ขนุนพันธุ์ดีอินโดนีเซีย

ในโอกาสที่ได้ไปประชุมเรื่องไม้ผลเขตร้อน เศรษฐกิจของอินโดนีเซีย  ได้เห็นนิทรรศการเรื่องขนุน  ซึ่งมีพันธุ์ปลูกมากมาย ก็อดไม่ได้ที่จะคิดถึงชาวสวนของเรา  ก็เลยเก็บเอาข่าวสารมาฝากบอกกันบ้าง  อย่างน้อยก็ขอให้ได้รับทราบกันว่า  ของเขามีพันธุ์อะไรบ้าง รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ส่วนรสชาตินั้นผมได้ชิมไม่ครบทุกพันธุ์หรอกครับและก็ขอบอกไว้เลยว่า  ผมไม่ได้เอากิ่งพันธุ์มาเลย  ฉะนั้นผู้ที่สนใจก็ไปเสาะแสวงหากันเอาเองนะครับ ตามแต่โอกาสของแต่ละคน

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ มีพื้นที่มากถึง 1,190 ล้านไร่ คือมีพื้นที่เป็นอันดับที่ 11 ของโลก มีเกาะมากที่สุดในโลกเกือบสองหมื่นเกาะ (ไม่รู้ว่านับตอนน้ำขึ้นหรือว่าน้ำลง) ประกอบกับอยู่ในเขตมาสุมใกล้เส้น ศูนย์สูตร  จึงมีโอกาสที่จะมีพืชพรรณต่าง ๆ และมีพันธุ์หลากหลายกันออกไปมากมาย ขนุนก็เช่นกัน มีหลายพันธุ์มาก อันอาจเนื่องมาจากการขยายพันธุ์โดยเมล็ด  จึงทำให้ได้สายพันธุ์ใหม่แตกต่างกันออกไปตามลำดับ  การจะไปเลือกหาขนุนพันธุ์ดีในแต่ละเกาะไม่ใช่ของง่าย เพราะชาวเกาะส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้  ถึงแม้ว่าจะมีอัธยาศัยดีมากเพียงใดก็ตาม  หลายครั้งที่ผมเดินทางไปในเกาะต่าง ๆ ของอินโดนีเซีย  เมื่อหาล่ามแปลไม่ได้ต้องอาศัยภาษาใบ้ ยิ้มเข้าไว้ บางครั้งก็ต้องแจกรูเปียห์ (เงินอินโดนีเซีย 2,200 รูเปียห์เท่ากับ 25 บาท) และท้ายที่สุดก็ต้องกล่าวคำว่า “เทเรมากาซี่” คือ ขอบคุณครับ

เมื่อ 3-4 ปีมาแล้วขนุนจากมาเลเซียพันธุ์หนึ่งก็เข้ามาโด่งดังในเมืองไทย จนผู้ที่นำเข้ามาทำการขยายพันธุ์อย่างเป็นล่ำเป็นสันแล้วจำหน่ายได้ไปหลายเงิน

จากการสังเกต พบว่าขนุนจากอินโดนีเซียหรือจากมาเลเซียหลาย ๆ พันธุ์  มีความใกล้เคียงกับขนุนจากทางภาคใต้ของไทย  ไม่ว่าจะเป็นขนุนทองนาทวี หรือขนุนจากเกาะยอ จ.สงขลา คือผลกลมรี ขนาดใหญ่แกนใหญ่ ยวงหนา ยาวและใหญ่ มีทั้งสีเหลืองและสีจำปา ส่วนความแฉะและความหวานก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ปลูก การบำรุงรักษา และอายุการเก็บเกี่ยว

เป็นที่ยอมรับกันว่า พื้นที่ปลูกมีความสำคัญต่อคุณภาพของขนุนเพราะถึงแม้ว่าจะเป็นพันธุ์เดียวกัน  บำรุงรักษาเหมือนกันและตัดเมื่ออายุเท่ากัน พบว่าคุณภาพของเนื้อแตกต่างกันออกไป  ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในขนุนของไทยหลาย ๆ พันธุ์  จากการได้พูดคุยกับนักวิชาการของเขาก็ทราบว่าขนุนของเขาก็เป็นเหมือน ๆ ของเรา

ในเรื่องต้นตอของขนุน  ยังไม่มีการวิจัยกันอย่างจริงจัง รวมทั้งยังไม่มีรายงานเป็นหลักฐาน  จึงมักจะมีการกล่าวกันว่า  การใช้ต้นตอขนุนพันธุ์นั้น พันธุ์นี้ แล้วดีหรือไม่ดี หรือมีลักษณะผิดเพี้ยนไป การใช้เมล็ดพันธุ์เดียวกันเป็นต้นตอ  จะดีหรือไม่ก็ยังไม่ขอยืนยัน แต่ที่แน่ ๆ คือ การใช้ต้นตอหลายต้นแบบเสริมราก  จะช่วยให้ได้ต้นที่แข็งแรง  เจริญเติบโตได้เร็วอย่างเห็นได้ชัดเจน

