ปลูกสะละต้องอ้างอิงข้อมูลปาล์ม

เมื่อเดือนที่แล้วผู้เขียนแวะไปเยี่ยมคุณสุขวัฒน์  จันทรปรรณิก  และคณะที่ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี  จากการคุยกันเรื่องสถานภาพของการปลูกสะละได้ข้อสรุปว่า สะละยังเป็นที่นิยมของชาวสวนและของผู้ที่อยากจะเป็นชาวสวนอยู่เช่นเดิม  เนื้อที่ปลูกเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอจนทำให้ราคาต้นพันธุ์สูงขึ้นจากต้นละ 300 บาท เป็น 350 บาท และเพื่อเป็นการสะกิดให้วงสนทนาได้คิดหนัก ๆ อีกสักครั้ง ผู้เขียนจึงกล่าวเป็นเชิงหยิกแกมหยอกว่า “สะละของคุณมันดีหรือมันดังกันแน่  เพราะในเมืองไทยของดีไม่จำเป็นต้องดัง  ของดังไม่จำเป็นต้องเป็นของดี ยันตระเอย, ภาวนาพุทโธเอย ยังดังได้” ก็ได้รับคำตอบว่า “สะละทั้งดีทั้งดังครับ”

การที่ชาวสวนหันมาปลูกสะละกันมากขึ้น ๆ เช่นนี้ ผู้เขียนชักเป็นห่วง  เหตุที่ห่วงเพราะมานั่งนึกว่าจำนวนชาวสวนที่ปลูกสะละเพิ่มขึ้นเนื้อที่ปลูกก็เพิ่มขึ้น ๆ แต่จำนวนนักวิชาการที่มีหน้าที่ค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวด้วยเรื่องของสะละดูจะไม่เพิ่มขึ้นตามกระแสความต้องการความรู้เรื่องสะละของชาวสวนเพราะมีอัตรากำลังจำกัด  คิดแล้วให้เกิดความเห็นใจศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรีเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ยังเป็นโชคดีของศูนย์นี้อยู่หน่อยหนึ่งตรงที่ชาวสวนที่หันมาปลูกสะละนั้น  ส่วนมากจะเป็นชาวสวนหัวก้าวหน้าที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ระดับหนึ่งเป็นการคลายภาระของศูนย์ไปได้บ้าง

ความเป็นห่วงเรื่องการผลิตความรู้เรื่องสะละจะไม่ทันกับความต้องการของผู้ปลูกได้ติดตามผู้เขียนมาจนถึงบ้าน นั่งคิดวกไปเวียนมาจนนึกขึ้นได้ว่ามีคำพังเพยไทยอยู่บทหนึ่งที่น่าจะเข้ากับเรื่องนี้ได้ คำนั้นก็คือ “ดูนางให้ดูแม่ เอาให้แน่ต้องดูถึงยาย” นี่ก็หมายความว่า เมื่อลูกสาวอายุน้อยยากที่จะรู้นิสัยใจคอก็ให้ดูนิสัยแม่ที่อายุมากกว่า เมื่อดูแม่แล้วยังไม่แน่ใจก็ดูเลยไปถึงยายที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานานกว่าแม่ คำพังเพยนี้ทำให้คิดไปได้ว่าสะละเป็นพืชที่เริ่มปลูกกันใหม่ ความรู้เรื่องการปลูกการดูแลรักษาก็หายาก  ถ้าอย่างนั้นการที่จะนั่งรอใช้ความรู้ที่เกิดจากงานวิจัยสะละโดยตรงคงไม่ทันกิน อย่ากระนั้นเลยเรามาเรียนรู้เรื่องของปาล์มที่มีคนศึกษาไว้มากมาย แล้วเอาความรู้นั้นมาปรับใช้กับสะละก่อนจะได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย ที่ใช้ปาล์มเป็นแม่ เป็นยาย ก็เพราะเห็นว่าสะละก็เป็นปาล์มพวกหนึ่งน่าจะมีนิสัยใจคอใกล้เคียงกับปาล์มและที่ให้เอาความรู้จากปาล์มมา”ปรับใช้” ก็เพราะว่านิสัยของปาล์มคงไม่เหมือนนิสัยของสะละไปเสียทุกเรื่อง การสังเกตุและรู้จักเลือกใช้จึงจะได้ประโยชน์จึงใช้ชื่อเรื่องว่า “ปลูกสะละต้องอิงข้อมูลปาล์ม”

