โรคของมะเขือเทศที่เกิดจากไวรัส

โรคที่เกิดจากไวรัสและมายโคพลาสมา (virus and mycoplasma-like diseases)

โรคของมะเขือเทศที่เกิดจากเชื้อไวรัสหรือจุลินทรีย์ที่คล้ายมายโคพลาสมาจัดว่าเป็นโรคที่สำคัญก่อให้เกิดความเสียหายต่อการปลูกและการผลิตมะเขือเทศมาก หากจะเปรียบเทียบกับโรคที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ ทั้งนี้เนื่องจากมะเขือเทศเป็นพืชที่ค่อนข้างอ่อนแอง่ายต่อการเข้าทำลาย ของเชื้อไวรัสที่เข้าทำลายพืชได้เกือบทุกชนิด ขณะเดียวกันก็จะก่อให้เกิดอาการต่างๆ ขึ้นได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นอาการแผลจุด ดวง เป็นเส้นขีดหรือด่างลาย เหลืองซีด แคระ แกรน ผิดรูปผิดร่าง ยอดตาเหี่ยวเฉาแห้ง ใบม้วนงอเป็นคลื่นบิดเบี้ยว หรือหดย่นไม่ออกดอกออกผลหรือผลมีลักษณะผิดปกติ

อย่างไรก็ดีการจำแนกชนิดของไวรัสตามอาการที่พืชแสดงออกเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบากและสรุปให้ชัดเจนลงไปได้ยากทั้งนี้เพราะไวรัสมีคุณสมบัติและธรรมชาติในการเข้าทำลายพืชมีกลวิธีในการสร้างอาการที่ค่อนข้างสลับซับซ้อนผิดกับเชื้อทั่วๆ ไป นอกจากนั้นตัวไวรัสเองแต่ละชนิดก็ยังมีการแยกออกเป็น strain ต่างๆ ซึ่งพวกนี้เมื่อเข้าทำลายพืชก็จะก่อให้เกิดอาการที่ผิดแปลกแตกต่างกัน แต่ก็มีไวรัสบางตัวที่แม้จะต่างพวกกันเมื่อเข้าทำลายพืชกลับสร้างอาการที่เหมือน หรือคส้ายๆ กัน เหตุนี้การจำแนกไวรัสจึงต้องอาศัยการศึกษาสิ่งต่างๆ หลายอย่าง ตั้งแต่ลักษณะรูปร่างของจุลภาค เช่น เป็นแท่ง เป็นท่อนเหลี่ยม ลูกบาศก์ทรงกลม หรือเป็นเส้นยาว การแพร่ระบาด การทำลายและลักษณะอาการในพืช ชนิดของพืช อาศัยคุณสมบัติทางชีววิทยาและทางฟิสิกส์ ตลอดจนปฏิกิริยาทางเซรุ่มวิทยาของไวรัสนั้นร่วมกันประกอบการพิจารณา

เรื่องของการป้องกันกำจัดโรคที่เกิดจากไวรัสให้ประสบ ผลสำเร็จลุล่วงก็เป็นสิ่งที่ยุ่งยากและทำไม่ได้ง่ายนัก อันเนื่องมาจากธรรมชาติที่แปลกและค่อนข้างเฉพาะตัวของไวรัสไม่ว่าจะเป็นการเจริญเติบโตการแพร่ระบาด การเข้าทำลายพืช ตลอดจนความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม และพืชที่เข้าเกาะกิน นอกจากนั้นการเป็น obligate parasite ของไวรัส (มีชีวิตและ เจริญเติบโตได้ก็เฉพาะภายในเซลล์ของพืชที่ยังเป็นๆ อยู่เท่านั้น)กว่าที่พืซจะแสดงอาการให้เห็นก็มักจะอยู่ในขั้นรุนแรงและ ระบาดแพร่กระจายออกไปกว้างขวางแล้ว ทำให้แก้ไขอะไรไม่ทันนอกจากนั้นตัวไวรัสเองก็มีคุณสมบัติที่ต้านหรือทนต่อสารเคมีต่างๆ ได้ดี ปัจจุบันแทบจะกล่าวได้ว่ายังไม่มียาหรือสารเคมีชนิดใดใช้ป้องกันกำจัดยับยั้งหรือทำลายไวรัสได้โดยตรง วิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสียหายจากโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส คือการป้องกันไม่ให้เกิดโรคขึ้นโดยการนำเอาวิธีต่างๆ มาผสมผสานกันเริ่มตั้งแต่การเกษตรกรรม การสุขาภิบาล (sanitation) การเลือกสถานที่และช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสม การใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาด ตลอดจนการใช้พันธุ์ต้านทาน ส่วนการใช้สารเคมีนั้นมักจะมุ่งไปในการป้องกันกำจัดแมลงที่จะเป็นพาหะ หรือตัวนำเชื้อเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นการตัดการเกิดและการแพร่ระบาดของโรคได้ทางหนึ่ง

