ชีวประวัติของแมลงดานา

1.  รูปร่างโดยทั่วไป เป็นแมลงขนาดใหญ่ ปีกแข็งตอนโคนและอ่อนในตอนปลาย  ปลายปีกที่เป็นแผ่นบาง ๆ มีเส้นลวดลายหลายเส้น  ปีกมี 2 คู่ คู่แรกแข็งตอนโคนอ่อนตอนปลายคู่ที่ 2 อยู่ด้านล่างเป็นแผ่นบาง  ใช้สำหรับการบิน มีตา 2 ตา เป็นช่องเล็ก ๆ รวมกันอยู่ด้านข้าง มีหนวดอยู่ข้างตาแต่สั้นมาก มีขา 6 ขา ขาคู่หน้าเป็นขาแข็งแรงใช้สำหรับจับเหยื่อ  ขาคู่กลางเป็นขาเหมือนแมลงทั่วไป  ส่วนขาคู่ที่สามเป็นแผ่นบางมีขนที่ไม่เปียกน้ำมากมายใช้สำหรับว่ายน้ำ  ที่ด้านก้นจะมีท่อโผล่ขึ้นมาเล็กน้อยใช้สำหรับการหายใจ  ตัวผู้จะมีต่อมผลิตกลิ่นอยู่ระหว่างขาคู่ที่ 2 บริเวณกลางท้องมีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย

2.  การผสมพันธุ์ แมลงดานามีฤดูผสมพันธุ์ระหว่างเดือนกรกฎาคม-เดือนตุลาคม  โดยตัวผู้จะจับอยู่บนหลังของตัวเมียแล้วผสมพันธุ์กัน  จากนั้นตัวเมียจะปล่อยวุ้นขาว ๆ ออกมาสำหรับยึดไข่ให้ติดกับยอดไม้ยอดหญ้าที่มันเกาะอยู่  ทำให้ไข่ติดกับยอดหญ้าเป็นแถว ๆ ปกติมี 2 แถว จากนั้นทั้งคู่ก็จะจากกันไปทิ้งไข่ไว้สักครู่ก่อน จากนั้นตัวเมียก็จะหนีไปปล่อยให้ตัวผู้เฝ้าไข่บางคราวตัวเมียไม่กลับมาตัวผู้ต้องเฝ้าไข่จนไข่ออกเป็นตัว  แต่โดยปกติแล้ว 2-3 วัน ตัวเมียจะกลับมาเฝ้าไข่จนไข่ออกเป็นตัว  แล้วดูแลรักษาจนลูกสามารถคุ้มครองตัวเองได้เสียก่อนแม่แมลงดานาจึงจะทิ้งลูกไปเพื่อวางไข่และผสมพันธุ์ต่อไปอีก  แมลงดานาไข่ครั้งละประมาณ 100-300 ฟอง  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของแม่พันธุ์ปี 1 จะไข่ประมาณ 4 ครั้ง  แมลงดานาจะไข่ตามยอดไม้สูงจากระดับน้ำประมาณ 8-15 เซนติเมตร  ตามแต่ฤดูกาล  และปกติแมลงดานาจะรู้ได้ด้วยตัวเองว่าปีใดน้ำจะมากจะน้อย โดยถ้าปีใดน้ำจะมากแมลงดา ไข่ระดับเกินผิวน้ำ 10 เซนติเมตรขึ้นไป  ถ้าปีใดฝนจะแล้งแมลงดานาจะไข่ประมาณ 5 เซนติเมตร เหนือระดับน้ำ  เมื่อก่อนคนเฒ่าคนแก่จะพยากรณ์น้ำฝนโดยอาศัยแมลงดานา แต่ในปัจจุบันสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเปลี่ยนไปมากการทำนายจึงไม่ได้ผลนัก  ที่ซึ่งแมลงดานาชอบไข่ต้องเป็นที่น้ำนิ่ง ๆ มีอาหารพวกไรน้ำ ลูกอ๊อดมาก ๆ ในบางกรณีถ้าแมลงดานาไข่แล้ว มีคนไปรบกวนหรือน้ำจะลดก่อนที่ลูกแมลงดานาจะออกเป็นตัว  แม่แมลงดานาจะกินไข่ตัวเองจนหมด ทำให้บางคนเข้าใจว่า  ตัวผู้เป็นผู้ดูแลไข่ตัวเมียจะกินไข่  ความจริงแล้ว  แมลงดานาสามารถทำหน้าที่เฝ้าลูก  โดยตอนกลางวันจะวนเวียนอยู่ตามกอหญ้าใกล้ไข่ตอนกลางคืนแมลงดานาก็จะขึ้นมากกไข่ให้ได้รับความอบอุ่นโดยสับเปลี่ยนกัน  แต่ยังไม่ได้มีการศึกษาว่าเมื่อใด แมลงดานาถึงจะเปลี่ยนหน้าที่กัน  ส่วนใหญ่แล้วตอนกลางวันตัวผู้จะเป็นผู้เฝ้าไข่ ตอนกลางคืนตัวเมียจะมากกไข่ช่วยกันจนประมาณ 7-8 วัน ไข่จึงจะออกเป็นตัวแล้วดูแลจนลูกแข็งแรง  ในการต่อสู้กับศัตรูพ่อกับแม่แมลงดานาจะต่อสู้จนตัวตายไป  โดยตัวผู้จะต่อสู้ก่อนตัวเมียจะพาลูกหลบหนีไป  ถ้าตัวผู้ตายตัวเมียจึงจะต่อสู้แล้วลูก ๆ จะแยกย้ายกันหลบหนี