พืชพวกปาล์มมีหลายชนิด : หมาก ตาล ลาน ค้อ จาก สาคู แต่ที่รู้จักกันดีดูจะมีอยู่ 2 ชนิดคือ ปาล์มน้ำมันและมะพร้าว ทั้ง 2 ชนิดนี้มีการปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของโลกมานมนานเทียบได้กับข้าวของเราเลยทีเดียว ด้วยที่เป็นพืชสำคัญและเก่าแก่จึงมีผลงานวิจัยที่ต่างประเทศทำไว้มากมาย ผู้เขียนจึงเสาะหามาเล่าสู่กันฟัง โดยมีความคิดเห็นของผู้เขียนแทรกอยู่ในตอนท้ายของแต่ละหัวข้อ

ลักษณะแปลกในปาล์มน้ำมัน

มีอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกปาล์มแทงทางใบออกมาแต่ใบไม่ยอมคลี่ ซึ่งในสะละก็เหมือนกัน  ลักษณะใบเช่นนี้ภาษาปาล์มเรียก “idolatrica” เป็นคำภาษากรีกหากแปลเป็นไทยคงจะเรียก “ใบไหว้” หรือ “ใบพนมมือ” อย่างที่สองตาที่โคนกาบใบซึ่งปกตกจะเจริญออกมาเป็นทะลายผล แต่กลับเจริญออกมาเป็นต้น ในสะละก็มีบ่อย ๆ เราสามารถตัดออกมาปลูกเป็นต้นสะละได้  ลักษณะเช่นนี้ภาษาปาล์มน้ำมันเรียก “vivipary” มาจากภาษาลาติน  หากแปลเป็นไทยก็น่าจะเป็น “ลูกติดแม่”

จำนวนใบที่ออกในรอบปีของปาล์มน้ำมัน

เนื่องด้วยจำนวนใบที่ออกต่อปีมีผลต่อผลผลิตของปาล์มน้ำมัน  จึงมีการศึกษาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการออกใบของปาล์มน้ำมัน  จากการศึกษาพบว่า

1.  ปาล์มในที่ร่มให้จำนวนใบต่อปีน้อยกว่าปาล์มในที่แจ้ง  ผลผลิตจึงต่ำ ข้อนี้น่าจะเป็นจริงกับสะละ

2.  ปาล์มต้นสูงและปาล์มอายุมาก  การออกจำนวนใบต่อปีจะลดลงข้อนี้ไม่แน่ใจว่าจะเป็นจริงในสะละหรือไม่ เพราะสะละทอดต้นไปตามพื้นดินแหล่งปลูกก็มักจะต้องสมบูรณ์ไปด้วยความชุ่มทั้งดิน ชื้นทั้งอากาศ

3.  หากแสงไม่เพียงพออันเกิดจากมีร่มเงาก็ดี  จากการมีเมฆหรือท้องฟ้าสลัวมากในรอบปีก็ดี ใบปาล์มก็อาจหยุดแตกได้เช่นกัน

อิทธิพลของแสงต่อการเกิดทะลายดอกปาล์มน้ำมัน

ก่อนอื่นท่านผู้อ่านต้องทราบก่อนว่าในปาล์มน้ำมันนั้นมีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ในต้นเดียวกัน แต่อยู่กันคนละช่อไม่เหมือนสะละที่ช่อดอกตัวผู้และตัวเมียอยู่กันคนละต้นจากการศึกษาเขาพบว่า

1.  ในแหล่งที่ได้รับแสงแดดเต็มที่  สวนปาล์มแก่ที่ปลูกเป็นอุตสาหกรรมผืนใหญ่ (mature plantation palm) ช่อดอกจะเป็นหมัน (ตายก่อนแก่ หรือผสมไม่ติดผล) 5-10℅ แต่ในสวนชาวบ้านรายเล็กรายน้อย (grove palm) ช่อดอกจะเป็นหมัน 10-20℅ แต่หากแสงน้อยการเป็นหมันในสวนชาวบ้านจะสูงถึง 80-100℅ เข้าใจว่าเพราะสวนชาวบ้านขาดการดูแล  มีทั้งร่มเงามากและขาดน้ำนั่นเอง

