สาเหตุโรคต้นใบแห้งในมะเขือเทศ

(late blight)

โรคต้นใบแห้งนับเป็นโรคสำคัญที่สร้างความเสียหายให้กับพืชในกลุ่ม Solanaceous อันไต้แก่มะเขือเทศ และมันฝรั่งมากที่สุดโดยเฉพาะในท้องถิ่นที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมเมื่อมีโรคเกิดขึ้นจะแพร่กระจายสร้างความสูญเสียให้กับพืชที่ปลูกอย่างรวดเร็วและรุนแรงจนไม่สามารถทำการป้องกันกำจัดได้ทัน

อาการโรค

อาการโรคจะเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของต้นพืชที่อยู่เหนือพื้นดินและทุกระยะการเจริญเติบโต

แผลบนใบจะกลมหรือค่อนข้างกลมสีนํ้าตาลดำ ตรงกลางแห้ง ส่วนรอบเป็นวงสีซีดจาง และมีลักษณะฉ่ำนํ้า หากอากาศชื้นเช่นในตอนเช้าที่แสงอาทิตย์ยังส่องไม่เต็มที่ หรือวันที่อากาศครึ้มเมฆหมอกจัดจะปรากฏมีเส้นใยสีขาว หรือเทาขึ้นอยู่ทั่วไปที่วงรอบนอกของแผลเห็นได้ชัดเจน แผลมักจะเริ่มเกิดขึ้นตรงปลายหรือริมๆ ขอบใบ ขนาดก็จะแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของโรค อาจเป็นเพียงจุดเล็กๆ 2-3 มม. ถึง 3-4 ซม. หรืออาจทำลายหมดทั้งใบและก้านใบ ในกรณีที่เป็นรุนแรง อย่างไรก็ดีเมื่อเป็นนานๆ ในที่สุดใบจะแห้งดำทั้งใบ

บนต้นกิ่งก้าน จะเกิดแผลเน่าแห้งสีนํ้าตาลแก่ หรือดำยาวทอดไปตามแนวของลำต้นและกิ่งก้านนั้น เมื่อเป็นมากจนรอบส่วนนั้นจะหักพับลงทำให้เกิดการแห้งตายขึ้นทั้งต้นและกิ่ง

บนผลมะเขือเทศ เชื้อจะเข้าทำลายได้ทุกระยะการเจริญเติบโต แต่จะง่ายและรุนแรงกว่าในระยะที่ยังอ่อนหรือเขียวอยู่ ส่วนมากอาการจะเกิดขึ้นตรงบริเวณขั้วหรือเริ่มจากขั้วลูกลงไปลักษณะเป็นจุดชํ้าฉ่ำน้ำ หรือสีเขียวปนเทา ต่อมาจะขยายโตขึ้นอย่างรวดเร็วจนเต็มทั้งผล หากผลมะเขือเทศถูกเก็บเกี่ยวในขณะเมื่อเริ่มเกิดแผลอาจจะก่อให้เกิดเน่าเละตามมาขณะขนส่ง บนผลมะเขือเทศอ่อนที่ยังมีสีเขียวแผลอาจจะเป็นสีน้ำตาลเข้มหดย่น บางครั้งแผลจะมีแถบเป็นวงกลมล้อมรอบทำให้ลักษณะการเน่าคล้ายๆ ตากวาง (buck eye rot) และก็เช่นกันหากอากาศชื้นจะมีเส้นใยและสปอร์ของเชื้อราขึ้นปกคลุมอยู่เต็มผล

สาเหตุโรค: Phytophthora infestans

เป็นราชั้นต่ำใน Class Oomycetes ขยายพันธุ์โดยการสร้างสปอร์แรงเจีย รูปกลมรีที่มีปลายด้านบนเรียวแหลม (apical papilla) ไม่มีสี ขนาดโดยเฉลี่ย 21-38 X 12-23 ไมครอนซึ่งเกิดอยู่ที่ปลายก้านสปอร์แรงจิโอฟอร์ที่แตกกิ่งก้านอีกทีหนึ่ง การงอกของสปอร์แรงเจีย เป็นไปได้ 2 วิธีคือ งอกเป็นเส้นใยก่อนแล้วสร้างสปอร์แรงเจีย ชุดที่สองขึ้นซ้ำอีกชุดหนึ่ง หรืออาจงอกออกมาเป็นเซลล์ที่เคลื่อนไหวได้ (swarm cell) มีหาง 2 เส้นปกติจะมีจำนวน 8 เซลล์ต่อหนึ่งสปอร์ เซลล์เหล่านี้จะว่ายน้ำอยู่ระยะหนึ่งประมาณ 2-3 นาที แล้วจึงทิ้งหางเข้าซีสท์กลายเป็นสปอร์กลมๆ แล้วจึงค่อยงอกเส้นใยเข้าทำลายพืชต่อไป เส้นใยจะมีลักษณะเป็นท่อยาวตลอดไม่มีผนังแบ่งกั้นภายในจะมีนิวเคลียสรวมกันอยู่หลายๆ อัน (coenocytic mycelium) การเข้าทำลายพืชเกิดขึ้นโดยเส้นใย อาจจะแทงทะลุผิวพืชเข้าไปโดยตรง (direct penetratio หรือผ่านทางช่อง stomata ที่ผิวใบ หลังจากนั้นก็จะเข้าไปเจริญเติบโตอยู่ทั้งระหว่างและภายในเซลล์แล้วดูดกินอาหารจนตาย

