้างรากหรือกุหลาบรากเปลื่อย-ไม่มีดินติด) พวกหนึ่ง และคนปลูกกุหลาบตัดดอกที่ซื้อต้นพันธุ์ชนิดนี้ไปปลูกอีกพวกหนึ่ง

ดังที่กล่าวแล้วกุหลาบที่อายุสั้นเป็นปัญหาหนักอกของชาวสวน แต่เมื่อพอจะแจกแจงสาเหตุออกมาได้แน่ชัดแล้ว ก็น่าจะมีทางแก้ปัญหาได้ไม่ช้าก็เร็ว ถ้าหากทุกฝ่ายทั้งชาวสวนผู้ปลูก นักวิชาการ และหน่วยงานที่คิดว่าตัวเองควรจะมีส่วนเกี่ยวข้องจะพร้อมใจกันและร่วมมือกันพัฒนาโดยไม่ต่างคนต่างทำกันไปคนละทางสองทางให้เสียเงินไปเป็นล้าน ๆ โดยไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

เรื่องโดย: พจนา  นาควัชระ