ป่าไม้เมืองเหนือในฤดูแล้ง

ในปี พ.ศ.2522 ต่อเนื่องกับปี) พ.ศ.2523 นับว่าเปีนปีที่แล้งที่สุดปีหนึ่งของประเทศไทย ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ทราบว่าในภาคเหนือของประเทศไทย ไม่มีฝนตกเลยตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2522 ติดต่อมาจนถึงปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2523 ก็ยังไม่มีท่าทีของฝนตั้งเค้ามาให้เห็น การที่ไม่มีฝนตกติดต่อกนมาถึง 6 เดือนเต็ม ๆ นี้นับว่าเป็นปรากฏการณ์พิเศษ จึงทำให้อากาศโดยทั่ว ๆ ไป ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวนออกเฉียงเหนือและภาคกลาง มีความแห้งแล้งในช่วงที่นานกว่าปรกติ มีการประกาศเป็นทางการว่า นํ้าในอ่างเก็บนํ้าเหนือเขื่อนพลังไฟฟ้า ทุกแห่ง มีระดับต่ำมากจนถึงขั้นที่จะเป็นอันตรายต่อการผลิตพลังงานไฟฟ้า

ในภาคเหนือในช่วงฝนแล้งติดต่อกันยาวนานนี้ราว 4-5 ครั้ง ได้พยายามใช้ความสังเกตต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพป่าไม้ในภาคเหนือ ในช่วงอากาศแล้งจัดระยะนี้ ก็พบความเปลี่ยนแปลงหลายประการ ซึ่งสมควรจะบนทึกไว้และนำมา เล่าสู่กันฟัง

ข้อสังเกตประการแรกก็คือ ป่าไม้ประเภทป่าเบญจพรรณแล้ง (Dry Mixed Deciduous) และป่าเต็งรัง (Dry Dipterocarp Forest) มีการผลัดใบจนหมดสิ้นจนแทบไม่มีใบไม้ติดต้นให้เห็นเป็นเวลานานติดต่อกันถึง 4-5 เดือน ซึ่งนับว่าเป็นเวลานานผิดปรกติ เพราะระยะเวลาผลัดใบตามปรกติของป่าไม้ดังกล่าว มีอยู่ราว 2-3 เดือน เท่านั้น และเดือนมีนาคมควรจะมีต้นไม้แตกใบอ่อนออกมาให้เห็นอย่างมากมายแล้ว แต่ในฤดูแล้งช่วงปี พ.ศ.2522 ต่อปี 2523 นี้มีต้นไม้เพียง 2-3 ชนิดเท่านั้นที่แตกใบอ่อนให้เห็น นํ้าตามลำห้วยลำธารต่าง ๆ แห้งขอด แต่ก็ยังมี บางแห่งที่มีนํ้าเหลืออยู่บ้าง เช่น นํ้าตกแม่ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ยังมีนํ้าตกมากเช่นเดียวกับเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2522 ซึ่งเป็นเดือนเดียวกัน เพียงแต่ว่าสภาพป่าไม้ที่ล้อมรอบนํ้าตกแม่ยะผลัดใบเกือบทั้งหมด แม้กระทั่งป่าไม้ไผ่ซางก็มีใบแห้งเหลืองไปทั่วทั้งป่า นํ้าในลำห้วยแม่งัด อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ในเดือนตุลาคม 2523 นี้ นับว่ายังคงมีนํ้าอุดมสมบูรณ์ดีตามสภาพของนํ้าในลำห้วยหน้าแล้งเท่าที่เคยเป็นมา ส่วนน้ำในลำห้วยแม่แจ่ม ซึ่งเป็นลำห้วยใหญ่สายหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ มีน้ำน้อยกว่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของปี พ.ศ 2522

มาก ป่าสนเขา (Pine Forest) ตามริมทางขึ้นดอยอินทนนท์ และตามเส้นทางไปอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม พ.ศ.2523 มีใบเหลืองเป็นกลุ่ม ๆ ทำท่าคล้าย ๆ ว่าจะผลัดใบ โดยปรกติแล้วเราถือว่าป่าสนนั้นเป็นป่าไม้ประเภทป่าดงดิบเขาสูง (Hill Evergreen Forest) ซึ่งจะมีใบเขียวตลอดปี การที่ต้นสนเขามีใบเหลือง น่าจะเป็นการแสดงให้ทราบถึงความแห้งแล้งอย่างผิดปรกติ และทำให้น่าคิดต่อไปว่าอะไรเป็นต้นเหตุให้ป่าไม้บางประเภท เช่น ป่าเบญจพรรณแล้ง และป่าเต็งรังผลัดใบในฤดูแล้ง คำตอบซึ่งพอจะนำมาใช้พิจารณาได้ก็คือ ป่าทั้งสองประเภทนี้โดยปรกติสภาพพื้นดินก็มีความชื้นน้อยกว่าป่าดงดิบและป่าที่อยู่ตามริมห้วยริมนํ้าอยู่แล้ว เมื่อป่าทั้งสองประเภทนี้มาพบกับสภาพ ความแห้งแล้งของดินฟ้าอากาศซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำปีธรรมชาติของต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่าเหล่านี้จึงกำหนดนิสัยให้ต้นไม้ในป่าเหล่านั้นประพฤติเพื่อความอยู่รอดของต้นไม้นั้น ๆ เอง คือให้ผลัดใบออกทิ้งพร้อม ๆ กัน การผลัดใบของต้นไม้นั้นก็เพื่อลดเนื้อที่การระเหยของนํ้าจากต้นไม้นั้น ๆ ให้น้อยลง เพราะในยามที่อากาศแห้งแล้งและมีความชื้นในดินน้อยเช่นนี้ มันควรจะทำหน้าที่สงวนนํ้าใน ลำต้นของมันไว้ใช้ในยามจำเป็นด้วย และในขณะฤดูแล้ง ซึ่งมันผลัดใบออกทิ้งนี้ มันจะหยุดความเจริญเติบโตชั่วระยะเวลาหนึ่งจนกว่าฤดูแล้งจะผ่านพ้นไป หรือจนกว่าฤดูฝนจะมาถึงการหยุดความเจริญเติบโตนี้ก็เพื่อเป็นการปรับตัวของมันเองให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในฤดูแล้ง เพราะในช่วงฤดูแล้งนั้นความชื้นในดินมีน้อย การที่ต้นไม้จะดูดเอาอาหารไปเลี้ยงลำต้นก็ต้องอาศัยนํ้าหรือความชื้นเป็นตัวละลายแร่ธาตุ ซึ่งจำเป็นต่อความเจริญของต้นไม้ เมื่อความชื้นน้อยการละลายแร่ธาตุก็เป็นไปได้ยาก ดังนั้นต้นไม้ในป่า ซึ่งมีผืนแผ่นดินแห้งแล้งจึงพากันหยุดความเจริญเติบโตเสียชั่วขณะ การหยุดความเจริญเติบโตทำให้เนื้อไม้ที่เกิดขึ้นมา หรืองอกขึ้นมาในระยะนี้แน่นและจะเห็นเป็นเส้นเด่นชัด ตามหน้าตัดของต้นไม้ที่ผลัดใบหมดทั้งต้นและหยุดความเจริญเติบโตในฤดูแล้งทั่ว ๆ ไป และจากเส้นที่มีสีเข้มและแคบเป็นวงล้อมรอบหน้าตัดเป็นชั้น ๆ นี้เองเราเรียกว่า “วงรอบปี” หรือ Annual ring ซึ่งสามารถใช้นับอายุต้นไม้นั้น ๆ ว่าเกิดมากี่ปีแล้วได้ด้วยเส้นวงรอบปีของต้นไม้บางชนิดทำให้เกิดลักษณะลวดลายงดงามขึ้นในเนื้อไม้ เช่นไม้สักและไม้สนเขา และถ้าไม้เหล่านี้ถูกนำไปแปรรูปอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว ก็จะได้ลวดลายสวยงามยิ่งขึ้นกว่าการแปรรูปแบบธรรมดา

ข้อสังเกตประการที่สองก็คือ ในขณะที่ต้นไม้อื่น ๆ ในป่าเต็งรังพากันผลัดใบจนหมดสิ้นนั้น ยังมีต้นไม้อยู่ 2-3 ชนิด ยังมีใบเขียวเข้มอยู่และไม่มีร่องรอยของการผลัดใบมาก่อนเลย ทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น มันมีคุณสมบัติพิเศษอะไรหรือจึงมีสภาพเป็นเช่นนั้นอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าท้าทายให้นักวิชาการป่าไม้ช่วยศึกษาค้นคว้ากันดู และเราอาจจะใช้คุณสมบติ พิเศษของต้นไม้นั้น ๆ ไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นได้บ้าง

การที่ต้นไม้ในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณแล้งผลัดใบพร้อม ๆ กันในฤดูแล้ง ทำให้ใบไม้ที่ถูกผลัดออกไปนั้น ไปแห้งทับถมกันบนดินซึ่งกลายเป็นเชื้อให้เกิดไฟไหม้ป่าทุกปีในฤดูร้อน แม้ว่าไฟไหม้ป่าในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ แล้งจะไม่รุนแรง เพราะระดับเปลวไฟสูงไม่เกิน 1 เมตร ที่ฝรั่งเขาเรียกว่า Bush fire หรือ Ground fire แต่ก็ทำให้พื้นดินปราศจากสิ่งปกคลุม หากมีฝนตกลงมานํ้าฝนก็จะกัดชะหน้าดินให้เลื่อนไหลไปที่อื่น ถ้าหากว่าป่านั้นอยู่ในที่ลาดชัน ความรุนแรงของการกัดชะหน้าดินก็จะรุนแรงยิ่งขึ้น ดร.พิสิทธิ์ วรอุไร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งทำหน้าที่หัวหน้าโครงการหลวงรักษาต้นนํ้า ได้บรรยาย แก่นักศึกษาวนศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สวีเดน ซึ่งมาดูงานในประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2523 ที่สถานีต้นนํ้าทุ่งจ๊อ ว่าการกัดชะของนํ้าฝนที่มีต่อดินชั้นบนในแถบต้นนํ้าบริเวณทุ่งจ๊อ เมื่อก่อนที่โครงการหลวงจะเข้าดำเนินการนั้นถูกกัดชะไปมีความหนาถึงปีละ 15 ซม. ดร.พิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ไฟป่าบนภูเขาซึ่งเป็นแหล่งต้นนํ้าลำธารส่วนใหญ่เกิดจากชาวเขาเผาป่าหญ้าคา เพื่อให้หญ้าคาแตกใบอ่อนเหมาะสำหรับให้สัตว์กิน ต่อจากนั้น ไฟก็ลุกลามไปที่อื่น ๆ ความจริงไฟป่าในเมืองไทย ซึ่งเป็นไฟระดับพื้นดินก็ดูจะมีประโยชน์อยู่บ้าง เช่นช่วยทำลายแมลง ช่วยให้พื้นดินมีเถ้าถ่านอันประกอบด้วยธาตุ โปรแตสเซี่ยมมากขึ้น แต่เมื่อคิดถึงการทำลายหน้าดิน การกัดชะของนํ้าที่มีต่อหน้าดิน และการหยุดยั้งความเจริญเติบโตของต้นไม้เพราะถูกไฟลวก และการเผาผลาญ ต้นไม้ในป่าให้ตายไป ตลอดจนทำให้ต้นไม้ต้องเสื่อมคุณภาพ ไปเพราะแผลไฟไหม้ รวมทั้งอันตรายจากเห็ดราซึ่งติดตามมาแล้ว ความเสียหายก็ดูจะมีมากกว่าความดี