การเจริญเติบโตของแมลงดานา

1.  ระยะเป็นไข่ แม่แมลงดานาไข่ออกมาครั้งแรก 1-4 วัน ขนาดของไข่จะกว้างยาวประมาณ 0.1 เซนติเมตร  สีน้ำตาลค่อนข้างเข็ม  บริเวณยอดไข่เป็นลานเส้นมีจุดจางตรงกลาง 5-7 วัน ไข่จะโตขึ้นกว้างประมาณ 0.35-0.40 เซนติเมตร  สีจะจางลงเป็นสีเทา  โคนไข่เป็นสีน้ำตาล วันที่ 8 ลูกแมลงดานาจะเปิดเปลือกไข่ออกมา

2.  ระยะตัวอ่อน แมลงดานาเมื่อเปิดเปลือกไข่แล้วตอนเวลาเย็นจะกระโดดน้ำพร้อม ๆกัน ลำตัวจะเป็นสีน้ำตาลอ่อนนิ่ม  กว้างราว 0.3 เซนติเมตร ยาว 0.8 เซนติเมตร  พอกระโดดลงน้ำประมาณ 4-5 นาที  ตัวอ่อนจะมีขนาดโตขึ้นเป็นกว้าง 0.35 เซนติเมตร ในขณะที่ความยาวคงเดิม  ทั้งนี้เพราะน้ำจะซึมเข้าไปในตัวแมลงดานา 2-3 วัน ลูกแมลงดานาจะไม่กินอาหารเพราะมีอาหารสำรองติดอยู่กับตัว วันที่ 4 จึงจะเริ่มกินอาหาร

3.  ระยะลอกคราบ แมลงดานาจะลอกคราบ 5 ครั้ง เพื่อการเพิ่มขนาดและความยาว การลอกคราบนั้นแมลงดาจะทำได้โดยอยู่นิ่ง ๆ ประมาณ 2 วัน  ลำตัวครั้งแรกจะแตกออกทางด้านหัวแล้วแมงดาจะค่อย ๆ คลานออกจากคราบเก่าแล้วเจริญเติบโตต่อไป  แรกเกิดขนาด 0.35×0.8 เซนติเมตร ลอกคราบครั้งที่ 1 ขนาด 0.5×1.0 เซนติเมตร  ลอกคราบครั้งที่ 2   1.0×3.0 เซนติเมตร ส่วนในการลอกคราบครั้งต่อ ๆ ไปจะเพิ่มขนาดขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงครั้งที่ 5 จะมีลำตัวขนาด 4×6 เซนติเมตร แล้วเจริญเติบโตต่อไป  มีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 3-4 ปี แล้วจึงจะตายไป แมลงดานาจะใช้เวลาตั้งแต่เป็นไข่ถึงลอกคราบและเป็นตัวบินประมาณ 1 เดือน อายุประมาณ 2 เดือน ก็สามารถจับขายได้แล้ว

กลิ่นและการใช้กลิ่น

กลิ่นของแมลงดานาจะเริ่มมีในระยะลอกคราบครั้งที่ 4  แต่มีเพียงเล็กน้อยจนลอกคราบครั้งที่ 5  แล้วจึงจะมีกลิ่นแรง  กลิ่นของแมลงดานาเป็นกลิ่นที่ผลิตจากต่อมกลิ่นใต้ท้องข้าง ๆ ขาคู่กลางจะมีต่อมนี้เฉพาะเพศผู้ ใช้สำหรับส่งกลิ่นรบกวนสัตว์อื่นไม่ให้กินตัวมันเอง เพราะสัตว์อื่นไม่ชอบกลิ่นฉุน(ยกเว้นคน) เมื่อแมลงดานาปล่อยกลิ่นแล้วจะไม่กินแมลงดานา ซึ่งเป็นการป้องกันตัวอีกแบบหนึ่งของแมลงประเภทมวน เช่น มวนลำใย มวนถั่ว มวนแดง ฯลฯ หน้าที่อีกส่วนหนึ่งของกลิ่นคือ  ใช้เรียกร้องให้ตัวเมียมาหาเพื่อที่จะได้ผสมพันธุ์  ดังนั้นในฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูผสมพันธุ์แมลงดานาจะผลิตกลิ่นออกมามาก  ในหน้าแล้วจะไม่ค่อยผลิตกลิ่นยกเว้นแมลงดานาที่คนเลี้ยงมักจะมีกลิ่นตลอดปี  เพราะมีอาหารอุดมสมบูรณ์

อุปนิสัยของแมลงดานา

แมลงดานาขนาดเล็กจะดำผุดดำว่ายอย่างรวดเร็ว โดยการว่ายขึ้นจนถึงผิวน้ำแล้วหงายท้องอย่างรวดเร็ว  ทั้งนี้เพราะแมงดาต้องการอากาศโดยดูดเข้าไปทางท่อที่ปลายท้อง  เมื่อแมลงดานาโตขึ้นมักจะเกาะตัวนิ่ง ๆ ตามกิ่งไม้หรือกอหญ้าแล้วยกก้นขึ้นทำมุม 45 องศากับพื้นระนาบ บางทีก็หงายท้องเหมือนตายประมาณ 10-20 นาที  จะดำลงไปในน้ำแล้วขึ้นมาเกาะ  ยกก้นสูดอากาศใหม่ แล้วดำน้ำลงไปอีกทำเช่นนี้เรื่อยไป ในตอนกลางคืนอากาศเย็นในน้ำมีออกซิเจนละลายอยู่ในน้ำน้อย แมลงดานามักจะบินขึ้นมาจากหนองน้ำ แล้วบินวนเวียนอยู่แถวนั้นเมื่อใกล้สว่างก็จะกลับที่เดิม  ซึ่งจากพฤติกรรมอันนี้เองทำให้แมลงดานาถูกฆ่าตายปีละไม่น้อย เพราะคนได้นำแสงอุลตราไวโอเลต(สีม่วง) รบกวนแมลงดานาทำให้จำทางกลับหนองน้ำไม่ได้  แล้วแมลงดานาจะบินมุ่งเข้าสู่ต้นกำเนิดแสง เพราะหลงคิดว่าเป็นแสง ยู.วี.ที่หนองน้ำส่งออกมา  เมื่อได้รับ ยู.วี.จากดวงอาทิตย์ตอนใกล้สว่าง  เมื่อบินมาแล้วจะถูกจับโดยตาข่ายหรือชนสิ่งกีดขวางหรือว่าบินวนจนหมดแรงก็ตกลงมาตายเอง  ทำให้ผู้คนเข้าใจผิดคิดว่าแมลงดานาชอบไฟแสงสี

อาหารและการกินอาหาร

แมลงดานากินอาหารประเภทเนื้อ โดยเฉพาะเนื้อปลา กบ เขียด ปู แมลงดานากินอาหารโดยใช้ปากซึ่งเป็นท่อเจาะเข้าไปในตัวเหยื่อ  แล้วปล่อยน้ำขาว ๆ ออกมาทำให้เหยื่อได้รับความเจ็บปวดและตายไป  แล้วแมลงดานาจะดูดเอาน้ำเหลว ๆ จากตัวเหยื่อไปจนอิ่ม  โดยจะดูดแล้วดำน้ำลงไปแล้วลอยขึ้นมาใหม่  ตอนเป็นลูกเล็ก ๆ แมลงดานาชอบกินลูกอ๊อด และไรน้ำ แมลงดานากินอาหารวันละไม่มาก  และยังไม่มีการศึกษาว่ากินประมาณเท่าใด  แต่เท่าที่ศึกษาพบว่า กบ 1 ตัว แมลงดา 100 ตัว จะกินประมาณ 2 วัน ปู 1 ตัว จะกินประมาณ 1 วัน เรื่องนี้ต้องมีการศึกษาโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นว่า ยังมีผู้เข้าใจผิดพลาดเกี่ยวกับพฤติกรรมของแมลงดานาอยู่มาก  ทั้งนี้เพราะไม่ค่อยได้มีผู้ใดศึกษาเป็นรายละเอียดไว้  ที่นำมากล่าวก็เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการดูแลแมลงดานาให้ได้รับอาหารสมบูรณ์ มีการขยายพันธุ์ที่ดี เพื่อเพิ่มผลผลิตให้แก่ผู้เลี้ยง หากไม่เข้าใจแมลงดานาเสียก่อนก็คงไม่สามารถจะเลี้ยงแมงดาให้ประสบผลสำเร็จได้อย่างไรก็ตามเนื่องจากขาดแคลนข้อมูลและเอกสารทางวิชาการ  จึงอาจทำให้ไม่เข้าใจแจ่มแจ้งนัก  แต่ก็เชื่อว่าคงทำให้เป็นแนวทางได้บ้าง

