เซเลรี่(Celery)


ลักษณะทั่วไป
เป็นพืชใหม่สำหรับประเทศไทย ต้องการควบคุมดูแลเอาใจใส่อย่างดี ใช้ต้นทุนสูง ให้น้ำหนักผลผลิตต่อพื้นที่ปลูกสูงและผลตอบแทนดี ถ้าจัดการดี ควรปลูกบนพื้นที่ขนาดเล็ก ตลาดยังค่อนข้างจำกัด แต่มีตลาดเอกชนรองรับบ้างแล้ว
ข้อมูลการผลิต
พันธุ์ Tall Utah 52-70 (พันธุ์เขียว)
ฤดูปลูก ตลอดปี
ความสูง 200-1400 เมตร
ความเป็นกรดด่างของดิน 6.5-7.0
ชนิดของดิน ร่วนปนทราย
ระยะปลูก(ต้นxแถว)    40×30 ซม. จำนวน 3 แถว/แปลง
จำนวนต้น 6 ต้น/ตร.ม.
ความกว้างของแปลง 120-140 ซม.
ระยะห่างของแปลง 50-80 ซม.
อายุพืช 125-140 วัน
ข้อมูลต้นทุนและผลตอบแทน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)


หมายเหตุ ข้อมูลต้นทุน ผลตอบแทนและราคา เป็นข้อมูลในอดีตที่มีการเปลี่ยนแปลง
ข้อสังเกตเกี่ยวกับต้นทุนผลตอบแทน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)
การผลิต
ได้จากข้อมูลของเกษตรกรที่มีประสบการณ์ (แม่ปูนหลวง) เกษตรกรมือใหม่ อาจได้ผลผลิตเพียงครึ่งหนึ่งของที่รายงาน น้ำหนักผลผลิตต่อพื้นที่ปลูกสูงและไม่ค่อยผันผวนตามฤดูกาล
ผลผลิต
ค่อนข้างสม่ำเสมอทุกฤดูปลูก จะได้เกรด A ระหว่าง 70-80% ผลผลิตในฤดูฝนอาจต่ำกว่าปกติเล็กน้อย ถ้ามีปัญหาโรคพืช ส่วนการปลูก ฤดูร้อนมักเป็นโรคใบจุด
ราคาขายของเกษตรกร
ราคาจะสูงกว่าในฤดูฝน ถ้าผลผลิตออกสู่ตลาดมากไปทำให้ราคาตกได้
ต้นทุนปัจจัยการผลิต
ในการปลูกฤดูหนาวต้นทุนต่ำ เนื่องจากไม่ต้องใช้สารเคมี ส่วนการปลูกฤดูร้อนและฤดูฝน  ต้องใช้ยากำจัดศัตรูพืชและกำจัดเชื้อราสูง เพื่อรักษาระดับผลผลิต (ฉีดพ่นยา 8-9 ครั้งต่อฤดู) แต่คาดว่าเกษตรกรมือใหม่จะยอมใช้ต้นทุนเพียง 50% ของจำนวนดังกล่าว การใส่ปุ๋ยขี้ไก่และปุ๋ยเคมีให้เพียงพอ จะช่วยให้ผลผลิตงามและพืชต้องการ อาหารเสริมเช่น โบแรกซ์ และ โทนา
ผลตอบแทน
ให้ผลตอบแทนสูง ส่วนเกษตรกรที่ยังขาดประสบการณ์อาจทำรายได้เพียงครึ่งเดียวของระดับที่ควรจะเป็น
สำหรับเจ้าหน้าที่ส่งเสริม
ถ้าปลูกขายมากไปราคาอาจจะตก การฉีดพ่นยาจำเป็นต้องทำบ่อยครั้ง เพื่อป้องกันกำจัดโรค (เช่น โรคก้านเน่า โรคใบจุด) เกษตรกรมักผสมสารเคมี 2-3 ชนิด ฉีดพ่นด้วยกันทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง ควรแนะนำไม่ให้ปฏิบัติเช่นนี้
การตลาด
ตลาดจำกัด การสูญเสียผลผลิตเมื่อไปถึงตลาดกรุงเทพฯ ค่อนข้างสูง (50%) เพราะผลผลิตล้นตลาด ในฤดูหนาว ราคาประมาณ 25-29 บาท/กก. และไม่มีแนวโน้มแน่นอน เกษตรกรจะได้รับราคาประมาณ 50% ของราคาตลาด ขณะนี้พอมีตลาดเอกชนสนใจรองรับ
ข้อแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการเพาะปลูก
ศัตรูพืชและโรค
ศัตรูพืช
ไส้เดือนฝอย (Nemotode) เกิดขึ้นตลอดปี สังเกตจากรากเป็นปม ต้นแกร็น ป้องกันโดยใส่ ฟูราดาน ก่อนปลูกกล้า
หนอนคืบ (Looper) ทำลายระหว่างกลางช่วงดูแลรักษาไปจนถึงช่วงเก็บเกี่ยว ในทุกฤดูปลูก กัดกินก้านใบทำให้เสียคุณภาพ ป้องกันโดยใช้ เซฟวิน 85 สลับกับ แลนเนท สัปดาห์ละครั้ง หรือเมื่อจำเป็น
โรค
โรคใบจุด พบในฤดูฝน เป็นปัญหารุนแรงสำหรับพืชนี้ สังเกตจากใบจุดเป็นสีน้ำตาล ป้องกันแก้ไขโดยฉีดพ่น ดาโคนิล หรือ ไดเทนเอ็ม 45 สลับกับบาวิสติน หรือ คาร์เบนดาซิม ทุกๆ 7 วัน ถ้าจำเป็น
ก้านใบแตก พบได้ตลอดปี เกิดจากการขาดธาตุโบรอน สังเกตจากก้านแตกขวางเป็นเส้นใช้ โบแรกซ์ ใส่ตอนเตรียมแปลง
ยอดเน่า  พบตอนต้นฤดูฝน ทำให้ปลายยอดเน่าดำ เกิดจากการขาดธาตุแคลเซียม ป้องกันแก้ไขโดยใส่ปูนขาว ตอนเตรียมแปลงปลูกและฉีดพ่นแคลเซียมคลอไรด์ ถ้าอาหารโรคยังปรากฏ
ปัจจัยที่ต้องการ (ต่อพื้นที่ปลูก 1 ตร.ม.)