โรคที่สำคัญของมะเขือเทศที่เกิดจากไวรัส

1. ใบด่าง (Tomato mosaic disease)

เป็นชนิดของโรคไวรัสมะเขือเทศที่พบและสร้างความ เสียหายให้มากที่สุดโรคหนึ่งกล่าวกันว่าผลผลิตของมะเขือเทศ ทั้งหมดในโลกถูกทำลายจากโรคนี้รวมกันได้ถึง 20% สำหรับเชื้อสาเหตุคือ Tobacco mosaic virus (TMV) นอกจากมะเขือเทศแล้วปรากฏว่าเชื้อนี้ยังสามารถเข้าทำลายและก่อให้เกิดโรคเดียวกันได้กับยาสูบ มันฝรั่ง พริก มะเขือและพิทูเนีย อาการโรค

เนื่องจากเชื้อ TMV ที่เป็นสาเหตุของโรคมีอยู่ด้วยกันหลายสายพันธุ์ทำให้เกิดอาการกับต้นมะเขือเทศได้ต่างๆ กันหลายลักษณะเช่น ใบด่างลาย เหลือง ใบเสียลักษณะเกิดเป็นแผลที่ต้นกิ่ง ก้านและลูก ชะงักการเจริญเติบโต ซึ่งทั้งหมดนี้พอสรุปหรือแยกออกได้เป็น 4 แบบใหญ่ๆ โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันดังนี้

1.1 อาการด่างลาย (common or mild mosaic)

ใบแสดงอาการด่างลายมีลักษณะสีเหลืองสลับเขียวทั่วทั้งใบอย่างชัดเจนใบอ่อนอาจมีลักษณะหดหรือจีบย่นเป็นคลื่นขอบใบม้วนงอเข้าด้านใน ต้นพืชอาจชะงักการเจริญเติบโตเพียงเล็กน้อย ลูกและผลอาจลดปริมาณลงบ้าง แต่จะไม่แสดงอาการผิดปกติในรูปร่างแต่อย่างใด แต่สีอาจจะด่างหรือสุกไม่เสมอกัน อาการชนิดนี้มักจะพบในช่วงที่อากาศมีอุณหภูมิค่อนข้างสูง

1.2 อาการใบเล็กเป็นเส้นเรียว (fern leaf)

อาการนี้มักจะพบในขณะที่เกิดโรคมีอุณหภูมิต่ำใบจะเสียลักษณะหดหรือจีบย่น ส่วนอาการด่างจะปรากฎให้เห็นเพียงเล็กน้อย เนื้อใบจะเจริญเติบโตไม่เต็มที่ทำให้ใบเรียวเล็กยาวออกคล้ายใบเฟิร์น ใบที่อยู่ส่วนยอดหรือปลายกิ่ง จะบิดเป็นเกลียว ต้นมะเขือเทศที่แสดงอาการนี้หากยังเป็นต้นอ่อนมักจะหยุดการเจริญเติบโต ในต้นแก่อาจให้ผลิตผลลดลง อย่างไรก็ดีอาการ fern leaf นี้บางครั้งจะแสดงออกเฉพาะใบอ่อนส่วนยอดหรือปลายกิ่งเท่านั้นส่วนใบแก่ที่อยู่ล่างๆ ลงมาไม่แสดงอาการผิดปกติแต่อย่างไร

1.3 อาการใบลายเหลือง (aucuba or yellow mosaic)

เป็นอาการที่เกิดจาก TMV อีกสายพันธุ์หนึ่ง ใบจะแสดงลักษณะอาการด่างลายมีสีเหลือง หรือเหลืองสลับเขียวเข้มชัดเจนและจะเริ่มลักษณะหดจีบย่นพร้อมกันไป ต้นจะหยุดชะงักการเจริญเติบโตอย่างเห็นได้ชัด ในต้นแก่ผลที่เกิดจะแสดงอาการด่างลายระหว่างเขียวซีดและเข้มอย่างสม่ำเสมอ ตลอดลูกขณะที่ยังเขียวอยู่และเมื่อสุกก็จะเปลี่ยนเป็นเหลืองสลับแดง

1.4 อาการแผลขีดเป็นเส้น (streak)

เป็นอาการที่จัดว่ารุนแรงที่สุดของโรคโมเสตบนมะเขือเทศ เกิดจากเชื้อสายพันธุ์ที่แตกต่างออกไปอีกสายพันธุ์หนึ่ง อาการนี้จะเกิดเป็นกับทุกส่วนของต้นบนใบอ่อนตรงปลายกิ่ง แขนง หรือยอด (growing point) จะเกิดแผลจุดลักษณะไม่แน่นอนสีดำหรือน้ำตาลเข้มขึ้นทั่วไป ส่วนบนลำต้นกิ่ง ก้าน หรือก้านใบจะเกิดแผลเป็นเส้นขีดยาวจมลึกลงไปในเนื้อสีน้ำตาลดำ บนผลแผลจะเป็นแอ่งจมลงไปในเนื้อ หากผลสุกแดงแล้วบางครั้งเนื้อภายในจะเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาล

การแพร่ระบาด

ไวรัสทุกสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดอาการใบด่างระบาดได้ดีโดย sap transmitted จากต้นเป็นโรคโดยการสัมผัสจับต้องเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของกสิกรผู้ที่ปฏิบัติงานในไร่ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ สำหรับเชื้อที่ปะปนอยู่ในดินอาจเข้าไปสู่พืช และก่อให้เกิดโรคได้ดีโดยผ่านทางราก

สำหรับการระบาดข้ามฤดูปลูกอาจเกิดจากเมล็ดที่มีเชื้อติดอยู่ (seed-borne) เพราะปรากฏว่าจากต้นมะเขือเทศที่เป็นโรคโอกาสที่เชื้อจะถ่ายทอดไปยังเมล็ดมีถึง 94% นอกจากนั้นก็อาจจะเกิดจากเชื้อที่ไปอาศัยอยู่ตามวัชพืชพวก Solanaceous หรือพืชอื่นบางชนิดในบริเวณใกล้เคียง เมื่อปลูกมะเขือเทศลงในฤดูต่อไปก็จะถูกนำมาก่อให้เกิดโรคได้อีก

คุณสมบัติของ TMV

เป็นไวรัสที่มีลักษณะเป็นแท่ง (rod-shaped) ขนาดประมาณ 300 X 18 นาโนเมตร (nm) มีความคงทนต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ และมีความสามารถในการทำให้เกิดโรคได้ดีสุดในบรรดาไวรัสด้วยกัน ทนต่อความร้อนได้สูง แม้แต่แอลกอฮอล์ และสารเคมีที่ใช้ฆ่าเชื้อ (germicides) ต่างๆ เกือบทุกชนิดก็ไม่สามารถถทำลายได้โดยง่ายสามารถทนต่อสภาพความแห้งได้เป็นเวลานานหลายปี และเช่นเดียวกันในเศษซากพืชเป็นโรคที่ตายแล้วเป็นเวลาหลายๆ ปี หรือในกองปุ๋ย ที่เน่าเปื่อยผุพังแล้วก็ยังพบไวรัสตัวนี้มีชีวิตและสามารถก่อให้เกิดโรคได้อีก ต้นเหตุของติดโรคนี้ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก้นบุหรี่ ผู้ที่สูบยาแล้วทำงานในไร่ หากยาเส้นที่ใช้มวนบุหรี่มีเชื้อติดอยู่ก็จะก่อให้เกิดการระบาดได้จากการจับต้องต้นพืชในการถอนย้ายกล้า การตัดแต่งเด็ดยอด กิ่ง ใบหรือผูกมัดต้นกับไม้หลัก ส่วนใหญ่เชื้อไวรัสจะเข้าสู่ต้นพืชโดยผ่านทางแผลถลอก หรือขนอ่อนที่หักหรือขาดออก สำหรับเชื้อที่ปะปนติดอยู่ในดินอาจเข้าไปภายในพืชได้โดยผ่านทางช่องเปิดธรรมชาติที่ราก (root rupture) หรือแผลที่รากซึ่ง เกิดจากการกัดทำลายของไส้เดือนฝอยหรือแมลงบางชนิด หลังจากเข้าไปภายในพืชแล้วจะมีระยะฟักตัว (incubation period) และแสดงอาการให้เห็นภายใน 8-10 วัน

