แสมทะเล


ชื่อวิทยาศาสตร์ Avicennia marina (Forsk.) Vierh.
ชื่อวงศ์ AVICENNIACEAE
ชื่ออื่น ปีปีดำ (ภูเก็ต), แสมขาว พีพีเล
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดเล็กเป็นพุ่ม สูง 5-8 ม. ส่วนใหญ่มีสองลำต้น หรือมากกว่า ไม่มีพูพอน ทรงพุ่มโปร่ง มีรากหายใจคล้ายดินสอ ยาว 10-20 ซม. เหนือผิวดิน เปลือกเรียบเป็นมัน สีขาวอมเทา หรือขาวอมชมพู ต้นแก่มากเปลือกจะหลุดออกเป็นเกล็ดบางๆ คล้าย แผ่นกระดาษ และผิวของเปลือกใหม่จะมีสีเขียว


ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปรี หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้าง 1.5-4 ซม. ยาว 3-12 ซม. ปลายใบแหลมถึงมนเล็กน้อยโคนใบรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ ม้วนเข้าหากันทางด้านท้องใบ มีลักษณะคล้ายหลอดกลม ผิวใบด้านบนสีเขียวเข้ม เป็นมัน ผิวใบด้านล่างขาวอมเทา หรือขาวมีนวล ก้านใบยาว 0.4-1.4 ซม.


ดอก สีส้มอมเหลืองถึงเหลือง ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง หรือง่ามใบ ใกล้ปลายกิ่ง เป็นช่อเชิงลด ก้านช่อดอกยาว 1-5 ซม. แต่ละช่อมี 8-14 ดอก ช่อดอกย่อยเป็นช่อกระจุก ก้านดอกยาว 0.5-1.5 ซม. ดอกย่อยไม่มีก้าน ดอกมีขนาดเล็กเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 ซม.กลีบเลี้ยง 5 กลีบติดคงทนกลีบดอก 4 กลีบ รูปไข่กว้างยาว 0.3 ซม. โคนกลีบติดกัน เกสรเพศผู้ 4 อัน ออกดอกเดือน ก.พ.-มิ.ย.
ผล รูปไข่กว้าง เบี้ยวถึงเกือบกลม แบนด้านข้าง เปลือกอ่อนนุ่ม สีเขียวอมเหลือง มีขนนุ่ม ปลายผลไม่มีจะงอย 1 เมล็ดต่อผล
นิเวศวิทยา พบได้ทั้งนํ้าเค็ม น้ำจืดและน้ำกร่อย
การใช้ประโยชน์ ต้นใช้ทำฟืนและถ่าน บริเวณรากเป็นแหล่งอาหาร และหลบซ่อนตัวของสัตว์นํ้าวัยอ่อน ราก ช่วยในการสร้างดินและอินทรีย์วัตถุลดปัญหาการพังทลายของดินบริเวณชายคลองและริมทะเล ทางด้านสมุนไพรมีประโยชน์เช่นเดียวกับแสมขาว
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย