เครื่องสับใบและเศษซากอ้อย

ในแต่ละปีพื้นที่ปลูกอ้อยมากกว่า 3 ล้านไร่  มีการเผาใบและเศษซากอ้อยในพื้นที่ 1 ไร่ มีใบและเศษซากอ้อยตกค้างอยู่ในไร่โดยประมาณ 1.76 ตัน  ดังนั้นใน 1 ปี มีปริมาณใบและเศษซากอ้อยที่ถูกเผาไปไม่ต่ำกว่า 5 ล้านตัน  ซึ่งใบและเศษซากอ้อยเหล่านั้นควรกลับคืนสู่ดิน  แต่อินทรีย์วัตถุในดินกลับถูกทำลายและทำให้ดินที่ปลูกอ้อยซ้ำในที่เดิมเป็นเวลานาน ๆ มีอินทรีย์วัตถุลดลง มีผลทำให้คุณสมบัติทางกายภาพของดินเลวลง คือ ดินไม่ร่วนซุย  แน่นทึบ น้ำซึมได้ยาก ไม่อุ้มน้ำ และเป็นการสูญเสียธาตุอาหารพืชโดยเฉพาะไนโตรเจน การไม่เผาใบและเศษซากอ้อยช่วยลดต้นทุนในการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในไร่อ้อย แต่การที่เกษตรกรมีการเผาใบและเศษซากอ้อยก่อนการเตรียมดิน เพื่อทำให้รถแทรคเตอร์เตรียมดินได้สะดวกเศษใบและซากอ้อยทำให้ล้อรถแทรกเตอร์ลื่นไม่สามารถขับเคลื่อนได้ และการที่เกษตรกรมีการเผาใบและเศษซากอ้อยหลังการเก็บเกี่ยว (กรณีตัดอ้อยสด) เพื่อเป็นการกำจัดเชื้อเพลิงที่อาจไหม้อ้อยตอที่งอกแล้ว  ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรีจึงมีการสร้างและพัฒนาเครื่องสับใบและเศษซากอ้อยทั้งก่อนการเตรียมดินและหลังการเก็บเกี่ยวอ้อย (สับใบและเศษซากอ้อยที่อยู่ระหว่างแถวอ้อยตอ)

การพัฒนาเครื่องสับใบและเศษซากอ้อยของศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรีนั้นได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2535 โดยการใช้จอบหมุน (Rotary cultivator) สับใบและเศษซากอ้อยก่อนการเตรียมดิน เพื่อทดแทนการเผาใบและเศษซากอ้อย ซึ่งการใช้จอบหมุนได้ผลดี แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีจอบหมุนใช้เพราะว่าจอบหมุนมีราคาแพง อีกทั้งค่าบำรุงซ่อมแซมและค่าอะไหล่มีราคาสูง

ในปี 2540  ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรีได้ดัดแปลงพรวนชนิด 16 จาน เพื่อใช้สับใบและเศษซากอ้อยก่อนการเตรียมดิน  โดยการดัดแปลงผาลไถจากจานเรียบมาเป็นผาลจักร  และใส่เหล็กถ่วงน้ำหนัก  สามารถไถสับใบและเศษซากอ้อยคลุกเคล้าลงดินได้ดีพอสมควร  แต่ก็มีข้อจำกัดถ้ามีใบและเศษซากอ้อยตกค้างอยู่ในไร่มาก เมื่อใช้ไถผาลจักรในรอบแรก ๆ ใบและเศษซากอ้อยจะฟูจะต้องไถมากกว่า 3 รอบ จึงจะทำให้ใบและเศษซากอ้อยคลุกเคล้าลงดินเพื่อจะได้ใช้ไถผาล 3 เตรียมดินได้ตามปกติ

