มะเดื่อกวาง

(Ma Duea Kwang)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus callosa Willd.
ชื่อวงศ์ MORACEAE
ชื่ออื่น กะปง ตองแห้ง มะเดื่อต้น ลิ้นควาย
ถิ่นกำเนิด เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 20-30 ม. ขนาดทรงพุ่ม 15-20 ม. ผลัดใบระยะสั้น ทรงพุ่มกลม หรือรูปไข่ ลำต้นเปลาตรง เมื่อมีอายุมากโคนต้นเป็นพูพอน เปลือกต้นสีเทาอ่อน เรียบ ทุกส่วน มียางสีขาว


ใบ ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปรีหรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 9-18 ซม. ยาว 14-25 ซม. ปลายใบป้าน โคนใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนาและเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ย่นเป็นลอน สีเขียวสดเป็นมัน ผิวใบด้านล่างสีเขียวอมขาว มีขนหยาบประปราย ก้านใบยาว 3-5 ซม.


ดอก สีเขียวอมเหลือง ออกเป็นช่อรูปร่างคล้ายผล คือ มีแกนกลาง ช่อดอกเจริญแผ่ขยายใหญ่เป็นกระเปาะมีรูเปิดที่ปลาย โอบดอกไว้ ดอกมีขนาดเล็กแยกเพศในกระเปาะ ดอกทั้งสองเพศ มีกลีบรวม 3 กลีบ รูปไข่ ดอกเพศผู้มีจำนวนน้อย เส้นผ่านศูนย์กลางช่อดอก 0.8-1.2 ซม. ก้านช่อดอกยาว 1.5-2.5 ซม.
ผล ผลสดแบบมะเดื่อ ทรงกลมแป้นหรือรูปไข่กลับ เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.8-2.8 ซม. ออกเดี่ยวหรือเป็นคู่ที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ก้านผลยาว 1-2 ซม. มีกาบรูปสามเหลี่ยมรองรับสีเขียวอมเหลือง ด้านบนมีรอยบุ๋ม เมื่อสุกสีเขียวเข้มหรือสีเขียวหม่น เมล็ดทรงกลม สีดำ ขนาดเล็กจำนวนมาก ออกดอกติดผลตลอดปี ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและตอนกิ่ง
นิเวศวิทยา พบตามป่าดิบชื้นทั่วไป
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ใบใช้ทำยาได้เมื่อผสมกับตัวยาอื่น
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย