โรคผลเน่าที่เกิดจากเชื้อDiplodia

(Diplodia fruit rot)

โรคนี้ส่วนใหญ่จะทำลายผลแตง แต่ก็อาจ เป็นกับต้นหรือเถาได้ด้วยในบางสภาวะ โดยส่วนใหญ่จะพบเป็นกับแตงกวา แตงร้าน แตงโม แคนทาลูป แตงไทย

อาการโรค

ที่ผลอาการจะเริ่มขึ้นตรงจุดที่ติดกับขั้วหรือก้าน โดยเนื้อส่วนนั้นจะอ่อนนุ่มเกิดอาการแผลฉ่ำน้ำขึ้น ต่อมาแผลจะขยายลุกลามกว้างขึ้นอย่างรวดเร็วจนทั่วทั้งผลในที่สุด ทำให้เกิดอาการผิดปกติ เปลือกหรือผิวเหี่ยวย่นยุบลงแล้วแห้งเป็นสีดำ หากอากาศชื้นจะพบว่ามีเส้นใยสีเทาเข้มขึ้น คลุมทั่วทั้งผลที่เน่านั้น

การเข้าทำลายของเชื้อส่วนใหญ่จะเข้าโดยผ่านทางแผล หลังจากนั้นก็จะไปทำลายเนื้อเยื่อเกิดเป็นแผลจุดสีซีดหรือเหลืองอ่อนขึ้น เมื่อแผลขยายโตขึ้นตอนกลางจะเป็นสีดำ พร้อมกับแตกออกหรือไม่ก็เกิดเป็นรอยย่น และจะปรากฏ fruiting body (pycnidia) เป็นจุดสีดำเล็กๆ ทั่วไปที่ผิวส่วนด้านใต้เปลือกลงไปจะมีขั้นของ stroma สีดำของราเกิดขึ้น อาการปกติจะมีลักษณะเน่าแห้ง นอกจากจะมีพวกเชื้อเน่าเละ เข้าไปซํ้าเติมภายหลัง

สำหรับส่วนของต้นหรือเถาหากถูกเชื้อเข้าทำลาย จะเกิด อาการเน่าสีน้ำตาล เถาจะเหี่ยวย่นอ่อนตัว เมื่อใช้นิ้วจับหรือกดดูจะคล้ายๆ กับไส้กลวง แตงที่ถูกทำลายที่ต้นนี้ หากเกิดขึ้นตรงบริเวณโคน จะทำให้ตายทั้งต้น

เชื้อสาเหตุโรคคือ D. gossypina นี้ นอกจากแตงแล้วยัง พบว่าเป็นชนิดเดียวกับพวกที่ทำลายเปลือกขั้นนอกของหอมใหญ่ด้วย โดยจะทำให้เปลือกมีสีเข้มหรือดำแห้งเป็นแผ่นเหนียวคล้ายหนัง พร้อมกับมี fruiting body เกิดอยู่ทั่วไป และเมื่อลอกเปลือกออกจะพบว่าใต้เปลือกไปมีเส้นใยของราเจริญติดกันเป็นแผ่นคลุมอยู่

สาเหตุโรค : Diplodia gossypina

ขยายพันธุ์ได้โดยการเกิดสปอร์ภายใน fruiting body

รูปคนโท (pycnidia) สปอร์ที่เกิดจะมีลักษณะเป็นแท่งสั้นๆ หัวท้ายมน ภายในมีผนังกั้นแบ่งออกเป็นสองเซลล์ เมื่อแก่ก็จะถูกดันให้หลุดออกจาก pycnidia ระบาดแพร่กระจายออกไปได้โดยลม น้ำ แมลง เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ และสิ่งที่เคลื่อนไหวทุกชนิดที่ไปถูกต้องสัมผัส การเข้าทำลายพืชเริ่มตั้งแต่สปอร์งอกจนเกิดอาการจะกินเวลาประมาณ 7 วัน

ในอาหารเลี้ยงเชื้อจะเจริญเติบโตได้ในอุณหภูมิตั้งแต่ 7-40°ซ. ส่วนในธรรมชาติทั้งการเจริญเติบโตและการ infection อยู่ระหว่าง 13 – 35° ซ. และจะดีที่สุดที่อุณหภูมิระหว่าง 30 – 32°ซ.

การป้องกันกำจัด

1. เก็บทำลายลูก ต้นหรือเถาแตงที่เป็นโรคพร้อมทั้งวัชพืชตระกูลแตงให้หมดจากบริเวณแปลงปลูก

2. ปรับปรุงดินแปลงปลูกให้มีการระบายนํ้าที่ดีและสะอาดอยู่เสมอ

3. การเก็บเกี่ยวควรตัดให้เหลือก้านที่ผลให้ยาวพอสมควร และใช้มีดคมตัดให้ขาดเพียงครั้งเดียวเพื่อไม่ให้ช้ำ หลังจากนั้นให้ทารอยตัดทั้งที่ต้นและขั้วผลด้วยสารละลายคอปเปอร์ซัลเฟต (CuSO4) ที่ข้นเหนียว เพื่อกันไม่ให้เชื้อราเข้าไปภายใน โดยผ่านทางแผลดังกล่าวได้ง่ายขึ้น (ยาคอปเปอร์ซัลเฟต เตรียมได้โดยผสม CuSO4 60 กรัมในน้ำ 1 ลิตร กับแป้ง 45 กรัมที่ผสมกับน้ำ 100 มล.)

4. เมื่อเกิดโรคขึ้นให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมีเช่นเดียวกับ anthracnose และ Alternaria blight

5. ในการเก็บเกี่ยวหรือขนส่งแตงออกสู่ตลาดระวังอย่าให้เกิดแผลหรือรอยช้ำขึ้นกับผลแตงเหล่านั้น ซึ่งจะเป็นช่องทางให้เชื้อเข้าทำลายได้โดยง่าย ห้องหรือโรงเรือนที่เก็บควรให้มีอุณหภูมิต่ำกว่า 15°ซ.