ไฟป่านี้เป็นที่หวาดกลัวของเจ้าหน้าที่ปลูกสร้างสวนป่าทั้งของรัฐบาลและของเอกชน เพราะถ้าปล่อยให้ไฟป่าเข้าไปไหม้ในบริเวณสวนป่าได้ ก็หมายความว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมต้นไม้ที่ตายไปเพราะมากขึ้น ต้นไม้ที่ถูกไฟลวกแต่ไม่ตายก็จะแตกกิ่งก้านสาขาทำให้คุณภาพของต้นไม้นั้นด้อยลงไปและไม่เหมาะสำหรับทำซุง ดังนั้นผู้มีหน้าที่ควบคุมการปลูกสร้างสวนป่าจึงได้มีการเตรียมป้องกันไว้ก่อนที่จะถึงฤดูแล้ง เช่นการตัดแนวกันไฟเป็นแปลงย่อย ๆ และปลูกต้นไม้ชนิดไม่ผลัดใบคั่น ตามแถวต้นไม้และคั่นตามขอบของแปลงนั้น ๆ ไว้ จัดให้มีการชิงเผาหรือเผาโดยมีการควบคุม (Early burning or Prescribed burning) ในสวนป่าก่อนที่ฤดูแล้งจะมาถึง เพื่อให้สวนป่ามีหญ้าแห้งหรือเศษไม้ที่เป็นเชื้อเพลิงน้อยลง โอกาสที่จะถูกไฟป่าลุกลามเข้ามาในเขตสวนก็ยากขึ้น ชาวบ้านที่ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ในป่าต่างก็รู้ถึงวิธีป้องกันไฟป่าที่จะลุกลามหรือมีลูกไฟปลิวลงมาถูกหลังคาบ้านของตน เพราะหลังคาบ้านส่วนใหญ่คนที่ปลูกบ้านอยู่ในป่ามักมุงด้วยใบไม้หรือหญ้าคา วิธีป้องกันไฟป่าของชาวบ้านก็คือ รื้อหลังคาบ้านออกแล้วเก็บเศษไม้หรือส่วนที่ติดไฟง่ายขึ้นไปไว้ในที่สูง ๆ เช่นตามคบไม้ แล้วนอนในบ้านโดยไม่มีหลังคาตลอดช่วงฤดูแล้ง เพราะชาวบ้านรูดีว่าในฤดูนี้ จะไม่มีฝนตกเลย แต่กระนั้นก็ดีเราจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับไฟป่าไหม้บ้านอยู่เสมอ เช่นข่าวในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 9 มีนาคม 2523 มีข่าวไฟไหม้ป่าเผาหมู่บ้าน ขุนแม่บง ตำบลปงน้อย อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย หมดไป 80 หลัง ทำให้คน 500 คนไร้ที่อยู่ ข่าวกล่าวต่อไปว่าสาเหตุของการเกิดไฟป่าครั้งนี้ เกิดจากชาวบ้านแห่งนี้ เผาป่าตามกรรมวิธีของการทำไร่เลื่อนลอย แล้วไฟลุกลามเข้าไปไหม้บ้านของตนเอง ภาคเหนือของประเทศไทยในฤดูแล้งยามค่ำคืนจะเห็นไฟป่าที่ยังติดขอนไม้ลุกวอมแวม และบางทีก็ติดกันเป็นแนวพาดยาวไปตามแนวของภูเขาดูสวยงามดี นักศึกษาวนศาสตร์สวีเดนซึ่งมาดูงานป่าไม้ในภาคเหนือของประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคม 2523 ได้ถามว่า ตอนกลางคืนที่เห็นไฟวอมแวมตามภูเขานั้นเป็นแสงไฟจากบ้านของชาวเขาใช่หรือไม่ เมื่อได้รับคำตอบว่าเป็นแสงของไฟที่ไหม้ป่า ดูเขารู้สึกตกอกตกใจมาก เพราะบ้านเขาไม่เคยพบเหตุการณ์เช่นนี้ และในฤดูนี้เองอากาศในภาคเหนือของไทยเราจะคละคลุ้งไปด้วยควันของไฟป่า ทำให้เกิดอากาศมืดสลัว ซึ่งท่านจะเห็นดวงอาทิตย์มีขนาดใหญ่และมีสีแดงเป็นพิเศษ เพราะสีของควันไปบดบังทำให้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นและตกสวยงามผิดไปจากปรกติ

จากการผลัดใบในฤดูแล้งของต้นไม้ในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณแล้ง รวมทั้งการที่ไฟป่าไหม้ลุกลามเผาใบไม่ที่ร่วงทับถมกันเป็นจำนวนมากในฤดูนี้ ทำให้ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณแล้งมองดูเตียนโล่งแลลูทะลุปรุโปร่งไปได้เป็นระยะทางไกล ๆ ทำให้สังเกตเห็นป่าทั้งสองประเภทของประเทศไทยในภาคเหนือมีแต่ต้นไม้เล็ก ๆ ต้นไม้ใหญ่มีเพียงจำนวนเล็กน้อย และต้นไม้ใหญ่ที่เหลือนั้นก็ไม่สู้จะมีค่าทางเศรษฐกิจ หากเราไม่สามารถจะป้องกันไฟป่าได้ ป่าทั้งสองประเภทนี้ก็จะเสื่อมค่าลงไปทุกที ในที่สุดก็จะไม่มีไม่มีค่าทางเศรษฐกิจเหลืออยู่เลย เราจะเห็นได้ว่ามูลเหตุที่เกิดไฟป่านั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากต้นไม้ผลัดใบพร้อม ๆ กัน แล้วใบไม้ร่วงหล่นสุมกันกลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี เมื่อเป็นเช่นนี้ก็น่าจะลองใช้ป่าประเภทนี้เป็นที่ปลูกสร้างสวนป่าเสีย โดยใช้ต้นไม้ที่ผลัดใบเป็นต้นไม้หลักที่จะใช้ปลูกต้นไม้ ที่ไม่ผลัดใบและสามารถปลูกในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณแล้งที่มีดินเลวได้ ก็มีไม้กระถินณรงค์ (Acacia auriculaeformis) และยูคาลิปตัส (E.camaldulensis) และอาจจะมีต้นไม้ชนิดอื่นอีก หากเราปลูกต้นไม้ที่ไม่ผลัดใบแล้วก็จะไม่มีใบไม้ร่วงหล่นลงมามากในฤดูแล้ง โอกาสที่จะถูกไฟไหม้ป่าเข้าลุกลามก็น้อยลง ความชื้นในดินก็จะมีการระเหยน้อยลง สภาพป่าก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี และมีคุณสมบ้ติในทางรักษาต้นนํ้าลำธารและควบคุมความชื้นได้มากขึ้น แต่การปลูกป่าประเภทนี้จะต้องใช้ความพยายาม และใช้ความอดทน และอาจจะต้องใช้ปุ๋ยเพื่อช่วยต้นไม้ที่ปลูกด้วยเพราะดินทรามมาก และงานนี้เป็นงานใหม่ซึ่งท้าทายความรู้ความสามารถของนักวิชาการป่าไม้ของไทย เป็นอย่างสูง