2.  ปาล์มที่อยู่ใต้ร่มเงาทุกอายุอัตราการปรุงอาหารจะลดลงเป็นผลให้อัตราการเจริญเติบโตของต้นลดลงด้วย

3.  หากให้ร่มเงาปาล์มแก่ การผลิตช่อดอกตัวเมียจะลดลงด้วย  ข้อที่ฟังดูคล้ายกับว่า หากปาล์มหรือสะสมได้รับแสงเพียงพอจะเกิดช่อดอกตัวเมียมาก  ในทางตรงข้ามหากแสงไม่เพียงพอจะเกิดช่อดอกตัวเมียน้อย

4.  การตัดทางปาล์มของต้นข้างเคียงจะช่วยเพิ่มช่อดอกตัวเมียทั้งนี้เป็นเพราะปาล์มได้รับแสงมากขึ้น ข้อนี้เป็นการเตือนนักปลูกสะละว่าโปรดคิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจใช้ระยะปลูก 3×3 4×4 5×5 หรือ 6×6 เมตร  จำนวนต้นต่อไร่ยิ่งสูงมิใช่ยิ่งมีกำไรสูงเสมอไปมิใช่หรือ โปรดจำคำของนักเศรษฐศาสตร์ที่ว่า “ขนาดของธุรกิจ (จำนวนเนื้อที่ปลูกและ/หรือจำนวนต้นต่อพื้นที่ปลูกมีจุดกำไรถอยกด”

อิทธิพลของอุณหภูมิที่มีต่อการเติบโตของต้นและของทะลายปาล์ม

ปาล์มน้ำมัน(และสะละ)เป็นพืชเมืองร้อนอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงไม่ชอบอากาศเย็นอย่างแน่นอน การปลูกสะละที่เชียงใหม่หรือบนเขาที่อุตรดิตถ์คงได้ผลสู้ทางจันทบุรีและทางจังหวัดในภาคใต้ไม่ได้  จากข้อมูลที่หามาได้มีว่า

1.  กล้าปาล์มน้ำมันที่อยู่ในอุณหภูมิเฉลี่ย 15°เซลเซียสจะหยุดการเจริญเติบโต

2.  กล้าปาล์มน้ำมันที่เลี้ยงไว้ในอุณหภูมิ 25° และ 20° เซลเซียส จะโตเร็วเป็น 7 เท่าและ 3 เท่าของที่อยู่ในอุณหภูมิ 17.5°เซลเซียสตามลำดับ

3.  ในที่หนาวเย็น (อุณหภูมิต่ำ) อาจทำให้

–  การพัฒนาของทะลายช้าลง ข้อนี้ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าหมายถึงอายุตั้งแต่ปลูกจนออกทะลายช้าลง หรือว่าการยืดตัวของทะลายจนถึงดอกปาล์มทำหน้าที่ได้ช้าลง

–  ตาดอกเป็นหมันมากขึ้น  ข้อนี้คงหมายถึงทำให้เกิดดอกตัวเมียน้อยลง

การออกดอกและผลผลิตของปาล์มน้ำมัน

การออกดอก

–         จากการศึกษาพบว่าสภาพดินฟ้าอากาศ (ร้อน เย็น ชื้น แห้ง) และจำนวนทางใบที่ออกต่อต้นต่อปีมีความสำคัญมากต่อจำนวนทะลายและต่ออัตราส่วนของเพศดอก (จำนวนช่อดอกตัวเมีย:จำนวนช่อดอกทั้งหมดในรอบปี) ในปาล์มน้ำมันการแท้งของช่อดอก (คงจะหมายถึงช่อดอกแห้งตาย เพราะไม่เกิดดอกที่มีชีวิต) เกิดขึ้นระหว่างระยะที่เป็นรูปหัวหอกกับระยะผสมเกสร  อาการแท้งจะเป็นมากในระหว่างแล้ง เมื่อย้อนมาดูเรื่องของสะละมีอัตราส่วนดอกตัวเมีย : ผู้ 1: 1 (เสริมสุข  สลักเพชร์, ไพโรจน์  ผลประสิทธิ์  กสิกร 63:1 2533) อัตราส่วนนี้จะทำให้เปลี่ยนแปลงได้หรือไม่น่าพิจารณาอีกครั้ง

