ไก่ฟ้าหางลายขวาง

ชื่อสามัญ  Bar-Tailed Pheasant

ชื่อวิทยาศาสตร์  Syrmaticus humiae

ในป่าธรรมชาติมีอยู่น้อยมาก ถูกจัดอยูในประเภทใกล้จะสูญพันธุ์มี 2 ชนิดย่อย คือ

1. Hume’s Bar-Tailed Pheasant มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า S.h. humiae พบตามบริเวณภูเขาที่มีระดับความสูง 4,000-10,000 ฟุต ชอบอยู่ตามป่าโปร่งและตามเชิงลาดที่เป็นหินมีวัชพืชขึ้นแซม บริเวณเทือกเขานาคาทางภาคตะวันออก เฉียงเหนือของประเทศอินเดีย บริเวณภูเขามณีปุระและทางตอนใต้ของภูเขาวิคตอเรีย ทางตะวันตกของแม่น้ำอิระวดีและทางเหนือของประเทศพม่า ถูกนำเข้าไปในประเทศอังกฤษครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1961 เนื่องจากความสวยงาม อดทนและเลี้ยงง่าย ทำให้มีการเพาะเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายทั่วไป

2. Burmese Bar-Tailed Pheasant มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า S.h. burmamicus มีลักษณะทั่ว ๆไปเหมือน Hume’s แต่มีสีด่างกันบ้าง โดยจะดูออกขาวกว่าเล็กน้อย พบทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนาน ทางตะวันออกของแม่นํ้าอิระวดี สองข้างของแม่น้ำสาละวิน และในรัฐฉานของประเทศพม่า ในประเทศไทยพบทางภาคเหนือที่เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน ไม่เคยปรากฎว่ามีการนำเข้าหรือมีการเพาะเลี้ยงไก่ฟ้าชนิดนี้ในยุโรปและอเมริกาเลย นับว่าเป็นไก่ฟ้าที่หาได้ยากมากชนิดหนึ่ง

ในธรรมชาติไก่ฟ้าชนิดนี้จะออกหากินเป็นฝูงเล็กๆ 3-5 ตัว โดยมีตัวผู้ในฝูงเพียงตัวเดียว สร้างรังตามโคนต้นไม้ที่มีหญ้าหรือพุ่มไม้เตี้ย ๆ ปกคลุมอยู่ ปกติจะวางไข่ 6-11 ฟอง ใช้เวลาฟัก 27-28 วัน ตัวผู้จะมีสีเต็มเมื่อมีอายุเพียงปี เดียว นับว่าเป็นไก่ฟ้าที่มีสีสวยมากชนิดหนึ่ง