หากเรามามองดูกันในแง่บวกดูบ้าง ก่อนที่จะเริ่มผลัดใบของป่าทั้งสองชนิดคือป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณแล้งนั้น ในราวเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม สีสันของป่าทั้งสองประเภทจะผิดแปลกออกไปและมีความสวยงามเป็นพิเศษ กล่าวคือป่าจะมีสีเขียวจากต้นไม้ที่ผลัดใบช้าเหลืออยู่ ผสมผสานไปด้วยสีเหลืองสีแดงของใบไม้แก่ ๆ ที่เตรียมจะผลัดใบ อาจจะกล่าวได้ว่าความสวยงามของป่าทั้งสองประเภทในฤดูนี้ของเรามีความสวยงามกว่าป่าไม้เมืองหนาว ในฤดูใบไม้ร่วง (Autumn) เสียอีก เพราะป่าไม้เมืองหนาว ในฤดูนี้มีแต่สีเหลืองเป็นส่วนใหญ่ ส่วนป่าของเรามีทั้งสีเขียว สีแดง และสีเหลือง ทำให้ป่าไม้ของเรามีสีสันงดงามผิดไป จากเดิม การที่ต้นไม้เปลี่ยนสีใบจากสีเขียวเป็นสีอื่นก่อนที่จะผลัดใบในฤดูแล้งนั้น เรียกกันว่าเป็นสี Autumnal tint คือสีแห่งฤดูใบไม้ร่วง เมื่อต้นไม้ผลัดใบหมดแล้วใบไม้ก็จะร่วงหล่นลงมากองอยู่บนพื้นดินเต็มไปหมด ทำให้พื้นดินในป่ามีสีผิดแปลกไปตามสีของใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นลงมา หลังจากนั้นไฟป่าก็จะไหม้ลุกลามเข้าไปไหม้ใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นลงมานั้นจนหมดสิ้น ป่าก็จะเตียนโล่งมองเห็นทะลุปรุโปร่งเต็มไปด้วยต้นไม้ซึ่งมีแต่กิ่งก้านปราศจากใบ สภาพพื้นดินในป่านั้นก็กลายเป็นสีดำไปตามสีของเถ้าถ่าน ต้นไม้บางชนิดมีกิ่งก้านที่ปราศจากใบมองดูคดงอเป็นศิลปอยู่ไม่น้อย ป่าไม้ในระยะนี้จึงมองดูสวยงามเป็นศิลปอีกแบบหนึ่ง ถ้าเราแยกเอาความร้อนระอุจากความร้อนของอากาศ ในฤดูนี้ในป่าไม้ที่ปราศจากใบที่จะให้ร่มเงาออกไปเสีย ในท่ามกลางของความร้อนระอุในป่าที่ต้นไม้ผลัดใบจนหมดสิ้นและมีพื้นดินที่มีสีดำอันเกิดจากเถ้าถ่านของไฟไหม้ป่า นั้น เราจะพบเหตุการณ์และปรากฏการณ์แปลก ๆ ของธรรมชาติ เช่นพายุหมุนเล็ก ๆ (Whirl wind) ซึ่งจะพบ เห็นในป่าทั่ว ๆ ไปในป่าในช่วงเวลาบ่าย บางคนก็เรียกลมชนิดนี้ว่าลมทอนาโดน้อย หรือ Little tornado เพื่อให้เกิดความประทับใจมากขึ้น ลมหมุนนี้เกิดจากความร้อนที่สะสมอยู่ในป่าผลัดใบ ทำให้อากาศในส่วนนั้นลอยตัวสูงขึ้น อากาศเย็นจากส่วนอื่นก็จะพัดเข้ามาแทนที่ เนื่องจากป่าไม้ ในฤดูนี้ผลัดใบหมด ป่าจึงมีลักษณะคล้ายที่โล่งแจ้ง อากาศที่จะเข้ามาแทนที่จึงสามารถเข้ามาได้ทุกทิศทุกทางโดยปราศจากต้นไม้ใบไม้เป็นเครื่องกำบังกีดขวาง อากาศที่เข้ามารวมตัวจึงเกิดชนกันขึ้น แล้วกลายเป็นลมหมุนเอาใบไม้ ฝุ่น เป็นลำสูงขึ้นไปจากพื้นดินสูงราว 5-10 เมตร อันเป็นปรากฏการณ์ที่น่าดูเป็นอย่างยิ่ง เหตุการณ์อีกอย่างหนึ่ง ที่น่าประทับใจในฤดูแล้งในขณะที่ป่าไม้กำลังผลัดใบ คือ เสียงจักจั่นเรไร ซึ่งจะได้ยินเซ็งแซ่ระงมไปทั่วทั้งป่า โดยเฉพาะในตอนเช้าและในตอนเย็น เป็นเรื่องที่ผิดแผกออกไปจากเสียงของรถยนต์และเสียงจอแจอื่น ๆ ที่เรา ได้ยินจำเจอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน พอป่าผลัดใบเริ่มจะแตกใบอ่อน เพราะใกล้จะถึงเวลาที่ฝนจะตกครั้งแรก คือราวปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายน ใบไม้อ่อนสีแปลก ๆ ก็จะผลิออกมา บางชนิดก็เป็นสีเขียวอ่อน บางชนิดก็เป็นสีม่วงเข้ม ทั้งต้น เช่น ต้นกระบก (Ervingia malayana) บางชนิด ก็มีสีแดงปนม่วง เช่น ต้นกระถินพิมาน (Acacia siamensis) นอกจากนั้นที่น่าประทับตาประทับใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ ต้นไม้ในป่าผลัดใบส่วนใหญ่จะออกดอกบานสะพรั่ง ช่วยเพิ่มสีสันอันงดงามให้แก่ป่าผลัดใบ เพราะดอกไม้ส่วนใหญ่ของป่าผลัดใบนั้นมักออกดอกเป็นช่อใหญ่สะดุดตาโดยไม่มีใบเหลืออยู่เลย โดยเฉพาะในฤดูแล้งปี พ.ศ.2522 ต่อกับปี พ.ศ. 2533 ซึ่งมีความแห้งแล้งเป็นพิเศษและต้นไม้มีระยะเวลาผลัดใบยาวนานผิดปรกติ ทำให้มีดอกไม้ป่าบานมากมาย และงดงามเป็นพิเศษ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะป่าโล่งเตียน เห็นดอกไม้ได้ชัดเจนกว่าปีก่อน ๆ หรือต้นไม้พากันออกดอก มากกว่าปรกติเพราะธรรมชาติคิดว่าปีนี้มีความแห้งแล้งเป็นพิเศษชีวิตของต้นไม้นั้นคงอยู่ไปไม่ได้นาน จึงช่วยกันบันดาลให้มีดอกผลมากขึ้นเพื่อเผยแพร่พืชพันธุ์ให้คงอยู่ต่อไปในโลก ต้นไม้นั้นมีสัญชาตญาณเป็นพิเศษที่จะเผยแพร่พืชพันธุ์ให้มากขึ้น เมื่อมันรู้ว่ามันคงจะมีอายุต่อไปอีกไม่นาน ด้วยเหตุนี้ชาวสวนจึงนำเอาวิธีการทรมานไปใช้กับต้นผลไม้ เพื่อให้ออกดอกออกผลมากขึ้น เช่นการใช้ขวานฟันต้นมะม่วง เพื่อให้ติดลูกมากขึ้นเป็นต้น เคยปลูกต้นติ้ว ไว้ที่ที่ทำการฝ่ายทำไม้ภาคเหนือ ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นเวลานาน 4-5 ปีจนต้นไม้นั้นโตมากแต่ก็ไม่เคยออกดอกให้เห็น จึงได้สั่งให้คนงานใช้ลวดขันรัดลำต้นไม้ต้นนั้นไว้ก่อนที่ฤดูแล้งจะมาถึงราว 3-4 เดือน ปรากฏว่าในฤดูแล้งต่อมาต้นติ้วต้นนั้นก็ออกดอกสวยงามเต็มต้นให้เห็น การที่ต้นไม้ในป่าผลัดใบออกดอกในฤดูแล้ง ก็เป็นการแสดงถึงความฉลาดและรอบรู้ของธรรมชาติ เพราะเมื่อออกดอกในฤดูแล้งแล้ว ผลก็จะแก่สามารถแพร่พืชพันธุ์ได้ตอนกลางฤดูฝน ลูกไม้ที่เกิดขึ้นในฤดูฝนก็จะเจริญงอกงามสามารถทนทานต่อความแห้งแล้งในฤดูต่อไปได้ ถ้าต้นไม้ในป่าผลัดใบเกิดออกดอกในกลางฤดูฝน ผลก็จะไปแก่เอาในฤดูแล้ง ลูกไม้ที่เกิดขึ้นก็จะไม่สามารถงอกงามในฤดูแล้งได้ หรืออาจจะตายหมดเพราะถูกไฟป่าเผาผลาญไป

เพื่อให้ทราบว่ามีต้นไม้ชนิดใดบ้างที่ออกดอกบานสะพรั่ง ในป่าภาคเหนือของประเทศไทยในฤดูแล้งระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม จึงจะขอยกตัวอย่างมาให้ทราบเป็นบางชนิด คือ

1. ต้นกาสะลองคำ (Mayodendron igneum) กาสะลองเป็นคำเมืองเหนือแปลว่าต้นปีบ คำแปลว่าทองคำ ดังนั้นคำว่ากาสะลองจึงแปลว่า ดอกปีบสีทอง ทำไมชาวภาคเหนือจึงเรียกดอกไม้ชนิดนี้ว่ากาสะลองคำ ก็เพราะว่าใบของต้นไม้ชนิดนี้เหมือนใบของต้นปีบ ส่วนดอกนั้นผิดแปลกไปจากต้นปีบมาก และทางด้านพฤกษศาสตร์ได้ แยกต้นไม้ทั้งสองชนิดนี้ออกไปคนละสกุลทีเดียว ต้น กาสะลองคำเป็นต้นไม้ขนาดกลางขึ้นอยู่ตามป่าเบญจพรรณแล้ง ในฤดูแล้งจะผลัดใบหมดทั้งต้นหรือบางครั้งก็อาจจะมีใบเหลืออยู่บ้าง ดอกรูปกระบอกยาวราว 2 นิ้วมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ราว 2 นิ้ว มีสีเหลืองแสด ออตามกิ่งและลำต้นดูสวยงาม มาก เหมาะสำหรับที่จะนำไปปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้าน หรือตามสถานที่ทำการ และไม่ต้องการการดูแลเอาใจใส่มากนัก เพราะตามธรรมชาติของมันเองก็ขึ้นอยู่ในที่ดิน ซึ่งมีอาหารไม่อุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว เนื่องจากต้นกาสะลองคำ เป็นต้นไม้ขนาดกลางจึงเหมาะสำหรับปลูกตามริมสระนํ้า หรือริมถนนขนาดเล็กมากกว่าที่จะปลูกริมถนนใหญ่ เพราะมีร่มใบน้อย

2. ต้นเสี้ยวขาว (Bauhinia variegata) เป็นต้นไม้ขนาดกลาง ออกดอกในฤดูแล้ง เวลาออกดอกผลัดใบหมดต้นจึงเห็นแต่ดอกสีขาวโพลนไปทั้งต้นดูสวยสดงดงามมาก อาจจะเปรียบได้ว่าเป็นซากุระแห่งภาคเหนือของประเทศไทยก็เห็นจะไม่ไกลจากความเป็นจริงมากนัก เพราะดอกเสี้ยวขาวนั้นมีเฉพาะในภาคเหนือยังไม่เคยพบในป่าภาคอื่นของประเทศไทยเลย ดอกเสี้ยวขาวเป็นดอกไม้ขนาดใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 3-4 นิ้ว มีลักษณะมองดูคร่าว ๆ คล้ายดอกกล้วยไม้ ดอกเสี้ยวขาวมักมีสีขาวบริสุทธิ์ เป็นส่วนใหญ่แต่ก็มีบางครั้งที่มีสีแดงปนตรงส่วนกลางของดอกบ้าง เมื่อมองดูในระยะไกล ๆ อาจจะเห็นเป็นสีชมพูอ่อน ๆ ต้นเสี้ยวขาวเป็นต้นไม้ที่เหมาะสำหรับนำมาปลูกเป็นไม้ประดับมาก เนื่องจากมีเมล็ดมากและปลูกง่าย ต้นไม้ตระกูลเสี้ยว หรือ Bauhinia นี้จะสังเกตได้ง่ายจากใบ ซึ่งดูคล้ายเป็นใบคู่เชื่อมติดกันเป็นรูปไต ยกเว้นต้นไม้บางชนิด เช่นต้นขยัน ซึ่งไม่มีใบลักษณะนี้ ต้นเสี้ยวเป็นไม้พวกเดียวกับ ชงโค โยธกา เป็นพันธุ์ไม้ที่มีทั้งเป็นต้นและเป็นเถา มีดอกสีต่าง ๆ ตั้งแต่สีแดง ขาว เหลือง และสีอื่น ๆ ซึ่งเหมาะที่จะใช้เป็นไม้ประดับด้วยกันทั้งสิ้น และเป็นไม้สกุลเดียวกับอรพิมพ์หรือคิ้วนาง (Bauhinia winittii) ซึ่งเป็นไม้สกุลเสี้ยวที่มีใบเล็กที่สุดและมีดอกใหญ่ที่สุดในสกุลเสี้ยวด้วยกัน อรพิมพ์เป็นต้นไม้เถาชนิดแข็ง ซึ่งขึ้นอยู่ตามป่าเต็งรังในภาคอีสานและภาคตะวันออก และได้รับการขนานนามให้เป็นเกียรติแก่นักพฤกษศาสตร์เรืองนามของไทยในอดีตคือพระยาวินิจวนันดร ผู้เชี่ยวชาญทางพฤกษศาสตร์ ของกรมป่าไม้ ต้นไม้สกุลเสี้ยวของไทยมีมากกว่า 40 ชนิด

3. ต้นปี๊จั่น (MiHetia brandisiana) เป็นต้นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีใบเป็นแถวเรียงยาวคล้ายใบขี้เหล็ก ออกดอกเล็กสีม่วงปนขาวรวมกันเป็นช่อใหญ่น่าดูมาก เวลาออกดอกในหน้าแล้งจะผลัดใบหมดทั้งต้น มีอยู่บางต้นที่ออกดอกเมื่อเริ่มจะผลิใบอ่อนออกมา ทำให้ดอกสีม่วงขาวเป็นช่อใหญ่ผสมกับใบสีเขียวอ่อน ช่วยให้สีสันน่าดูผิดแผกไปจากเดิม ปี๊จั่นเป็นพันธุ์ไม้ตระกูลถั่ว ฉะนั้น ดอกปี๊จั่นจึงมีลักษณะเป็นดอกถั่วเล็ก ๆ ละเอียดรวมกันเป็นช่อใหญ่ บางต้นก็มีสีม่วงเข้ม บางต้นก็มีสีม่วงจาง บางต้นก็มีช่อทึบ บางต้นก็มีช่อห่าง นอกจากนั้นต้นปี๊จั่น ยังเป็นต้นไม้ที่มีฝักมากมาย ดังนั้นเวลาเลือกเอาฝักไปใช้ เป็นพันธุ์เพื่อนำไปปลูกเป็นไม้ประดับ จึงควรเลือกเอาฝักจากต้นที่มีลักษณะดอกตามที่เราต้องการ ต้นปี๊จั่นเหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ประดับทั่ว ๆ ไปและปลูกเป็นไม้ริมถนน เพราะมีร่มใบหนาพอสมควร เวลาออกดอกจะออกพร้อมเพรียงกัน ทำให้เกิดความสวยงามเป็นพิเศษ และระยะการบานของดอกก็มีความทนทานนานพอสมควร

4. ต้นคูน (Cassia fistula) บางทีก็เรียกว่าต้นชัยพฤกษ์หรือต้นลมแล้ง เป็นต้นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีใบขนาดกลางเป็นมันเรียงกันเป็นแถว มีดอกสีเหลืองแก่ เป็นช่อยาวราว 8-12 นิ้วช่อดอกรวมกันเป็นกลุ่มตามกิ่ง ห้อยช่อลงมาน่าดูมาก ต้นคูนมักจะออกดอกในฤดูแล้งไปจนถึงเดือนเมษายน ทำให้บางคนเรียกดอกไม้ชนิดนี้ว่า “ดอกสงกรานต์” เพราะเมื่อถึงฤดูตรุษสงกรานต์ดอกไม้ ชนิดนี้ก็ยังบานอยู่ ต้นคูนบางต้นออกดอกแล้วทิ้งใบหมด บางต้นก็ยังมีใบติดอยู่ ต้นคูนส่วนใหญ่เวลาออกดอกจะมีฝักคูนยาวราว 10-15 นิ้วสีนํ้าตาลแก่ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากดอกเมื่อปีที่แล้วห้อยติดปนอยู่กับดอกที่บานใหม่ในปีนี้อยู่อย่างมากมายช่วยเพิ่มความสวยงามให้มากขึ้นอีก ดอกคูนบางต้นก็มีสีเหลืองเข้ม บางต้นก็มีดอกสีเขียวปนเหลือง ฉะนั้นถ้าจะเลือกเอาเมล็ดไปเพาะเพื่อทำพันธุ์ ก็ควรจะ เลือกเอาเฉพาะเมล็ดจากต้นที่มีดอกเป็นสีที่เราต้องการ ต้นคูนนี้ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในป่าเบญจพรรณแล้งและบางส่วนของป่าเต็งรังซึ่งต่อเนื่องกับป่าเบญจพรรณแล้ง เป็นต้นไม้ที่มีความทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดีพอสมควร ฉะนั้นเมื่อนำไปปลูกในกรุงเทพฯ ซึ่งมีนํ้ามากและได้รับการทำนุบำรุงเป็นอย่างดี ต้นคูนจึงมีใบมากกว่าต้นคูนที่ขึ้นอยู่ตามป่าธรรมชาติ ต้นคูนที่นำมาปลูกไว้จึงออกดอกปนใบ ซึ่งมีความสวยงามเป็นอีกแบบหนึ่ง เนื่องจากต้นคูนเป็นต้นไม้ที่มีดอกสีเหลืองเข้มเป็นช่อยาวรวมกันเป็นหมู่เป็นพวงใหญ่สวยงามผิดแปลกไปจากดอกไม้อื่น ๆ ของบ้านเรา จึงมีผู้คิดที่จะแต่งตั้งให้ต้นคูนเป็นต้นไม้ประจำชาติไทย ซึ่งก็นับว่าเหมาะสมอยู่ แต่ก็ควรจะมีผู้สนับสนุนมากพอสมควร ต้นคูนมีประโยชน์ในด้านสมุนไพรมาก เช่นเนื้อในของฝัก เป็นยาระบายอย่างแรง เปลือกให้น้ำฝาดสูงและให้สีนํ้าตาลคลํ้า ใช้กินกับหมากได้ทั้งเปลือกและแก่น ใบคูนอ่อนเมื่อนำไปปิ้งไฟแล้วชงกับนํ้าเดือดใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ เนื้อไม้ของต้นคูนเป็นไม้เนื้อแข็งใช้ทำเสาและทำรอดตง ในการก่อสร้างบ้าน นอกจากนั้นไม้คูนยังใช้แก่นสร้างหลักเมืองในสมัยโบราณ ทั้งนี้คงมาจากชื่อ กัลปพฤกษ์ ชัยพฤกษ์ ซึ่งเป็นไม้ที่นิยมใช้ทำหลักเมืองไว้สี่มุมเมืองในสมัยนั้น

5. ไม้แดง (Xylia dorabriformis) ท่านคงจะได้ยินชื่อเสียงของไม้แดงกันมาบ้างแล้ว เพราะไม้แดงเป็นไม้เนื้อแข็งที่ดีที่สุดและแพงที่สุดชนิดหนึ่งของไทย เหมาะสำหรับทำพื้น ตง คาน และเครื่องบน ไม้แดงเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีเนื้อไม้สีแดงเข้ม ขึ้นในป่าเบญจพรรณแล้ง และจะผลัดใบหมดทั้งต้นเมื่อถึงฤดูแล้ง เมื่อผลัดใบแล้วจะออกดอกทันที ดอกไม้แดงเป็นดอกสีขาวครีม มีลักษณะ กลมเหมือนดอกกระถินบ้านแต่มีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย ดอกรวมกันเป็นกระจุกและออกดอกดกมากจึงสามารถมองเห็นได้ไกล ๆ ที่น่าสนใจก็คือดอกไม้แดงมีกลิ่นหอมฉุน ตลบไปทั้งป่า เคยนึกอยู่เสมอว่าน่าจะมีใครน่าเอาดอกไม้ไปสกัดทำหัวนํ้าหอมกันบ้าง เนื่องจากไม้แดงเป็นต้นไม้ตระกูลถั่ว ฉะนั้นจึงออกลูกเป็นฝักขนาดใหญ่เท่าฝ่ามือ เวลาฝักแก่จะแตกดีดเมล็ดในกระเด็นออกไปไกล ๆ เมล็ด ของไม้แดงนั้น ชาวแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน นำไปคั่ว รับประทานเหมือนเมล็ดแตงโม ไม้แดงเป็นไม้มีค่าซึ่งมีจำนวนลดน้อยลงไปทุกวัน จึงควรที่จะปลูกสร้างเป็นสวนป่า ขึ้นไว้เพื่อใช้ไม้ในอนาคต เมล็ดไม้แดงเป็นเมล็ดที่มีอัตราความงอกสูงมากชนิดหนึ่ง แต่เมื่อนำไปปลูกและยังเป็นลูกไม้เล็ก ๆ จะมีอัตราการรอดตายตํ่า เพราะลูกไม้แดงขณะยังเล็กอยู่นั้นทนไฟป่าไม่ใคร่ได้ จึงจำเป็นต้องได้รับ การทำนุบำรุงรักษาในขณะต้นยังเล็กอยู่ให้มากพอสมควร ไม้แดงที่มีอยู่ในป่าเบญจพรรณแล้งทั่วประเทศ บางครั้งจะพบขึ้นอยู่ในป่าเต็งรังบ้างแต่ก็มีต้นแคระและเล็กกว่าไม้แดงที่ขึ้นอยู่ในป่าเบญจพรรณ ไม้แดงในจังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีเนื้อไม้สีแดงเข้มมาก สำหรับจังหวัดแม่ฮ่องสอนและบางส่วนของอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีไม้แดงอีกชนิดหนึ่งซึ่งมีเนื้อไม้เป็นสีเหลือง เนื้อไม้มีความแข็งแรงทนทานเช่นเดียวกับไม้แดงธรรมดา และลักษณะภายนอกของต้นไม้แดงที่มีเนื้อไม้สีเหลืองนี้ก็คล้ายกับต้นไม้แดงธรรมดา ทำให้คนทั่ว ๆ ไปยากที่จะวินิจฉัย นอกจากผู้ที่มีความรู้ทางพฤกษศาสตร์