เนื่องจากปัญหาฝนตกชุกเกือบตลอดทั้งปี  การปลูกขนุนในอินโดนีเซียจึงต้องเลือกพื้นที่ดอน หรือระบายน้ำดี จะพบว่าขนุนส่วนมากเป็นขนุนหนัง เนื้อแฉะ หวานจัด กลิ่นแรง เนื้อและง่าย ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของเขา และคนของเขาก็ยอมรับลักษณะเหล่านี้กันโดยปริยาย  แต่ขนุนที่คนไทยชอบคือ ผลค่อนข้างใหญ่ กลมรี ยวงใหญ่ เนื้อหนา เนื้อแห้งสีเข้ม ซังน้อย แกนเล็ก รสหวานกลิ่นหอม

จากคุณสมบัติของขนุนที่คนไทยทั่วไปชอบกันอยู่นี้จะหาได้ค่อนข้างยากในอินโดนีเซีย  แต่ก็มิใช่ว่าจะหาไม่ได้เราก็เลือกจากในงานนิทรรศการ  ในงานประกวดและก็ตามลงไปดูแปลงปลูกเมื่อมีโอกาส จากนั้นก็ฉวยโอกาสขอซื้อ ขอชิมเอาดื้อ ๆ อย่างนั้นแหละ

ส่วนใหญ่เกษตรกรอินโดนีเซียจะใจดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับต่างชาติถึงแม้ว่าจะใช้ภาษาใบ้ติดต่อกันก็ตาม ปัญหาอีกอย่างคือเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรระดับยากจน ปลูกพืชแบบยังชีพ มีการปลูกขนุนไว้ตามข้างบ้านเพียงบ้านละ 1-2 ต้น เมื่อต้นใด มีลักษณะดีก็จะแบ่งปันเมล็ดกันไปปลูกไม่มีการขยายพันธุ์ไว้จำหน่าย การหวังว่าจะได้ซื้อกิ่งทาบ กิ่งเสียบยอด จึงไม่ต้องไปหวังและถ้าเขาเขียนชื่อพันธุ์ให้ดู ก็อย่าหวังว่าจะได้ตรงตามพันธุ์นะครับ เพราะว่าเขาขยายพันธุ์โดยเมล็ด

แนวทางที่เป็นไปได้คือดูลักษณะภายนอก  ถ้าเห็นว่าดีก็ติดต่อขอซื้อผลแก่ หรือขอชิมยวงขนุน  ถ้าลักษณะภายในดีตรงตามความต้องการอีกละก็ให้ติดต่อขอหรือขอซื้อยอด แล้วใช้กระดาษทิชชูพันโคนกิ่ง  พรมน้ำใส่ถุงพลาสติก  นำมาเสียบยอดในเมืองไทย  งานแบบนี้จึงต้องเตรียมต้นตอไว้ให้พร้อมก่อนด้วย

การนำยอดหรือกิ่งพันธุ์หรือต้นตอจากอินโดนีเซีย  ซึ่งเป็นประเทศที่มีความชื้นสูงทั้งในดินและในอากาศเอามาปลูกในเมืองไทย  ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูแล้ง  มีความชื้นในอากาศต่ำมาก  ถ้าไม่ควบคุมความชื้นให้ดี ไม่นำเข้ากระโจมหรือไม่ได้ใช้ระบบพ่นหมอก รับรองได้เลยครับว่ากลับบ้านเก่าทั้งหมด

ทางที่ดีที่สุดคือ เข้าไปในสถานีเกษตร หรือศูนย์ขยายพันธุ์ไม้ผล เพราะจะมีการขยายพันธุ์โดยการทาบกิ่ง  มีการตรวจสอบลักษณะประจำพันธุ์มีการรับรองพันธุ์  แต่ว่าการจะติดต่อขอแบ่งปันกิ่งพันธุ์ และจ่ายค่าสมนาคุณให้เจ้าหน้าที่เป็นเงินเท่าใดนั้น เป็นเทคนิคความสามารถส่วนตัวของแต่ละคนนะครับ วิธีการของใครก็ของมัน  ถ้าบรรยายออกมาจะกลายเป็นการเอามะพร้าวห้าวไปขายสวนเสียเปล่า ๆ

ภาษาอินโดนีเซียเรียกขนุนว่านังกา (nangka) และเรียกจำปาดะว่าเจมปีดัค (cempedak)

