การกระตุ้นการงอกของเมล็ดพันธุ์ปวยเหล็ง

ปวยเหล็ง (Spinacia oleracea) มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบเอเซียตะวันตกเฉียงใต้เป็นพืชผักที่ต้องการอุณหภูมิเฉลี่ยในการเจริญเติบโตระหว่าง 16-18 องศาเซลเซียส แต่เจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส ปวยเหล็งสามารถนำมาบริโภคได้ทั้งสดและผลิตเป็นอุตสาหกรรมแปรรูป แหล่งผลิตที่สำคัญของโลกคือ อเมริกา แคนาดา และยุโรป การผลิตผักปวยเหล็งในประเทศไทยโดยทั่วไปยังไม่ประสบผลสำเร็จเพราะสภาพอากาศของไทยมีอุณหภูมิเฉลี่ยค่อนข้างสูง และยังพบว่าเมล็ดมีความงอกต่ำ  ดังนั้นจึงทำการศึกษาหาวิธีการกระตุ้นการงอกของเมล็ดพันธุ์ปวยเหล็งด้วยวิธีต่าง ๆ  เพื่อหาสาเหตุในการพักตัวและหาวิธีที่เหมาะสมในการเพิ่มความงอกของเมล็ดพันธุ์ปวยเหล็ง

จากการศึกษาวิธีการกระตุ้นการงอกของเมล็ดพันธุ์ปวยเหล็ง 5 วิธี ได้แก่ แกะเปลือกผล (pericarp removal) ขัดเปลือกผลด้วยกระดาษทราย (scarification) เร่งอายุที่อุณหภูมิ 42 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 72 ชม. ผ่านความเย็นที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส และ 5 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 วัน โดยเปรียบเทียบกันระหว่างการเพาะที่อุณหภูมิห้อง อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส พบว่าการเพาะที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียสให้เปอร์เซ็นต์ความงอกสูงที่สุด (82.0%) รองลงมาคือผ่านความเย็นที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 วัน (51.0%) การแกะเปลือกผล(45.5%) ผ่านความเย็นที่ 5 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 2 วัน (32.5%) ขัดด้วยกระดาษทราย (32.5%) และการเร่งอายุ (22.0%) ตามลำดับ เมล็ดที่ผ่านการแกะเปลือกผล (pericarp) สามารถงอกได้เร็วที่สุด แต่มีต้นกล้าผิดปกติมากที่สุด  ส่วนการเร่งอายุไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กระตุ้นการงอกของเมล็ดพันธุ์ปวยเหล็งเพราะชักนำให้เกิดการพักตัว (secondary dormancy) เพิ่มขึ้น

ที่มา:ภาวนา  พลบูรณ์ 2538

ปัญหาพิเศษปริญญาตรี ภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์