  • การเลี้ยงแมลงดานา

1.  การเตรียมสถานที่ แมลงดานาชอบอยู่ในน้ำแต่ตอนกลางคืนชอบบินออกจากบ่อดังนั้น  สถานที่จะเลี้ยงแมลงดานา  ควรมีลักษณะดังนี้.-

1.  น้ำไม่ท่วม  อยู่ในที่โล่งมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก

2.  สามารถระบายน้ำจากบ่อได้ดี ดินแข็งพอสมควร

3.  ไม่ไกลจากที่อยู่อาศัย ควรห่างจากที่พักประมาณ 30 เมตร

4.  บริเวณใกล้เคียงไม่ควรมีแหล่งของไฟล่อแมลงดานา เพราะจะทำให้รบกวนแมลงดานา ๆ จะบินเล่นเสียพลังงาน

5.  ไม่มีผู้คนพลุกพล่าน เพราะเป็นการรบกวน

6.  ใกล้แหล่งน้ำเพราะบ่อแมลงดานาต้องมีการเปลี่ยนน้ำอยู่เสมอ

2. การเตรียมบ่อเพาะพันธุ์ ขุดบ่อขนาดตามความต้องการ  ควรเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า  มีด้านยาวเป็นบวกหนึ่งของความกว่าง เช่น 3×4 เมตร, 5×6 เมตร  ลึกไม่เกิน 1.5 เมตร แต่ไม่ควรต่ำกว่า 1 เมตร ลาดคอนกรีตให้หนาขนาด 5 เซนติเมตร ควรปูพลาสติกก่อนเทคอนกรีต  เพราะจะกันการรั่วซึมได้ดีลาดคอนกรีตทั้งด้านข้างและชานบ่อให้มีชานบ่อประมาณ 1 เมตร  เพื่อการสร้างโรงเรือน  แล้วมีชานบ่อภายในโรงเรียนอีก 1 เมตร  ตามข้างบ่อควรทำที่ว่างไว้  ขนาด 10×10 เซนติเมตร  สำหรับปลูกพันธุ์ไม้น้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักกระเฉด ให้ลงไปในบ่อให้เป็นที่เกาะอาศัยของแมลงดานา ปกติผักบุ้งเหมาะที่สุดสำหรับให้แมลงดาเกาะอาศัย  จากนั้นสร้างโรงเรือนให้มีขนาดกว้างยาวเพิ่มอีก 1 เมตร  วัสดุมุงหลังคาแล้วแต่ทุนทรัพย์  ใช้ตาข่ายคลุมให้มิดชิด

3.  การจัดหาพันธุ์แมลงดานา

พันธุ์แมลงดานาสามารถหาได้ทุกท้องทีของประเทศไทย โดยการ

1.  ซื้อจากตลาด เป็นการจัดหาที่ง่ายที่สุด  ได้แมลงดานาตัวแก่ควรเลือกซื้อ ตัวเมียประมาณ 3 เท่าของตัวผู้ เพราะการผสมพันธุ์จะได้มีความสมดุลย์

2. จับตามท้องทุ่ง โดยใช้วิธีช้อนเอาแมลงดานาตามกอหญ้าและริมหนองน้ำต่าง ๆ หรืองมเอาตามที่มีไข่ แล้วเอาทั้งตัวอ่อนตัวแก่มาเลี้ยงแบบนี้ได้ แต่วิธีนี้จะได้แมลงดานาที่มีหลายอายุอ่อนแก่ต่างกัน

3.  ใช้ไฟสีม่วงล่อ โดยการตั้งเสาไฟให้สูงประมาณ 6-7 เมตร ใช้ตาข่ายดักระดับหลอดไฟแมลงดานาจะบินมาติดตาข่ายให้จับได้เองแบบนี้จะได้แมลงดานาหลายอายุ

4.  เอาไข่มาเลี้ยง โดยหาบริเวณที่แมลงดานาไข่แล้วนำไข่มาฟักวิธีนี้จะได้แมลงดานาที่มีอายุใกล้เคียงกัน  แมลงดาจะฟักเป็นตัวภายใน 10 วัน และจะเจริญเติบโตถึงขนาดที่จะขายได้ ใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน และจะสามารถผสมพันธุ์ได้ภายใน 4 เดือน