พันธุ์ขนุนที่คัดเลือกแล้วพอจะเหมาะสมต่อคนไทย ได้แก่ พันธุ์แคนเดล (Kandel) มีผลใหญ่เฉลี่ย 12-15 กิโลกรัม ผลกลมรี เปลือกสีเขียวอ่อน ส่วนใหญ่ติดผลใกล้ผิวดินหรือตามกิ่งแก่ ไม่ค่อยพบติดผลตามกิ่งขนาดเล็ก ยวงใหญ่ เนื้อหนา สีเหลืองเข้ม เนื้อแห้ง ซังน้อย แกนเล็ก รสหวานแหลม ถ้าเก็บแก่จัดเนื้อมักจะแฉะและรสจืดเขาบอกว่าให้เก็บก่อนแก่จัดนำมาบ่มจะอร่อยกว่า

พันธุ์สะลัค (Salak) ขนาดและสีของผลคล้ายกับพันธุ์แคนเดล แต่มีแกนใหญ่กว่าเนื้อมีสีเหลืองเข้มเหมือนกัน ยวงใหญ่ เนื้อไม่ค่อยหนานัก เป็นพันธุ์ที่ปลูกทั่วไป และนิยมนำยวงมาฉีกเป็นฝอย ๆ ใส่ในขนมหวานและใส่ในรวมมิตร  ซึ่งมีรสหวานจัดและมีกลิ่นหอมดี

พันธุ์ดูลัง (Dulang) ขนาดผลค่อนข้างกลมดีกว่าพันธุ์สะลัค มีซังน้อย ส่วนลักษณะอื่น ๆ คล้ายกับพันธุ์สะลัค จัดเป็นพันธุ์ดีเด่นอีกพันธุ์หนึ่ง

พันธุ์บิลูลัง (Bilulang) ผลขนาดกลาง เฉลี่ย 8-12 กิโลกรัม ผลดกเปลือกผลสีเขียวอมเหลือง ยวงมีขนาดเล็กกว่าพันธุ์แคนเดล เนื้อหนาสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอมแรง รสหวานแหลม

พันธุ์สีจำปา แต่คนอินโดนีเซียกลับเรียกว่า “พันธุ์สีแดง” (merah) เปลือกผลเมื่อแก่สีเหลืองเข้ม มีผลขนาดกลางเฉลี่ย 8-12 กิโลกรัม แกนเล็ก ยวงอ้วนสั้น เนื้อหนา สีจำปาหรือสีเหลืองอมส้ม ซึ่งสีเหลืองรสหวานแหลม กลิ่นหอมแรง

จำปาดะพันธุ์บูอาห์ (Buah)  ผลเฉลี่ยหนัก 6-8 กิโลกรัม ผลกลม ยาวรี หนามใหญ่แหลม เปลือกสีเขียวอ่อน ยวงกลมสั้น เนื้อสีเหลืองเข้ม รสหวานจัด กลิ่นแรงมาก เมื่อแก่จัดเนื้อเละ จึงต้องตัดก่อนแก่จัด

ในขณะที่ขนุนกำลังกลายเป็นไม้ผลเศรษฐกิจตัวใหม่ของไทย เป็นไม้ผลที่เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนกับสภาพสิ่งแวดล้อมที่แห้งแล้ง  ในขณะเดียวกัน ขนุนก็เป็นพืชที่สามารถตัดแต่งกิ่ง  จัดให้กิ่งมีรูปทรงมีจำนวนกิ่งและมีทรงพุ่มได้ตามต้องการ  นอกจากนี้เกษตรกรยังสามารถตัดแต่งผลอ่อน เอาไว้ตามจำนวนและช่วงเวลาที่ต้องการได้ จึงเป็นไม้ผลอีกชนิดหนึ่งที่สามารถกำหนดช่วงเวลาการแก่ของผลได้ตามต้องการ

การรวบรวมพันธุ์ขนุนจากทุกสถานที่เป็นสิ่งที่เจ้าของสวนและนักขยายพันธุ์นิยมกระทำ  แต่หลังจากได้ทดสอบพันธุ์ไประยะหนึ่งแล้ว อาจจะมีเพียงไม่กี่พันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพนั้น ๆ  จนกลายเป็นพันธุ์ดีเด่นประจำถิ่น  ส่วนพันธุ์ที่ไม่ดีเด่นหรือไม่เหมาะสม  ก็อาจจะไปดีเด่นหรือเหมาะสมในอีกสถานที่หนึ่งก็ได้ การรวบรวมพันธุ์จากต่างประเทศ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง  สำหรับวิธีการปรับปรุงพันธุ์ขนุนในบ้านเรา  ซึ่งกระผมได้แนะนำชื่อพันธุ์และแสดงรูปร่างหน้าตาให้เห็นกันไว้บ้างแล้ว แล้วถ้าใครได้พันธุ์ดีกว่านี้มาอีกจะบอกข่าวหรือแบ่งปันกิ่งพันธุ์กันบ้างก็ดีนะครับ…

เรื่อง:ดร.ปิยะ  เฉลิมกลิ่น

สาขาวิจัยอุตสาหกรรมการเกษตร

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย