ปอกระเจาฝักยาวสรรพคุณและวิธีใช้


ปอเหลือง

ชื่อ
จีนเรียก    อึ้งมั่วเฮียะ โคมั่วเฮียะ Corchorus capularis Linn.

ลักษณะ
พืชนี้จำพวกปอ มักปลูกไว้เพื่อเอาเปลือกมันฟอกทำเป็นใยทอเป็นผ้าป่าน เป็นพืชล้มลุก ลำต้นขึ้นตรง มีสีเขียวสูง 5-6 ฟุต ใบคู่สลับ ใบรูปกลมยาว ปลายแหลม ยาว 3-4 นิ้ว มีใบเล็กขึ้นที่ขั้วใบ ขอบใบเป็นซี่ฟันละเอียด ก้านใบสั้น ออกดอกหน้าร้อน เริ่มแตกดอกสีเหลืองสองสามดอก ดอกมี 5 กลีบ ตรงกลางเกิดมีเม็ดเล็กๆ โตประมาณ 2-3 หุน เมื่อเด็ดต้นและดอกจะมีนํ้าเมือกสีขาวเหนียวไหลออกมา

รส
รสขม ธาตุเย็น ไม่มีพิษ แต่เมล็ดมีพิษ

สรรพคุณ
ใช้ใบทำยา รับประทานแก้ร้อนใน ทำให้เลือดเย็น ใช้พอกทาแก้พิษ แก้บวม ฤทธิ์เข้าถึงม้าม

รักษา
ดับร้อนแก้พิษ กันหวัดแดด ลงท้องเนื่องจากร้อนใน อุจจาระเป็นเลือด
เจ็บคอ กินปลาปักเป้าแล้วเป็นพิษ ใช้พอกและทาแก้ผิวหนังแดงบวม

ตำราชาวบ้าน
1. แก้หวัดแดดตัวร้อน – ใช้ใบปอเหลือง 1 ตำลึง ต้มน้ำเติมนํ้าตาลแดง รับประทานติดต่อกัน 2-3 วัน
2. กันหวัดแดดเป็นลม – ใบอ่อนปอเหลือง 1 ตำลึง ต้มน้ำใส่น้ำตาลแดง หรือใช้ใบอ่อนปอเหลือง ต้มกับมันแกว เติมน้ำตาลแดง
3. เป็นบิดเนื่องจากร้อนใน -ใบปอเหลือง 1 ตำลึง ต้มกับน้ำตาลแดง หรือใช้น้ำชงน้ำผึ้ง หรือต้มกับมันแกว เติมน้ำตาลแดงหรือชงน้ำผึ้ง รับประทาน
4. อุจจาระเป็นเลือด – ใบปอเหลือง 1 ตำลึง ต้มน้ำ เติมน้ำตาลแดง
5. เจ็บคอ – ใบปอเหลือง 1 ตำลึง ต้มน้ำ เติมน้ำตาลแดง
6. กินปลาปักเป้าเป็นพิษ – ใบปอเหลือง 3 ตำลึง ต้มกับน้ำตาลแดง 2 ตำลึง
7. ผิวหนังเป็นพิษแดงและบวม – ตำใบปอเหลืองแล้วพอก หรือตำพร้อมใบเบญจมาศขาวและเกลือแล้วพอก หรือตำใบปอเหลืองพร้อมผักโขมหนาม ใส่เกลือ ใช้พอกหรือทา

ปริมาณใช้
ใบสดไม่เกิน 2 ตำลึง แห้งไม่เกิน 1 ตำลึง (ยิ่งแห้งยิ่งดี)

ข้อควรรู้
ใช้พอกทาพอประมาณ หญิงมีครรภ์ห้ามรับประทาน

ที่มา:บุญชัย  ฉัตตะวานิช