การป้องกันกำจัด

วิธีที่ดีที่สุดสำหรับป้องกันโรคนี้คือหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดโรคขึ้นซึ่งทำได้โดยวิธีต่างๆ เช่น การรักษาความสะอาดแปลงปลูกแปลงเพาะกล้าเริ่มตั้งแต่เก็บทำลายเศษซากพืชเก่า รวมทั้งวัชพืชพืชอาศัยอื่นๆ และต้นที่งอกขึ้นมาเองให้หมด หลังจากเก็บเกี่ยวผลแล้ว แปลงเพาะกล้าไม่ควรให้อยู่ใกล้แปลงปลูกหรือต้นมะเขือเทศแก่ การปลูกมะเขือเทศโดยการหยอดหลุมโดยตรงในไร่เพื่อหลีกเลี่ยงการจับต้องต้นกล้า อาจช่วยลดการติดเชื้อและการเกิดโรคลงได้เนื่องจากระยะกล้า นับเป็นระยะสำคัญที่สุดเพราะหากติดเชื้อหรือเป็นโรคตั้งแต่ตอนนี้จะทำให้ผลผลิตลดลงอย่างมากหรืออาจเก็บผลไม่ได้เลย หลังจากปฏิบัติการต่างๆ กับต้นมะเขือเทศในแปลงปลูก โดยเฉพาะกับต้นที่เป็นโรคหรือสงสัยว่าจะเป็นโรค ควรชำระล้างมือและเครื่องใช้ต่างๆ เสียก่อนด้วยนํ้าสบู่หรือนำไปแช่ 10% ของสารละลายไตรโซเดียมฟอสเฟต (Na3PO4)

นาน 20 นาทีเชื้อไวรัสที่ติดอยู่จะถูกซะล้างให้หลุดออกไปหมด จากนั้นจึงค่อยนำไปใช้กับต้นอื่นต่อไป เมื่อมีมะเขือเทศในแปลงต้นหนึ่งต้นใดแสดงอาการของโรคให้รีบทำลายทันที เพราะหาก ปล่อยไว้จะกลายเป็นจุดแพร่กระจายโรคออกไปยังต้นอื่นๆ ได้

สำหรับเมล็ดพวกที่มีไวรัสปนเปื้อนเกิดจากเชื้อซึ่งมีอยู่ในต้นเป็นโรคอาจพักตัวอยู่ที่ผิวนอกของเปลือกเมล็ด พวกนี้อาจจะทำลายให้หลุดออกไปได้โดยการแช่ในกรดนํ้าส้ม (glacial acetic acid) 0.6% เสียก่อนแล้วจึงค่อยนำไปปลูก

การให้ปุ๋ยโปแตสเซี่ยมเพิ่มกับต้นมะเขือเทศก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดอาการด่างที่ผล และอาการแผล streak ที่ต้น โดยให้เพิ่มปริมาณกว่าที่ให้กับพืชปกติ 20 กก. ต่อไร่

2. โรคใบหงิกเหลือง (Yellow leaf curl disease)

เดิมเข้าใจว่าอาการหงิกเหลืองเกิดจากการขาดธาตุแคลเซียม แต่ต่อมาพิสูจนได้ว่าสาเหตุของโรคเป็นไวรัสชนิดหนึ่งในกลุ่มเจมินีไวรัส (Gemini viruses) เป็นโรคที่ระบาดทำความเสียหายอย่างรุนแรงมากต่อการปลูกมะเขือเทศ ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และในเขตร้อน

