การทดสอบ ความงอกของ เมล็ดพันธุ์แบบชาวบ้าน

การทดสอบ ความงอกของ เมล็ดพันธุ์แบบชาวบ้าน

ท่านเคยเจอปัญหาเหล่านี้บ้างไหม

ในแต่ละปีเกษตรกรจำนวนมากต้องพบกับความผิดหวังเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ เช่น ปลูกแล้วไม่งอก หรืองอกน้อยไม่ทั่วแปลง บางทีต้องปลูกซ่อมหรือปลูกใหม่ ต้องลงทุนลงแรงสองครั้งสามครา บางครั้งก็เลิกปลูกหรือหมดโอกาสที่จะปลูกไปเลยก็มี ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าท่านเลือกใช้แต่เมล็ดที่มีความงอกดี อย่างไรก็ตาม ความงอกหรือความสามารถในการงอกของเมล็ดพันธุ์ ไม่สามารถบอกได้จากการดูลักษณะภายนอกทางเมล็ดแต่เพียงอย่างเดียว  จะต้องทดสอบดูให้แน่ชัด

การทดสอบความงอกแบบชาวบ้าน

การทดสอบความงอกแบบง่าย ๆ สามารถกระทำได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมืออุปกรณ์พิเศษแต่อย่างใด เกษตรกรสามารถปฏิบัติได้เอง ดังนี้

ก.  การสุ่มตัวอย่าง ในการทดสอบความงอกนั้นเราเพาะเมล็ดเพียงกำมือเดียว เพื่อประเมินว่าเมล็ดส่วนใหญ่ที่เหลืออีก 5 กิโลกรัม หนึ่งกระสอบ สิบกระสอบ หรือมากกว่านั้น  มีความงอกเป็นประการใด ดังนั้น การสุ่มตัวอย่างเมล็ดมาทำการทดสอบจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง  หากสุ่มมาไม่ดี ผลการทดสอบจะไม่มีประโยชน์ หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเกิดความเสียหายได้ จึงควรสุ่มหลาย ๆ จุด เช่น จากส่วนล่าง ส่วนกลาง และส่วนบนของกระสอบให้ทั่ว เพื่อให้ได้ตัวแทนที่แท้จริง  ตัวอย่างที่สุ่มมาแล้วนี้ถ้ามีมากเกินความจำเป็นในการทดสอบ ก็ให้แบ่งตัวอย่างให้น้อยลงโดยกองเมล็ดกับพื้น คลุกเคล้ากันให้ทั่ว แล้วใช้ฝ่ามือแบ่งครึ่งกองเมล็ดและทำดังนี้ต่อไปเรื่อย ๆ จนตัวอย่างมีปริมาณน้อยลง แล้วหลับตาใช้มือหยิบเมล็ดทีละเม็ดจนได้ 400 เมล็ด  โดยแยกเป็น 4 กอง ๆ ละ 100 เมล็ด  เพื่อใช้ในการทดสอบความงอกต่อไป

ข.  วัสดุที่ใช้เพาะ ที่หาได้ง่าย ๆ คือ ทราย หรือดินนำมาใส่ในกระบะ กระถาง กระป๋อง เป็นต้น หรือจะทำเป็นแปลงเพาะให้พอแก่การเพาะเมล็ด 400 เมล็ด  โดยอาจจะแบ่งเพาะเป็น 4 แปลง ๆ ละ 100 เมล็ด หรือ 8 แปลง ๆ ละ 50 เมล็ดก็ได้

ค.  วิธีเพาะ ทำได้โดยการหว่านเมล็ดลงบนดิน หรือทรายที่เตรียมไว้ หรือเรียงเมล็ดเป็นแถว ๆ เพื่อความสะดวกในการนับต้นกล้าก็ได้  หลังจากหว่านหรือเรียงเมล็ดแล้วใช้ดินหรือทรายกลบเมล็ดให้ทั่วหนาประมาณ 2-3 เซนติเมตร แล้วใช้ฝ่ามือ หรือแผ่นไม้กดทับดินให้แน่นพอประมาณ หลังจากเพาะแล้วรดน้ำให้แปลงชุ่ม แต่ไม่ให้ดินแฉะหรือมีน้ำขัง และต้องป้องกันไม่ให้ เป็ด ไก่ นก หนู และแมลงมาคุ้ยเขี่ยดินหรือกัดกินต้นกล้า