–        การกำเนิดของใบเป็นตัวชี้ ศักยภาพการผลิตทะลาย  ดังนั้นปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเกิดของใบย่อมมีความสำคัญต่อการเกิดของทะลาย (จำนวนทะลาย) ปาล์มโดยตรง จากการผ่าปาล์มแก่ดูพบว่า  จุดกำเนิดทะลายดอกเกิดขึ้นที่กึ่งกลางของโคน ทางใบทุกทาง และจุดกำเนิดนี้จะเจริญอย่างช้า ๆ จากระยะรูปหอกไปจนถึงระยะดอกบาน (พร้อมผสมเกสร) จากวันกำเนิดทะลายดอกจนถึงวันดอกบานใช้เวลา 27-35 เดือน  ในสะละคงใช้เวลาน้อยกว่านี้แต่ไม่น่าจะต่ำกว่า 18 เดือน เรื่องนี้น่าศึกษา  เพราะการทราบจำนวนเดือนจากการเกิดตาดอกจนถึงเดือนที่ดอกบานมีความสำคัญต่อการทำนายผลผลิต ในแต่ละปีมากเหลือเกิน ตัวอย่างเช่นในปาล์มน้ำมันหากเกิดความแห้งแล้งในปีนี้จะกระทบผลผลิตของอีก 2-3 ปีข้างหน้าเป็นต้น

–        เป็นที่แน่ชัดว่า การที่ช่อดอกแห้งตายหรือดอกเป็นหมันเกิดจากอากาศแห้งแล้งจัด และขาดน้ำเป็นสาเหตุใหญ่

–        อัตราการเป็นหมันของช่อดอกและดอกสูงมีสาเหตุหลักมาจากการที่ปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเนื้อเยื่อ (dry matter)ปาล์มถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง เช่น การสางทางใบมากเกินไป หรือสูญเสียใบเพราะแมลงเข้าทำลาย หรือสวนปาล์มร่มมาก เพราะใช้ระยะปลูกชิดเกินไป หรือขาดน้ำ ข้อนี้ผู้เขียนเชื่อว่าในสะละก็เป็นเช่นเดียวกัน

–        เกสรตัวผู้เข้าผสมกับเกสรตัวเมีย  โดยปลิวไปกับกระแสลมหรือมีแมลง (3 ชนิด) พาไป ฉะนั้นในสวนปาล์มหนุ่มปาล์มสาวที่มีใบมาก ๆ หรือในสวนที่ปลูกชิดเกินไปอาจเกิดการ “อับลม” ทำให้เกสรตัวผู้ไปไม่ถึงดอกตัวเมียก็ได้ ในสะละน่าจะเกิดเหตุเช่นนี้ได้ง่ายกว่าในปาล์มน้ำมัน  เพราะดอกตัวผู้ของสะละอยู่กันคนละต้นกับดอกตัวเมีย

ผลของการตัดแต่งทางใบ

เป็นที่รู้กันทั่วไปแล้วว่า ใบไม้มีหน้าที่ปรุงอาหารเพื่อไปหล่อเลี้ยงทุกส่วนของต้นไม้นับตั้งแต่รากจนถึงยอดต้นไม้ที่ได้รับอาหารเพียงพอย่อมออกดอกติดผลพอเหมาะพอดี  ในทางตรงข้ามหากต้นไม้ได้รับอาหารไม่เพียงพอต้นก็ไม่สมบูรณ์  ออกดอกน้อย ติดผลก็น้อย  การตัดกิ่งไม้หรือตัดทางปาล์มเป็นการลดการปรุงอาหารของต้นและมีผลต่อการเติบโตและการติดผลของต้นไม้และของปาล์มโดยตรง ฉะนั้นก่อนใช้กรรไกรหรือมีดตัดทางใบออก ควรจะคิดทบทวนเป็นครั้งที่ 2 หรือที่ 3 เพราะการตัดทางใบหรือกิ่งไม้มีทั้งคุณและโทษ  หากพิจารณาแล้วเห็นว่ามีคุณมากกว่าโทษ  ก็สับลงไปเลย

