อาหารเป็นพิษ:ระวังอาหารเป็นพิษช่วงน้ำท่วม

ประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมทุกจังหวัด  โดยเฉพาะเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่กำลังผจญกับวิกฤตน้ำท่วมขังอยู่ในขณะนี้ ต้องระมัดระวังการบริโภคอาหารเป็นพิเศษ เพราะมีความเสี่ยงและมีโอกาสสูงที่จะป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารได้ เช่น อาหารเป็นพิษ และโรคท้องร่วง หากบริโภคอาหารที่ไม่สะอาด ดังนั้นประชาชนจึงควรระมัดระวังและใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยของอาหาร ทั้งพืชผัก ผลไม้ ไข่ เนื้อสัตว์และสัตว์น้ำ รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ด้วย

นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย  ศรีบุญซื่อ ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) บอกมาว่า ประชาชนควรดูแลสุขภาพและต้องให้ความสำคัญในการเลือกซื้อสินค้าเกษตรมาบริโภค โดยเน้นที่ความสดและสะอาด สำหรับสินค้าประมง เช่น กุ้ง ควรอยู่ในสภาพที่สดและสะอาด มีเปลือกหุ้มทั้งตัว ปลาต้องมีส่วนหัว ครีบ หางครบถ้วน ไม่มีตำหนิที่ผิดธรรมชาติที่เห็นได้ชัดเจน ไม่ควรนำสัตว์น้ำที่ตายจากการเกิดน้ำท่วมมาบริโภค อาจทำให้เกิดการป่วยจากโรคทางเดินอาหารได้ ส่วนเนื้อสัตว์ ต้องมีสีปกติตามธรรมชาติ ปราศจากกลิ่นที่ผิดปกติ กลิ่นแปลกปลอม ไม่มีรอยฟกช้ำ ไม่มีแผลหนอง กรณีไข่ไก่ ควรเลือกไข่ที่มีผิวเปลือกไข่ปกติ ไม่มีรอยแตกร้าว หรือบุบ เปลือกไข่ไม่มีเชื้อรา เมื่อตอกไข่แล้ว ไข่แดงไม่ติดเปลือกข้างในและไม่แตกเหลว ผักและผลไม้ ต้องเลือกที่สะอาดไม่เน่าเสีย ไม่มีกลิ่นแปลกปลอม รสชาติที่ผิดปกติ ช่วงนี้ผักผลไม้อาจมีราคาแพงและมีคุณภาพไม่ค่อยดีนัก ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังเพิ่มขึ้น  สำหรับอาหารในภาชนะบรรจุปิดสนิท เช่น อาหารกระป๋องต้องดูให้แน่ใจว่าไม่หมดอายุ กระป๋องไม่บวม หรือเป็นสนิม ก่อนที่จะรับประทานควรทำความสะอาดภาชนะบรรจุก่อน และให้ปรุงด้วยความร้อนก่อนบริโภค

ก่อนที่จะนำวัตถุดิบมาปรุงอาหารต้องทำความสะอาดทุกครั้งด้วนน้ำสะอาด พืชผักผลไม้ที่พบว่ามีคราบดินปนเปื้อนควรล้างซ้ำ และควรขัดผิวที่เปื้อนให้สะอาด ที่สำคัญอาหารทุกชนิดต้องปรุงให้สุกก่อนการบริโภค

กรณีที่บางบ้านไม่มีน้ำสะอาดใช้ นสพ.ศักดิ์ชัย แนะนำให้ทำการฆ่าเชื้อน้ำที่ใช้ โดยการใส่ปูนคลอรีนลงในน้ำที่จะใช้ตามสัดส่วนที่ผู้ผลิตแนะนำ และถ้าต้องการเก็บอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ปลา กุ้ง หอย ไว้กินหลายวัน แต่มีปัญหาเรื่องไฟฟ้าดับ ควรทำให้สุกโดยการรวนให้แห้งและมีการเติมเกลือเพื่อป้องกันการบูดเน่าหรืออาจทำเนื้อแดดเดียวไว้บริโภคก็ได้

ซึ่งภายหลังน้ำลดและเข้าสู่ภาวะปกติ มกอช.มีแผนที่จะช่วยเร่งฟื้นฟูเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัย ในเรื่องการส่งเสริมและพัฒนาระบบการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น เพื่อให้สินค้าเกษตรของไทยมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศด้วย