อาการของโรค

ใบยอดและใบอ่อนแสดงอาการเหลืองหรือด่างเหลือง และมีอาการใบหงิกหดย่น ขอบใบม้วนลงหรือม้วนขึ้น ใบหดเล็กลง หรือลีบเรียว ข้อปล้องหดสั้น ต้นเตี้ยแคระ ไม่เจริญเติบโตใบแก่มักแสดงอาการใบหงิกม้วนงอเพียงเล็กน้อย ดอกมักจะร่วง มะเขือเทศอาจติดผลได้บ้าง แต่ผลผลิตลดลงอย่างมาก เนื่องจากต้นพืชไม่เจริญ

เชื้อและการแพร่ระบาด

เชื้อสาเหตุโรค คือ ไวรัสใบหงิกเหลือง Tomato yellow leaf curl virus (TYLCV) ลักษณะเป็นทรงกลมขนาดเล็กอยู่ติดกันเป็นคู่ (geminate particle) มีขนาดเฉลี่ย 18×36 นาโนเมตรเป็นไวรัสซนิดที่มียีนส์เป็นดีเอ็นเอสายเดี่ยว ขดเป็นวง ซึ่งแตกต่างจากไวรัสชนิดอื่นๆ ของพืชผัก มีพืชอาศัยหลายชนิดในตระกูล solanaceae และในวัชพืชรอบๆ แปลงปลูกผัก เชื้อ TYLCV ถ่ายทอดโดยแมลงพาหะจำพวกแมลงหวี่ขาว (whitefly; Bemisia tabaci) ไม่ถ่ายทอดโดยนํ้าคั้นพืช หรือวิธีกล

การป้องกันกำจัด

ได้แก่การป้องกันกำจัดไม่ให้มีแมลงหวี่ขาวแพร่ระบาดในแปลงปลูก หรือหลีกเลี่ยงการปลูกพืชในช่วงที่มีแมลงชนิดนี้ระบาด ก็จะลดความเสียหายจากโรคนี้ลงได้

3. โรคที่เกิดจากเชื้อ Cucumber mosaic virus (CMV)

อาการโรค

อาการของมะเขือเทศที่เกิดจากการเข้าทำลายของ CMV มีลักษณะคล้ายๆ กับอาการของใบด่างแบบหนึ่งคือ fern leaf คือจะเกิดอาการใบแคบเรียวเล็กลง บางครั้งยาวเป็นเส้นพร้อมกับอาการด่างลายจางๆ

เชื้อและการแพร่ระบาด

CMV มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 28 nm แพร่ระบาดได้โดยนํ้า sap โดยการจับต้องสัมผัส และแมลงต่างๆ รวมทั้งเพลี้ยอ่อนมากกว่า 60 ชนิดในลักษณะที่เชื้อไม่จำเป็นต้องถูกกินเข้าไปอยู่ในตัวแมลง ระยะหนึ่ง (non-persistent) เป็นไวรัสที่ทำลายพืชได้กว้างขวาง ทั้งใบเลี้ยงเดี่ยวและใบเลี้ยงคู่ทั้งพืชผักพืชไร่ไม้ดอกไม้ประดับ ทำให้ยากต่อการป้องกันกำจัดต้นตอ และขจัดทำลายเชื้อให้หมดได้โดยเด็ดขาด

การป้องกันกำจัด

ในมะเขือเทศปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดที่จะลดความเสียหายหรือป้องกันกำจัดโรคนี้ได้ ผลเพียงแต่เมื่อเห็นมะเขือเทศต้นใดแสดงอาการโรคก็ให้รีบถอนทำลายเสีย ระวังการจับต้องสัมผัสต้นที่ยังดีอยู่ตลอดจนเครื่องมือต่างๆ ที่นำมาใช้กับต้นพืชต้องแน่ใจว่าสะอาดและไม่มีเชื้อติดอยู่

4. โรคที่เกิดจากเชื้อ Tomato spotted wilt virus

เป็นโรคไวรัสสำคัญของมะเขือเทศในแหล่งปลูกที่อากาศค่อนข้างเย็น หรืออุณหภูมิต่ำ (temperate หรือ subtropical regions)

