ไก่ฟ้าหลังเทา

ชื่อสามัญ  Kalij Pheasant

ชื่อวิทยาศาสตร์  Lophura leucoraelana

แบ่งออกเป็น 9 ชนิดย่อย ตามลักษณะเฉพาะตัว และถิ่นกำเนิดที่แตกต่างกัน แต่ที่พบในประเทศไทย มีเพียง 2 ชนิด คือ

1. ไก่ฟ้าหลังเทาพันธุ์ธรรมดา (Lineated Kalij) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า L.l. lineata พบในป่าต่ำบริเวณตั้งแต่เทือกเขาเปกูโยมา และทางเหนือของเทือกเขาตะนาวศรี ในเขตประเทศพม่า ลงมาจนถึงด้านตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย ตั้งแต่แม่ฮ่องสอนลงมาจนถึงตาก

2. ไก่ฟ้าหลังเทาแข้งแดง (Crawfurd’s kalij) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า L.lcrawfurdi พบในป่าต่ำบริเวณตอนใต้ของเทือกเขาตะนาวศรี ทั้งในด้านประเทศพม่า และในด้านตะวันตกไปจนถึงตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศไทย ตั้งแต่ตอนใต้ของตาก ลงมาถึงประจวบคีรีขันธ์

ทั้งสองชนิดมีลักษณะเหมือนกันเกือบทุกอย่าง ที่แตกต่างเห็นได้ชัด ได้แก่สีของแข้ง ซึ่งไก่ฟ้าสีเทาพันธุ์ธรรมดา จะเป็นสีเทาอมเขียว เทาอมนํ้าเงิน หรือเทาอมนํ้าตาล แต่ของไก่ฟ้าหลังเทาแข้งแดง จะเป็นสีนํ้าตาลแดงจนถึงสีชมพู หรือบางตัวจะเป็นสีแดงจัด

ไก่ฟ้าหลังเทาอาศัยอยู่ได้ในป่าหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นป่าดงดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณหรือป่าเต็งรัง บางครั้งอาจเข้าไปหากินตามแหล่งทุ่งหญ้า ชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ เมื่อถึงฤดูแล้งจะมีขนชุดใหม่ขึ้นมาแทนชุดเก่าที่ผลัดทิ้ง ประมาณเดือนธันวาคมจะเริ่มจับคู่ผสมพันธุ์ ทำรังวางไข่ตามพื้นป่าใต้กอไม้รก ๆ รองรับด้วยใบหญ้าแห้ง ๆ โดยวางไข่ครั้งละ 5- 6 ฟอง ใช้เวลาฟักไข่ 23 วัน