การใช้แรงงาน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)


*ข้อมูลแรงงานและระยะเวลาได้จากข้อมูลสนาม
ข้อควรปฏิบัติ
ช่วงการเตรียมกล้า
ขุดพลิกดิน ตากแดดทิ้งไว้ 1-4 สัปดาห์ ใส่ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยคอก ฟูราดาน ผสมคลุกกับดิน ขึ้นแปลงกว้าง 1 เมตร ขีดร่องลึก 1 ซม. ห่างกันร่องละ 7 ซม. หยอดเมล็ดลงร่องให้ต้นห่างกัน 1-2 ซม. กลบดินบางๆ ใช้ผ้าหรือฟางคลุมแปลง หลังเมล็ดงอก (ประมาณ 10 วัน) ให้เอาวัสดุคลุมแปลงออก ใช้ตาข่ายพลาสติคคลุมแทน ให้น้ำวันละ 2 ครั้ง เมื่อกล้าอายุได้ 15-20 วัน ใส่ปุ๋ย 21-0-0 และอาหารเสริม โทน่า หรือ MCA ฉีดพ่นยาเคมีตามความจำเป็น เมื่อกล้าอายุ 30 วัน ย้ายกล้าลงถุงชำขนาด 4”x6” (ฤดูฝน) หรือ 5”x7” (ฤดูร้อน) ฉีดพ่นไดเทนเอ็ม 45 เพื่อกำจัดเชื้อรา และฉีดซ้ำอีกครั้ง 15 วันต่อมา
ข้อควรระวัง
1. ไม่ควรหยอดเมล็ดถี่เกินไป พยายามอย่าให้น้ำขังแปลง
2. เจาะรูถุงชำกล้าเพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก
3. อายุ 15-30 วัน ฉีดพ่นยา ถ้ามีปัญหาแมลง
ช่วงการปลูก
ขุดเตรียมดินตากทิ้งไว้ ใส่ปุ๋ย 15-15-15 ขี้ไก่ โบแรกซ์ และ ฟูราดาน ผสมคลุกกับดินให้ทั่ว ขึ้นแปลงกว้าง 1-20 เมตร ให้แปลงห่างกัน 50 ซม. ย้ายกล้าปลูก โดยมีระยะปลูก 40×30 ซม.
ข้อควรระวัง
1. ยกแปลงให้สูง เพื่อให้การระบายน้ำดี
2. ปรับความเป็นกรดด่างของดินให้ได้ระดับ 6.5-7.0 โดยใส่ปูนขาว
3. ป้องกันการขาดธาตุโบรอน โดยใส่โบแรกซ์ รองพื้นหรือฉีดพ่นทางใบ
4. ปรับดินให้มีอินทรีย์วัตถุสูงสำหรับช่วงปลูกนี้
ช่วงการดูแลรักษา
หลังย้ายปลูกได้ 10 วัน ฉีดพ่นยากำจัดแมลงและยากำจัดเชื้อราทางใบ เมื่อพืชอายุ 25-30 วัน เก็บวัชพืชออก เด็ดหน่อที่เกิดใหม่ทิ้ง พร้อมทั้งใส่ปุ๋ย 15-15-15 และ 21-0-0 หรือ 27-0-0 ในอัตรา 1:1 โดยวิธีโรยปุ๋ยบนหลังแปลง กลบดินแล้วฉีดพ่นยากำจัดเชื้อรา ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรก 2 สัปดาห์ โดยใช้ปุ๋ย 15-15-15 และ 27-0-0 ในอัตรา 2:1 เด็ดหน่อเกิดใหม่และกลบดิน ทำการกำจัดวัชพืชอีกครั้ง หลังจากครั้งแรก 30 วัน ฉีดพ่นสารเคมีต่างๆ เมื่อพบศัตรูหรือโรค
ข้อควรระวัง
1. รดน้ำทุกวัน หรือทุก 2 วัน ระวังอย่าให้แฉะเกินไป
2. ช่วงฤดูร้อน ถ้าใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์มากไป จะทำให้ยอดเน่า
ช่วงการเก็บเกี่ยว
เก็บเกี่ยวเมื่อต้นสูงประมาณ 45 ซม.ขึ้นไป (อายุ 2.5-3.5 เดือน) ใช้มีดตัดตรงโคนต้น ตัดแต่งก้านใบ ล้างทำความสะอาด ผึ่งให้แห้งแล้วบรรจุในเข่งหรือกล่องกระดาษ
ข้อมูลอื่นๆ
ไม่ควรปลูกซ้ำบนพื้นที่เดิม เพื่อป้องกันการสะสมเชื้อโรคในดิน ควรให้ดินมีอินทรีย์วัตถุสูง
ที่มา:ภาควิชาส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่