ผลการตัดแต่งทางใบต่อผลผลิตของปาล์มน้ำมัน

วิธีการ

จำนวนทะลาย/6.25 ไร่/ปี

น้ำหนักทะลายเฉลี่ย(กิโลกรัม)

ที่ไนจีเรีย    

ไม่ตัดแต่ง

803 10
ตัดเฉพาะใบตาย

813

10.4

ตัดถึงใบใต้ทะลายทุก 6 เดือน

726

9.9

ตัดถึงช่อดอกทุกปี

699

9.7

ในมาเลเซีย    
ตัดเหลือ 40 ใบ

1415

16.5

ตัดเหลือ 32 ใบ

1344

14.5

ตัดเหลือ 24 ใบ

1287

13.9

ตัดเหลือ 16 ใบ

1032

11.2

ตัดเหลือ 8 ใบ

212

6.9

 

ส่วนมากเจ้าของสวนปาล์มจะตัดทางปาล์ม  เพื่อสะดวกในการตรวจสอบทะเลปาล์มเพราะมองเห็นง่าย แต่ลูกจ้างที่รับตัดทะลายปาล์มจะตัดทางใบเพื่อสะดวกในการเก็บเกี่ยว  ยิ่งตัดทางใบมากยิ่งเก็บเกี่ยวได้เร็ว  พวกรับตัดทะลายปาล์มนี้อันตรายมาก  เพราะบางครั้งจะตัดจนชิดกาบใบที่ออกทะลาย เพราะเข้าใจว่าใบเหล่านั้นไม่มีประโยชน์แล้ว  จากงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า ผลผลิตสูงสุดได้จากปาล์มที่เก็บใบเขียวไว้บนต้นมากที่สุดเท่าที่จะมากได้(ดูตาราง) ผลงานวิจัยนี้น่าจะนำมาใช้ได้กับเรื่องของสะละ

การที่จำนวนทะลายลดลงเข้าใจว่าเพราะอัตราการแท้ง (ตาย) ของทะลายเพิ่มขึ้น 8 เดือนหลังจากใบถูกตัดออกมากไป

การเก็บละอองเกสรเพื่อใช้ผสมดอกตัวเมีย

เป็นที่รู้จักกันมานานแล้วว่า

–        ในสะละช่อดอกตัวผู้กับช่อดอกตัวเมียอยู่กันคนละต้น

–        ถ้าจะให้ดอกตัวเมียติดลูกละอองเกสรตัวผู้จะต้องหล่นบนยอดเกสรตัวเมีย

–        ละอองเกสรตัวผู้ของสะละ เมื่อแก่พร้อมที่ผสมได้จะเป็นผงแห้งไม่เหมือนละอองเกสรตัวผู้ทุเรียน เมื่อแก่ค่อนข้างจะกอดกันเพราะมีความชื้น  ดังนั้นละอองเกสรของสะละจึงไปหาตัวเมียได้โดยลมพาไป แมลงพาไป และคนพาไป ส่วนในทุเรียนลมพาไปได้ยาก