6. ต้นทองกวาว (Butea frondosa) เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ มีใบใหญ่สีเขียวเข้มก้านหนึ่งมี 3 ใบคล้ายใบทองหลาง โดยปรกติชอบขึ้นในป่าเบญจพรรณใกล้ ๆ ริมน้ำ ต้นทองกวาวจะออกดอกเป็นสีแสดมีรูปร่างเหมือนดอกแคบ้านขนาดใหญ่เต็มต้นในฤดูแล้ง มีต้นทองกวาวบางต้นจะออกดอกโดยผลัดใบหมดต้น แต่ส่วนใหญ่แล้ว จะออกดอกเฉพาะปลายกิ่งหรือออกตามยอด และส่วนที่ออกดอกนั้นจะไม่มีใบเหลือติดอยู่ ทำให้มองเห็นต้นทองกวาว ขณะออกดอกมีสีแสดตัดกับสีเขียวเข้มของใบงามสะดุดตามาก เวลาที่ต้นทองกวาวออกดอกบานพร้อม ๆ กัน ป่าทั้งป่าจะมีสีแดงแสดเป็นหย่อม ๆ จนชาวต่างประเทศขนานนาม ต้นทองกวาวนี้ว่า “Flame of the forest” หรือเปลวไฟ แห่งป่าไม้ ดอกทองกวาวจะงามอีกครั้งหนึ่งเมื่อมีฝักอ่อนผสมกับดอกสีแสดที่ยังบานไม่หมด จึงทำให้เกิดเป็นสีเขียว อ่อนผสมกับสีแดงแสดดูงดงามไปอีกแบบหนึ่ง ต้นทองกวาว เหมาะสำหรับเป็นไม้ประดับตามสวนรุกขชาติและปลูกเป็นไม้ริมถนนในที่ดินที่แห้งแล้งทั่ว ๆ ไป มีผู้เคยนำต้นทองกวาวมาปลูกที่กรุงเทพฯ ปรากฎว่ามีแต่ใบสีเขียว เต็มต้นและไม่ค่อยออกดอก อาจจะเป็นเพราะกรุงเทพฯ พื้นดินมีนํ้ามากเกินไปก็ได้ มีต้นทองกวาวอีกชนิดหนึ่งมีลักษณะเป็นเถา เรียกว่า “กวาวเครือ” (Butea superba) มีใบและดอกรูปร่างสีเดียวกับต้นทองกวาว และออกดอกในฤดูแล้งเช่นเดียวกัน เถาทองกวาวจะเกาะและพันกับต้นไม้อื่น แล้วไปออกดอกบนยอดไม้ที่มันพันขึ้นไป ทำให้ต้นไม้นั้นมองดูคล้ายมีดอกสีแสดตามไปด้วย ดอกกวาวเครือและต้นทองกวาวมีขนาดและสีสันใกล้เคียงกันมาก เมื่อเก็บดอกออกมาจากต้นยากที่จะทราบว่าเป็นดอกของต้นกวาวเครือ หรือดอกจากต้นทองกวาว นอกจากผู้นั้นจะมีความรูในด้านพฤกษศาสตร์บ้างพอสมควร กวาวเครือเป็นเถาวัลย์ที่มีหัวขนาดใหญ่ขนาดเท่า ๆ กับหัวมันสำปะหลังหรืออาจจะใหญ่กว่า กล่าวกันว่าหัวทองกวาวเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง ที่ทำให้คนแก่กลายเป็นคนหนุ่มกระฉับกระเฉงขึ้นมา แต่ในวงการแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่ให้คำรับรองซํ้ายังแจ้งว่าในหัวทองกวาวนั้นมีธาตุชนิดหนึ่งที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่สมควรจะได้มีการศึกษาและค้นคว้ากันต่อไป อย่างไรก็ดีคนไทยสมัยโบราณได้ใช้หัวทองกวาวผสมกับสมุนไพรอื่นปั้นเป็นลูกกลอนให้ม้ากินก่อนที่จะให้ม้าผสมพันธุ์ กวาวเครือเป็นไม้ที่นำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้ดี โดยจะปลูกโดยตรงหรือทำร้านให้มันขึ้นก็ได้ เพราะกวาวเครือเป็นเถาวัลย์แข็ง (Woody climber)

7. เครือออน (Congea tomentosa) เครือออน เป็นไม้เถาชนิดแข็ง (Woody climber) คำว่า “ออน” เป็น ภาษาเมืองเหนือแปลว่าสีชมพู ดังนั้นคำว่าเครือออนจึงแปลว่า เถาวัลย์ที่มีดอกเป็นสีชมพู เครือออนเป็นเถาวัลย์ที่ขึ้นในป่า เบญจพรรณในภาคเหนือ โดยขึ้นเป็นอิสระหรือขึ้นเกาะต้นไม้อื่น ดอกเครือออนจะบานในฤดูแล้งโดยไม่มีใบเหลืออยู่ และดอกจะดกมองดูเป็นสีชมพูเต็มไปทั้งต้นสวยงามสะดุดตา ผู้ที่พบเห็นมาก เมื่อเถาเครือออนมีดอกบานใหม่ ๆ จะมีสี ชมพูเข้มและค่อย ๆ มีสีจางซีดเป็นสีค่อนข้างขาว ความจริงสีชมพูของเครือออนนั้นเป็นสีของกลีบใบเลี้ยงของดอก (Calyx) ส่วนดอกนั้นเป็นสีขาวเหลืองเป็นจุดเล็ก ๆ อยู่ตรงกลาง การที่สีของเครือออนเกิดจากใบเลี้ยงนี้เองทำให้สีของเครือออนคงทนอยู่ได้นานนับเป็นเดือน เครือออนเหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ประดับในภาคเหนือ อาจจะปลูกเป็นซุ้มประตูหรือซุ้มต้นไม้อื่น ๆ มีผู้นำหน่อของเครือออน จากภาคเหนือลงมาปลูกในกรุงเทพฯ ก็ปรากฏว่าขึ้นได้งอกงามดี แต่ไม่มีดอก มีแต่ใบหนาทึบ เข้าใจว่าดินในกรุงเทพฯ มีความชื้นมากเกินไป เครือออนมีขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่ว ๆ ไปในภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือด้วย แต่ปรากฏว่าสีของดอกเครือออนในภาคนั้น ๆ มักจะเป็นสีขาวมากกว่าที่จะเป็นสีชมพู

8. ส้านหลวง (Dillenia pulcherima) เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ออกดอกสีเหลืองสดงดงามสะดุดตาอยู่ในป่าเบญจพรรณแล้งในภาคเหนือ ลักษณะเด่นของดอกส้านหลวงที่ทำให้เกิดการสะดุดตาแก่ผู้ที่ผ่านไปมาก็คือ การออกดอกสีเหลืองสดเป็นกลุ่มใหญ่ติดตามกิ่งเล็ก ๆ ทั่ว ๆ ไป และเวลาออกดอกต้นส้านหลวงจะทิ้งใบจนหมดสิ้น ดอกส้านหลวงแต่ละดอกจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 1 นิ้ว มีกลีบดอกแบบบางสีเหลืองจัดและจะเริ่มบานในตอนสาย ๆ คือราว 9-10 นาฬิกา ฉะนั้นถ้าหากเราผ่านต้นส้านหลวง ไปในเวลาเช้า ๆ เราอาจจะไม่ได้เห็นความงดงามของมัน คงจะเห็นแต่ดอกตูมเต็มต้นไปหมด ต้นส้านหลวงนี้เหมาะสำหรับนำไปปลูกเป็นไม้ประดับและเป็นไม้ริมถนนมาก เพราะต้นส้านหลวงนั้นมิใช่แต่จะมีความงามแต่เฉพาะดอกใบของมันก็มีความงดงามด้วย ใบของต้นส้านหลวงมีขนาดใหญ่มีเส้นใบเด่นชัด ขอบใบหยักคล้ายฟันเลื่อยให้เห็นอย่างชัดเจน ในขณะที่ต้นส้านหลวงยังเล็กอยู่จะมีใบขนาดใหญ่มาก ลักษณะการแตกใบของต้นส้านหลวงที่ยังเป็นต้นเล็ก ๆ อยู่จะไม่มีกิ่ง ใบจะแตกเป็นวงรอบ ๆ ยอดทำให้สวยงามเป็นพิเศษ และใช้เป็นไม้ใบสำหรับประดับสวนได้ด้วย เนื้อไม้ของต้นส้านหลวงใช้ในการก่อสร้างได้ แต่ไม่เป็นที่นิยมใช้กันมากนัก เพราะมีความทนทานไม่สู้ดี หาก ได้นำเนื้อไม้ไปอัดนํ้ายาเสียก่อนก็จะใช้การได้ดีและมีความทนทานสูงมาก ในประเทศไทยเรามีไม้จำพวกส้าน (Dillenia spp.) อยู่มากกว่า 10 ชนิด แต่ละชนิดก็มีดอกสวยงาม แต่มักจะเป็นดอกเดี่ยว ไม่ใคร่รวมกันเป็นกลุ่มตามกิ่งเล็ก ๆ เหมือนส้านหลวง ส้านบางชนิดก็มีลำต้นติดดิน แต่ก็ยังไม่ทิ้งสัญลักษณ์ของส้าน คือใบมีหยักมีเส้นใบชัดเจนและดอกมักจะเป็นสีเหลืองมีเกสรเป็นรูปจาน มองเห็นได้ชัด ส้านบางชนิด เช่น มะตาด (D.indica) แม้จะมีใบเล็กแต่ก็มีดอกเดี่ยวขนาดใหญ่มาก คือมีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 4-5 นิ้ว มีผลใหญ่ขนาดเท่ากำปั้น ชาวบ้านชอบนำมะตาดไปปลูกตามริมนํ้าและใช้ผลมะตาดไปแกงกินเป็นอาหาร

9. ตานเหลือง (Ochna integerrima) ตานเหลืองเป็นต้นไม้ขนาดกลาง ขึ้นในป่าเต็งรังและออกดอกในฤดูแล้งในขณะที่ป่าเต็งรังผลัดใบหมดและต้นตานเหลือง ก็ผลัดใบหมดด้วย ต้นตานเหลืองจะเริ่มออกดอกเมื่อผลัดใบหมดต้น ดอกตานเหลืองมีสีเหลืองจัดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ราว 1-1 ½  นิ้ว ออกดอกเป็นกระจุกตามกิ่งก้านทำให้เกิดอาการสะดุดตาแก่ผู้พบเห็น ต้นตานเหลืองเป็นต้นไม้ที่มีความทนทานต่อความแห้งแล้งและไฟป่ามาก เมื่อทนทานต่อไฟป่าไม่ไหวต้นตานเหลืองก็จะแห้งและยุบตัวเองไป แล้วแตกหน่อขึ้นมาใหม่ในฤดูต่อมา บางครั้งจะพบด้นตานเหลืองที่มีความสูงถึง 5 เมตร ต้นตานเหลืองขนาดนี้เมื่อออกดอกเต็มต้นจะมองดูสวยงามมาก แต่จะหาต้นตานเหลืองที่มีขนาดสูง ๆ อย่างนี้ยากมากในป่า ส่วนใหญ่จะถูกไฟไหม้ยุบไปเสียก่อนต้นตานเหลืองบางต้นก็จะมีความสูงเพียง 20 ซม. คือพอแตกหน่อพ้นขึ้นมาจากพื้นดินก็ออกดอกเป็น กระจุกให้เห็นมองดูคล้าย ๆ กล้วยไม้ดิน ผู้ที่คิดจะนำไปปลูกอาจจะลองขุดดูนึกว่าเป็นต้นไม้เล็ก ๆ เมื่อขุดลงไปแล้วจึงรู้ว่าใต้ดินนั้นเป็นเง่าใหญ่และลึกมาก เพราะเมื่อต้นตานเหลือง ถูกไฟเผาจะยุบตัวและสะสมเป็นเง่าใหญ่ขึ้นทุกปี ต้นตานเหลือง มีใบงดงามกว่าต้นไม้อื่น ๆ คือมีใบแหลมเป็นมันคล้ายใครเอานํ้ามันไปทาไว้ นอกจากนั้นต้นตานเหลืองยังมีผลงามเป็นพิเศษ คือขณะมีผลกลีบรองของดอกจะยังคงเหลืออยู่ และกลีบรองนั้นจะเปลี่ยนสีเป็นสีแดงจัด ส่วนผลตานเหลือง ซึ่งติดอยู่บนกลีบรองนั้นมีสีเป็นสีดำมีขนาดเท่านิ้วก้อย ทำให้ดูเหมือนก้อนสีดำวางอยู่บนฐานสีแดงดูงดงามมากเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงอาจจะกล่าวได้ว่า ต้นตานเหลืองนั้น งามทั้งต้น คืองามทั้งดอกลูกและใบ ต้นตานเหลืองตาม ธรรมชาติขึ้นอยู่ในที่ดินเลว ดังนั้นจึงไม่ใคร่ชอบนํ้า เมื่อนำไปปลูกรดนํ้ามาก ๆ จะมีแต่ใบไม่ใคร่มีดอกให้เห็น

10. อินทนิลบก (Lagerstroemea macrocarpa) อินทนิลบกเป็นต้นไม้ขนาดกลางสกุลเดียวกับต้นตะแบก (Lagerstroemea spp.) ดอกอินทนิลบกมีขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางราว 4-5 นิ้ว ซึ่งใหญ่และสวยงามที่สุดในบรรดาต้นไม้สกุลเดียวกัน ไม้อินทนิลบกขึ้นตามธรรมชาติ ในป่าเบญจพรรณแล้งและป่าเต็งรังในทุกภาคของประเทศไทย มีดอกสีม่วงเข้มกลีบใหญ่บางเหมือนแพร มีเกสรตัวผู้ สีเหลืองเป็นฝอยตัดกับสีม่วงของกลีบดอกทำให้ดูงดงามยิ่งขึ้น การออกดอกของต้นอินทนิลบกมักออกรวมกันเป็นช่อ และรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ดูสะดุดตา เวลาออกดอกยังมีใบเหลืออยู่บ้าง ใบของต้นอินทนิลบกมีขนาดใหญ่และหนากว่า ใบไม้ธรรมดา ดอกอินทนิลบกบางต้นก็มีสีม่วงแก่ บางต้นก็มีสีม่วงอ่อน นอกจากนั้นเวลาดอกแก่ใกล้จะโรยจะมีสีชีดจนเกือบจะกลายเป็นสีขาว ทำให้ต้นอินทนิลบกต้นเดียวกันมีทั้งดอกสีม่วงแก่และสีขาวปะปนกันน่าดูอย่างยิ่ง ผลของ ต้นอินทนิลบกมีขนาดใหญ่กว่าหัวแม่มือ มียอดแหลม และมีสีเป็นสีเทา มีฐานของผลเป็นแฉกแข็ง ถ้าเก็บผลไว้ก่อนที่มันจะแตกแล้วนำเอาไปตากแดดให้แห้งอาจจะนำไปใช้ตกแต่งเป็นเครื่องประดับบ้านได้ ต้นอินทนิลบกเป็นต้นไม้ ที่มีขนาดสูงพอเหมาะคือมีความสูงประมาณ 3-4 เมตร จึงมีผู้นิยมนำไปปลูกเป็นไม้ประดับมากและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ต้นอินทนิลบกสามารถนำเอาไปปลูกได้ทุกภาคของประเทศและออกดอกได้ดี การนำเอาไปปลูกนั้นอาจจะใช้เง่าซึ่งขุดโดยตรงจากป่าหรือเพาะจากเมล็ด การขุดเง่าไปปลูกโตดีกว่าการเพาะเมล็ดเพราะสามารถจะนำต้นอินทนิลที่โตแล้วมาปลูกได้และออกดอกได้รวดเร็วกว่า ถ้าเป็นการปลูกด้วยเง่าควรจะตัดใบออกเสียบ้างเพื่อ เป็นการลดการระเหยของนํ้าในลำต้นของเง่าที่จะปลูกให้น้อยลง จะทำให้ต้นไม้ที่ปลูกมีอัตราการรอดตายสูง พันธุ์ไม้ตระกูลตะแบกในประเทศไทยมีอยู่ 6-7 ชนิด แต่ละชนิดให้ดอกที่สวยงามทั้งสิ้น เช่น ตะแบกนา ตะแบกใหญ่ เสลา เส้า อินทรชิต และยี่เข่ง เป็นต้น พันธุ์ไม้สกุลนี้สามารถสังเกตได้ด้วยการดูรูปทรงดอกและลักษณะของดอกซึ่งคล้าย ๆ กัน นอกจากนั้นเยื่อชีวิต (Cambium) คือเยื่อใต้เปลือกของต้นไม้สกุลนี้จะมีสีม่วงซึ่งสังเกตได้ง่าย สำหรับ ต้นยี่เข่ง (L.chinensis) ซึ่งเป็นต้นไม้สกุลเดียวกับตะแบก นั้น ใช้การขยายพันธุ์โดยวิธีตัดกิ่งชำจะง่ายกว่าการตอนกิ่งมาก เพราะการตอนกิ่งต้นยี่เข่งนั้นตอนไม่ใคร่ออก

11. ติ้ว (Cratoxylon formosum) เป็นต้นไม้ขนาดกลางที่มีกิ่งก้านสาขา ชอบขึ้นอยู่ในป่าเบญจพรรณแล้ง และป่าเต็งรัง เป็นต้นไม้ที่ผลัดใบหมดในฤดูแล้งและจะออกดอกเต็มต้นในขณะผลัดใบ จึงทำให้แลดูสวยงามเป็นที่สะดุดตาแก่ผู้พบเห็น ดอกของต้นติ้วเป็นดอกไม้ขนาดกลาง มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 3/4 ถึง 1 นิ้ว มีสีเป็นสีม่วงอ่อนปนขาว ออกเป็นกระจุกตามง่ามกระจุกละ 5-7 ดอก ปลาย กลีบดอกมีฝอยเล็ก ๆ ทำให้เกิดมีลักษณะเด่นขึ้น มีข้อเสียอยู่ที่ว่าดอกติ้วนี้จะบานให้เห็นเพียงวันเดียวแล้วก็จะโรยไป ฉะนั้นผู้ที่มีโอกาสเห็นดอกเสี้ยวบานจึงเป็นผู้มีโชคดีพอสมควร เรื่องการมีระยะเวลาบานสั้นนี้ ดูจะเป็นนิสัยโดยทั้ว ๆ ไป ของดอกไม้ป่าในเมืองไทย ฉะนั้นการบันทึกภาพดอกไม้ป่าของไทยไว้ในขณะที่กำลังบานจึงมีประโยชน์ในด้านการศึกษาค้นคว้าเป็นอย่างมาก ต้นติ้วนี้เมื่อขึ้นอยู่ในป่าที่มีดินเลวและมีความแห้งแล้งมาก กิ่งของต้นติ้วอาจจะสั้นลง จนกลายเป็นหนาม ซึ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติที่ต้องการจะลดเนื้อที่ของใบให้น้อยลง อันเป็นการบรรเทาการระเหยของนํ้าจากลำต้น การลดกิ่งหรือใบกลายเป็นหนามนี้เป็น วิธีการของต้นไม้ที่เตรียมตัวไว้ต่อสู้กับความแห้งแล้งของดินฟ้าอากาศ ต้นติ้วเป็นต้นไม้ที่มีเนื้อแข็งพอสมควร แต่ลำต้นไม่ใหญ่ ดังนั้นชาวบ้านจึงนำไปใช้ประโยชน์ในการ ทำฟืนและเผาถ่าน ถ่านที่เผาจากไม้ติ้วเป็นถ่านที่มีคุณภาพดี มีความร้อนสูง ใบของต้นติ้วโดยเฉพาะใบอ่อนนำไปแกง และใช้เป็นผักจิ้มนํ้าพริกได้

12. ครามป่าดอกสีชมพู (Indigofera SU-tepensis) ครามป่าดอกสีชมพูเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงราว 1 เมตร มีกิ่งก้านสาขา ขึ้นอยู่ตามป่าเต็งรังทั่ว ๆ ไป ในภาคเหนือ และจะออกดอกสีชมพูขนาดเล็กตามกิ่งก้าน ทำให้มองดูเป็นช่อใหญ่ ในขณะออกดอกจะผลัดใบหมด และจะออกดอกในฤดูแล้งในขณะที่ป่าเต็งรังผลัดใบหมดเช่นเดียวกัน จึงทำให้ความงามของดอกครามป่าสีชมพู ชนิดปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้น ครามป่าดอกสีชมพูเป็นพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่นำจะนำมาปลูกเป็นไม้ประดับในท้องที่ที่มีดินเลว ครามป่าชนิดนี้ไม่ต้องการนํ้ามาก ถ้าได้รับการประคบประหงมหรือได้รับการรดนํ้ามากเกินไปแล้วก็มักจะมีแต่ใบ เป็นส่วนใหญ่ไม่ใคร่จะออกดอกให้เห็น ขอให้สังเกตชื่อพฤกษศาสตร์ของครามป่าดอกสีชมพูชนิดนี้ซึ่งมีชื่อว่า l.sutepensis ซึ่งนักพฤกษศาสตร์ได้ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่ดอยสุเทพของจังหวัดเชียงใหม่ เข้าใจว่านักพฤกษศาสตร์ คงจะค้นพบพันธุ์ไม้ชนิดนี้ครั้งแรกบนดอยสเทพในแถบที่ เป็นป่าเต็งรัง พันธุ์ไม้สกุลคราม (Indigofera spp.) ในประเทศไทยมีอยู่หลายชนิด มีใบคล้าย ๆ กัน คือมีใบเล็ก เรียงกันคล้ายใบมะขาม บางชนิดมีดอกสีม่วง บางชนิดมีดอกสีนํ้าตาลแก่ แต่ก็ไม่งดงามเท่าครามป่าชนิดดอกสีชมพู ใบของต้นครามบางชนิดนำไปหมักทำให้เกิดสีนํ้าเงินแก่ใช้ย้อมเสื้อผ้า เรียกว่า “สีหม้ออ่อม” อันเป็น สีนํ้าเงินของเสื้อผ้าพื้นเมืองของเมืองเหนือ

