เลี้ยงไก่หน้าร้อนอย่างไร ให้ได้รับความเสียหายน้อยที่สุด

การเลี้ยงไก่ในลักษณะฟาร์มเปิด และฟาร์มที่ปล่อยไก่เลี้ยงหนาแน่นเกินไป มักจะพบความเสียหายที่เกิดจากสภาพอากาศร้อนได้มาก  โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน ซึ่งอากาศมักจะร้อนกว่าช่วงอื่น ๆ และรวมไปถึงช่วงต้นเดือนพฤษภาคมด้วย  ไก่เนื้อและไก่ไข่ที่มีการเลี้ยงในระบบโรงเรือนเปิดธรรมดาก็มักจะพบปัญหา เช่น ไก่กินอาหารได้น้อย ไก่โตช้า ใช้เวลาเลี้ยงนาน ไก่ป่วยและไก่มีเปอร์เซ็นต์การตายเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงปกติ การจะเลี้ยงไก่ในช่วงหน้าร้อนให้ได้รับความเสียหายน้อยที่สุดนั้นก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบการเลี้ยงและการจัดการของเกษตรกรเป็นสำคัญด้วย  ในรายที่มีการเลี้ยงไก่บนบ่อปลา หรือเล้าไก่มีการยกพื้นสูง ก็อาจจะใช้วิธีสเปรย์น้ำเพื่อช่วยลดความร้อนได้แต่ก็ต้องมั่นใจว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอเพราะต้องหมั่นสเปรย์น้ำอย่างสม่ำเสมอจึงจะได้ผลดี  ส่วนในรายที่เลี้ยงแบบปล่อยเลี้ยงบนพื้นดินหรือพื้นปูน  ก็อาจใช้วิธีการจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรือนให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกเพื่อช่วยลดความร้อน อาจจะติดตั้งพัดลมเพื่อเพิ่มความเย็นที่สำคัญควรจะปล่อยไก่ลงเลี้ยงในช่วงนี้เบาบางกว่าช่วงปกติ ส่วนวิธีการสเปรย์น้ำนั้นไม่ค่อยเหมาะสมกับการเลี้ยงแบบนี้เท่าไรนัก เพราะจะทำให้พื้นแฉะ เกิดโรคระบาดได้ง่าย อย่างไรก็ตามหากสภาพอากาศร้อนจัดก็อาจจะใช้วิธีสเปรย์น้ำได้ในช่วงก่อนจับส่งตลาด 1 สัปดาห์

ส่วนในกรณีของการเลี้ยงแบบโรงเรือนเปิด หรือโรงเรือนอีแวปที่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ในบ้านเรากำลังนิยมกันนั้นเกษตรกรหลายรายก็ยังขาดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงเกี่ยวกับการจัดการอุปกรณ์และเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับระบบอีแวป  ดังนั้นการเลี้ยงไก่ในโรงเรือนระบบนี้จึงอาจจะไม่เหมาะสมในบางพื้นที่หรือสำหรับเกษตรกรบางราย วิธีการแก้ปัญหาที่ค่อนข้างได้ผลดีก็คือ การแขวนถังอาหารในช่วงกลางวัน เนื่องจากในช่วงกลางวันอากาศร้อน ไก่จะเครียด กินอาหารได้ไม่เต็มที่ และเมื่อกินอาหารเข้าไปก็จะเกิดการเผาผลาญที่จะต้องมีการนำพลังงานมาใช้ค่อนข้างสูง  เกษตรกรจึงควรอดอาหารไก่ตลอดช่วงกลางวัน โดยอาจจะเริ่มตั้งแต่ช่วง 5.00-6.00 ไปจนถึงประมาณ 17.00-18.00 ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ถ้าอากาศร้อนอบอ้าวมากก็อาจเลื่อนเวลาแขวนถังขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตามถังที่แขวนก็ควรมีอาหารสำรองติดไว้บ้างเพราะไก่อดอาหารมาทั้งวัน วิธีนี้อาจจะช่วยกระตุ้นให้ไก่กินอาหารได้มากขึ้นด้วย ดังนั้นเมื่อไก่แย่งกันกินจนอาหารในถังหมดเร็ว การลงถังอาหารก็ควรต้องให้เร็วทันกันด้วย  สำหรับโรงเรือนที่มีระบบการให้อาหารแบบอัตโนมัติ หรือออโต้ ฟีด (Auto Feed) ก็ไม่ค่อยน่าห่วง เพราะระบบจะทำให้อาหารลงพร้อมกันอย่างรวดเร็วอยู่แล้ว

นอกจากเรื่องของอาหาร สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือ น้ำ ที่จะต้องมีให้อย่างเพียงพออยู่ตลอดเวลาและต้องเป็นน้ำที่สะอาดและเย็นในน้ำเราอาจเสริมวิตามินอีเลคโตไลท์ หรือ โปแตสเซียมคลอไรด์ 0.24 เปอร์เซ็นต์ (ผสมโปแตสเซียมคลอไรด์ 2.4 กรัมในน้ำ 1 ลิตร) ซึ่งจะทำให้น้ำมีรสเค็มเล็กน้อย  จึงเป็นการกระตุ้นให้ไก่กินน้ำได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ไก่ระบายความร้อนในร่างกายได้มากขึ้นด้วย เพราะเมื่อไก่กินน้ำเข้าไปมากขึ้นก็จะช่วยให้เกิดการระบายความร้อนของร่างกายได้มากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตามวิธีที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะได้ผลดีก็ต้องขึ้นอยู่กับจำนวนไก่ที่เลี้ยง ซึ่งจะต้องควบคุมไม่ให้มีปริมาณหนาแน่นเกินไปด้วย  รวมไปถึงคุณภาพของอาหารที่จะต้องคัดสรรให้มีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าในช่วงการเลี้ยงอื่น ๆ ด้วย