สิ่งแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมการเกิดโรค

สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะความชื้นอุณหภูมิและแสงแดดนับเป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเกิดการระบาดและสร้างความเสียหายของโรคนี้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างการงอกของสปอร์ ตลอดจนการเจริญเติบโต การเข้าทำลายของพืชของเชื้อ สิ่งแวดล้อมดังกล่าวทุกอย่างจะต้องประสานสัมพันธ์กันพอดีในจุดที่ค่อนข้างจะจำกัดและเฉพาะ

ความชื้นในลักษณะเมฆหมอกครึ้ม อากาศที่อิ่มน้ำ(saturated = 100%) หรือฝนตกปรอยติดต่อกัน 15 ชั่วโมง จะช่วยให้เชื้อขยายพันธุ์สร้างสปอร์ได้ดีที่สุด ฝนที่ตกแรงหรือหนักเป็นระยะเวลาสั้นๆ จะช่วยชะเอาสปอร์แรงเจียของเชื้อให้หลุดล่วงออกจากต้นหรือใบพืชตกลงยังพื้นดินสปอร์พวกนี้จะตายหมดหากพื้นดินแห้งและถูกแสงแดด สำหรับอุณหภูมิก็นับว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญสำหรับ Phytophthora ในการขยายพันธุ์ เชื้อพวกนี้ชอบอากาศเย็นในเวลากลางคืนและอบอุ่นแต่ไม่ถึงกับร้อนในเวลากลางวัน สปอร์จะงอกได้ดีที่อุณหภูมิระหว่าง 9-16°ซ. โดยเฉพาะที่ 15°ซ. สปอร์แรงเจียจะงอกออกเป็นสปอร์ที่เคลื่อนไหวภายในเวลาเพียง 1-2 ชั่วโมง แต่ถ้าสูงขึ้นมาเป็น 24-25°ซ. จะงอกเป็นเส้นใยและใช้เวลาในการงอกนาน 5-7 ชั่วโมง ซึ่งนอกจากจะใช้เวลานานกว่าแล้ว การงอกออกมาเป็นเส้นใยโดยตรงจะทำให้มีปริมาณของเชื้อที่จะเข้าทำลายพืชได้น้อยลง นอกจากนั้นหากอุณหภูมิสูงเกินกว่า 30°ซ. แล้วสปอร์ของเชื้อจะหยุดงอกโดยสิ้นเชิง

สำหรับการเจริญของเส้นใยและการเข้าทำลายพืชของเชื้อนี้พบว่าจะดีที่สุดระหว่าง 21-24 °ซ. ขณะเดียวกันถ้าต่ำกว่า 4°ซ. หรือสูงเกินกว่า 30°ซ. ราก็จะหยุดการเข้าทำลายพืชและไม่มีการสร้างสปอร์

จะเห็นได้ว่าสภาพอากาศโดยทั่วไป ของประเทศโดยส่วนใหญ่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเกิดและระบาดของโรคนี้นอกจากใบบางท้องถิ่นของทางภาคเหนือและอีสานตอนเหนือที่มีการปลูกมะเขือเทศ มันฝรั่งที่มีอุณหภูมิและความชื้นใกล้เคียงกับที่กล่าวแล้ว เช่น อำเภอฝาง อำเภอเมือง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมือง หวัดเชียงราย อำเภอกิ่งเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ส่วนในภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ไม่มีโรคนี้ระบาดทำ ความเสียหายแต่อย่างไร

