12 วิธีการใช้ประโยชน์จากน้ำมันหอมระเหย

น้ำมันหอมระเหย หรือ Essontial Oils เป็นน้ำมันที่ได้จากพืชหรือสัตว์ที่มีกลิ่นหอม และมีองค์ประกอบทางเคมีมากมายหลายชนิด เมื่อสูดดมเข้าไป หรือสัมผัสทางผิวหนังก็จะซึมผ่านไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จะมีผลต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายและสมอง รวมถึงมีผลต่ออารมณ์และจิตใจให้มีการปรับสมดุลย์ ทำให้เกิดการบำบัดอาการของโรคต่าง ๆ ได้

ถึงแม้รูปแบบการใช้น้ำมันหอมระเหยจะมี 2 แนวทางใหญ่ ๆ คือ การสูดดมกับการสัมผัสทางผิวหนัง แต่การประยุกต์ใช้ในแต่ละแนวทางนั้นก็มีมากมายหลากหลายวิธีเลยทีเดียว แต่มีข้อควรคำนึงถึงก็คือ การใช้น้ำมันหอมระเหยมักจะไม่ใช้น้ำมันหอมระเหยบริสุทธิ์โดยตรงกับร่างกาย จำเป็นต้องมีการเจือจางเสียก่อน เพราะน้ำมันหอมระเหยบริสุทธิ์จะมีความเข้มข้นสูงมาก

1.  การสูดดม (Inhalation)

การสูดดมไอน้ำที่เจือจางด้วยน้ำมันหอมระเหย เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการบำบัดรักษาโรคหวัดหรือโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจแต่ควรระมัดระวังสำหรับคนที่เป็นโรคหอบหืด

วิธีการก็โดยการหยดลงในชามหรือกะละมังที่มีน้ำร้อนที่มีไอ แล้วใช้ผ้าขนหนูคลุมศีรษะก้มหน้าเหนือชามหรือกะละมัง สูดดมไอระเหย หายใจลึก ๆ นอกจากการสูดดมไอน้ำแล้ว ยังสามารถใช้น้ำมันหอมระเหยเจือจาง หยดลงบนผ้าเช็ดหน้า สำลี กระดาษทิชชู แล้วสูดดม

2.  การนวดตัว (Aromatherapy massage)

เป็นวิธีการที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก คือการนวดที่ใช้น้ำมันหอมระเหยผสมลงในน้ำมันที่ใช้นวดตัว เพื่อช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อ ระบบประสาท เนื้อเยื่อ และผิวหนัง ลดอาการปวดเมื่อย ช่วยให้การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น

การใช้น้ำมันหอมระเหยในการนวดตัว ทำได้โดยการหยดน้ำมันหอมระเหยประมาณ 2-3 % ลงไปผสมในน้ำมันพืชที่ใช้นวดตัว (หรือน้ำมันหอมระเหยประมาณ 10-15 หยด ต่อน้ำมันพืช 30 มิลลิลิตรหรือซีซี)

3.  เตาระเหย (Fragrancers)

เป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน โดยการหยดน้ำมันหอมระเหยลงในน้ำที่อยู่ในฝาหรือถ้วยเหนือเตาหรือตะเกียงเผา ความร้อนจากเทียน ซึ่งมีความร้อนไม่มากประมาณ 60 องศาเซลเซียส จะค่อย ๆทำให้น้ำมันหอมระเหย ระเหยให้กลิ่นหอม ช่วยสร้างบรรยากาศ ทำให้ผู้ที่ได้สูดดมผ่อนคลาย และช่วยบำบัดอารมณ์และจิตใจตามคุณสมบัติของน้ำมันแต่ละชนิด

การใช้น้ำมันหอมระเหยกับเตาระเหยให้หยดน้ำมันหอมระเหย 3-6 หยด ลงในน้ำในถ้วยบนเตาระเหย

4.  ผสมน้ำอาบ (Bathing)

เป็นวิธีการที่ได้ทั้งการสูดดมและสัมผัสทางผิวหนัง โดยการหยดน้ำมันหอมระเหยลงในน้ำอุ่นในอ่างอาบน้ำ ปิดประตูหรือผ้าม่านแช่ตัวลงไปนาน 10-15 นาที สูดดมกลิ่นโดยหายใจลึก ๆ ถ้าเป็นคนที่มีผิวแพ้ง่าย ก็ให้ผสมน้ำมันหอมระเหยกับน้ำมันตัวพาเสียก่อนจึงค่อยหยดลงในอ่างน้ำ