ง.  การนับต้นกล้า หลังจากเพาะแล้วประมาณ 5-10 วัน  ก็นับต้นกล้าได้ ในการนับให้นับเฉพาะต้นกล้าที่สมประกอบ มียอดอ่อนและระบบรากที่แข็งแรงหรือต้นที่เห็นว่าจะเจริญเป็นต้นที่สมบูรณ์ต่อไป

จ.  การคิดเปอร์เซ็นต์ความงอก หลังจากนับต้นกล้าในแต่ละแปลงแล้วให้จดจำนวนไว้  และนำมาคำนวณเปอร์เซ็นต์ความงอก สมมุติว่าเราเพาะเมล็ด 4 แปลง แปลงละ 100 เมล็ด นับต้นกล้าได้ 90,79,76,75 ต้น  ซึ่งรวมกันแล้วได้ 320 ต้น เมื่อหารด้วย 4 ก็จะได้ความงอกเฉลี่ยร้อยละ 80 ดังนี้ เป็นต้น

การใช้ผลการทดสอบความงอก

ใช้ผลการทดสอบความงอกให้เป็นประโยชน์ได้ดังนี้

1.  ใช้ในการพิจารณาว่าควรจะใช้เมล็ดนั้นเพาะปลูกหรือไม่ กล่าวคือ หากมีความงอกดีก็ใช้ได้ หากมีความงอกต่ำก็ไม่ใช้ปลูก  แต่ใช้เพื่อการอื่นหรือขายไป

2.  ใช้ในการกำหนดอัตราปลูก กล่าวคือ หากเมล็ดมีความงอกดีก็ใช้เมล็ดพันธุ์ต่อไร่น้อย  ถ้าเมล็ดมีความงอกไม่ดีก็ใช้เมล็ดพันธุ์ให้มากขึ้นตามส่วน  เพื่อให้ได้จำนวนต้นต่อไร่ที่เหมาะสมโดยไม่ต้องมีการถอนแยกหรือปลูกซ่อม

3.  ใช้ในการเลือกเมล็ดพันธุ์ ในกรณีที่มีเมล็ดพันธุ์มากเกินความจำเป็นที่จะต้องใช้ในการเพาะปลูกควรเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดีที่สุด  ซึ่งทำได้โดยใช้ผลการทดสอบความงอกประกอบในการตัดสินใจ

การทดสอบความงอกเมล็ดพันธุ์สามารถทำได้ในระดับไร่นา  โดยไม่ยุ่งยากแต่ประการใด  เกษตรกรทุกคนสามารถทำได้และควรทำอย่างยิ่ง

เปอร์เซ็นต์ความงอกของพืชชนิดต่าง ๆ ตามมาตรฐานของกรมส่งเสริมการเกษตร

ชนิดพืช                              เปอร์เซ็นต์ความงอกต่ำสุด

ข้าวและพืชไร่

1.  ข้าว                                                         80

2.  ข้าวโพด                                                  75

3.  ข้าวฟ่าง                                                   75

4.  ข้าวสาลี                                                  80

5.  ถั่วเขียว                                                   75

6.  ถั่วเหลือง                                                 70

7.  ถั่วลิสงทั้งฝัก                                            70

8.  ฝ้าย                                                        70

9.  ปอ                                                                   70

10. งา                                                                   70

พืชผัก

1.  ผักกาดหัว                                               75

2.  ผักกาดกวางตุ้ง                                        75

3.  ผักคะน้า                                                 75

4.  ผักกาดหอม                                             75

5.  กะหล่ำปลีดอกอิตาเลี่ยน                          80

6.  ผักบุ้งจีน                                                 60

7.  พริก                                                        60

8.  มะเขือเทศ                                               75

9.  มะเขือยาว                                               70

10. ถั่วฝักยาว                                               75

11. ถั่วลันเตา                                                75

12. แตงโม                                                    75

13. แตงกวา                                                  75

14. ข้าวโพดหวาน                                         75

15. ถั่วเหลืองฝักสด                                       60

16. กระเจี๊ยบสีเขียว                                                60

17. ข้าวโพดฝักอ่อน                                                75