อาการโรค

การติดโรคนี้จะเกิดขึ้นได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของมะเขือเทศ โดยเฉพาะระยะกล้าจะเป็นช่วงที่อ่อนแอที่สุด อาการจะเริ่มจากผิวด้านบนของใบมีลักษณะขึ้นเงาเหลือบเป็นมันขอบใบจะม้วนงอทั้งขึ้นด้านบนและลงด้านล่าง เมื่อโรครุนแรงขึ้น ตรงที่เกิดอาการเหลือบจะกลายเป็นจุดแผลเซลล์ตายเล็กๆ สีเข้มค่อนข้างกลมขึ้นเป็นจำนวนมาก บางครั้งจุดแผลจะมีลักษณะเป็นวงคล้ายวงแหวนโดยมีขอบเข้มตรงกลางซีดจาง ใบที่เกิดแผลดังกล่าวมักจะเหี่ยวแล้วแห้งตายในที่สุด นอกจากนี้จะพบว่าที่กิ่งหรือก้านใบที่อยู่ตอนปลายๆ หรือยอด (growing tip) จะเกิดแผลเป็นเส้นขีดยาวๆ สีเข้มขึ้นและเมื่อเป็นมากจะทำให้ส่วนปลาย หรือยอดดังกล่าวแห้งตายโดยเฉพาะในขณะที่อากาศร้อน ในกรณีที่เป็นรุนแรงหากเป็นต้นอ่อนอาจตายทั้งต้นหรือไม่ก็แคระแกรนหยุดเจริญเติบโต พวกนี้ใบอาจแสดงสีเหลืองหรือด่างลายในลักษณะใบด่างแทรกด้วย

ในต้นแก่ อาการเช่นเดียวกันจะเกิดบนใบอ่อนและส่วนยอดแต่จะไม่รุนแรงเท่าต้นอ่อนและต้นที่กำลังอยู่ในช่วงเจริญเติบโต หากเป็นระยะที่กำลังตกลูกผลที่ยังเขียวอยู่จะไม่สุกแดง แต่จะเกิดแผลด่างเป็นวงเกิดขึ้น แต่ถ้าผลสุกแดงแล้ว แผลจะมีลักษณะเป็นวงแหวนซ้อนกัน (concentric ring) สีแดงสลับเหลืองตรงกลางแผลจะยกสูงนูนขึ้นกว่าขอบเล็กน้อย ทำให้ผลไม่เรียบเกลี้ยงเหมือนปกติและมีขนาดเล็กลง

เชื้อและการแพร่ระบาด

Tomato spotted wilt virus มีลักษณะทรงกลมมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางโดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 70-80 nm. ระบาดได้โดยนํ้า sap ทั้งโดยวิธีกล (mechanical transmitted) โดยการจับต้องสัมผัสและโดยเพลี้ยไฟ (thrips) หลายตัวที่ชอบเกาะกินมะเขือเทศ ส่วนการระบาดโดยเมล็ดสำหรับโรคนี้อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นกันแต่ไม่สู้สำคัญนักจากรายงาน พบว่ามีเพียง 1% เท่านั้นโดยที่เชื้อจะอยู่ที่ผิวด้านนอกของเปลือก Tomato spotted wilt virus มีพืชอาศัยที่ค่อนข้างกว้าง กล่าวกันว่าสามารถเข้าทำลายและเจริญเติบโตได้ดีในพืชมากกว่า 160 species ในตระกูล (families) ต่างๆ กันถึง 34 ตระกูล ตัวอย่างของพืชผักก็ได้แก่ พริก มันฝรั่ง มะเขือ สปิแนซ คึ่นฉ่าย ผักกาดหอม พวกไม้ดอกก็มี เบญจมาศ ดาเลีย ป็อปปี้

การป้องกันกำจัด

หลีกเลี่ยงการปลูกมะเขือเทศอ่อนลงใกล้กับแปลงปลูกที่มีต้นแก่หรือที่ปลูกผักอื่นๆ ดังได้กล่าวแล้วอยู่ก่อนไม่ควรปล่อยให้มีต้นที่เป็นโรคหรือเศษซากต้นพืชเก่าและต้นที่งอกเองหลงเหลืออยู่ในบริเวณแปลงปลูกหากเป็นไปได้ควรงด หรือเลื่อนระยะเวลาย้ายกล้าลงปลูกในแปลงใหญ่ในช่วงที่อากาศชื้นและร้อนอันเป็นช่วงที่เพลี้ยไฟระบาด ออกไปสักระยะหนึ่งจนกว่าจะเห็นว่าปลอดภัยแล้ว สำหรับสารเคมีฆ่าเพลี้ยไฟที่แนะนำนั้นมีด้วยกันหลายชนิดให้เลือกใช้ได้ เช่น ดีดีที ไดอาซีนอน ไดโครโตฟอส ไดเมโธเอท ลินเดน มาลาไธออน เมโธมิล ฯลฯ

