การปลูกและตัดช่อดอกปทุมมา

ผลของวิธีการปลูกและวิธีการตัดช่อดอกต่อการเจริญเติบโตของปทุมมา

ไม้ประดับเขตร้อนกำลังได้รับความสนใจจากผู้บริโภคทั่วโลก  ปทุมมานับเป็นไม้ประดับพื้นเมืองของไทยที่สามารถทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายล้านบาท  ปริมาณการส่งออกได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  แต่ในปี 2537 มีการส่งออกลดลงเนื่องจากปัญหาการจัดการที่ไม่เหมาะสมของเกษตรกร  ทั้งที่ความต้องการของตลาดโลกมีสูงถึงปีละ 2 ล้านเหง้า แต่ปทุมมาเป็นพืชใหม่จึงขาดข้อมูลการจัดการแปลงที่เหมาะสมจึงเป็นปัญหาสำคัญในการผลิต  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่เหง้าถูกส่งออกจนเหลือไม่เพียงพอต่อการขยายพื้นที่ปลูกเพื่อรองรับความต้องการของตลาดโลก  นอกจากนี้เกษตรกรส่วนหนึ่งเชื่อว่าการตัดช่ออ่อนทิ้งจะทำให้ได้เหง้าและรากสะสมอาหารที่สมบูรณ์และมีจำนวนมาก  งานทดลองนี้จึงได้ศึกษาเทคโนโลยีการผลิตด้านวิธีการปลูกที่เหมาะสมในการขยายพื้นที่ปลูก  และความจำเป็นในการตัดช่อดอกอ่อนทิ้งเพื่อเป็นแนวทางในการเพิ่มรายรับแก่เกษตรกร

ได้ทดลองปลูกปทุมมาโดยใช้เหง้าซึ่งมีรากสะสมอาหาร 3-6 รากด้วยวิธีวางเหง้าตั้ง  วางเหง้านอนและผ่าเหง้าตามยาว  แล้ววางซีกหนึ่งให้ตาหงายขึ้น  เมื่อออกดอกจึงตัดช่อดอกขณะที่เพิ่งพ้นยอดได้ 1-2 ซม.  หรือขณะที่มีดอกจริงบานแล้ว 3 ดอก  โดยตัดชิดยอด พบว่าการปลูกทั้ง 3 วิธีมีผลเหมือนกันต่อความสูงของต้น จำนวนเหง้าเกรดเอ และน้ำหนักเหง้า แต่การผ่าเหง้าปลูกทำให้การงอกเกิดช้าลงและมีอัตราการงอกน้อยลง  อาจเนื่องจากเหง้าปกติมีอาหารสะสมในเหง้าและในรากสะสมอาหารอยู่มากแต่เหง้าที่ถูกผ่าราว 1 เท่าตัว อีกทั้งการเกิดรอยแผลทำให้เหง้าปทุมมาสังเคราะห์เอธิลีนขึ้นเป็นผลให้การงอกถูกชะลอลงและมีผลทำให้อายุที่ดอกจริงเริ่มบานและอายุการตัดดอกยาวขึ้นด้วย  ความยาวก้านมากขึ้น  แต่มีจำนวน coma bract น้อยที่สุด  ซึ่งมีผลจากปริมาณอาหารสะสมในเหง้าและประสิทธิภาพการเคลื่อนย้ายอาหารสะสมจากเหง้า

การวางเหง้านอนทำให้ต้นปทุมมามีการเจริญเติบโตคล้ายกับการวางเหง้าตั้ง  แต่ทำให้จำนวนหน่อต่อกอ  จำนวนเหง้าเกรดบี และจำนวนช่อดอกต่อกอสูงกว่า  ซึ่งอาจเกิดจากความสามารถในการลำเลียงอาหารภายในเหง้าออกสู่จุดกำเนิดช่อดอกต่างกันตามการวางเหง้า

การตัดช่อดอกอ่อนขณะช่อดอกเพิ่งพ้นยอดและตัดช่อดอกปกติขณะที่เหมาะสมสำหรับใช้ปักแจกันไม่มีผลต่างกันต่อความสูงของต้น น้ำหนักหัว จำนวนเหง้าเกรดเอ และจำนวนเหง้าเกรดบี  แสดงว่าการพัฒนาของช่อดอกก่อนการพัฒนาของผลนั้นใช้อาหารจากเหง้าน้อยมาก อาหารที่สังเคราะห์จากลำต้นเทียมและใบคงมากเพียงพอต่อการพัฒนาดังกล่าว แต่การตัดช่อดอกก่อนทำให้มีจำนวนต้นต่อกอสูงกว่าการตัดช่อดอกปกติ  ซึ่งการสร้างเหง้าของปทุมมานั้นไม่ได้เกิดกับยอดทุกยอด แต่เกิดกับยอดที่สมบูรณ์เต็มที่

ขนาดเหง้ามีผลต่อวันเริ่มกำเนิดดดอก วันแทงช่อดอกและวันตัดดอก ทั้งนี้เหง้าที่มีรากสะสมอาหาร 3 ตุ้มเริ่มกำเนิดดอกเร็วเท่าพวกที่มีรากสะสมอาหาร 1-2 ตุ้ม  ซึ่งเร็วกว่าพวกที่ไม่มีรากสะสมอาหาร  การแทงช่อดอกนั้นต่างกันตามจำนวนรากสะสมอาหาร  โดยปทุมมาแทงช่อดอกได้เร็วที่สุดเมื่อมีรากสะสมอาหารมากที่สุด สำหรับวันตัดดอกนั้น พวกที่มีรากสะสมอาหาร 3 ตุ้มตัดดอกได้เร็วที่สุด  แสดงให้เห็นว่าอาหารในเหง้าและรากสะสมอาหารมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตของดอก

ดังนั้นการปลูกปทุมมาในสภาพที่ตลาดดอกไม่มีการกำหนดราคาตามคุณภาพดอก เกษตรกรควรผ่าเหง้าแล้วแยกแต่ละชั้นไปปลูกโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อราคาช่อดอกต่ำ 15℅ของราคาเหง้า เกษตรกรควรปลูกแบบวางเหง้านอน เนื่องจากได้ช่อดอกมากกว่า ทั้งนี้เกษตรกรสามารถปลูกเพื่อผลิตช่อดอกและผลิตเหง้าในเวลาเดียวกัน  เกษตรกรจะต้องใช้แรงงานมากขึ้นในการปลูกแบบวางเหง้าตั้งเนื่องจากการตัดดอกในระยะที่ต่างกันมีผลต่อจำนวนยอดต่อกอเท่านั้น  หากผลิตช่อดอก ซึ่งคุณภาพช่อดอกเป็นปัจจัยสำคัญ เช่น ผลิตเพื่อส่งช่อดอกออกส่งตลาดโลก

สุรวิช  วรรณไกรโรจน์….ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์

เอกสารอ้างอิง: สุรวิช  วรรณไกรโรจน์ 2538 ผลของวิธีการปลูกและวิธีการตัดช่อดอกต่อการเจริญเติบโตของปทุมมา  จากรายงานการประชุมวิชาการไม้ดอกไม้ประดับแห่งชาติครั้งที่ 1 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติและสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย 19-27 น.