และในปี 2542 ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี พยายามดัดแปลงไถผาล 3 เพื่อช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องซื้อเครื่องสับใบและเศษซากอ้อยใหม่ เพราะว่า ชาวไร่อ้อยมีไถผาล 3 ใช้อยู่แล้ว  อีกทั้งมีชาวไร่อ้อยที่ จ.กาญจนบุรี มีการใช้ไถผาลเดี่ยวสับใบและเศษซากอ้อย  โดยการดัดแปลงไถผาล 3 คือ ถอดผาลด้านหน้าออก 2 ผาล และเพิ่มใบมีดตัดตรง  ซึ่งจากการทดสอบ พบว่า สามารถไถกลบใบและเศษซากอ้อยได้ แต่ทำงานได้ช้าเพราะว่ามีเพียงผาลเดียว  และถ้ามีใบและเศษซากอ้อยมากจะพ้นผาลไถ ดังนั้น จึงได้สร้างเครื่องสับใบและเศษซากอ้อยชุดใหม่ที่ยังคงใช้โครงสร้างเดิมของไถผาล 3  โดยการดัดแปลงให้มีผาล 2 ชุด แต่ละชุดประกอบด้วยผาลจักร 1 ผาล ทำหน้าที่สับใบและเศษซากอ้อย เพื่อเปิดดินให้ผาลจานอีก 1 ผาลกลบใบและเศษซากอ้อย เครื่องสับใบและเศษซากอ้อยชุดนี้สามารถสับใบและเศษซากอ้อยที่มีปริมาณมากได้ และทำงานได้อย่างรวดเร็ว ในการทำงานสามารถไถได้ทั้งตามแนวแถวอ้อยหรือขวางแนวแถวของอ้อย แต่การไถขวางแนวแถวของอ้อยจะทำให้ไถได้ลึกและกลบใบและเศษซากอ้อยได้ดี

ส่วนการพัฒนาเครื่องสับใบและเศษซากอ้อยหลังการเก็บเกี่ยวอ้อย (ในกรณีตัดอ้อยสด) นั้น ในปี 2540 ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรีได้พัฒนาเครื่องสับใบและเศษซากอ้อยจากจอบหมุน (Rotary cultivator) โดยการถอดใบมีดที่อยู่ตรงกับแถวอ้อยออก  และการใช้ไถผาลจักรที่เว้นผาลที่อยู่แถวเดียวกับอ้อยออก  จากการทดลองประสิทธิภาพเครื่องสับใบและเศษซากอ้อยหลังการเก็บเกี่ยวโดย อรรถสิทธิ์  บุญธรรม และคณะ พบว่า การใช้จอบหมุนสับใบและเศษซากอ้อยคลุกเคล้าลงดินได้ดี ถ้าใบและเศษซากอ้อยไม่หนา  เพราะว่าถ้าใบและเศษซากอ้อยหนาจะพันใบมีดส่วนการใช้ผาลจักรทำงานได้ทั้งที่มีปริมาณใบและเศษซากอ้อยมากหรือน้อย แต่สับใบและเศษซากอ้อยไม่ละเอียด  แต่เมื่อใช้ไถผาลจักรและจอบหมุนร่วมกัน  โดยการใช้ไถผาลจักรไถนำก่อน 1 เที่ยว และใช้จอบหมุนตาม ทำให้สับใบและเศษซากอ้อยคลุกเคล้าลงดินได้ดี ใบและเศษซากอ้อยที่เหลือไม่สามารถเป็นเชื้อไฟไหม้อ้อยตอได้อีก นอกจากนี้ ยังพบว่า การใช้เครื่องสับใบและเศษซากอ้อยแทนการเผาใบและเศษซากอ้อย  ยังช่วยลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในอ้อยตอ ลดปริมาณวัชพืชในอ้อยตอและลดการทำลายของหนอนกอลงได้

เอกสารอ้างอิง

สุรเดช  จินตกานนท์,  เกษม  สุขสถาน และผกาทิพย์  จินตกานนท์. 2542.

การศึกษาผลผลิตและองค์ประกอบผลผลิตธาตุอาหารพืชของอ้อย.

วารสารเกษตรศาสตร์.33(1) : 10-20

อรรถสิทธิ์  บุญธรรม, ธงชัย  ตั้งเปรมศรี,  ปรีชา  พราหมณีย์  และเฉลิมพล  ไหลรุ่งเรือง. 2540.  การใช้เครื่องสับใบอ้อยชนิดต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาการเผาใบอ้อยหลังจากการเก็บเกี่ยว. รายงานผลงานวิจัยประจำปี 2540

ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร. หน้า 177-187

Jakeway.L.A. and L.T. Santo. 1991.  Result of cane residue

Recovery trials, 1987-1989. Final report. HSPA. Aiea. Hawaii. 120 p.

Fogliata.F.A. J. Leiderman and R.E. Matiussi. 1986. Effect of trash burning on the temperature and microbial population of soil.  In ISSCT Proc 13th congress 1986.  PP.720-732