การเลี้ยงปลาไน

ปลาไนเป็นปลาน้ำจืด รูปร่างคล้ายปลาตะเพียน มีเกล็ดกลมใหญ่ทั่วตัว ยกเว้นที่หัวไม่มีเกล็ดปากเล็กไม่มีฟัน ริมฝีปากหนา มีหนวด 4 เส้น สีของลำตัวเป็นสีเงินปนเทา หรือสีเหลืองอ่อนแกมขาว  บางตัวมีสีทองตลอด เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว ให้ผลผลิตสูง ชอบอยู่ในน้ำอุ่น อุณหภูมิระหว่าง 20-30 องศาเซนติเกรด สามารถวางไข่ได้ในบ่อและมีลูกเป็นจำนวนมาก

ขนาดของบ่อและการเตรียมบ่อ

1. บ่อ

บ่ออนุบาล ใช้สำหรับเลี้ยงลูกปลาจากวัยอ่อน จนมีความยาว 5-7 เซนติเมตร ควรเป็นบ่อดินขนาด 200-400 ตารางเมตร  น้ำลึกไม่เกิน 1 เมตร

บ่อเลี้ยง ใช้สำหรับเลี้ยงปลาที่มีความยาว 5-7 เซนติเมตร  ให้เป็นปลาขนาดใหญ่ควรเป็นบ่อดินขนาดตั้งแต่ 400 ตารางเมตรขึ้นไป  จนถึงขนาด 1 ไร่ หรือมากกว่านั้น น้ำลึกประมาณ 1 เมตรตลอดปี

2.  การเตรียมบ่อ

บ่อใหม่ หากเป็นบ่อที่ขุดใหม่ ดินมักเป็นดินกรด ควรใช้ปูนขาวโรยให้ทั่วบ่อในอัตรา 1 กิโลกรัมต่อเนื้อที่ 10 ตารางเมตร

บ่อเก่า จำเป็นต้องปรับปรุงบ่อ  โดยกำจัดวัชพืชออกให้หมด ลอกเลนตบแต่งดันบ่อและท่อระบายน้ำให้เรียบร้อย แล้วตากบ่อจนแห้ง โอกาสนี้แสงแดดจะช่วยกำจัดเชื้อโรค และช่วยให้ดินมีคุณสมบัติดีขึ้น

ก่อนปล่อยปลาลงเลี้ยงต้องกำจัดศัตรู  ได้แก่พวกปลากินเนื้อ เช่น ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาดุก และกบ เขียด งู ให้หมด  โดยการระบายน้ำออกให้แห้ง เพื่อให้ได้ผลแน่นอนควรใช้โล่ติ๊นสาดให้ทั่วบ่อ  ในกรณีที่ไม่สามารถระบายน้ำออกได้หมด  ควรใช้โล่ติ๊นสด 1 ก.ก. ต่อปริมาตรน้ำ 100 ลูกบาศก์เมตร ทิ้งไว้ 7-10 วัน  เพื่อให้ฤทธิ์ของโล่ติ๊นสลายตัวแล้วจึงปล่อยปลา

การใส่ปุ๋ย ปุ๋ยอินทรีย์  ได้แก่ปุ๋ยคอกที่ตากแห้งแล้ว หรือปุ๋ยหมัก อัตราการใส่ปุ๋ยประมาณ 150-200 ก.ก.ต่อไร่  ระยะแรกนั้นควรใส่ปุ๋ยในขณะที่ตากบ่อก่อนระบายน้ำเข้า  ระยะหลัง ๆ ควรใส่ในอัตราครั้งละครึ่งหนึ่งของระยะแรก  จนกระทั่งมีน้ำสีเขียวดี  ซึ่งแสดงว่ามีอาหารธรรมชาติสมบูรณ์

ปุ๋ยอนินทรีย์ หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ อาจหาซื้อได้ในรูปที่ผสมเสร็จแล้ว  โดยมีอัตราส่วนของฟอสฟอรัสสูงกว่าส่วนผสมอื่น และใช้ในอัตรา 4 ก.ก.ต่อไร่ต่อเดือน

การเลี้ยง-อัตราการปล่อย บ่ออนุบาล  ปล่อยลูกปลาวัยอ่อน 15 ตัว ต่อตารางเมตร  สำหรับบ่อเลี้ยง ลูกปลาที่จะเลี้ยงควรมีขนาด 5-7 ซ.ม. และปล่อยในอัตรา 2-3 ตัว ต่อตารางเมตร

อาหาร ลูกปลาที่เลี้ยงในบ่ออนุบาล  ควรให้อาหารพวกรำปลายข้าว  กากถั่วลิสงหรือกากถั่วเหลือง ควรให้ในลักษณะที่เป็นผง  โดยโรยตามข้างบ่อในตอนเช้า และตอนเย็น

ปลาที่จะเลี้ยงจนโต  ได้ขนาดที่ตลาดต้องการ  จำเป็นต้องให้อาหารสมทบ พวกแหนเป็ด และไข่น้ำโปรยให้กินสด

เศษผัก ผักบุ้ง ผักกาดขาว ใช้ต้มให้เปื่อยผสมกับรำหรือปลายข้าว

กากถั่วเหลือง กากถั่วลิสง ใช้แขวนหรือใส่กะบะ

อาหารจำพวกสัตว์ เช่น ตัวไหม เลือด และเครื่องในสัตว์อื่น ๆ ใช้ผสมกับอาหารดังกล่าวแล้ว

ให้อาหารวันละ 1 ครั้งในตอนเช้าหรือเย็น ครั้งละประมาณ 5% ของน้ำหนักปลาที่เลี้ยง ถ้าให้มากเกินไป เศษอาหารที่เหลือจะทำให้น้ำในบ่อเสีย และเป็นอันตรายต่อปลา

การเจริญเติบโต ลูกปลาจะเจริญเติบโตไม่เท่ากัน  จะต้องคัดปลาที่มีขนาดไล่เลี่ยเลี้ยงในบ่อเดียวกัน  ปลารุ่นหนึ่ง ๆ ที่จะเลี้ยงจนโตถึงขนาดส่งตลาดได้ ควรคัดขนาดประมาณ 3-4 ครั้ง ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 6 เดือน จะได้ปลาหนักตั้งแต่ครึ่งกิโลกรัมขึ้นไป

ศัตรูและโรคพยาธิ ได้แก่พวกปลากินเนื้อ เช่น ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาดุก และกบ เขียด งู การเลี้ยงปลาแน่นเกินไปหรือไม่ได้ถ่ายเทน้ำ ทำให้เกิดเห็บปลาและหนอนสมอ ซึ่งเป็นพยาธิที่เกาะตามกระพุ้งแก้มและตามลำตัว และโรคที่เกิดจากบักเตรี

จากเอกสารคำแนะนำ การเลี้ยงปลาไน กรมประมง พ.ศ.2517