หรือถ้าเป็นการอาบน้ำด้วยวิธีตักอาบหรือใช้ฝักบัวหลังอาบน้ำเสร็จก็ให้หยดน้ำมันหอมระเหยที่เจือจางแล้วลงบนผ้าหรือฟองน้ำหรือใยบวบ แล้วใช้ถูตัวด้วยน้ำหมาด ๆ เสร็จแล้วใช้น้ำล้างตัวอีกครั้งหนึ่ง

การใช้น้ำมันหอมระเหยผสมน้ำอาบให้หยดน้ำมันหอมระเหย 5-15 หยดต่อน้ำ 1 อ่าง

5.  การแช่เท้า (Foot Bath)

ใช้น้ำมันหอมระเหย 4-5 หยด หยดลงในอ่างน้ำร้อนแล้วแช่เท้านาน 10 นาที เพื่อผ่อนคลายความเมื่อยล้า

6.  การแช่มือ (Hand Bath)

ใช้น้ำมันหอมระเหย 3-4 หยด หยดลงในอ่างน้ำอุ่น แล้วแช่มือสัก 5-10 นาที ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย และรักษารอยแตกหยาบกร้านของผิวหนังบริเวณมือ

7.  ฉีดพ่นละอองฝอย (Room Sprays)

ใช้น้ำมันหอมระเหย 10 หยดผสมกับน้ำ 7 ช้อนโต๊ะ และอาจผสมเหล้าว๊อดก้าหรือแอลกอฮอล์ 95% 1 ช้อนโต๊ะ (ไม่ใส่ก็ได้)

ใส่ลงในขวดที่มีหัวฉีดเป็นสเปรย์ หรือละอองฝอย เขย่าให้ส่วนผสมเข้ากัน ใช้ฉีดในห้องนั่งเล่น ห้องอาหาร ห้องทำงาน หรือห้องนอน

8.  หยดลงบนหมอน (Pillow Talk)

คนที่มีปัญหานอนหลับยาก ลองใช้น้ำมันหอมระเหยที่มีคุณสมบัติผ่อนคลาย เช่น กระดังงา กุหลาบ มะลิ หยดลงไปบนหมอน 2-3 หยด จะช่วยให้หลับง่ายและนอนหลับสบาย

9.  กลั้วคอบ้วนปาก

หยดน้ำมันหอมระเหย 2-3 หยดลงในน้ำ ¼ แก้ว คนให้เข้ากันใช้กลั้วคอหรือบ้วนปาก ช่วยบำบัดโรคในช่องปาก และคอ ช่วยฆ่าเชื้อโรค ลดกลิ่นปาก

10.  การประคบ (Compresses)

ใช้ผ้าขนหนู หรือผ้าเช็ดหน้าจุ่มแช่ลงในน้ำอุ่นที่ผสมน้ำมันหอมระเหย (หยดน้ำมันหอมระเหย 5-10 หยด ต่อน้ำ 160 มิลลิลิตรหรือซีซี) บิดพอหมาด ประคบบริเวณที่มีอาการ เช่น ปวดศีรษะ รอยฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก ปวดบวม ประคบไว้จนผ้าเย็น แล้วทำซ้ำ

11.  น้ำมันบำรุงผิวหน้าผิวกาย (Body and Facial Oils)

เราสามารถใช้น้ำมันหอมระเหยผสมกับน้ำมันที่ใช้บำรุงผิวพรรณทั้งใบหน้าและร่างกาย โดยใช้น้ำมันหอมระเหย 1% กับน้ำมันบำรุงผิวหน้า และใช้น้ำมันหอมระเหย 3% กับน้ำมันบำรุงผิวกาย

12.  เทียนหอม (Scented Candles)

ในการทำเทียน เราสามารถผสมน้ำมันหอมระเหยลงไปด้วย เมื่อเวลานำมาจุดไฟ กลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยก็จะระเหยให้กลิ่นหอมคล้ายคลึงกับการใช้เตาระเหย หรืออาจจะผสมน้ำมันหอมระเหย 2-3 หยดลงในน้ำมันตะเกียงเวลาจุดตะเกียง ก็จะได้กลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหยออกมาด้วย