–        ละอองเกสรตัวผู้เป็นสิ่งมีชีวิต จึงมีการเกิดการตาย  มีความแข็งแรงและอ่อนแอ  เมื่อปีพ.ศ.2509 ผู้เขียนได้ทำการศึกษาความมีชีวิตของละอองเกสรตัวผู้ทุเรียน หลังพรากจากต้นแม่ (หากสนใจโปรดอ่านเรื่อง “เบ็ดเตล็ดที่ได้รับจากงานผสมเกสรทุเรียนใน “กสิกร” ปีที่ 42 เล่มที่ 2 พ.ศ. 2512) เพื่อต้องการทราบว่าเกสรตัวผู้ของทุเรียนนั้น  เมื่อแยกจากต้นแม่ นำมาเก็บไว้ในจานแก้ว  ในอุณหภูมิธรรมดาแล้ว  สมรรถภาพจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไรเมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ  จากการศึกษาพบว่าสมรรถภาพในการทำงานของเกสรทุเรียนนั้น  ในระยะแรก (ตัดออกจากต้นแม่ใหม่ ๆ ) จนถึง 2 ชั่วโมง หลังพรากจากต้นแม่ยังดีอยู่ (มีความแข็งแรง) และความแข็งแรงจะเริ่มลดลงเรื่อย ๆ จน  กระทั่ง 12 ชั่วโมง หลังพรากจากต้นแม่  ตัวผู้ก็จวนจะหมดแรง พูดสั้น ๆ ก็คือ “เกสรตัวผู้ทุเรียนหมดอายุใช้งานหลังเก็บไว้เกิน 15 ชั่วโมง” ละอองเกสรตัวผู้ของสะละก็คงเดินในแนวเดียวกัน การที่จะผสมดอกสะละให้ติดผลดี  จึงควรรู้เรื่องการเก็บละอองเกสรสะละไว้บ้าง  แต่เมื่อข้อมูลด้านนี้ยังไม่มีก็อ่านเรื่องการเก็บละอองเกสรตัวผู้ของปาล์มน้ำมัน  และของมะพร้าวไปพลางก่อน

การเก็บละอองเกสรตัวผู้ของปาล์มน้ำมัน

ช่อดอกตัวผู้ของปาล์มน้ำมันคล้ายคลึงกับของสะละมากกว่ามะพร้าวข้อมูลที่ได้รับมานี้ดูจะเป็นการอธิบายถึงการเก็บรวบรวมละอองเกสรเพื่อการผสมพันธุ์มิใช่เพื่อเพิ่มผลผลิต เพราะในปาล์มน้ำมันมีแมลงช่วยผสมเกสรอย่างเหลือเฟือ  ส่วนในสะละก็มีแมลงช่วยผสมเกสรอยู่เหมือนกัน แต่ไม่แน่ใจว่าจะเพียงพอหรือไม่ จึงนำเรื่องนี้มาเสนอไว้พอเป็นสังเขป อาจเป็นประโยชน์ไม่ในแง่ใดก็แง่หนึ่งดังนี้

–        ถุงที่ใช้เก็บรวบรวมละอองเกสรใช้ถุงกระดาษสีน้ำตาลอย่างหนาหรือถุงผ้าใบ  ผู้เขียนเคยเห็นคนงานในสวนปาล์มตัดช่อดอกตัวผู้ แล้วเขย่าให้เกสรปาล์มร่วงลงในถุงพลาสติกขนาดใหญ่  หากจะนำมาใช้กับสะละ (เพื่อเพิ่มผลผลิต) ก็คงจะได้ แต่ถุงไม่ต้องใหญ่นักเพราะช่อดอกตัวผู้สะละเล็กกว่าของปาล์มน้ำมันมาก

–        หากจะเก็บไว้ใช้นานวันจะต้องทำให้เกสรแห้งเสียก่อน  แล้วจึงนำไปเก็บรักษา

–        แม้ละอองเกสรที่มีความงอกน้อยกว่าร้อยละ 10 ก็สามารถทำให้ปาล์มติดผลได้ดี (ในทุเรียนเท่าที่เคยทดสอบ เกสรตัวผู้มีความงอกไม่เกินร้อยละ 9  เมื่อนำมาผสมก็ทำให้ติดผลดีเช่นกัน) และหากเก็บละอองเกสรนี้ไว้บนแคลเซียมคลอไรด์ในอุณหภูมิห้องก็อาจเก็บไว้ได้นานถึง 6 อาทิตย์ โดยยังมีความงอกในระดับเดิม อาจยืดอายุออกไปได้อีก  โดยเก็บไว้ในตู้เย็น+5 องศาเซลเซียส หรือเก็บในขาดสูญญากาศ

การเก็บรวบรวมเกสรตัวผู้มะพร้าว

–        เกสรตัวผู้จะถูกผลิตออกมามากที่สุดในวันที่ร้อนและแห้งแล้ง การเก็บละอองเกสรทำสองเวลาคือตอนสายและตอนบ่าย