ในปัจจุบันวิธีที่จะดีที่สุดคือ วิธีที่ 3 และ 4  เพราะได้ปริมาณมาก และรวดเร็วดี  การหาพันธุ์แมลงดานาควรเริ่มในเดือนพฤษภาคม-เดือนมิถุนายน  เพราะจะได้มีเวลาขายแมลงดานายาวนานขึ้น

4.  การขยายพันธุ์ ในกรณีที่นำแม่พันธุ์มาเลี้ยงประมาณ 1 เดือน แมลงดานาจะเริ่มไข่ในรุ่นที่ 1 มักจะไม่ได้รับผล  เพราะไข่จะถูกตัวอื่น ๆ กินหมดหรือฟักเป็นตัวแล้วถูกตัวอื่นกินในรุ่นที่ 2 แมลงดานาจะไข่ในเวลาใกล้เคียงกัน  เมื่อกะว่าได้จำนวนรังไข่มากพอแล้วก็จับแม่ออกขายหรือย้ายไปบ่ออื่น ๆ ลูกแมลงดานาที่ออกใหม่จะไม่ทำร้ายกัน  แต่ถ้าปล่อยให้แม่แมลงดานาอยู่จะทำร้ายลูก ๆ หมด  สำหรับการนำไข่มาเลี้ยงเมื่อแมลงดานาพักก็ให้อาหารกินได้เลย  การพักไข่แมลงดานาทำได้โดยนำเอาไข่ที่ได้จากใบไม้ ยอดหญ้ามามัดกับไม้ตั้งไว้เหนือพื้นน้ำประมาณ 5 นิ้ว  แล้วไข่จะฟักออกมาเป็นตัวและเลี้ยงดูต่อไป

5.  การให้อาหาร แมลงดานาในระยะตัวอ่อนกินอาหารประเภทลูกอ๊อด ไรน้ำ และอาหารอ่อน ๆ ส่วนเมื่อตัวโตขึ้นกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ได้ทุกประเภท ปู ปลา หอย กุ้ง ควรให้ปริมาณ ปลา 1 ตัวต่อแมงดา 1,000 ตัวต่อครั้ง

6.  การดูแลรักษา

การดูแลแมลงดาควรดูแลในตอนเช้าและตอนเย็นว่ามีตัวใดตาย หรือตัวใดไข่ อาหารที่ให้มีการเน่าเสียหรือไม่ ควรเปลี่ยนน้ำในบ่อประมาณ 7 วันต่อครั้ง สำหรับบ่อเพาะพันธุ์ แต่ถ้าเป็นบ่อเลี้ยงถ้าน้ำเริ่มจะเหม็นจึงเปลี่ยนน้ำ  เพื่อป้องกันการเน่าเสีย อาหารที่แมลงดานากินจนน่วมแล้วให้นำไปทิ้งหรือฝังเสียอย่าให้เกิดหนอน เพราะหนอนจะทำร้ายแมลงดานาด้วย  ส่วนการดูแลอย่างอื่นนั้นไม่จำเป็น  แมลงดานาไม่ชอบการรบกวนตอนกลางคืน เพราะมันจะขึ้นมาเกาะตามตาข่ายและพื้นชานบ่อ  เมื่อมีคนหรือสัตว์อื่น ๆ มารบกวนแมลงดานาจะรีบลงน้ำทำให้สูญเสียพลังงาน  หรือถ้ามีแสงไฟแมลงดานาจะบินทำให้สูญเสียพลังงานไปโดยเปล่าประโยชน์

การจับขาย ควรจับแมลงดานาในตอนเย็น  จับโดยใช้มือหรือสวิงจับ แยกตัวผู้ตัวเมียให้ชัดเจน คนละภาชนะกันเพื่อความสะดวกของผู้ซื้อ แล้วขังไว้ในถังหรือปี๊บขังไว้ 3-4 วัน  ให้แมลงดานาถ่ายมูลให้หมดจะทำให้กลิ่นหอมและไม่ตายง่ายสำหรับการขนย้าย  ปกติมักขายตัวเป็น ๆ ส่วนตัวที่ตายแล้วไม่ค่อยมีใครซื้อ  และตัวผู้ราคาจะแพงมากกว่าตัวเมีย  เพราะมีกลิ่นหอม  บางคนนำเอาตัวผู้และตัวเมียขังรวมกันขาย  คนซื้อไม่รู้จักเลือกก็จะดมกลิ่นทุกตัวจะหอมเหมือนกันหมด ยิ่งกว่านั้นบางรายนำเอากลิ่นแมลงดาสำเร็จรูปซึ่งมีขายเป็นขวด ๆ ที่สกัดได้จากเถาแมลงดานำมาหยอดตามขาแมลงดานาตัวเมีย ขายให้แก่คนไม่รู้ในราคาตัวผู้  ซึ่งมักจะมีอยู่เสมอซึ่งเป็นการหลอกลวงผู้บริโภคซึ่งไม่คุ้นเคยกับแมงดา