5. บิ๊กบัดหรือเพอร์เพิลท๊อปวิลท์ (big bud or purple top wilt)

เป็นอีกโรคหนึ่งที่สร้างความเสียหายให้กับมะเขือเทศมาก ในปัจจุบันจะพบได้ทั่วไปในที่มีการปลูกมะเขือเทศที่ถูกเชื้อนี้เข้าทำลายจะหยุดการสร้างดอก และไม่ให้ผล

อาการโรค

พืชจะเกิดการแตกตาออกมามากกว่าปกติ แต่จะมีลักษณะบิดเบี้ยวโตกว่าธรรมดา ดอกจะออกรวมกันเป็นกระจุกแข็งตั้งชี้ขึ้น กลีบดอกจะไม่มีสีแต่จะเขียวคล้ายใบและไม่บานดอกพวกนี้จะไม่มีการผสมไม่มีการสร้างลูก แต่ถ้าโรคเกิดหลังให้ลูกแล้ว ลูกที่ได้ก็จะผิดปกติแกรนผิวขรุขระและแข็งกระด้าง นอกจากอาการซึ่งแสดงออกที่ดอกและส่วนยอดแล้ว ตามโคนกิ่งหรือตาจะมีแขนงงอกแตกออกมาเพิ่มมากขึ้น แขนงเหล่านี้ กิ่ง ก้านจะมีลักษณะอวบอ้วนบวมโตและหดสั้น จะมีขนาดเล็กกลม บาง เจริญไม่เต็มที่และมักจะมีปลายเป็นสีม่วงปนน้ำเงิน บางทีก็ซีดจาง หากเชื้อเข้าทำลายในขณะที่ต้นมะเขือเทศยังเล็กอยู่หรือในระยะที่ยังเป็นต้นกล้าจะหยุดการเจริญเติบโตแคระแกรนต้นเตี้ยเป็นพุ่มกลม

เชื้อและการแพร่ระบาด

เชื้อสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ คือมายโคพลาสมา (Mycoplasma) ปัจจุบันยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับเชื้อนี้

โรคนี้ไม่ระบาดโดยน้ำคั้น หรือโดยวิธีจับต้องสัมผัสธรรมดา ตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดที่สำคัญคือเพลี้ยจั๊กจั่น หรือเพลี้ยกระโดด (Orosius argentatus) เมื่อมะเขือเทศต้นหนึ่งต้นใดเกิดการติดโรคขึ้นจากการกินของแมลงพวกนี้ ก็จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นหรือกระจายโรคไปยังต้นอื่นต่อไปได้ตลอดฤดู นอกจากแมลงแล้วการติดตา ทาบกิ่ง หรือพืชอาศัย พวกกาฝาก ฝอยทอง (Cuscuta spp.) ก็ปรากฏว่าทำให้เชื้อโรคนี้เกิดการแพร่ระบาดได้โรคบิ๊กบัดเกิดเป็นกับพืชได้กว้างขวางในหลายตระกูล ทั้งไม้ดอก ไม้ประดับ วัชพืช และผักต่างๆ เช่น แอสเตอร์ เยอร์บีรา เดซี่ เบ็ญจมาศ ดาเลีย เยอราเนี่ยม คาร์เนชั่น โครเวอร์ อัลฟัลฟา แครอท มะเขือยาว พริก มันฝรั่ง คึ่นฉ่าย พาร์สนิพ และผักกาดหอม ฯลฯ

การป้องกันกำจัด

1. ขจัดทำลายต้นตอของโรคทันทีที่เห็น พร้อมทั้งพืชอาศัยต่างๆ ให้หมดจากบริเวณแปลงปลูก

2. เมื่อมีเพลี้ยจั๊กจั่นระบาดให้ทำการฉีดพ่นด้วยยาฆ่าแมลง เช่น แลนเนท (lannate) อะโซดริน (azodrin) วีท๊อกก (vetox) หรือไบดริน (bidrin)