ผักคราดหัวแหวนมีประโยชน์อย่างไร


ชื่อวิทยาศาสตร์ Spilanthes acmella (Linn.) Murr.
ชื่ออื่นๆ ผักคราด (กลาง) ผักตุ้มหู (ใต้) ผักเผ็ด (เหนือ) อึ้งฮวยเกี้ย ฮึ้งฮวยเกี๊ย เทียงเช่า (จีน)
ชื่ออังกฤษ Para Cress, Spot Flower, Tooth – ache Plant.
ลักษณะ พืชล้มลุกอายุหนึ่งปี ลำต้นกลมแตกกิ่งก้าน แผ่ไปตามดิน ยอดจะตั้งตรง สูงประมาณ 30-40 ซ.ม. ใบเดี่ยว รูปไข่ หรือรูปหอกแกมรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบสอบแคบจัดแบบตรงข้าม ใบกว้าง 3-4 ซ.ม. ยาว 4-5 ซ.ม. ดอก เป็นช่อแบบ head อัดกันแน่นเป็นรูปหัวแหวน มีหลายพันธุ์ มีชนิดที่ปลายแหลมและปลายทู่ บางพันธุ์ช่อดอกสีเหลืองอมเขียวอ่อน บางพันธุ์สีเหลืองเข้ม บางพันธุ์ดอกใหญ่มาก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซ.ม.สีเหลืองทองมีสีแดงเข้ม อยู่ตรงกลาง ดอกวงนอกเป็นแผ่นสีเหลือง เป็นดอกตัวเมีย มี 1 วง ดอกวงในมีหลายชั้น เป็นรูปท่อ เป็นดอกสมบูรณ์เพศ เป็นพืชที่ชอบขึ้นในที่แฉะและรกร้าง ผล เป็นผลชนิดแห้ง รูปไข่
ส่วนที่ใช้ ราก ทั้งต้น ดอก
สารสำคัญ ทั้งต้น มีสาร spilanthol (n – Isobutyl – deca – 4, 6- dienoic acid amide) มีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ นอกจากนั้นมี spiranlhol, ∝-amyrin และ ß-amarin esters, stigmasterol.
ประโยชน์ทางยา ใช้ทั้งต้น หรือดอกสดเป็นยาชา ในจีนใช้ต้นสดสกัดให้ได้ความเข้มข้น 50% ใช้เป็นยาชาในการผ่าตัด โดยใช้ฉีดหรือใช้เป็นยาทาภายนอก
คนไทยใช้ดอกหรือใบสด บรรเทาอาการปวดฟัน โดยใช้เคี้ยวตรงบริเวณนั้น หรือตากแห้งทำเป็นผง ใส่ในช่องฟันที่ปวด
ใช้ทั้งต้นแห้งบดให้เป็นผง รักษาหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โดยใช้ยา 10 กรัม ผสมนํ้าเชื่อม 30 มิลลิลิตร รับประทานวันละ 2 ครั้ง เช้าเย็นหลังอาหาร เป็นเวลา 10 วัน อาการจะดีขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งต้นสดต้มกับนํ้าใช้รวมกับใบมะขาม ใบหนาด ใช้อาบหลังฟื้นไข้
ราก – เป็นยาถ่าย ใช้รากสดหนัก 15-30 กรัม ถ้าแห้งใช้ 4-8 กรัม ต้มกับนํ้า 1 ถ้วยแก้ว ดื่มแต่นํ้า
-ใช้ต้มกับนํ้า ใช้นํ้าอมบ้วนปาก จะช่วยลดอาการอักเสบในช่อง ปากและแก้อาการเจ็บคอ
อื่นๆ เป็นอาหารใช้แกงรวมกับผักอื่นๆ
ที่มา:ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