การนำแมลงดาไปใช้บริโภค  แมลงดาสามารถนำไปบริโภคได้ทุกรูปแบบ และที่นิยมมากที่สุดคือ  แมลงดาดองน้ำปลา น้ำพริกแมงดา น้ำพริกนรกกลิ่นแมลงดา

ส่วนการกินโดยตรงนั้น แล้วแต่ความนิยมของผู้บริโภคจะกินสด ย่าง ทอดกรอบ ก็แล้วแต่กรณี

การเพาะพันธุ์แมลงดานา

ตามที่ได้กล่าวแล้วว่าการที่จะนำแมลงดานามาเลี้ยงในบ่อนั้นทำได้หลายวิธีคือ  ใช้ไฟล่อ ใช้สวิงช้อนตามแหล่งน้ำธรรมชาติ  ซื้อจากตลาด  หรือใช้หลาย ๆ วิธีรวมกัน  แต่วิธีที่แนะนำให้ใช้มากที่สุดคือ การเพาะเลี้ยงลูกแมลงดานาเอง  จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และสามารถจัดระบบการผลิตให้สอดคล้องกับตลาดได้ดีกว่าวิธีการอื่น ๆ ดังนั้นจึงใครของแนะนำเพิ่มเติมดังนี้ คือ

1.  การรวบรวมพ่อแม่พันธุ์แมลงดานา ควรรวบรวมในเดือนกันยายน-เดือนตุลาคม  เพราะเป็นช่วงฤดูฝนจะเปลี่ยนเข้าฤดูหนาว  แมลงดานาจะมีปริมาณมากในช่วงนี้และส่วนใหญ่จะเป็นแมลงดานาที่มีอายุน้อย เพราะเกิดในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม  หรือตอนต้นฤดูฝน  การจับรวบรวมแมลงดานาในช่วงนี้มีผลดีคือ

1.1  แมลงดานาในธรรมชาติมีมากราคาต่ำ  ใช้ไฟล่อได้ง่าย  เพราะท้องฟ้าปลอดโปร่ง  ฝนเกือบหมดแล้ว

1.2  ได้แมลงดานาที่มีอายุน้อยและอายุใกล้เคียงกัน

1.3  ได้แมลงดานาที่ไข่หมดแล้ว การตายที่เกิดจากการกลั้นไข่จะลดลงมาก

1.4  เวลาที่จะเลี้ยงดูเพื่อให้ถึงฤดูวางไข่สั้นกว่าในเดือนอื่น ๆ

นอกจากนี้ถ้าในท้องถิ่นที่มีแมลงดานาชุกชุม  อาจเก็บรวบรวมในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนได้ด้วย  แต่แมลงดานามักมีราคาแพง และค่อนข้างหายากแล้ว  การดูแมลงดานาว่าเป็นตัวผู้หรือตัวเมียสำหรับผุ้ชำนาญหรือคุ้นเคยมองด้วยตาเปล่าก็จะรู้ เพราะตัวผู้เรียวเล็กกวาตัวเมีย สำหรับผู้ไม่ชำนาญให้ดึงดูก้นบริเวณที่เห็นเป็นแฉก ๆ พอแง้มดูจะเห็นอวัยวะวางไข่ คล้ายเมล็ดข้าวสารอยู่ในตัวเมีย  ตัวผู้จะไม่มี

2.  บ่อพ่อแม่พันธุ์แมลงดานา ควรเป็นบ่อขนาดเล็ก  เนื้อที่ไม่เกิน 20 ตารางเมตร  เพราะจะสะดวกในการดูแลรักษา ให้อาหาร และการจัดการด้านอื่นๆ  น้ำในบ่อควรเป็นน้ำสะอาด มีระดับน้ำ 70-80เซนติเมตร ปลูกพันธุ์ไม้น้ำ เช่น ผักบุ้ง กก ตามขอบบ่อ เพื่อให้แมลงดานาเกาะอาศัย ควรมีโพลงไม้ หรือท่อซีเมนต์วางไว้ตามชานบ่อด้านในให้เป็นที่เกาะอาศัยของแมลงดานาด้วยจะเป็นการดี  ปล่อยพ่อ-แม่ พันธุ์ลงในบ่อในอัตรา 50 ตัว/1 ตารางเมตร  ให้ตัวผู้ 1 ตัว ต่อตัวเมีย 5 ตัว  ถ้าเป็นไปได้ปล่อยในอัตรา 1 ต่อ 1 ดีที่สุด แต่เนื่องจากตัวผู้ราคาแพงมาก จึงปล่อยในอัตรานี้ซึ่งก็ได้ผลดี  ถ้าอัตราส่วนเกินนี้การฟักออกเป็นตัวไม่ดี  จากนั้นให้อาหาร และจัดการดูแลตามหลักและวิธีการเลี้ยงโดยทั่วไป จนถึงฤดูที่จะให้แมลงดานาวางไข่ จึงเตรียมบ่อเพื่อการเพาะเลี้ยงแมลงดานาใหม่ทำได้โดย