การอยู่ข้ามฤดูและการแพร่ระบาด

เชื้อ P. infestans อาจอยู่ข้ามฤดูปลูกได้โดยอาศัยอยู่ในเศษทรากพืชที่เป็นโรคที่ปล่อยทิ้งร่วงหล่นอยู่ตามพื้นดิน หรือไม่ก็อาศัยเกาะกินอยู่บนต้นพืชที่หลงเหลือจากการเก็บเกี่ยวหรืองอกขึ้นมาเองภายหลัง (volunteer plant) มีรายงานว่าโรคนี้อาจติดไปกับเมล็ดมะเขือเทศได้ แต่ก็ยังไม่มีการยืนยันแน่นอนส่วนโอโอสปอร์หรือสปอร์ที่เกิดจากการผสมพันธุ์ทางเพศของรานี้พบว่าจะมีสร้างขึ้นก็ต่อเมื่อนำมาเลี้ยงในอาหารที่เตรียมขึ้นในห้องทดลองเท่านั้นในธรรมชาติพบน้อยมาก สำหรับการระบาดระหว่างฤดูปลูกเกิดจากสปอร์ถูกพัดพา หรือถูกนำให้แพร่กระจายไปโดยลม น้ำฝน แมลง เครื่องมือกสิกรรม และสิ่งที่เคลื่อนไหวทุกชนิด

การป้องกันกำจัด

การป้องกันกำจัดโรคต้นและใบแห้งของมะเขือเทศที่เกิดจาก P. infestans ให้ได้ผลต้องใช้วิธีผสมผสานกันระหว่างวิธีต่างๆ อันได้แก่การเกษตรกรรม เช่น หลีกเลี่ยง การปลูกพืชลงในดินแปลงเก่าที่เคยมีโรคระบาดหรือใกล้กับแปลงที่มีการปลูกมันฝรั่งและมะเขือเทศอยู่ก่อนแล้ว งดไม่ปลูกมะเขือเทศในช่วงหรือฤดูที่เหมาะต่อการเกิดและระบาดของโรค เช่น ในปลายฤดูฝนต่อฤดูหนาว ไม่ควรปล่อยให้มีวัชพืชพวกที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันหรือปล่อยให้มีต้นที่งอกขึ้นมาเองหลังเก็บเกี่ยวแล้วหลงเหลืออยู่ในแปลงหรือบริเวณที่จะมีการปลูกต่อไป รักษาแปลงปลูกให้สะอาดอยู่เสมอโดยการเก็บหรือขจัดทำลายเศษทรากพืชโดยเฉพาะที่เคยเป็นโรคให้หมดโดยการเผาไฟหรือฝังดินลึกๆ

สำหรับการใช้สารเคมีกับโรคนี้ควรจะเน้นหนักไปในการป้องกันการเกิดโรคหรือติดเชื้อไม่ใช่การรักษาควรทำก่อนที่โรคจะเกิดขึ้น คือเมื่อใกล้ถึงกำหนดที่สิ่งแวดล้อมเริ่มจะเหมาะสม ซึ่งหากสังเกตุให้ดีจะเห็นว่าโรคนี้จะเกิดระบาดทำความเสียหายรุนแรงในช่วงเวลาค่อนข้างเฉพาะที่ใกล้เคียงกัน ของแต่ละปีการฉีดพ่นยาควรจะเริ่มทำเมื่อพืชโตขึ้นมาประมาณ 15-30 ซม. และเป็นเวลาอย่างน้อย 10 วันก่อนถึงระยะเวลาที่โรคจะเกิดขึ้น การฉีดพ่นยาควรทำทุกๆ 7-10วัน หรือ 3-7 วันต่อครั้ง โดยเฉพาะเมื่ออากาศเริ่มชื้น หมอกน้ำค้างจัดหรือฝนชุก อุณหภูมิลดต่ำลงมากๆ ในตอนกลางคืน และหลังจากนั้นก็ให้ทำติดต่อกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเก็บเกี่ยว

สารเคมีที่ใช้กับโรคนี้ตามที่มีผู้แนะนำและทดลองใช้ได้ผลมีอยู่ด้วยกันหลายชนิดให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมหรือที่จะจัดหามาได้ เช่น

แอนทราโคล ริดโดมิลหรืออาลีเอท มาเน็บ โพลีแรม ซีเน็บ หรือโลนาโคล ไดเทนเอ็ม 45 หรือแมนโคเซ็บ และพวกที่มีทองแดงเป็นส่วนผสม เช่น คูปราวิท หรือค็อปปิไซด์ และบอร์โดมิกซ์เจอร์

ข้อควรจำสำหรับการป้องกันกำจัดโรคต้นและใบแห้งที่เกิดจากเชื้อ P. infestans จะให้ได้ผลต้องทำก่อนที่โรคจะเกิดและระบาดขึ้นโดยกะระยะให้พอเหมาะพอดี หากปล่อยจนโรคเกิดขึ้นแล้วก็ยากที่จะควบคุมและมักจะไม่สามารถหยุดยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้เท่ากับเป็นการสูญเปล่า ทั้งเวลาและเงิน