13. ทองหลาง (Erythrina spp.) อาจจะกล่าวได้ว่าฤดูแล้งในประเทศไทยเป็นฤดูของต้นทองหลาง เพราะต้นทองหลางเกือบทุกชนิดที่มีถิ่นที่เกิดในประเทศไทยมักจะมีดอกบานในฤดูนี้ ความงามของดอกทองหลางที่มีถิ่นกำเนิด ในไทยมักจะเหมือน ๆ กัน คือมืดอกสีแดงสดออกดอกรวมกันเป็นช่อใหญ่ ลักษณะการบานของดอกทองหลางแต่ละช่อ จะบานจากโคนไปหาปลาย ทำให้ช่อดอกมีลักษณะเป็นรูปกรวย โคนใหญ่ปลายเล็ก ดูงดงามแปลกตาไปจาก ดอกไม้ชนิดอื่น ๆ ต้นทองหลางที่ขึ้นในป่าเบญจพรรณแล้ง ในภาคเหนือ เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่และผลัดใบหมดในฤดูแล้ง เวลาออกดอกจึงเห็นแต่ดอกสีแดงแก่เป็นกระจุกอยู่ตามกิ่ง ทำให้ป่าที่แห้งแล้งดูสวยงามขึ้น ต้นทองหลางโดยทั่ว ๆ ไป เป็นไม้เนื้ออ่อน ผุง่าย ไม่สามารถนำไปใช้ในการก่อสร้างได้ นอกจากจะนำไปใช้ในการเพาะเห็ด ซึ่งทราบว่าไม้ทองหลางใช้เพาะเห็ดได้ดีพอสมควร ไม้ทองหลางที่พบมากในจังหวัดภาคเหนือจะมีหนามแหลมคมตามลำต้นและกิ่งอ่อน ต้นทองหลางชนิดนี้มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า E. lithosperma ส่วนในภาคเหนือที่มีระดับสูงจากนํ้าทะเลมาก ๆ และมีความชุ่มเย็นจะมีทองหลางอีกชนิดหนึ่งชอบ ขึ้นอยู่ในป่าที่ชุ่มเย็นและตามริมห้วยริมนํ้า ต้นทองหลางชนิดนี้มีลักษณะแปลกกว่าทองหลางชนิดอื่น ๆ ตรงที่ว่ามันจะมีดอกบานในขณะที่มันยังมีใบติดอยู่ และใบของมันมีสีเขียวเข้มตัดกับสีแดงจัดของดอก ทำให้เกิดความสวยงามมากขึ้น ทองหลางชนิดนี้มีชื่อว่า ทองหลางนํ้า (E.fusca syn. E.ovaiifoiia) และทองหลางชนิดนี้คงจะมีนํ้าหวานที่ดอกมาก ดังนั้นเวลาดอกบานจึงมีนกเป็นจำนวนมากมาเกาะกินเกสรของมันและส่งเสียงร้องขรมไปหมด ในบ้านเรายังมีทองหลางอีกหลายชนิด เช่นทองหลางใบมน ที่เราพบตามสวนทั่ว ๆ ไป (E.suberosa), ทองหลางใบด่าง (E. varegata) ซึ่งมีพื้นเพอยู่ทางชายทะเลของประเทศไทย ต้นทองหลางมีผู้นำมาปลูกเป็นไม้ประดับกันมาก เพราะมีดอก มีใบสวยงาม และปลูกง่าย เพียงแต่ใช้กิ่งปักก็เป็นแล้ว สวนบางแห่งปลูกต้นทองหลางไว้เป็นไม้พี่เลี้ยงเพื่อให้ร่มต้นไม้อื่น เนื่องจากทองหลางเป็นต้นไม้ตระกูลถั่ว ฉะนั้นรากของมันยังมีประโยชน์ในการช่วยเพิ่มไนโตรเจนให้แก่พื้นดินด้วย ในประเทศอินเดียเรียกชื่อต้นทองหลาง ว่า Parijata หรือ Indian coral tree ซึ่งมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ ว่า E.indica ซึ่งถ้าพิจารณาให้ดีจากชื่อที่ชาวอินเดียเรียก ต้นทองหลางก็คือต้นปาริชาตต้นไม้บนสรวงสวรรค์ในหนังสือ กามนิต-วาสีษฐี นั่นเอง

14. ฝ้ายป่า (Hibiscus sagittifolius) เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กสูงประมาณ 50 ซม. เป็นพันธุ์ไม้ป่าสกุลเดียวกับชบาที่มีดอกสวยงามมากที่สุดชนิดหนึ่ง ฝ้ายป่า เป็นพันธุ์ไม้ที่มีหัวใต้ดินเป็นหัวแหลมเล็กติดกันเป็นกระจุก เมื่อถูกไฟป่าไหม้ก็จะยุบลงแล้วงอกขึ้นมาใหม่ บางครั้งก็งอกออกมาแล้วออกดอกเลยโดยไม่มีใบก่อนที่ฤดูฝนจะมาถึง ทำให้มองดูคล้าย ๆ มีดอกโผล่ขึ้นมาจากดิน ฝ้ายป่ามีดอกสีเหลืองใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 4-5 นิ้ว ตรงศูนย์กลางดอกมีสีนํ้าตาลเข้มเป็นวงกลม และมีเกสรตัวเมียยาวออกมาโดยมีเกสรตัวผู้ล้อมรอบ อันเป็นลักษณะเดียวกับดอกชบา ใบของต้นฝ้ายป่าเป็นรูปหัวใจขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยเล็ก ๆ การขยายพันธุ์ฝ้ายป่าอาจนำเมล็ดไปเพาะหรือย้ายต้นไปปลูกก็ได้ มีผู้เคยนำเอาไปปลูกเป็นร่อง เหมือนการปลูกไม้ดอกชนิดอื่น ๆ ก็ดูสวยงามดี ในป่าเบญจพรรณแล้งและป่าเต็งรัง ยังมีฝ้ายป่าอีกชนิดหนึ่ง (Hibiscus spp.) มีขนาดดอกเช่นเดียวกับฝ้ายป่าชนิดดอกเหลือง แต่ฝ้ายป่าชนิดนี้มีดอกเป็นสีชมพูและมีใบเป็นรูปหอก ต้นฝ้ายป่าชนิดนี้ยังมีความสูงใกล้เคียงกับฝ้ายป่าชนิดที่มีดอกสีเหลือง ดังนั้นจึงสามารถนำเอาไปปลูกเป็นร่องรวมกันได้ จะทำให้มีสีสลับกันสวยงามมากขึ้น ฝ้ายป่าทั้ง 2 ชนิดนี้จะออกดอกตั้งแต่ปลายฤดูแล้งไปจนถึงต้นฤดูฝน และเป็นพันธุ์ไม้ป่าที่น่าจะนำไปปลูกเป็นไม้ประดับมากที่สุดชนิดหนึ่ง

15. นมแน้ (Thunbergia laurifolia) เป็นไม้เถาที่มีดอกให้เห็นเกือบตลอดทั้งปีทั้งในฤดูแล้งและในฤดูฝน ดอกนมแน้เป็นดอกไม้ขนาดใหญ่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ราว 2 นิ้ว กลีบดอกเป็นสีม่วงอ่อนไปจนถึงสีม่วงแก่ ฐานดอก เป็นรูปทรงกระบอกลึกราว 1 ½  นิ้วสีเหลืองอ่อน ดอกมักบานรวมกันเป็นช่อยาว เถาของต้นนมแน้บางครั้งก็อาจจะยาวถึง 10-15 เมตร เลื้อยพาดไปตามพุ่มไม้ต่าง ๆ ในป่าเบญจพรรณชื้น หรือตามต้นไม้ที่ขึ้นริมห้วยและตามต้นไม่ในป่าดงดิบทั่ว ๆ ไป เถานมแน้เป็นพันธุ์ไม้สกุลเดียวกับสร้อยอินทนิลซึ่งเป็นไม้ต่างประเทศ นมแน้ของเราก็มีดอกงดงามไม่แพ้สร้อยอินทนิล ฉะนั้นจึงเหมาะที่จะนำไปปลูกเป็นไม้ประดับโดยทำร้านให้เกาะ เวลาต้นนมแน้ออกดอก พวงดอกจะห้อยลงมาเป็นระย้าน่าดูมาก ใบของนมแน้ มีลักษณะยาวเป็นมัน มีดอกนมแน้ของไทยอีกชนิดหนึ่ง พบแถบจังหวัดเชียงรายมีดอกดกกว่านมแน้ธรรมดาแต่ใบเป็นขนจึงไม่เหมาะที่จะนำไปเป็นไม้ประดับ เพราะคายของใบอาจจะเป็นอันตรายแก่ผู้ที่เข้าไปถูกต้อง ต้นนมแน้สามารถชุดเอาเง่าไปปลูกได้ง่ายและไม่ต้องการความเอาใจใส่ เท่าใดนัก ต้นนมแน้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “รางจืด” นัยว่า รากของมันเมื่อนำเอาไปเคี้ยวแล้วดื่มเหล้าไม่เมาเพราะ เหล้าจะจืดไปหมด ซึ่งไม่กล้าที่จะยืนยันและคิดว่าคงไม่มีประโยชน์ เพราะการกินเหล้าแล้วไม่ให้เมานั้น ก็ไม่ทราบว่าจะกินเข้าไปทำไม

16. ปรู๋ (Alangium salviifolium) เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่มีกิ่งก้านสาขา ส่วนมากมักมีลำต้นคดงอ ขึ้นอยู่ในป่าเบญจพรรณแล้ง ออกดอกเป็นสีขาวเต็มต้นและผลัดใบหมด เวลาออกดอกจุดเด่นของดอกปรู๋อยู่ที่เกสรตัวผู้ที่ยื่นยาวพ้นกลีบดอกออกมา และการออกดอกพร้อมกันทั้งต้น โดยไม่มีใบ นอกจากนั้นดอกปรู๋ยังมีกลิ่นหอมชวนดม ในป่าจะพบต้นปรู๋ขึ้นอยู่ตามจอมปลวกเก่า ๆทั่ว ๆ ไป เข้าใจว่า ดินจอมปลวกคงจะสมบูรณ์กว่าดินที่อื่น ในขณะที่ต้นปรูไม่ออกดอกจะมีใบสีเขียวเข้มเป็นมันสวยงาม มีพุ่มใบกว้างใหญ่และหนา เหมาะสำหรับนำไปปลูกไว้เป็นไม้ร่มใกล้บ้าน เวลาดอกบานก็จะมีกลิ่นหอมให้เจ้าของบ้านได้ดมด้วย ไม้ของต้นปรู๋เป็นไม้สีน้ำตาลเข้มคล้ายไม้สัก ชาวบ้านนิยมใช้ทำพานท้ายปืนยาว เพราะตกแต่งง่ายและใช้ได้ทนทานดี