1. ลดน้ำจากระดับเดิมลง ให้เหลือ 40-50 เซนติเมตร

2.  เก็บไม้น้ำ โพรงไม้ ท่อต่าง ๆ และที่ยึกเกาะต่าง ๆ ออกให้หมด

3.  นำไม้ไผ่หรือกิ่งไม้แห้ง ๆ ลงไปในบ่อให้แมลงดานาเกาะแทน

การเตรียมในขั้นนี้เป็นการเตรียมเพื่อให้แมลงดา ได้รู้สึกว่าเป็นฤดูแล้งแล้ว ควรจัดทำในเดือนเมษายน หรือฝนแรกที่ตกลงมาในพื้นที่นั้น ๆ ถ้าต้องการให้แมงดาไข่  ให้เลือกวันที่ครึ้มฟ้าครึ้มฝน  หรือวันที่ฝนตกพรำ ๆ หรือเลือกวันที่ฝนตกหนัก ๆ แล้วดำเนินการเร่งให้แมลงดาไข่ ซึ่งทำได้ดังนี้

1.  ทดน้ำเข้าในบ่อให้มีระดับ 90 เซนติเมตร หรือเกือบเต็มบ่อ

2.  เก็บไม้ที่ใช้ทำให้แมลงดาเกาะออก ให้ท่อนนุ่นหรือท่อนกล้วยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-10 เซนติเมตร ลอยในน้ำแทน

3.  ใช้ไม้ไฟ่เหลาขนาดกว้าง 2-3 มิลลิเมตร ยาว 20 เซนติเมตร ท่อนไม้ ห่างกันประมาณ 10 เซนติเมตร เป็นแถว ๆ

4.  ทิ้งไว้ 2-3 วัน  แมลงดานาจะวางไข่ติดไว้บนไม้

5.  นำแม่พันธุ์พ่อพันธุ์แมลงดานาออกจากบ่อเลี้ยงไปไว้ยังบ่ออื่น หรือจำหน่ายไปเมื่อไข่มีอายุได้ 8 วัน แล้ว

6.  จัดการดูแลลูกแมลงดานาจนถึงขนาดที่จะขายได้ต่อไป

3.  บ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์แมลงดานา

บ่อนี้เป็นบ่อเลี้ยงแมลงดานาบ่อที่ 2  สำหรับผู้ที่ต้องการจะเพาะเลี้ยงลูกแมลงดานา  โดยเพิ่มจำนวนอีก พ่อแม่แมลงดานารุ่นแรกจะสามารถไข่ได้อีก 2-3 ครั้ง  นำแมลงดานาที่วางไข่แล้วมาเลี้ยงในบ่อใหม่ ประมาณ 1 เดือน แมลงดานาจะผสมพันธุ์แลวางไข่อีก ถ้าย้ายไปเรื่อย ๆ แมลงดานาก็จะออกไข่ได้อีกจนถึงเดือนตุลาคมแมลงดาจะหยุดออกไข่  ดังนั้นผู้เลี้ยงแมลงดาควรจะมีหลาย ๆ บ่อเพื่อจะได้สับเปลี่ยนหมุนเวียนขายตลอดปี  การย้ายลูกแมลงดานาไปเลี้ยง  ในบ่ออื่นเป็นอันตรายต่อลูกแมลงดานาที่ออกใหม่เป็นอย่างยิ่ง แต่อีกวิธีการหนึ้งคือ ขนไข่ไปไว้ในบ่ออื่นในวันที่ 6 ของการออกไข่ก็สามารถทำได้  แต่แม่แมลงดานามักจะไข่ครั้งต่อไปช้าหรือไข่น้อยกว่าปกติ เพราะการไข่ของแมลงดานา ถ้าเปลี่ยนสภาพแวดล้อมด้วยการไข่ของแมลงดาจะดีขึ้น