–        หากผสมเพียงไม่กี่ดอกก็ทำ โดยการปลิดดอกตัวผู้ที่เพิ่งบานออกมาแล้วนำไปผสมกับดอกตัวเมียที่ต้องการ แต่หากต้องการผสมเป็นจำนวนมาก ๆ ก็กระทำโดยการตัดก้านดอกเกสรตัวผู้ที่สุกแล้วออกจากช่อดอก  แล้วเอาก้านดอกนี้ปักลงในน้ำในกระถาง กระป๋อง ฯลฯ แล้วแต่จะเหมาะสมแล้วใช้กล่องกระดาษคลุมอีกทีทั้งหมดนี้ทำให้ห้อง  หลังจากนี้ 1 วัน ละอองเกสรจะร่วงหล่นอยู่บนแผ่นกระดาษหรือแผ่นพลาสติกที่ปูรองรับอยู่ใต้กระถาง จากนั้นก็รวบรวมเกสรเก็บไว้ในกล่องหรือถุง  เวลาต้องการใช้ก็ใช้แปรงขนาดเล็กหรือพู่กันจุ่มลงในกล่อง เกสรแล้วทาไปตามดอกตัวเมียที่รองรับการผสมอยู่

–        ละอองเกสรจากดอกที่อยู่ปลายก้านบนสุดมีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูงสุด  ส่วนที่อยู่ต่ำสุดมีความงอกน้อยที่สุด  ข้อนี้ทำให้หวนคิดถึงเรื่องดอกตัวผู้ของสะละ กระปุกตัวผู้ที่อยู่ปลายสุดของทะลายกับที่อยู่โคนทะลายอย่างไหนงอกดีกว่ากัน

–        ละอองเกสรตัวผู้จะเพิ่มขึ้นตามอายุของมะพร้าวจนถึงเมื่อมะพร้าวแก่จะได้เกสรประมาณ 30 กรัมต่อช่อ

–        ละอองเกสรสดจะมีชีวิตอยู่ได้นานเพียงอาทิตย์เดียว  แต่ถ้าเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องแต่ควบคุมความชื้นและเก็บไว้เหนือกรดซัลฟุริก  อาจเก็บไว้ได้นานถึง 3 อาทิตย์

–        ละอองเกสรที่จะใช้ภายใน 2-3 วัน  อาจเก็บไว้ในถุงพลาสติกเล็ก ๆ แล้วนำเข้าไว้ในตู้เย็นที่ใช้กันอยู่ตามบ้านก็ได้  ข้อนี้น่านำมาใช้กับการเก็บเกสรสะละได้

–        หลังทำเกสรให้แห้งแล้ว การเก็บไว้ในสูญญากาศดูจะยืดอายุของเกสรได้ดีที่สุด

การผสมเกสรเพื่อเพิ่มผลผลิตในสวนสะละขนาดใหญ่คงต้องใช้พ่นด้วยลมเหมือนที่ชาวสวนปาล์มน้ำมันเคยทำในอดีต  จนกระทั่งในระยะหลังพบว่ามีแมลงธรรมชาติ (3 ชนิด) ทำหน้าที่ช่วยผสมเกสรได้อย่างดี และแมลงดังกล่าวนี้หากในท้องถิ่นใดไม่มีอยู่ในธรรมชาติก็สามารถนำเข้ามาเลี้ยงขยายพันธุ์ในสวนได้ จากนั้นการช่วยผสมเกสรปาล์มน้ำมันโดยคนก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป สำหรับในสวนสะละนั้น ผู้เขียนเคยเห็นด้วงลักษณะคล้ายที่เห็นในสวนปาล์มเดินยั้วเยี้ยอยู่ตามช่อดอกเหมือนกันและเคยคิดว่า หากสวนปาล์มเราขาดแคลนด้วงช่วยผสมเกสรก็น่าจะนำด้วงจากสวนสะละไปเลี้ยงในสวนปาล์ม  แต่มาในวันนี้อยากคิดตรงกันข้ามครับ..