โรคใบจุดนูนจากแบคทีเรียของถั่วเหลือง

โรคใบไหม้และใบจุดนูน (common blight และ bacterial pustule)

เป็นโรคสำคัญที่ทำความเสียหายให้กับถั่ว beans ต่างๆ เช่นกัน ในประเทศไทยพบบ่อยในถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแขก ถั่วพุ่ม ถั่วราชมาด บางครั้งอาจพบในถั่วฝักยาวบ้าง แต่ไม่บ่อยนัก

อาการโรค

โรคจะเกิดเป็นขึ้นได้กับทุกส่วนของต้นถั่ว ไม่ว่าจะเป็นต้น กิ่ง ก้าน ใบและฝัก และเป็นได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ตั้งแต่ต้นกล้าอ่อนจนแก่ให้ดอกออกฝักแล้ว

บนใบอาการจะเริ่มจากจุดช้ำฉ่ำน้ำเล็กๆ ขึ้นก่อน แล้วค่อยขยายโตขึ้นเป็นแผล โดยตรงกลางจะแห้งเป็นสีนํ้าตาล หรือน้ำตาลแดง ในรายที่เป็นรุนแรงเกิดแผลมากๆ จะมีผลทำให้ใบแห้งเกิดอาการ blight ขึ้นในที่สุดเช่นกัน ส่วนอาการที่แตกต่างจาก halo blight ที่เกิดจาก P. syringae pv. phaseolicola คือ แผลที่เกิดจากใบจุดนูนจะมีรูปร่างไม่คงที่และมีขนาดโตกว่า ส่วนรอบๆ แผลจะมีบริเวณเซลล์ตายสีเหลืองล้อมอยู่เพียงแคบๆ ในกรณีที่ฝักถั่วถูกเชื้อเข้าทำลาย แผลที่เกิดขึ้นบางครั้งจะมีลักษณะเป็นสะเก็ดนูนขึ้นมาจากผิวปกติสีนํ้าตาลเข้มหรือดำ และมีขนาดโตกว่า ผิดกับ halo blight ซึ่งแผลจะมีขนาดเล็กและเป็นแอ่งจมลงไปจากผิว บนฝักหนึ่งๆ อาจมีแผลเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากจนเต็มทั้งฝัก ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดการบิดเบี้ยวหรือหดย่นขึ้นขณะเดียวกันหากอากาศโดยรอบมีความชื้นสูงจะมีเมือกของแบคทีเรียซึ่งเจริญเติบโตอยู่ที่แผลดังกล่าวสีเหลืองเยิ้มเป็นมันซึมออกมาเกาะหรือฉาบอยู่เห็นได้ชัดเจน ฝักพวกนี้หากถูกเชื้อเข้าทำลายตั้งแต่เป็นฝักอ่อนจะไม่มีการสร้างเมล็ด แต่ถ้าเป็นฝักแก่มี เมล็ดภายในแล้ว เชื้อก็จะเข้าทำลายเมล็ดด้วย ทำให้เมล็ดลีบ ผิวหรือเปลือกหดย่น บางครั้งจะเน่าเป็นสีดำ ในกรณีที่เมล็ดไม่ถูกทำลายให้เน่าเสียเชื้อที่เคลือบอยู่ที่เปลือกหรืออาศัยอยู่กับเมล็ดก็จะกลายเป็น seed-borne อยู่ข้ามฤดูและทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปยังต้นที่งอกใหม่ได้

ในรายที่เป็นโรครุนแรงใบส่วนใหญ่ถูกทำลายและร่วงหลุดจากต้น ก่อให้เกิดอาการไหม้แห้งทั้งต้นเช่นเดียวกับ halo blight

สาเหตุโรค : Xanthomonascampestris pv. glycines (โรคใบจุดนูน) และ X. campestris pv. phaseoli (โรคใบไหม้)

เป็นเชื้อแบคทีเรียที่เซลล์มีลักษณะเป็นแท่งขนาดโดยเฉลี่ย 0.87 X 1.9 ไมครอน เคลื่อนไหวได้ โดยมีหางเพียง 1 เส้นที่ปลายเซลล์ เมื่อนำมาเลี้ยงบนอาหารเลี้ยงเชื้อในห้องทดลองให้โคโลนี

กลม ผิวมันขอบเรียบ สีเหลืองอำพัน เจริญเติบโตและก่อให้เกิดโรคได้ดีในช่วงที่อากาศมีความชื้นสูง อุณหภูมิระหว่าง 21-32° ซ.

การระบาดที่สำคัญก็โดยการที่เชื้อติดไปกับเมล็ด ส่วนการระบาดในช่วงฤดูปลูกระหว่างต้น ส่วนใหญ่เกิดจากเมือกของแบคทีเรียที่ซึมออกมาเกาะติดอยู่ตามแผลที่ใบและฝักถูกน้ำฝนหรือนํ้าที่ใช้รดชะให้ไหลหรือกระเด็นไปยังต้นข้างเคียงได้ สำหรับเชื้อที่เคลือบหรือเกาะติดมากับเมล็ดพวกนี้จะเข้าทำลายต้น ใบเลี้ยงและใบจริงทันทีที่งอกจากเมล็ดและเจริญเติบโตขึ้นมา หากสิ่งแวดล้อมยังไม่เหมาะสมในขณะนั้น ต้นถั่วก็จะเจริญเติบโตต่อมาเป็นปกติจนโตเมื่อสิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวยจึงจะปรากฏอาการให้เห็น

การป้องกันกำจัด

เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในตระกูลเดียวกันกับโรคใบไหม้แห้งข้างต้น และทำลายพืชชนิดเดียวกัน การป้องกันกำจัดจึงอาจทำได้โดยวิธีเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปราศจากโรคการปฏิบัติต่างๆ เกี่ยวกับพืช ตลอดจนการใช้สารเคมีต่างๆ ในการฉีดพ่นก็เหมือนกัน