4.  การดูแลลูกอ่อนแมลงดานา

ลูกแมลงดานาเมื่อออกมา 2-3 วันแรกจะไม่กินอาหาร จะกินอาหารในวันที่ 4  อาหารของลูกแมลงดานา คือ ลูกอ๊อด(ฮวกหรือไอ้ฮวก) ทุกชนิด แต่ไม่ควรใช้ลูกอ๊อดคางคด(ตัวสีดำ) เพราะอาจจะเป็นอันรายต่อแมลงดานา ปลาซิวหรือลูกกุ้งก็เป็นอาหารลูกแมลงดานาได้อีกทางหนึ่ง ระยะตัวเล็กนี้ ลูกแมลงดานากินอาหารค่อนข้างจุและมีเศษเหลือมาก ดังนั้นควรเปลี่ยนน้ำทันทีที่ได้กลิ่นน้ำเสีย การให้อาหารควรให้ตอนเย็นเพียงครั้งเดียวก็พอ ไม่ควรรบกวนลูกแมลงดานามากนัก  โดยเฉพาะในช่วงที่ลอกคราบลูกแมลงดานาจะอ่อนแอมาก  ดังนั้นระวังการเข้าออกในโรงเรือนให้ดี ส่วนการเลี้ยงดูแมลงดานาวัยรุ่น  คือหลังจากลอกคราบแล้วให้ถือตามคำแนะนำบทต้น ๆ ที่กล่าวมาแล้ว อัตราปล่อยลูกแมลงดานาควรเป็นอัตรา 500-1,000 ตัวต่อ พื้นที่ 1 ตารางเมตร พื้นที่ผิวน้ำ)

ปฎิทินการจัดการฟาร์มแมลงดานา

สมมติว่าท่านได้เป็นเจ้าของฟาร์มแมลงดานาแล้วท่านจะทำอย่างไร  ในที่นี้ใคร่ขอแนะนำแนวการวางแผนการทำงานให้ท่านเป็นแนวทางดังนี้ ใครจะทำตามหรือไม่ แล้วแต่โอกาส

1.  เลี้ยงแบบครบวงจร

เดือนกันยายน – ตุลาคม                 รวบรวมพ่อพันธุ์แม่พันธุ์แมลงดานา

เดือนพฤศจิกายน – มีนาคม            เลี้ยงดูพ่อแม่พันธุ์แมลงดานา

เดือนเมษายน-พฤษภาคม               เตรียมบ่อเพื่อให้แมลงดานาไข่

เดือนมิถุนายน                                ให้แมลงดานาไข่รุ่นที่ 1 ย้ายแม่พันธุ์ไปคอกอื่น เลี้ยงดูลูกอ่อน

เดือนกรกฎาคม                              ให้แมลงดานาไข่รุ่นที่ 2 ย้ายแม่พันธุ์พ่อพันธุ์ออกเลี้ยงดูลูกรุ่น ที่ 2 เริ่มขายลูกรุ่นที่ 1

เดือนสิงหาคม                                ให้แม่พันธุ์ไข่รุ่นที่ 3 ย้ายแม่พันธุ์ เลี้ยงดูลูกรุ่นที่ 3 ขายรุ่นที่ 1 และ 2

เดือนกันยาย-ตุลาคม                      ให้แมลงดานาออกไข่ครั้งที่ 4 ขายแม่พันธุ์เลี้ยงดูรุ่นที่ 4 ไว้ขายเก็บรุ่นที่ 1,2 ไว้ขาย แบ่งรุ่นที่ 4 ไว้ทำพันธุ์

2.  การเลี้ยงแบบสมัครเล่น

เดือนเมษายน-พฤษภาคม               รวบรวมพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติ ใช้ไฟล่อหรือซื้อจากตลาดเข้าขังไว้ในบ่อ

เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม                แมลงดานาออกไข่จับแม่พันธุ์ขาย หรือเก็บไว้บ่อใหม่

เดือนสิงหาคม-กันยายน                  กักตุนลูกไว้เป็นแม่พันธุ์หรือขายทั้งหมด

เดือนตุลาคม-มีนาคม                      ขายแมลงดานา

 

ดังนั้น เราจะมีแมลงดานาขายตลอดปี และมีปริมาณสม่ำเสมอหรือถ้าฤดูฝนแมลงดานาราคาถูกก็ให้กักตุนไว้ขายในฤดูแล้งได้  โดยไม่ทำให้แมลงดานาเป็นอันตราย

จะเห็นได้ว่าการเลี้ยงแมลงดานา นั้นเป็นงานที่ง่ายไม่ต้องการความพิถีพิถันอะไรมากนัก  และทุกคนสามารถทำได้ แต่ผู้ที่จะประสบผลสำเร็จได้นั้นต้องเป็นผู้เอาใจใส่หมั่นตรึกตรองหาหนทาง และวิธีการใหม่ ๆ มาปรับปรุงใช้อย่างรอบคอบอยู่เสมอเท่านั้น

“งานเกษตรไม่มีใครรู้ดี ไปกว่าผู้ที่ปฏิบัติอยู่อย่างสม่ำเสมอ”