17. ตีนตั่ง (Combretum latifolium) เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง (Woody climber) สกุลเดียวกับไม้สะแก ที่เราเห็นอยู่ตามป่าละเมาะทั่ว ๆ ไป เถาตีนตั่งชอบขึ้นอยู่ ตามป่าเบญจพรรณโดยเฉพาะตามไร่เก่าและตามริมนํ้าลำธาร เมื่อถึงฤดูแล้งเถาตีนตั่งจะผลัดใบหมดแล้วออกดอก เป็นกระจุกตามข้อและตามง่ามใบ ดอกตีนตั่งแต่ละดอก เป็นดอกขนาดเล็กมีกลีบดอกสีขาวอยู่ภายนอก ส่วนกลีบดอกในมีสีแดงส้ม และมีเกสรตัวผู้ยาวยื่นพ้นออกมา ปลายเกสรตัวผู้ส่วนที่เป็นเรณูมีสีส้มได้ส่วนสัมพันธุ์กับสีกลีบในของดอก ความงามของดอกตีนตั่งอยู่ที่ดอกบานเป็นกระจุก รวมตัวกันเป็นก้อนกลมตามข้อและง่ามต่าง ๆ ของเถา และบานพร้อมกันทั้งต้น นอกจากนั้นยังมีกลิ่นหอมอีกด้วย ยังไม่เคยทราบว่ามีผู้นำเถาตีนตั่งไปปลูกเป็นไม้ประดับ ทั้ง ๆ ที่ทรงดอกและความมีกลิ่นหอมของมันน่าจะปลูกเป็นไม้ประดับเป็นอย่างยิ่ง โดยจะปลูกเป็นอิสระหรือจะปลูกให้มันขึ้นตามร้านก็ได้เพราะตีนตั่งเป็นเถาวัลย์ชนิดไม้เนื้อแข็ง ส่วนเรื่องดินคงไม่ต้องพิถีพิกันมากนัก เนื่องจากต้นตีนตั่ง ขึ้นได้ดีในป่าเบญจพรรณแล้งอยู่แล้ว

18. กล้วยปิ้ง (Hoya kerii) เป็นไม้เถามีใบหนา ค่อนข้างกลมและเป็นไม้อุ้มนํ้า (Succulent) ความหนาของใบอาจจะหนาถึง 3-4 ซม. เถาของกล้วยปิ้งชอบเกาะ อยู่ตามต้นไม้ในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณแล้ง โดยอาศัยดินและเศษหินตามคบไม้เป็นอาหาร จะออกดอกในฤดูแล้ง ดอกแต่ละดอกมีสีขาวเป็นมันคล้ายปั้นด้วยขึ้ผึ้ง และดอกรวมตัวกันเป็นกระจุกกลมใหญ่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ของกลุ่มดอกราว 3-4 นิ้ว อาจจะออกดอกครั้งละมาก ๆ หรือครั้งละน้อยกลุ่มแล้วแต่ความอุดมสมบูรณ์ของมันด้วย เหตุที่ดอกของมันคล้ายขี้ผึ้งนี้เองมันจึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า “เทียนขโมย” เถากล้วยปิ้งเวลาหักจะมียางสีขาวไหลออกมา ถ้าเถากล้วยปิ้งเกาะอยู่กับต้นไม้ในป่าที่แห้งแล้งสีของใบจะเป็นสีเหลืองอ่อน แต่ถ้ามันเกาะอยู่กับต้นไม้ในป่าค่อนข้างชื้น ใบก็จะมีสีเขียวเข้ม ตามเถาจะมีรากเล็ก ๆ เกิดขึ้นตามข้อทั่ว ๆ ไป ฉะนั้นจึงแยกไปปลูกได้ง่าย และเหมาะที่จะนำไปปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะมีความสวยงามทั้งใบ และดอก นอกจากนั้นดอกของมันยังมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ คล้ายกลิ่น Lavender ด้วย การปลูกเป็นไม้ประดับอาจจะปลูก ใส่กระถางแบน ๆ ห้อยไว้ หรือปลูกให้เกาะกับต้นไม้ให้โคนเถาฝังลงไปในดินเล็กน้อย ใบของต้นกล้วยปิ้งจะมีสีเขียวและมีดอกดกกว่าเมื่อมันอยู่ในป่า ต้นกล้วยปิ้งของไทย มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด บางชนิดมีใบแหลม บางชนิดมีใบกลม ลักษณะของดอกอาจจะถี่ห่างแตกต่างกันออกไป ต้นกล้วยปิ้ง (คงจะได้ชื่อมาจากใบซึ่งมีลักษณะคล้ายกล้วยปิ้ง) ของเรามีความงดงามไม่แพ้ต้น Hoya ที่สั่งจากต่างประเทศ เข้ามาขายในตลาดต้นไม้เมืองไทยในเวลานี้ และเลี้ยงง่ายกว่าของต่างประเทศมาก

19. อังกาบเมือง (Barleria cristata) เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กมีความสูงเต็มที่ราว 1 เมตร พบขึ้นอยู่ทั่วไปในป่าเบญจพรรณ รวมทั้งในป่าเบญจพรรณแล้งและในป่าเต็งรัง และออกดอกให้เห็นตลอดปี ดอกอังกาบเมืองเป็นดอกไม้ขนาดใหญ่รูปกระโถนปากแตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ราว 2 นิ้ว สีม่วงเข้ม เวลาดอกบานมักบานรวมกันเป็นกลุ่ม ตามปลายกิ่งทำให้สวยงามมากขึ้น ดอกอังกาบเมืองโรยง่าย และบานเพียงวันเดียว แต่วันรุ่งขึ้นก็มีดอกอื่นบานขึ้นมาแทนที่ เวลาดึงดอกให้หลุดจากต้นจะมีนํ้าหวานออกมา พอแตะลิ้นให้รู้รสได้ อังกาบเมืองมีเมล็ดเป็นกระสวย เวลาแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีกดีดเมล็ดให้ปลิวไกลออกไปคล้ายเมล็ดต้อยติ่ง ฉะนั้นต้นอังกาบเมืองจึงมีขึ้นอยู่ตามป่าทั่ว ๆ ไป ชาวกรุงเรียกชื่ออังกาบเมืองว่า “ทองระอา” แต่ชาวจังหวัดตากเรียกมันว่า “คันชั่ง” ต้นอังกาบเมืองเหมาะ สำหรับปลูกเป็นไม้ประดับ หรือปลูกถี่ติด ๆ กันเป็นรั้ว เวลาออกดอกจะแลดูสวยงามเป็นพิเศษ ชื่อของอังกาบเมือง อาจจะทำให้ชาวกรุงเทพฯ เข้าใจสับสน เพราะดอกอังกาบของชาวกรุงเทพฯ นั้นเป็นต้นไม้จำพวกต้นเตยซึ่งดอกมีกลิ่นหอมฉุนมากและอยู่คนละตระกูลกับต้นอังกาบเมือง

20. งิ้วป่า (Bombax anceps) ในท่ามกลางความแห้งแล้งของป่าเบญจพรรณแล้งที่กำลังผลัดใบ เราจะพบต้นงิ้วป่าออกดอกสีแดงจัดกำลังบานสะพรั่งอยู่โดยต้นงิ้วป่าเองก็ผลัดใบเสียจนหมดสิ้น ทำให้เพิ่มความงดงามให้ป่าไม้ซึ่งกำลังผลัดใบให้กลับมีชีวิตชีวามากขึ้น ต้นงิ้วป่าเป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่มาก บางต้นมีขนาดวัดรอบโตกว่า 200 ซม. เสียอีก นอกจากนั้นยังมีลำต้นตรงและมี กิ่งก้านสาขา เวลาออกดอกจึงเห็นสีแดงเด่นไปในระยะทาง ไกล ๆ ดอกแต่ละดอกของงิ้วป่ามีขนาดใหญ่มากและมีรูปทรงหนา กลีบดอกแต่ละกลีบมีเนื้อหนามาก และออกดอกรวมกันเป็นกลุ่มตามกิ่งเล็ก ๆ ทั่ว ๆ ไปเวลาดอกงิ้วป่าบานจะมีนกมาคอยรุมจิกกินนํ้าหวานกันอย่างมากมายทำให้ช่วยเพิ่มบรรยากาศความเป็นป่ามากขึ้น ชาวบ้านมักเก็บดอกงิ้วป่าที่โรยร่วงตามพื้นดินไปฉีกเป็นฝอยตากแดดไว้แกงกิน โดยเฉพาะแกงแคของภาคเหนือ ลูกงิ้วเมื่อแก่จะให้ปุยนุ่นสำหรับใช้ยัดหมอนและที่นอนมีคุณภาพดีกว่านุ่นฝรั่ง ชนิดผลยาว เพราะปุยนุ่นจากลูกงิ้วเมื่อนำไปยัดที่นอนหรือหมอน แล้วนำไปตากแดดจะพองตัวดีกว่านุ่นฝรั่ง ต้นงิ้วป่า มักจะมีหนามทั้งโคนและปลายกิ่ง แต่หนามตามโคนต้นจะถูกไฟป่าไหม้เป็นประจำทุกปีจนทำให้หนามที่โคนต้นหมดความแหลมคมไป เนื่องจากต้นงิ้วป่าต้องผจญกับไฟป่าทุกปี ธรรมชาติจึงสร้างสรรค์ให้มันมีเปลือกหนาพอที่จะ ทนทานกับไฟป่าได้ แต่กระนั้นก็ดีโคนของต้นงิ้วป่าก็จะมีผิวสีดำอยู่เป็นเนืองนิตย์ ต้นงิ้วป่าต้นเล็ก ๆ มีใบเรียงกัน เป็นวงกลมสวยงามแปลกตาดี และน่าจะนำไปปลูกเป็นไม้ประดับได้โดยใส่กระถางบังคับให้ต้นงิ้วป่าเป็นต้นเล็ก ๆ อยู่นาน ๆ ส่วนต้นงิ้นต้นโต ๆ นั้นคงไม่มีใครนิยมเอาไปปลูก อาจจะเป็นเพราะมีหนามมาก และคนไทยมักไม่ค่อยชอบปลูกต้นงิ้ว ไม้ของต้นงิ้วป่าเป็นไม้เนื้ออ่อนมาก ผุเร็ว แต่ก็เหมาะส่าหรับทำเป็นไม้ขีดไฟได้เป็นอย่างดีและต้องใช้ใม้งิ้วสด ๆ ถ้าปล่อยไว้นาน ๆ จะมีราดำเกิดขึ้น

เท่าที่นำต้นไม้ดอกต่าง ๆ ที่ออกดอกในฤดูแล้งในระหว่างที่ป่าเบญจพรรณแล้งและป่าเต็งรังกำลังผลัดใบจนหมดสิ้นนี้ จะเห็นได้ว่าดอกของต้นไม้เหล่านี้จะช่วยให้ความแห้งแล้งของป่าในฤดูผลัดใบดูมีชีวิตชีวาขึ้นบ้าง อย่างไรก็ดี ความเป็นไปต่าง ๆ ในป่าเบญจพรรณแล้งและในป่าเต็งรังนั้น ยังมีเรื่องราวอีกมากมาย ที่สมควรจะได้ทำการศึกษาค้นคว้ามาเล่าสู่กันฟังต่อไป

ที่มา:ศาตราจารย์ ดร. อำนวย คอวนิช